จินดามณี

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

จินดามณี เป็นชื่อของหนังสือแบบเรียน ซึ่งพระโหราธิบดีเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และใช้เป็นแบบเรียนสืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น


จินดามณี แปลว่า แก้วสารพัดนึก มีความหมายโดยนัยว่า ใครที่เรียนหนังสือนี้จนแตกฉานย่อมจะประสบความสำเร็จมีชีวิตรุ่งโรจน์ ดังที่บอกไว้ในโครงท้ายเรื่องบทหนึ่งในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี คือ

ลิขิตวิจิตรด้วย ศุภอรรถ

ด่งงมณีจินดารัตน เลอศแก้ว

อันมีศิริสวัสดิ โสภาคย์

ใครรู้คือได้แก้ว ค่าแท้ควรเมือง ฯ


สาระสำคัญและเนื้อหาของหนังสือจินดามณี

จินดามณีเป็นการสอนพื้นฐานอักขรวิธีไทยและเน้นเรื่องการประพันธ์ร้อยกรองแบบต่างๆ ซึ่งกวีในสมัยรัตนโกสินทรืตอนต้นมักต้องศึกษากลวิธีการประพันธ์จากหนังสือเล่มนี้ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 ว่าด้วยอักขรวิธี การแจกลูก การผันอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ และการประสมอักษร

ตอนที่ 2 ว่าด้วยการประพันธ์โคลงแบบต่างๆ

ตอนที่ 3 เป็นคำประพันธ์ขึ้นต้นด้วย “ร่ายกาพย์” 1 บท ตามด้วยโคลงสี่สุภาพ 33 บท เนื้อหาเป็นการชมพระนคร ยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมูลเหตุที่ทรงพระนิพนธ์จินดามณีเล่ม 2

ตอนที่ 4 เป็นสุรางคนางค์ 28 จำนวน 5 บท (วรรคละ 4 คำ บทละ 7 วรรค) แล้วนำคำในแต่ละวรรคไปตั้งเป็นกระทู้นำบาทโคลงสี่สุภาพ 35 บท เนื้อหาเป็นสุภาษิตสั่งสอนข้อปฏิบัติของผู้ที่จะเป็นข้าราชการ โดยความตอนนี้สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า โคลงสุภาษิตจินดามณี ต่อจากสุภาษิตเป็นบทสรุป ขอพร และบอกศักราช แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพอีก 6 บท


จินดามณีเล่ม 2

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า พระราชโอรสที่ทรงพระเยาว์ไม่ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญในเชิงอักษรศาสตร์ และกวีนิพนธ์ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทจึงทรงพระนิพนธ์จินดามณีเล่ม 2 ขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียน โดยหลังจากแจกนมัสการแล้ว เป็นการแจกลูกอักษร 3 หมู่ โดยละเอียดทุกตัว และทุกมาตราตัวสะกด ได้แก่ แม่ ก กา กก กด กง กน กม และ เกย การแจกอักษรควบกล้ำ การผันวรรณยุกต์ ซึ่งเนื้อหาสาระดังกล่าวมีความละเอียดกว่าหนังสือจินดามณีเล่ม 1

หนังสือจินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท นอกจากจะมีการแจกลูกอักษรโดยละเอียดแล้ว ยังมีคุณลักษณะโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ ความงามเชิงวรรณศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในคำประพันธ์ทุกชนิดตั้งแต่ต้นจนจบ


รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว