วิธีการอ่านหนังสือแบบSQ3R

จาก ChulaPedia

การปรับปรุง เมื่อ 05:06, 27 ธันวาคม 2553 โดย Tubolrat (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

วิธีการอ่านหนังสือแบบ SQ3R เป็นวิธีการอ่านที่ใช้ได้กับเนื้อหาทุกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านเรื่องเทคนิคหรือวิชาการ SQ3R เป็นตัวย่อในภาษาอังกฤษของสิ่งที่ต้องทำห้าอย่างในการอ่านด้วยวิธีนี้ กล่าวคือ • Survey สำรวจ • Question ตั้งคำถาม • Read อ่าน • Recite เล่า • Review ทบทวน ตามลำดับ แต่ละขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้

สำรวจและตั้งคำถาม ก่อนที่จะเริ่มอ่านจริงๆ ให้สำรวจสิ่งที่จะอ่านทั้งหมดก่อนคร่าวๆ เช่น ในการอ่านหนังสือ ให้ดูที่ปกหน้าและปกหลัง หรือด้านในของแผ่นหุ้มปกสำหรับหนังสือปกแข็ง หลังจากนั้น ให้ดูคร่าวๆ หน้าสารบัญ บทนำ คำอุทิศ หรือกิติกรรมประกาศ และประวัติผู้แต่ง ให้ดูด้วยว่า หนังสือเล่มนั้น มีรายการคำศัพท์หรือดัชนีข้างท้ายเล่มหรือไม่

สำหรับบทความวิชาการ ให้ดูว่า มีบทคัดย่อ หรือ abstract อยู่ตอนต้นหรือไม่ ให้ดูส่วนนี้คร่าวๆ ก่อนที่จะเริ่มอ่านตัวบทความ หลังจากนั้น ให้ดูตอนท้ายของบทความเพื่อดูบรรณานุกรม เพื่อดูว่าผู้เขียนอ้างถึงงานของใครบ้าง หรือมีรายการคำศัพท์พิเศษอยู่ด้วยหรือไม่

การสำรวจจะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาและความหมายของสิ่งที่จะอ่านเพิ่มขึ้น ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ควรจะมองหา และคำถามที่ควรจะตอบ เป็นคำถามที่เหมาะสำหรับการอ่านทางวิชาการโดยเฉพาะ

• ใครเป็นผู้พิมพ์ เคยได้ยินชื่อมาก่อนหรือไม่ เป็นผู้พิมพ์ที่มีชื่อเสียงดีไหม หากไม่มีชื่อเสียงนัก หรือผู้เขียนหนังสือเป็นคนตีพิมพ์เอง อาจจะต้องอ่านและพิจารณาเนื้อหาด้วยความรอบคอบมากขึ้น

• ใครเป็นผู้แต่งหรือผู้เขียนหนังสือ คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับผู้เขียน เขาทำงานที่ไหน มีคุณวุฒิอย่างไร เป็นผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นหรือไม่

• ผู้เขียนมีความเป็นกลางดีหรือไม่ เป็นต้นว่า คุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่ออ่านรายงานการศึกษาที่ว่าอ้างว่า บุหรี่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด คุณคงรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าผู้เขียนเป็นนักวิจัยที่ทำงานให้กับสมาคมต่อต้านมะเร็ง และคงรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ถ้าผู้เขียนทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายบุหรี่

• สิ่งที่คุณจะอ่านนั้นตีพิมพ์เมื่อใด เก่าแค่ไหน หากคุณอ่านบทความเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม คุณคงอยากอ่านสิ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ล่าสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าลืมว่า กว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะได้รับการตีพิมพ์ อาจต้องใช้เวลาถึงประมาณหนึ่งปี ทั้งนี้ ยังไม่นับเวลาที่ผู้เขียนใช้ศึกษาและเขียนขึ้นมา เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งหนังสือที่ตีพิมพ์ในปีนี้ก็อาจจะมีอายุประมาณหนึ่งปีแล้วก็ได้

อ่าน

เมื่อสำรวจและตั้งคำถามแล้ว ให้อ่านเนื้อความโดยตลอด อ่านโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าพยายามอ่านเร็วจนไม่เข้าใจอะไร ขณะที่อ่าน ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทอ่านกับตัวเองไปเรื่อยๆ นึกถึงสิ่งที่คาดหวังไว้ว่าจะได้อ่านหรือจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ตนเองตั้งไว้ หากจำเป็น ก็เปลี่ยนใจได้ ให้ใช้เวลากับเนื้อหาที่สำคัญมากกว่าที่จะใช้ไปกับรายละเอียด

อย่าวิตก ถ้าตอนแรก คุณยังแยกสิ่งที่สำคัญกับสิ่งที่เป็นรายละเอียดออกจากกันไม่ได้ดีนัก แต่ยิ่งคุณใช้วิธี SQ3R บ่อยขึ้น การแยกทั้งสองอย่างออกจากกันจะง่ายขึ้น คุณอาจจะทำเครื่องหมายไว้ที่คำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย และหาความหมายของคำนั้นภายหลัง หากมันเป็นคำที่จะช่วยทำให้คุณเข้าใจเนื้อหาที่อ่านไปเพิ่มขึ้น เทคนิคนี้สำคัญเป็นพิเศษในการอ่านเรื่องวิชาการ

เล่า เมื่ออ่านจบแต่ละย่อหน้า ให้เงยหน้าขึ้นครู่หนึ่งและสรุปประเด็นสำคัญที่เพิ่งอ่านจบในใจ คิดถึงสิ่งที่อ่านไป มุ่งเน้นที่รายละเอียดหลักๆ หลังจากนั้น ให้สรุปเนื้อหาสำคัญเหล่านั้นด้วยคำพูดของคุณเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เก็บความคิดเอาไว้ได้ และทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น คุณอาจจะ “เล่า” หรือ “recite” กับตัวเองโดยไม่ต้องพูดออกมา แต่ถ้าพูดออกมาดังๆ จะง่ายกว่า ก็พูดออกมา หลายครั้ง การพูดกับตัวเองจะช่วยให้เรานึกข้อมูลสำคัญๆได้ ถ้าหากไม่บังคับให้ตัวเอง recite สิ่งที่อ่านแล้ว คุณก็จะลืมข้อมูลที่สำคัญๆไป

หากคุณนึกสิ่งที่คุณเพิ่งอ่านจบไม่ได้ ให้ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านั้นใหม่ แต่อย่าใช้เวลามากเกินไป แต่ก็อย่าปล่อยให้ตัวเองไม่เข้าใจมากขึ้นๆ ให้ยอมเสียเวลาสองสามวินาทีอ่านใหม่ตอนนี้จะดีกว่าเสียโอกาสที่จะเข้าใจบทอ่านทั้งหมด ลองดูกับการอ่านหน้านี้ก็ได้ ให้เงยหน้าขึ้น และคิดอย่างรวดเร็วถึงสิ่งที่คุณเพิ่งอ่าน หลังจากนั้น ให้พยายามสรุปสิ่งที่คุณเพิ่งอ่านสั้นๆสักประโยคสองประโยค คุณจะทำในใจหรือจดลงบนกระดาษก็ได้ ถ้าคุณยังงงอยู่ ก็ให้ย้อนกลับไปอ่านใหม่เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

เมื่อคล่องแคล่วพอแล้ว คุณก็สามารถจะยืดความยาวของสิ่งที่คุณอ่านออกไปอีกก่อนที่จะหยุดคิดถึงมัน นักอ่านที่เก่งๆอาจจะหยุดทุกๆหน้าหรือทุกสองหน้า แทนที่จะเป็นทุกๆย่อหน้า

ทบทวน หลังจากที่คุณอ่านทั้งหมดจบแล้ว ให้ทบทวนเนื้อหาที่อ่านมา อย่าเสียเวลาอันมีค่าอ่านทั้งหมดใหม่ แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้เน้นประเด็นหลักๆ เช่น ชื่อเรื่อง หัวข้อใหญ่ๆ รายละเอียดสำคัญๆ ลองใช้เวลาแว่บหนึ่งย้อนกลับไปดูหัวข้อใหญ่ๆที่อยู่ในบทความนี้ คุณจะเห็นว่า มันช่วยให้คุณติดตามประเด็นสำคัญๆ คือ สำรวจและตั้งคำถาม อ่าน เล่า และทบทวน ได้ เพียงแว่บเดียว คุณควรจะเก็บเอาประเด็นเหล่านี้ได้

คุณอาจจะทำเครื่องหมายไว้ตามบริเวณที่เนื้อหาสำคัญๆปรากฏอยู่ ด้วยการใช้ดินสอหรือปากกาเน้นข้อความ การทำเช่นนี้จะทำให้คุณอ่านช้าลง แต่จะทำให้คุณเข้าใจมากขึ้น นักอ่านเร็วส่วนมากจะทำเช่นนี้เฉพาะเวลาที่อ่านเอกสารเทคนิค หรือเอกสารสำคัญเท่านั้น

คราวต่อไปที่จะต้องอ่านอะไรสักอย่าง ให้ลองฝึกหัดใช้วิธีอ่าน แบบ SQ3R เมื่อฝึกอ่านวิธีนี้บ่อยๆแล้ว คุณน่าจะอ่านได้รวดเร็วขึ้น และเข้าใจมากขึ้น

เครื่องมือส่วนตัว