ว่าด้วยเรื่องษัษฏีวรรษโศภิตภูริกาลการคุรววักรสตุตี
จาก ChulaPedia
(→ชูชาติทรรศน์ : ว่าด้วยเรื่องษัษฏีวรรษโศภิตภูริกาลการคุรววักรสตุตี) |
(→ชูชาติทรรศน์ : ว่าด้วยเรื่องษัษฏีวรรษโศภิตภูริกาลการคุรววักรสตุตี) |
||
แถว 175: | แถว 175: | ||
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอน้อมคารวะคณาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการทุกท่านและขออุทิศคุณความดีของบทความนี้โดยสรรเสริญแบบตรงไปตรงมาแด่ครูผู้ทำงานที่ดีงามและยั่งยืนมาครบ 60 ปี | ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอน้อมคารวะคณาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการทุกท่านและขออุทิศคุณความดีของบทความนี้โดยสรรเสริญแบบตรงไปตรงมาแด่ครูผู้ทำงานที่ดีงามและยั่งยืนมาครบ 60 ปี | ||
+ | |||
ด้วยความปรารถนาดี | ด้วยความปรารถนาดี | ||
+ | |||
Kalos kagathos | Kalos kagathos |
รุ่นปัจจุบันของ 09:16, 20 เมษายน 2554
ชูชาติทรรศน์ : ว่าด้วยเรื่องษัษฏีวรรษโศภิตภูริกาลการคุรววักรสตุตี
รองศาสตราจารย์ ชูชาติ ธรรมเจริญ Chuchaat.t@chula.ac.th
อ่านชื่อบทความแล้ว รู้สึกงุนงง สงสัย แคลงใจ ประหลาดใจมากใช่หรือไม่ ? แน่นอนที่สุดเพราะเป็นชื่อบทความที่แปลกมาก ๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะอ่านชื่อบทความนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่าถามเลยว่าแปลว่าอะไร? หรือหมายความว่าอะไร?
เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการจะให้เกิดความฉงนและเป็นปรัศนีย์ในความรู้สึกและความคิดคำนึงของผู้ตั้งใจจะอ่านบทความนี้ อีกประเด็นหนึ่งผู้เขียนจงใจที่จะลิขิตบทความนี้ฝากไว้ให้เป็นอนุสติแก่นิสิตภาควิชาเคมีและเพื่อนผองน้องพี่และอนุชนรุ่นหลังทุกคน ให้ตระหนักถึงความลึกซึ้งของภาษาและวัฒนธรรม มิใช่มุ่งเน้นไปที่สาระของตัวสารเท่านั้น อรรถรสของภาษาเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะช่วยจรรโลงและเชิดชูสาระของตัวสารให้สูงเด่นเป็นสง่าอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก อาทิ “Less is more ; else lore is mess” เป็นต้น
'“ษัษฏีวรรษโศภิตภูริกาลการคุรววักรสตุตี”' เป็นคำสันสกฤตประกอบด้วย : ษัษฏี + วรรษ + โศภิต + ภูริ + กาล { + การ + คุรุ }+ อวักระ + สตุตี [อ่านว่า สัด-สะ-ตี-วัด-สะ-โส-พิด-พู-ริ-กา-ละ-กา-ระ-คุ-ระ-วะ-วัก-กระ-สะ-ตุ-ตี]
อีกชื่อหนึ่งที่ให้ความหมายใกล้เคียงกัน คือ
“ษัษฏีวรรษโศภิตจิรัฏฐิติกาลการคุรววักรสตุตี” ' เป็นคำสันสกฤตประกอบด้วย : ษัษฏี + วรรษ + โศภิต + จิร + ฐิติ {+ กาล + การ + คุรุ }+ อวักระ + สตุตี [อ่านว่า สัด-สะ-ตี-วัด-สะ-โส-พิด-จิ-รัด-ฐิ-ติ-กา-ละ-กา-ระ-คุ-ระ -วะ-วัก-กระ-สะ-ตุ-ตี] แปลว่า
การสรรเสริญแบบตรงไปตรงมาแด่ครูผู้ทำงานที่ดีงามและยั่งยืนมาครบ 60 ปี
เมื่อเฉลยปัญหาคาใจแล้ว คงทำให้ความสงสัยที่มีอยู่คงลดน้อยลงไม่มากก็น้อยและพอคาดเดาได้ว่า สิ่งที่จะสาธยายต่อไปต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานของครูอย่างแน่นอน ดวงตาเริ่มสว่างบ้างแล้ว การคาดคะแนดังกล่าวใกล้เคียงความจริงมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ปรากฏกับสิ่งที่เป็นจริงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน
เป็นความบังเอิญมาก ๆ ที่ผู้เขียนได้อ่านคอลัมน์ ขอบฟ้ากว้าง ในหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ ดุษฎี พนมยงค์ { น่าเสียดายที่มิได้บันทึกไว้ว่าเป็นฉบับ วันที่ เดือน พอศอ เท่าใด }
ผู้เขียนได้ปรับปรุงและขยายแนวคิดของท่านอาจารย์ ดุษฎี พนมยงค์ สรุปเป็นสาระว่า “อาจารย์ที่ดี” ต้อง
1) มีคุณธรรมและศีลธรรมประจำใจ
2) มีวัตรปฏิบัติสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์และสังคมได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
3) คิดดีโดยมีความคิดสร้างสรรค์และคิดในเชิงบวก ปฏิบัติชอบด้วยกายสุจริต มโนสุจริตและวจีสุจริต ซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในทุกมิติ
4) ดำเนินชีวิตอย่างอิสระ เรียบง่าย แต่ทันสมัยโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
5) เป็นเอตทัคคะ ในวิชาหรือศาสตร์ที่สอนอย่างแท้จริง
6) มีหลักจิตวิทยาที่ถูกต้องในการสอน พร้อมกระตุ้นให้เกิดจินตนาการซึ่งมีรากฐานจากความจริง ตลอดจนเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการสอนที่เหมาะสม
7) พยายามพัฒนาสิ่งที่ดีหรือปัจจัยภายในที่มีอยู่ในตัวศิษย์เพื่อนำออกมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ อันจะยังประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและต่อประเทศชาติ
8) ฝึกตนเองอย่างสม่ำเสมอ ให้ใฝ่รู้ หมั่นค้นคว้า และสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาสังคม โดยเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนทัศน์และกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้ปรัชญา : รู้-เข้าใจ-ใช้เป็น-เห็นปัญหา-ค้นคว้าได้-ทำนายถูก-ปลูกผลเอง-เคร่งคุณธรรม [Übung macht den Meister หรือ Practice makes perfect]
9) อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีกุศลจิต และรับฟังความเห็นของผู้อื่น
10) มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือและมีมิตรภาพอันดีต่อเพื่อนร่วมอาชีพโดยไม่มีจิตริษยา อาฆาตแค้น ให้ร้ายป้ายสี ดูแคลนและส่อเสียด
11) สามารถแนะนำชี้ช่องทางให้ศิษย์สามารถรังสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
12) ยึดสายกลางในการสอน ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปและไม่ปิดบังความรู้ พึงระลึกเสมอว่าศิษย์ย่อมยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าครูในทุกทุกด้านและทุกกรณีอันจะยังให้โลกพัฒนาสถาพรไปสู่ความเจริญชั่วนิรันดร์
13) ไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้าง หรือ ลาภ ยศ สรรเสริญ
14) เป็นกัลยาณมิตรของศิษย์ โดยเป็นทั้งครู พ่อแม่ พี่และเพื่อนของศิษย์
15) เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง คือให้วิชาความรู้และความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ ทั้งยังให้ความดีงามแก่สังคม
ยากมากใช่หรือไม่? สำหรับการเป็นครูที่ดี ผู้เขียนต้องการจารึกไว้ในความคิดคำนึงของทุกคน ให้ตระหนักถึงความเป็นครูที่ดี ซึ่งยากมากมาก แต่ก็หวังว่าคงพอมี คุณครูดีดีหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมอันแสนจะโสโครกเช่นสังคมไทยในปัจจุบันนี้
หวนกลับมาพิจารณาว่าก่อนที่จะเป็นอาจารย์ที่ดีนั้น คุณลักษณะของผู้สมควรเป็นอาจารย์ควรมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนประมวลคุณลักษณะของผู้สมควรเป็นอาจารย์ไว้ 9 ประการ ดังนี้
1) มีความเข้มทางวิชาการ
2) ค้น อ่าน คิด ด้วยวิสัยทัศน์
3) ถนัดการงานวิชาชีพ
4) พานพบรู้ประทีปปัญญาชน
5) รู้คน รู้ประสานงาน
6) สืบสานคุณธรรมความเป็นไทย
7) กว้างไกลความเป็นสากล
8) เป็นผลิตผลรับใช้สังคม
9) มีความเหมาะสมพร้อมวุฒิภาวะครู
เพราะว่าการเป็นอาจารย์ จะต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่อไปนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ
(ก) Problem Solving
(ข) Reasoning and Proof
(ค) Connection
(ง) Communication
(จ) Re-presentation
เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาล (Good governance) กล่าวคือ
1. ต้องบริหารเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
2. ต้องหวังผลสัมฤทธิ์
3. ต้องมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
4. ต้องลดเวลาและขั้นตอน
5. ต้องจัดระเบียบองค์กรทุกหน่วย
6. ต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
7. ต้องประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
ในเชิงการบริหารนั้นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ขององค์กรหรือชีวิต คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้ปรารถนาจะบริหารชีวิตและงานให้บรรลุเป้าหมาย เป็นที่รักและศรัทธาของผู้เกี่ยวข้อง สรุปเป็นสาระที่สำคัญได้ดังนี้
1) มีความเป็นกันเอง มีโลกทัศน์กว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นและเคารพในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น
2) มีทัศนคติในทางบวก มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง มองโลกด้วยใจเป็นธรรม
3) มีความสามารถและทักษะในการสื่อสารที่ดี
4) มีความสามารถในการครองตน ครองงาน มีความยืดหยุ่นและลักษณะประนีประนอมสูง
5) มีความสามารถในการประสานงานที่ดี สามารถสร้างเครือข่ายทั้งในระดับบุคคลและองค์กรได้
6) มีความสามารถในการสร้างทีมและทำงานเป็นทีม ทั้งในภาวะผู้นำและผู้ตาม
7) มีความสามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้ หาเหตุผลเชื่อมโยงความคิดโดยปราศจากความอคติ และสรุปประเด็นต่าง ๆ ได้ชัดเจน
8) มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
9) รู้จักยกย่องให้เกียรติผู้อื่นอย่างจริงใจ
10) รู้จักรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี มีความกระตือรือร้นและควบคุมอารมณ์ได้ดี
อนึ่งในการดำเนินชีวิตทุกคนจะต้องประสบกับปัญหาในการที่จะต้องตัดสินใจเสมอ ควรที่จะได้ยึดเกณฑ์ต่อไปนี้ช่วยประกอบการตัดสินใจอันจะนำมาซึ่งความถูกต้อง เที่ยงธรรม และความเจริญแห่งชีวิต คือ
ก) หลักการ
ข) เหตุผล
ค) ข้อเท็จจริง
ง) สามัญสำนึก
เมื่อใคร่ครวญไตร่ตรองรอบคอบแล้ว กระบวนการการตัดสินใจย่อมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแน่นอน ผู้เขียนขอเสนอทฤษฎี ก้างปลา 4M1E เพื่อใช้เป็นหลักในการแก้ปัญหาโดยนำ “ปัญหา” มาเป็นหัวปลา และก้างปลา 4M1E อันได้แก่ Man , Machine , Material , Method และ Environment มาเป็นวิธีแก้ปัญหา โดยใช้ 4M1E แล้วตัดปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป จะเห็นสาเหตุหลักที่เป็นตัวปัญหาอย่างชัดเจน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นจะทำให้ชีวิตมีแก่นสารและสาระมากขึ้น เนื่องจากว่าสามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม วิธีการแก้ปัญหาด้วยทฤษฎี ก้างปลา นี้ จะสอดคล้องกับ ISO 17025 ซึ่งองค์กรต่าง ๆ กำลังมุ่งเน้นให้ได้มาซึ่งระบบการทำงานที่ดีและมีประสิทธิผล
ถ้าต้องการให้ชีวิตมีความสุขต้องรู้จักคำว่า “พอ” และดำเนินชีวิตตามแนวคติธรรมที่ได้จากพระศาสนาและนานาปราชญ์ของโลก ซึ่งจะขอนำเสนอส่วนหนึ่งไว้ ณ ที่นี้ คือ
(1) ผู้สุภาพอ่อนน้อม ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ถือตัว ไม่หลงตัว ย่อมได้ความรัก
(2) ผู้ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เอาเปรียบย่อมชนะใจผู้อื่น
(3) ผู้ขยันไม่มักง่าย ไม่โลภ ย่อมได้รับความสำเร็จมั่นคง
(4) ผู้จริงใจ ย่อมได้รับความเชื่อถือ
(5) ผู้มีเมตตา ย่อมได้รับความเคารพ
(6) ผู้มีความรู้จริงย่อมมีคุณค่า
(7) ผู้มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ชีวิตจะไม่หลงทางและไม่อับปาง
(8) ผู้มีสติย่อมปลอดภัย
(9) ผู้มีปัญญากอปรด้วยศีลธรรม ย่อมเจริญและมีเกียรติจริง
(10) ผู้มีสุขภาพดีย่อมถือว่าโชคดียิ่ง
(11) ผู้มีความยุติธรรม ย่อมสง่างามและได้รับความยำเกรง
(12) ผู้สุจริตและมีคุณธรรม ย่อมมีบารมียั่งยืน
(13) ผู้มีความกตัญญูรู้คุณและละอายบาป กลัวบาป นับเป็นคนดีแท้ที่หาได้ยาก ควรแก่การสรรเสริญและชีวิตย่อมไม่อับจน
(14) ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ใช้ชีวิตด้วยความสวัสดี ประพฤติธรรมตามหลักพระศาสนา ย่อมประเสริฐยิ่งทุกกาล
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอน้อมคารวะคณาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการทุกท่านและขออุทิศคุณความดีของบทความนี้โดยสรรเสริญแบบตรงไปตรงมาแด่ครูผู้ทำงานที่ดีงามและยั่งยืนมาครบ 60 ปี
ด้วยความปรารถนาดี
Kalos kagathos
Von Enos Cornelius
Dozent la Sapienza
χουχαατ θαμμαχαροεν
20/4/2011