การกล่าวซ้ำ (paraphrasing)
จาก ChulaPedia
ความหมายและจุดมุ่งหมาย
Paraphrasing หมายถึงการกล่าวถึงความคิดผู้อื่นด้วยถ้อยคำและสไตล์ของเราเอง เหมือนกับการแปล แต่ไม่ใช่ว่าแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง แต่เป็นการแปลความคิดและสไตล์การเขียนของคนหนึ่งให้เป็นคำพูดและสไตล์การเขียนของเรา เราจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่อง paraphrasing เพราะว่า มันเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเขียนทางวิชาการ โดยเฉพาะเวลาที่ทำรายงานวิจัย หรือ ทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเราต้องศึกษาความคิดของใครๆ และบางครั้งต้องอ้างพวกเขาเหล่านั้น paraphrasing เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเอ่ยถึงความคิดของคนอื่นได้ด้วยคำพูดของเราเอง จุดมุ่งหมายก็คือ เราต้องการให้คนอ่านของเราเข้าใจสิ่งที่เราเขียนชัดเจน เราถึงต้องพยายามใช้คำพูดของเราเองอธิบายถึงความคิดของคนอื่นซึ่งสำนวนภาษาหรือสไตล์การเขียนแตกต่างจากเราไปและอาจมีแนวคิดที่เข้าใจยาก เพราะฉะนั้น จะว่าไป paraphrasing ก็หมายถึง simplification การทำให้ง่ายขึ้นด้วย การทำให้กระจ่างและการทำให้ง่ายจะทำให้สิ่งที่เราเขียนน่าอ่านและเข้าใจง่ายขึ้น
ถ้าจะถามว่า paraphrase ควรจะยาวแค่ไหน ต้องบอกว่า ไม่มีกฎอะไรแน่นอน อย่างไรก็ตาม มันไม่น่าจะสั้นกว่าตัวต้นฉบับ เพราะเราต้องเก็บรายละเอียดที่สำคัญไว้ทั้งหมด แต่จำไว้ว่ายาวสั้นเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราต้องทำให้ original message หรือเนื้อหาสาระที่มีอยู่เดิมนั้นกระจ่างพอสำหรับผู้อ่านโดยที่ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม สิ่งที่สำคัญคือ ความหมาย ตลอดจนน้ำเสียงและความตั้งใจของผู้เขียน นั่นคือสิ่งที่เราต้องพยายามถ่ายทอดออกมาด้วยถ้อยคำของเราใน paraphrase
ลักษณะของ paraphrase ที่ดี 1. อธิบายเนื้อหาต้นฉบับได้ตรง และถูกต้องโดยไม่ได้ละทิ้งรายละเอียดที่สำคัญไป และไม่เติมความคิดความเห็นใดๆเข้าไป 2. แสดงว่าคนทำ paraphrase ได้อ่าน และศึกษาต้นฉบับหลายครั้งโดยละเอียด 3. แสดงถึงการเลือกใช้ถ้อยคำได้ดี ประโยคชัดเจน และภาษาที่มีโครงสร้างอย่างดี ขั้นตอนของการทำ paraphrasing 1. อ่านต้นฉบับอย่างละเอียดครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเข้าใจความหมายอย่างเต็มที่ จดความคิดหลักๆและรายละเอียดที่สำคัญไว้ สังเกตคำและวลีที่สำคัญๆใน text นั้น 2. หาคำเหมือนหรือคำอื่นๆที่ใช้แทนได้สำหรับคำและวลีที่สำคัญๆในต้นฉบับ แต่อย่าเปลี่ยนศัพท์เฉพาะ 3. เปลี่ยนโครงสร้างของ text - หาความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือความคิด เช่น เป็นเรื่อง สาเหตุ-ผลลัพธ์ หรือเป็นเรื่องการเปรียบเทียบความต่าง เป็นต้น - กล่าวถึงความสัมพันธ์เหล่านั้นด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป - เปลี่ยนลักษณะทางไวยากรณ์ เช่น ใช้ parts of speech ที่ต่างไป รวมประโยคเข้าด้วยกัน หรือแยกประโยคยาวๆ เป็นประโยคสั้นๆ 4. เขียน paraphrase ของเราเองจากที่จดไว้ ถือเป็นการร่างคร่าวๆ หลังจากนั้น ให้ทบทวนแก้ไขจนกระทั่ง ได้ร่างสุดท้ายที่ดี 5. ตรวจสอบงานของเรา - ให้แน่ใจว่าความหมายของต้นฉบับยังคงเดิมโดยไม่มีความคิดความเห็นของเราเพิ่มเข้าไป - ให้แน่ใจว่าเป็นสไตล์การเขียนของเรา และตรวจทานว่าตัวสะกด เครื่องหมายวรรคตอน ไวยากรณ์ และสำนวนต่างๆถูกต้อง - ให้แน่ใจว่าอย่างน้อย paraphrase ของเราก็ชัดเจนเท่ากับของต้นฉบับ