การหาชื่อเรื่องให้กับเนื้อเรื่องที่อ่าน(1)

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Tubolrat (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(การหาชื่อเรื่องให้กับเนื้อเรื่องที่อ่าน คำถามหนึ่งที่จะทดสอบความเข้าใจในการอ่าน)

รุ่นปัจจุบันของ 01:00, 7 กุมภาพันธ์ 2554

บทนำ

ในบทเรียนนี้ เราจะพูดถึงการหาชื่อเรื่องที่ดีที่สุดให้กับเรื่อง หรือข้อความที่เราได้อ่าน เราจะฝึกทักษะการหาชื่อเรื่อง หรือการตอบคำถามที่ว่า What’s the best title for this passage? ชื่อเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับข้อความนี้คืออะไร หรือ What should be the title for this passage? ข้อความนี้ควรจะมีชื่อเรื่องว่าอะไร

Title คืออะไร

คำว่า title ในที่นี้ แปลว่า ชื่อเรื่อง ในความเป็นจริง เมื่อเราหยิบหนังสือสักเล่มหรือบทความสักชิ้นขึ้นมาอ่าน จะมีชื่อหนังสือ หรือชื่อบทความอยู่แล้ว ชื่อดังกล่าว จะบอกให้เรารู้ว่า หนังสือ หรือบทความ ที่เราจะอ่านนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ตัวอย่างเช่น หนังสือชื่อ The Seven Habits of Highly Effective People จะว่าด้วยนิสัยต่างๆเจ็ดประการของคนที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก หรือบทความที่ชื่อว่า The Key to Peace น่าจะกล่าวถึงสิ่งสำคัญที่เป็นเสมือนหนึ่งกุญแจที่จะนำไปสู่ความสงบ ในข้อความขนาดสั้นๆลงมา เพียงย่อหน้าเดียว หรือสองสามย่อหน้า ก็อาจจะมีชื่อเรื่องหรือชื่อหัวข้อที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า heading ได้เช่นกัน ซึ่งจะบอกให้ผู้อ่านทราบว่าข้อความที่อยู่ภายใต้ชื่อเรื่องนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร

ชื่อเรื่องที่ดีเป็นอย่างไร

ชื่อเรื่องที่ดีจะครอบคลุมเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้น บทความนั้น หรือข้อความในย่อหน้านั้นโดยตลอด ไม่กว้างเกินไป และไม่แคบเกินไป ตัวอย่างเช่น เช่น ในหนังสือที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ถ้าผู้เขียนตั้งชื่อหนังสือว่า Effective People ก็จะเป็นชื่อที่กว้างมาก เราไม่มีทางรู้ได้ว่า ผู้เขียนจะเล่าถึงชีวิตของบรรดาคนที่มีประสิทธิภาพ หรือ ความสามารถพิเศษของพวกเขา เป็นต้น หรือถ้าหนังสือดังกล่าวชื่อ Being proactive ก็จะเป็นชื่อเรื่องที่แคบเกินไป เพราะการลงมือกระทำการ หรือทำการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น เป็นเพียงนิสัยอย่างหนึ่งในเจ็ดอย่างของคนที่มีประสิทธิภาพที่ผู้แต่งหนังสือต้องการกล่าวถึง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ถ้าบทเรียนบทนี้ มีชื่อว่า “การอ่าน” ชื่อเรื่องของบทนี้จะกว้างเกินไป ถึงแม้การเข้าใจสิ่งที่อ่านดีพอจนสามารถหาชื่อเรื่องที่เหมาะสมได้ จะเป็นทักษะหนึ่งในการอ่านก็ตาม แต่ถ้าบทเรียนนี้มีชื่อว่า “ชื่อเรื่องที่ดี” ชื่อเรื่องของบทนี้จะแคบเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีคำอธิบายว่า ชื่อเรื่องที่ดีเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะในบทนี้ มีเนื้อหาอีกหลายส่วน เช่น ชื่อเรื่องเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องฝึกหาชื่อเรื่อง และแบบฝึกหัด เป็นต้น

ชื่อเรื่องที่มีลักษณะพิเศษ

บางครั้งชื่อเรื่องอาจจะไม่มีลักษณะตรงไปตรงมา แต่อาจจะมีการเล่นคำ เล่นสำนวน เพื่อทำให้เรื่องนั้นสะดุดตาสะดุดหูผู้อ่านผู้ฟัง เช่น มีผู้ตั้งชื่อบทความว่า “วัยรุ่นสมัยนี้: ฆ่าได้ เชยไม่ได้” ซึ่งมีความหมายว่า วัยรุ่นสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการเป็นคนทันสมัยอย่างมาก ไม่ได้มีความหมายว่า ฆ่าได้จริงๆ การตั้งชื่อเช่นนี้ เป็นการล้อสำนวนที่ว่า “ลูกผู้ชาย: ฆ่าได้ หยามไม่ได้” กล่าวคือ คนที่เป็นลูกผู้ชายนั้น จะให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของตนมากขนาดที่ว่า ยอมตาย เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นต้น

ตัวอย่างในภาษาอังกฤษ เช่น ในการบรรยายวิธีการต่างๆที่จะช่วยคนที่มีอาการนอนไม่หลับ ผู้เขียนอาจจะตั้งชื่อบทความว่า Other than counting sheep ซึ่งมีความหมายว่า นอกจากการนับแกะ หรือถ้าไม่นับแกะ (มีวิธีอื่นๆ อีกที่จะช่วยทำให้นอนหลับ) ผู้เขียนบทความใช้ชื่อดังกล่าว โดยใช้สำนวน to count sheep ซึ่งหมายถึงการนึกภาพแกะกระโดดข้ามรั้วทีละตัวๆ และนับไปเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้เกิดความง่วงและหลับไปได้ในที่สุด

นอกจากนั้น ชื่อเรื่องอาจจะมีลักษณะเป็นคำถามก็ได้ เช่น บทความที่ชื่อว่า Do you really need an I-Pad? ไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านตอบว่า ตนเองจำเป็นต้องมีไอแพดหรือไม่ แต่เป็นการตั้งคำถามขึ้นมา เพราะผู้เขียนต้องการจะตอบว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีไอแพดก็ได้ และเพราะอะไร นับเป็นการตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจติดตามอ่านวิธีหนึ่ง

หากจะเลือกชื่อเรื่องที่เป็นคำถาม ก็ให้แน่ใจว่า เนื้อหาในบทความตอบคำถามนั้น

เครื่องมือส่วนตัว