การอ่านบนหน้าจอ

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Tubolrat (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(คำแนะนำเพื่อให้อ่านบนหน้าจอได้รวดเร็วขึ้น)

รุ่นปัจจุบันของ 08:29, 11 มกราคม 2554

การอ่านบนหน้าจอ

คำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้เราอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้นและเข้าใจมากขึ้น

1. ความคมชัด หรือ contrast ผู้ที่อยู่หน้าจอบ่อยๆรู้ดีว่า ความคมชัดของสิ่งที่ปรากฏบนจอเป็นสิ่งที่ช่วยให้การอ่านหน้าจอง่ายขึ้นมาก แต่เดิมนั้น ว่ากันว่า จอขาวดำจะให้ความคมชัดมากที่สุด ตัวอักษรสีส้มบนพื้นสีดำก็อ่านได้ง่ายสบายตา อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆทำให้จอภาพสีมีความคมชัดพอๆกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นจอแบบไหน ให้คอยปรับความคมชัดและความสว่างบนหน้าจอเสมอ เพื่อจะได้ความชัดเจนบนจอมากที่สุด บางครั้ง วันหนึ่งๆ เราอาจจะต้องปรับหลายครั้ง เพราะแสงที่เราได้ในแต่ละช่วงของวันไม่เหมือนกันเสมอไป

2. การจัดแสงสว่าง แสงสว่างบริเวณที่ทำงานมีผลอย่างมากว่าเราจะอ่านได้เร็วหรืออ่านได้ดีเพียงใด เป็นต้นว่า แสงสว่างที่จ้าหน้าจออาจทำให้เราอ่านได้ยากขึ้น บางคนอาจจะคิดว่าแสงธรรมชาติดีที่สุดสำหรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์ อันที่จริงแล้ว แสงธรรมชาติอาจจะไม่สม่ำเสมอ และอาจทำให้เกิดแสงจ้าบนจอได้ พยายามอย่าตั้งจอหันหลังให้หน้าต่าง ให้ใช้ม่าน หรือบังตาจัดให้แสงสว่างจากข้างนอกที่เข้ามาทำให้เราสบายตามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจะให้ดี ให้แสงสว่างมาจากด้านบน เหนือศีรษะ แต่ใช้หลอดไฟที่แรงเทียนไม่สูงมากนัก เพื่อจะได้ไม่จ้า ทดลองใช้ทั้งแสงธรรมชาติและแสงไฟฟ้ารวมกันในแบบต่างๆ จนกระทั่งได้ระดับแสงที่จะทำให้เราอ่านได้สบายตามากที่สุด

3. พักสายตา ไม่ว่าจะอ่านแบบไหน ก็ทำให้เมื่อยตาได้ทั้งนั้น แต่การอ่านจากหน้าจอสามารถทำให้เราเมื่อยตา หรือทำให้ตาของเรารู้สึกเหนื่อยล้าได้มากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น การอ่านจากหน้าจอยังอาจทำให้เรารู้สึกไหล่ตึง คอเคล็ด ปวดแขน หรือมีอาการอื่นๆ ได้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นเพราะเรานั่งอยู่ในท่าเดียวกันนานเกินไป ซึ่งตรงกันข้ามกับเวลาที่เราอ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ เราอาจจะขยับเปลี่ยนท่านั่งท่าอ่านได้ง่ายกว่า ดังนั้น ในการที่จะอ่านให้ได้เร็วและเข้าใจอย่างที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะละสายตาจากจอทุก 15 นาที หรือประมาณนั้น แล้วมองออกไปไกลๆ สักสองสามวินาที มุ่งสายตาไปยังวัตถุต่างๆในห้อง อย่าลืมพักสายตาด้วยวิธีที่ว่านี้เป็นอันขาด มันจะช่วยให้เราอ่านได้เร็วอยู่อย่างเดิมโดยลดอาการเมื่อยตาลง

สิ่งอื่นๆที่จะช่วยให้เราอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้น คือ

เครื่องหมายลูกศรชี้ลงบนแป้นพิมพ์ การใช้นิ้วหรือมือของเรากวาดไปตามบรรทัดบนหน้าจอคงไม่สนุกนัก ทำได้ไม่นานก็คงจะเมื่อยแขนไปหมด แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้ใช้นิ้วมือขวากดลูกศรชี้ลงแทนในขณะที่อ่าน การทำเช่นนี้ จะเป็นการบังคับให้ตาของเราเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเท่าที่มันจะทำได้ และเก็บข้อมูลขึ้นมาได้มากขึ้น ให้ฝึกใช้มือกดลูกศรและเคลื่อนสายตาในวิธีนี้จนกระทั่งทำได้อย่าวแคล่วคล่อง

แป้น page down เรารู้แล้วว่า การอ่านให้เร็วที่สุดคือการอ่านได้หลายๆคำในแต่ละครั้ง ยิ่งอ่านจากหน้าจอยิ่งง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราอ่านได้เร็วขึ้น ให้เปลี่ยนจากการกดลูกศรชี้ลงเพื่อเลื่อนข้อความทีละบรรทัด ให้กดแป้น page down แป้นนี้มักจะอยู่ทางขวามือด้านบนของแป้นพิมพ์ เมื่อกดแป้นนี้แล้ว ข้อความใหม่ที่จะปรากฏบนจอจะเลื่อนขึ้นมาให้เราเห็นทีละหน้า แทนที่จะเป็นทีละบรรทัด ซึ่งจะยิ่งทำให้เราสามารถอ่านคร่าวๆทั้งหน้าได้ในการกดแป้น page down เพียงครั้งเดียว

ข้อความที่เว้นบรรทัดแบบ single-spaced เรามักจะมีโอกาสเลือกได้ว่าจะอ่านข้อความที่แต่ละบรรทัดห่างกันขนาด single, double หรือแม้กระทั่ง triple spaced ขอแนะนำให้เลือกแบบ single spaced ทั้งนี้เพราะจะมีข้อความปรากฏมากที่สุด และทำให้เราอ่านได้เร็วขึ้นในคราวเดียว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงขนาดตัวอักษรด้วยว่า อยู่ในขนาดที่อ่านได้ สบายตา

แบบตัวอักษร ใช้แบบตัวอักษรที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ ทุกวันนี้ มีแบบตัวอักษรสวยงามให้เลือกมากมากมาย แต่บ่อยครั้ง มันทำให้เราอ่านได้ช้า เข้าใจได้ช้า และหันเหความสนใจเราได้ หากต้องการให้พิมพ์ออกมาดูสวยงาม เมื่ออ่านเสร็จแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนแบบตัวอักษรภายหลังได้เสมอ

เครื่องมือส่วนตัว