น้ำมันดิบ (Crude Oil)
จาก ChulaPedia
(→ราคาน้ำมันดิบ http://mblog.manager.co.th/piti31/OPEC/) |
(→ราคาน้ำมันดิบ http://mblog.manager.co.th/piti31/OPEC/) |
||
(การแก้ไขหนึ่งรุ่นระหว่างรุ่นที่เปรียบเทียบไม่แสดงผล) | |||
แถว 89: | แถว 89: | ||
ดังนั้นจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งในด้านกลไกตลาดและการเก็งกำไรจากบริษัทผู้ผูกขาดกลุ่ม Supermajor น้ำมันดิบจึงพุ่งขึ้นสู่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็เริ่มพยากรณ์แล้วว่าราคาน้ำมันอาจจะขึ้นอีกรอบ | ดังนั้นจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งในด้านกลไกตลาดและการเก็งกำไรจากบริษัทผู้ผูกขาดกลุ่ม Supermajor น้ำมันดิบจึงพุ่งขึ้นสู่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็เริ่มพยากรณ์แล้วว่าราคาน้ำมันอาจจะขึ้นอีกรอบ | ||
+ | |||
+ | |||
+ | --[[ผู้ใช้:Spiti|Spiti]] 05:56, 19 สิงหาคม 2553 (BST) | ||
== เอกสารอ้างอิง == | == เอกสารอ้างอิง == | ||
<references> | <references> |
รุ่นปัจจุบันของ 04:57, 19 สิงหาคม 2553
บทความต่อไปนี้เป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องน้ำมันดิบและการกำหนดราคาน้ำมันดิบในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ
เนื้อหา |
การจำแนกคุณภาพน้ำมันดิบ [1]
โดยปกติแล้วน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาจากใต้พื้นดิน หรือจากใต้ทะเล มักจะเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากการทับถมของซากพืชซากสัตว์โบราณ (ฟอสซิล) ที่หมักหมมทับถมอยู่ในแอ่งระหว่างชั้นหินชั้นดินมานานนมชั่วนาตาปี ซึ่งน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้นี้ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ 100% และพร้อมที่จะนำมากลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม มันยังมีสารเคมีอื่นๆ ผสมปนเปอยู่ด้วย โดยสารตัวหนึ่งที่ต้องกำจัดออกก่อนที่จะนำไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม (เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลที่เราใช้เติมรถยนต์) นั่นคือ กำมะถัน (Sulfur)
กำมะถันคือธาตุตัวเดียวกับที่ทำให้เวลาเราไปเที่ยวน้ำพุร้อนบางแห่งแล้วได้กลิ่นก๊าซไข่เน่านั่นเอง (ในกรณีนั้นคือในแอ่งของชั้นหินหรือชั้นดินนั้นๆ มีตาน้ำอยู่ครับ แล้วน้ำนั้นก็ถูกต้มโดยความร้อนจากใต้พิภพ) กำมะถันเป็นสารที่ต้องสกัดออกไปก่อนในกระบวนการกลั่น มิฉะนั้นมันจะทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยมชนิดต่างๆ ที่เรากลั่นได้จากน้ำมันดิบมีฤทธิ์เป็นกรด ถ้าเอาไปใช้เติมเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ เครื่องยนต์ก็จะสึกกร่อนและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
เนื่องจากกำมะถันที่ปนอยู่ในเนื้อน้ำมันมักจะอยู่ในรูปของ ก๊าซ hydrogen sulfide ซึ่งมีคุณสมบัติในการกัดกร่อน และเป็นสารที่มีพิษ ดังนั้นน้ำมันดิบที่มีกำมะถันปนอยู่ในสัดส่วนที่สูง มีฤทธิ์เป็นกรด จึงถูกเรียกโดยใช้คำแสลงว่า Sour Crude Oil (Sour แปลว่า รสเปรี้ยว, หรือเป็นคำแสลงแปลว่า ของคุณภาพไม่ดี) แต่ถ้าเป็นน้ำมันดิบที่มีกำมะถันเจือปนอยู่ในสัดส่วนต่ำกว่า 0.5% เราจะใช้ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Sweet Crude Oil (Sweet แปลว่า รสหวาน)
นอกจากน้ำมันดิบจะแตกต่างกันที่การมีกำมะถันเจือปนอยู่มากน้อยแค่ไหนแล้ว ความหนาแน่น หรือความข้น – ความใสของน้ำมันดิบก็เป็นคุณสมบัติที่กำหนดคุณภาพของน้ำมันดิบเช่นเดียวกันครับ น้ำมันดิบที่มีลักษณะเป็นของเหลวที่ไม่ข้นจนเกินไป จะทำให้การกลั่นทำได้ง่ายและต้นทุนการกลั่นก็จะต่ำ ดังนั้นน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นต่ำ ที่เรียกว่า Light Crude Oil นี้จึงมีราคาสูง และในทางตรงกันข้ามน้ำมันดิบที่มีลักษณะหนืดข้น มีความหนาแน่นสูงที่เรียกว่า Heavy Crude Oil ก็จะต้องกลั่นด้วยความยากลำบากและมีต้นทุนในการกลั่นที่สูงขึ้น ดังนั้นน้ำมันดิบประเภทนี้ก็จะมีราคาซื้อขายลดต่ำลงมา
ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก[2]
น้ำมันดิบเป็นหนึ่งในสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Markets) น้ำมันดิบที่ขุดค้นได้ในหลายๆ แหล่งทั่วโลกก็สามารถจำแนกประเภทออกได้ตามระดับความหนาแน่น และปริมาณกำมะถัน ได้เป็นระดับๆ ตามมาตรฐาน และก็ทำการซื้อขายและส่งมอบสินค้าชำระเงินกันในตลาดโภคภัณฑ์หลายๆ แห่งทั่วโลก ยกตัวอย่างตลาดน้ำมันดิบที่สำคัญๆ ที่เป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลกได้แก่
West Texas Intermediate (WTI) น้ำมันดิบคุณภาพสูง มีกำมะถันต่ำ (sweet) มีความหนาแน่นต่ำ (ใส, light) ซื้อขายและส่งมอบกันที่ตลาดในเมือง Cushing, Oklahoma เป็นราคาอ้างอิงที่ใช้ในการกำหนดราคาน้ำมันอ้างอิงในทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นแล้วยังใช้เป็นราคาสินค้าอ้างอิง (underlying commodity) ในการซื้อขายสัญญาซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้า (oil futures contracts) ในตลาด New York Mercantile Exchange อีกด้วย
Brent Blend เกิดจากการคำนวณราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันจากแหล่งผลิต 15 แหล่งในบริเวณทะเลเหนือ (North Sea) ของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีแอ่งน้ำมันของประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ค และเยอรมัน น้ำมันดิบที่ซื้อขายในตลาดนี้จะมีระดับราคาเฉลี่ยสูงกว่าในตลาดอื่นๆ เนื่องจากแหล่งน้ำมันในทะเลเหนืออยู่ใต้ดินในระดับที่ลึกมากกว่าแหล่งอื่นๆ และเป็นแหล่งที่มีการขุดเจาะน้ำมันมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว ดังนั้นแท่นขุดเจาะในบริเวณนี้จึงมีอายุเฉลี่ยที่สูงและกำลังการผลิตมีไม่สูงนัก ทำให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในตลาดนี้เป็นน้ำมันคุณภาพดี (Light Sweet Crude Oil) ด้วยต้นทุนที่สูงและยังถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงในทวีปยุโรป, แอฟริกา และในตะวันออกกลาง มีการประมาณการกันว่า 2 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในตลาดโลกทุกวันนี้จะอ้างอิงราคาจากราคา Brent Blend นี้
Dubai-Oman เป็นราคาอ้างอิงที่ได้จากการซื้อขายน้ำมันดิบที่มีความใสแต่คุณภาพต่ำ (Light sour crude oil) เนื่องจากมีกำมะถันในปริมาณสูง แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบก็มักจะถูกใช้มักใช้เป็นราคาอ้างอิงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการซื้อขายน้ำมันดิบในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นน้ำมันดิบที่สามารถส่งมอบได้เลยทันที เนื่องจากผู้ผลิตเดินเครื่องผลิตน้ำมันอยู่แล้วตลอดเวลา
Tapis ราคาอ้างอิงที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นต่ำ (light) ที่ผลิตจากแหล่งบริเวณ Far East oil ซึ่งครอบคลุมแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไร
Minas ราคาอ้างอิงที่ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นสูง (Heavy) ที่ผลิตจากแหล่ง Far East oil
The OPEC Reference Basket ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการผลิตของประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC (The Organization of the Petroleum Exporting Countries) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้ง 12 ประเทศอันได้แก่ อัลจีเรีย, แองโกล่า, เอกวาดอร์, อีหร่าน, อีรัค, คูเวต, ลิเบีย, ไนจีเรีย, กาตาร์, ซาอุดิอาราเบีย, สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต และเวเนซูเอลาร์
ราคาน้ำมันดิบ [3]
ปัจจัยที่กำหนดราคาน้ำมันดิบสามารถจำแนกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ปัจจัยทางด้านอุปทาน และ ปัจจัยอื่นๆ โดยสามารถพิจารณาการปรับตัวของราคาน้ำมันได้จากกราฟด้านบน
ถ้าเราตัดผลของเงินเฟ้อออกไปโดยใช้ค่าเงินของปี 2550 เป็นค่าเงินมาตรฐาน เราพบว่าเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1949) ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับประมาณ 19.04 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (โดยราคาที่ซื้อขายในขณะนั้นเมื่อคิดเป็นมูลค่าเงินในขณะนั้นอยู่ที่ 2.77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น) แต่ราคานี้กลับปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2 เท่าคือมาอยู่ที่ 5.11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี ค.ศ. 1973 (หรือคิดเทียบเท่ากับ 40.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลด้วยค่าเงินปัจจุบัน) เมื่อกลุ่มโอเปค (ในขณะนั้นประเทศสมาชิกคือ กลุ่มประเทศอาหรับ, อียิปต์ และซีเรีย) ประกาศรวมตัวกันและกำหนดนโยบายการส่งออกน้ำมันแบบผู้ผูกขาด (Cartel Forming) ทำการลดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เราเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1” หรือ “1973 Oil Crisis”
หลังจากนั้นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1979 เมื่อเกิดการรัฐประหารในอิหร่าน และการขึ้นครองอำนาจของโคไมนี่ (Ayatollah Khomeini) และทำให้นโยบายการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลกขณะนั้นลดการผลิตลงอย่างมากจาก 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสู่ระดับ 39.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในช่วงระหว่างปี 1979 – 1980 (หรือคิดเทียบเท่ากับ 98.07 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลด้วยค่าเงินปัจจุบัน) ซึ่งวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 นี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทยที่เริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการจัดตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2521
ช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 1980 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 (1979 – 1980) ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นอีกเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ 2 รายเกิดสู่รบกันเองในสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980 – 1988) แต่อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1980 ราคาน้ำมันดิบก็เริ่มปรับตัวลดลงเรื่อยๆ อีกครั้ง เนื่องจากสมาชิกกลุ่มโอเปคเองก็เริ่มที่จะแอบสูบน้ำมันขึ้นมาขายมากกว่าโควตาที่ตนได้รับจากการจัดตั้ง Cartel (หรือการรวมหัวกันเพื่อผูกขาดการกำหนดปริมาณน้ำมันดิบที่จะออกขาย) โดยเฉพาะซาอุดิอาราเบียที่เริ่มเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มการเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก
ช่วงทศวรรษที่ 1990 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่ระดับราคาน้ำมันก็ไม่ได้เกิดการปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดภาวะวิกฤตแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกลุ่มโอเปคไม่สามารถร่วมมือกันกำหนดราคาและโควตาการผลิตได้อย่างแข็งแกร่งเท่าเดิมอีกแล้ว
เหตุการณ์ 9-11 (การก่อการร้ายถล่มตึก World Trade Centre กลางมหานครนิวยอร์กในวันที่ 11 เดือนกันยายน 2001) อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลกอีกหนึ่งครั้งและก็เป็นครั้งที่ส่งผลต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันนี้ด้วย สาเหตุของการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันในรอบปัจจุบันเกิดขึ้นทั้งจากสาเหตุทางด้านอุปสงค์ (Demand Pull) และอุปทาน (Cost Push)
อุปสงค์ต่อการบริโภคน้ำมันดิบประตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากเศรษฐกิจที่เกิดการขยายตัวอย่างมหาศาลในประเทศที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศที่มีคนขับรถมากที่สุดในโลกและนิยมใช้กันแต่เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ๆ นั่นคือสหรัฐอเมริกา ทำความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยอัตราการขยายตัวของความต้องการบริโภคน้ำมันที่เคยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76%ต่อปีในช่วงระหว่าง 1994 – 2006 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเป็นความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 37% ในช่วงระหว่างปี 2006 – 2007
โดยในปี 2006 ความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ 86 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกาที่ระดับ 20.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณกว่า 1 ใน 5 ของการบริโภครวมของทั้งโลก โดยประเทศผู้บริโภคน้ำมันขนาดใหญ่ในลำดับรองลงมาและปริมาณการบริโภคน้ำมัน ได้แก่ จีน (7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ญี่ปุ่น (5.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซีย (2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เยอรมัน (2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอินเดีย (2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 9.2 แสนบาร์เรลต่อวัน และตัวเลขการบริโภคน้ำมันโดยรวมของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 118 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2007 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไป
แต่อุปทานของน้ำมันดิบกลับไม่สามารถปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในแหล่งต่างๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความยากลำบากในการหาแหล่งน้ำมันดิบใหม่ๆ ซึ่งแทบจะไม่ค้นพบเลยตั้งแต่หลังช่วงทศวรรษที่ 1980 ประกอบกับการขาดการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ปัจจุบันแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายๆ แหล่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุการใช้งานประมาณ 30 – 40 ปีเริ่มทยอยหมดอายุทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต (Capacity) ในขณะเดียวกันการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบแหล่งใหม่ และการสร้างแท่นขุดเจาะใหม่ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนานพอสมควร แม้ว่าในบริเวณไซบีเรีย และในภาคตะวันตกของจีนจะยังมีแหล่งน้ำมันดิบอยู่แต่การนำออกมาใช้ก็มีต้นทุนที่สูงมาก
โดยในปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุด 5 อันดับแรกและปริมาณการผลิตเป็นดังนี้ ซาอุดิอาราเบีย (10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซีย (9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สหรัฐอเมริกา (8.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อิหร่าน (4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และจีน (3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
ประเทศไทยเองก็สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่เพียงพอกับที่เราต้องการใช้เท่านั้นเอง ไทยเราผลิตน้ำมันได้ประมาณ 3.3 แสนบาร์เรลต่อวันแต่เราใช้น้ำมันประมาณ 9.2 แสนบาร์เรลต่อวัน (หวังว่าไทยจะผลิตได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอกับความต้องการในอนาคต เมื่อประเทศไทยสามารถนำทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยขึ้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่)
ส่วนประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก 10 ประเทศแรกคือ กลุ่มเอเปค โดยมีรัสเซีย นอร์เวย์ และเม็กซิโก แทรกเข้ามาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 2, 3 และ 10 ตามลำดับ
แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะกลไกตลาดตามปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่แทรกแซงกลไกตลาด เช่น การเก็งกำไรของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทอีกด้วย การโยนความผิดเรื่องราคาน้ำมันดิบสูงเกินไปให้กลุ่ม OPEC ที่มีการกำหนดโควตาการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสียทั้งหมด เนื่องจากในความเป็นจริงประเทศสมาชิกโอเปคก็เป็นเพียงเจ้าของแหล่งน้ำมันเท่านั้น และทุกประเทศสมาชิกก็พร้อมที่จะแอบสูบน้ำมันขึ้นมาขายมากกว่าโควตาที่ตนได้รับอยู่แล้ว และจากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เราพบว่ากลุ่มโอเปคเริ่มสูญเสียความสามารถในการกำหนดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลกไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนทศวรรษที่ 1990 เราพบว่าในปัจจุบัน (ปี 2009) น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในโลกมีประมาณ 33.3% หรือ 1 ใน 3 ที่ผลิตในกลุ่มโอเปค ในขณะที่อีก 23.8% หรือ 1 ใน 4 ผลิตโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) อันได้แก่กลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อีก 14.8% ผลิตจากประเทศที่เคยเป็นอยู่ในกลุ่มโซเวียต (Post-Soviet states) ดังนั้นปริมาณการผลิตของโอเปคที่ลดต่ำลงนี้ทำให้อำนาจการต่อรองของกลุ่มเอเปคในการกำหนดราคายิ่งลดต่ำลงอีก
หากแต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กลับถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันเพียงไม่กี่บริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบ และเป็นเจ้าของทั้งแท่นขุดเจาะและเป็นเจ้าของโรงกลั่นอีกด้วย นั่นคือบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตเกือบได้ทั้งหมดของกระบวนการผลิตตั้งแต่แหล่งขุดเจาะ จนถึงสถานีบริการน้ำมัน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า กลุ่ม “Supermajor” ซึ่งมีทั้งหมด 6 บริษัทและทั้ง 6 บริษัทนี้ก็มักจะทำนโยบายไปในทิศทางเดียวกันเพื่อทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และสร้างโอกาสในการเก็งกำไรอยู่เสมอ โดยสมาชิกทั้ง 6 ของกลุ่มนี้และตัวย่อที่ใช้ในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์คและสัญชาติของบริษัทเหล่านี้ ได้แก่ ExxonMobil (XOM, บริษัทสัญชาติอเมริกัน), Royal Dutch Shell (RDS, บริษัทสัญชาติเนเธอแลนด์และสหรัฐราชอาณาจักร) British Petroleum (BP, บริษัทสัญชาติสหรัฐราชอาณาจักร) Chevron Corporation (CVX, บริษัทสัญชาติอเมริกัน), ConocoPhillips (COP, บริษัทสัญชาติอเมริกัน) และ Total S.A. (TOTบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส)
พิจารณาชื่อบริษัทและสัญชาติแล้ว และเมื่อรวมกับการซื้อขาย การเล่นข่าว ผลทางจิตวิทยา เพื่อการเก็งกำไรในซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า Oil Future ในนิวยอร์ค เราคงบอกว่าโอเปคเป็นตัวการทำให้น้ำมันแพงแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้อีกแล้ว
ดังนั้นจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งในด้านกลไกตลาดและการเก็งกำไรจากบริษัทผู้ผูกขาดกลุ่ม Supermajor น้ำมันดิบจึงพุ่งขึ้นสู่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็เริ่มพยากรณ์แล้วว่าราคาน้ำมันอาจจะขึ้นอีกรอบ
--Spiti 05:56, 19 สิงหาคม 2553 (BST)