ฟรีดดิช วิลเฮล์ม มัวร์เนากับสมัชชานอสเฟอราตู

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' == บทคัดย่อ == ในวาระรำลึก 120 ปีชาตกาลของฟรีดดิช วิล…')
แถว 1: แถว 1:
-
 
== บทคัดย่อ ==
== บทคัดย่อ ==
แถว 15: แถว 14:
"รู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังจะไปไหน คุณไม่มีทางวิ่งหนีชะตากรรมของตัวเองได้หรอก " ศาสตราจารย์ แวน เฮลซิง(Professor Van Helsing) ตะคอกเตือนสติไล่หลังโจนาธาน ฮาร์เกอร์(Jonathan Harker)ไว้เช่นนี้ในตอนหนึ่งของ Nosferatu Ein Symphonie des Grauens หนังของผู้กำกับมัวร์เนาในปี ค.ศ.1922
"รู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังจะไปไหน คุณไม่มีทางวิ่งหนีชะตากรรมของตัวเองได้หรอก " ศาสตราจารย์ แวน เฮลซิง(Professor Van Helsing) ตะคอกเตือนสติไล่หลังโจนาธาน ฮาร์เกอร์(Jonathan Harker)ไว้เช่นนี้ในตอนหนึ่งของ Nosferatu Ein Symphonie des Grauens หนังของผู้กำกับมัวร์เนาในปี ค.ศ.1922
-
ตัวหนังและนวนิยาย Dracula ของแบรม สโตเกอร์(Bram Stoker)ต่างมาในตำรับเดียวกับปรัมปรา "การนัดหมายแห่งซามารา(appointment in Samarra)” อันเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับนายวาณิชผู้มีนัดกับความตาย ณ เวลาตะวันตรงหัวที่นครแบกแดด อารามตื่นตูมสุดขีดเขาจึงตาลีตาเหลือกมุ่งหน้าไปยังซามาราโดยไม่เฉลียวใจว่า นัดระหว่างเขากับความตายยังไม่ถึงกำหนดจนกว่าจะถึงเวลาเย็น
+
ตัวหนังและนวนิยาย Dracula ของแบรม สโตเกอร์(Bram Stoker)ต่างมาในตำรับเดียวกับปรัมปรา "การนัดหมายแห่งซามารา(appointment in Samarra)” อันเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับนายวาณิชผู้มีนัดกับความตาย ณ เวลาตะวันตรงหัวที่นครแบกแดด อารามตื่นตูมสุดขีดเขาจึงตาลีตาเหลือกมุ่งหน้าไปยังซามาราโดยไม่เฉลียวใจว่า นัดระหว่างเขากับความตายยังไม่ถึงกำหนดจนกว่าจะถึงเวลาเย็น [http://wp.me/p4vTm-3A อ่านทั้งหมด]
ฮาร์เกอร์ทั้งในภาคนิยาย Dracula และในภาคหนัง Nosferatu มีภารกิจดุจเดียวกับนายวาณิชผู้นั้น ฮาร์เกอร์มุ่งหน้าสู่ทรานซิลวาเนียเพื่อเดินเรื่องขายที่ดินให้แก่เคาท์ผู้ลึกลับรายหนึ่ง ในการทำสัญญาระหว่างฮาร์เกอร์กับเคาท์ ที่ดินไม่ใช่ทรัพย์สินเพียงรายการเดียวที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่ยังมีรูปภาพของไมนา(Mina)คู่หมั้นฮาร์เกอร์เป็นส่วนควบอยู่ด้วย ทรัพย์สินอย่างหลังอันเป็นช่องทางนำเคาท์นอสเฟอราตูเข้าถึงและครอบครองตัวตนไมนา คือ ต้นสายปลายเหตุ(อย่างน้อยก็ในหนังมัวร์เนา)แห่งความประสงค์จะซื้อจะขายที่ดินของเคาท์
ฮาร์เกอร์ทั้งในภาคนิยาย Dracula และในภาคหนัง Nosferatu มีภารกิจดุจเดียวกับนายวาณิชผู้นั้น ฮาร์เกอร์มุ่งหน้าสู่ทรานซิลวาเนียเพื่อเดินเรื่องขายที่ดินให้แก่เคาท์ผู้ลึกลับรายหนึ่ง ในการทำสัญญาระหว่างฮาร์เกอร์กับเคาท์ ที่ดินไม่ใช่ทรัพย์สินเพียงรายการเดียวที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่ยังมีรูปภาพของไมนา(Mina)คู่หมั้นฮาร์เกอร์เป็นส่วนควบอยู่ด้วย ทรัพย์สินอย่างหลังอันเป็นช่องทางนำเคาท์นอสเฟอราตูเข้าถึงและครอบครองตัวตนไมนา คือ ต้นสายปลายเหตุ(อย่างน้อยก็ในหนังมัวร์เนา)แห่งความประสงค์จะซื้อจะขายที่ดินของเคาท์

การปรับปรุง เมื่อ 11:22, 29 มิถุนายน 2554

บทคัดย่อ

ในวาระรำลึก 120 ปีชาตกาลของฟรีดดิช วิลเฮล์ม มัวร์เนา(Friedrich Wilhelm Murnau) ในค.ศ.2008 การนำเสนอบทความแปลอันเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยาต่อการที่ฮอลลิวูดหยิบยกเกร็ดประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์อันมีตัวละครระดับตำนานอย่างผีดิบ Nosferatu มาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยตีโจทย์ไม่ละเอียดพอ กระทั่งกลายเป็นการทำคุณบูชาโทษ น่าจะเป็นการแสดงคารวะจิตได้ไม่มากก็น้อยต่อผู้กำกับเยอรมันผู้เป็นต้นตำรับการปลุกผีดิบขึ้นมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์

บทความนี้อาศัยผลการศึกษาชีวประวัติของมัวร์เนา ต่างแสงจากตะเกียงหนึ่งดวง และที่มาของปรัมปราพื้นบ้านยุโรปเกี่ยวกับผีดิบ อีกหนึ่งดวง ฉายส่องไปในอาณาบริเวณของประวัติศาสตร์และสภาพสังคมร่วมสมัยกับการถือกำเนิดของภาพยนตร์เรื่อง Nosferatu Ein Symphonie des Grauens อันเป็นผลงานชิ้นเอกและตัวตายตัวแทนของผู้กำกับรายนี้

การสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อโต้ตอบหักล้างทัศนคติไม่ว่าจะเบี่ยงเบนจากความเป็นจริงและกึ่งดิบกึ่งดีของฮอลลิวูด หรือแม้แต่เหล่านักวิชาการผู้เป็นอริทางความคิด โดยผู้เขียนต้นแบบแปล คือ Thomas Elsaesser นี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณกัมปนาทข้ามแอตแลนติกว่า ผียุโรปนั้นเฮี้ยนเกินกว่ามนต์สะกดของฮอลลิวูดจะเอาอยู่


ย้อนรำลึกสมัชชานอสเฟอราตู ในวาระ 120 ปีชาตกาลฟรีดดิช วิลเฮล์ม มัวร์เนา

"รู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังจะไปไหน คุณไม่มีทางวิ่งหนีชะตากรรมของตัวเองได้หรอก " ศาสตราจารย์ แวน เฮลซิง(Professor Van Helsing) ตะคอกเตือนสติไล่หลังโจนาธาน ฮาร์เกอร์(Jonathan Harker)ไว้เช่นนี้ในตอนหนึ่งของ Nosferatu Ein Symphonie des Grauens หนังของผู้กำกับมัวร์เนาในปี ค.ศ.1922 ตัวหนังและนวนิยาย Dracula ของแบรม สโตเกอร์(Bram Stoker)ต่างมาในตำรับเดียวกับปรัมปรา "การนัดหมายแห่งซามารา(appointment in Samarra)” อันเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับนายวาณิชผู้มีนัดกับความตาย ณ เวลาตะวันตรงหัวที่นครแบกแดด อารามตื่นตูมสุดขีดเขาจึงตาลีตาเหลือกมุ่งหน้าไปยังซามาราโดยไม่เฉลียวใจว่า นัดระหว่างเขากับความตายยังไม่ถึงกำหนดจนกว่าจะถึงเวลาเย็น อ่านทั้งหมด

ฮาร์เกอร์ทั้งในภาคนิยาย Dracula และในภาคหนัง Nosferatu มีภารกิจดุจเดียวกับนายวาณิชผู้นั้น ฮาร์เกอร์มุ่งหน้าสู่ทรานซิลวาเนียเพื่อเดินเรื่องขายที่ดินให้แก่เคาท์ผู้ลึกลับรายหนึ่ง ในการทำสัญญาระหว่างฮาร์เกอร์กับเคาท์ ที่ดินไม่ใช่ทรัพย์สินเพียงรายการเดียวที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่ยังมีรูปภาพของไมนา(Mina)คู่หมั้นฮาร์เกอร์เป็นส่วนควบอยู่ด้วย ทรัพย์สินอย่างหลังอันเป็นช่องทางนำเคาท์นอสเฟอราตูเข้าถึงและครอบครองตัวตนไมนา คือ ต้นสายปลายเหตุ(อย่างน้อยก็ในหนังมัวร์เนา)แห่งความประสงค์จะซื้อจะขายที่ดินของเคาท์

หลังจากหาทางหลบหนีออกจากปราสาทของเคาท์มาได้ ฮาร์เกอร์รีบตะบึ่งม้าตรงกลับบ้านเกิด เขาไม่ระแคะระคายเลยว่า อีกด้านหนึ่งท่านเคาท์ชิงออกเรืออันมีเชื้อมฤตยูปริมาณมหาศาลบรรจุไปกับตัวหนูในระวางเพื่อมุ่งหน้ายังบ้านเกิดของเขาล่วงหน้าไปแล้ว เพื่อเตรียมสร้างอาณาจักรบนดินแดนที่เรือเข้าเทียบท่า ชีวิตและความตายของผู้กำกับฟรีดดิช วิลเฮล์ม มัวร์เนา(Friedrich Wilhelm Murnau)ผูกผนึกกับการถือกำเนิดของ Nosferatu ลึกซึ้งกว่าที่ Shadow of The Vampire นำมาเล่าสู่กันดูหลายเท่า เพราะดูเหมือนเขาเองก็ไม่อาจหลีกหนีจากความตายที่ดักรอเขาอยู่ มัวร์เนาถึงแก่กรรมในอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะขับมาตามทางหลวงจนใกล้จะถึงซานตา มอนิกาเพื่อต่อเรือกลไฟเดินทางไปนิวยอร์ค แต่ไม่ทันที่จะได้ขึ้นเรือเพื่อหลีกเลี่ยง"การเดินทางทางบก" ตามคำทายทักของเพื่อนซึ่งเป็นนักดาราพยากรณ์ เขาก็ต้องมาถึงฆาตเพราะ"การเดินทางทางบก"เสียก่อน

เก้าวันหลังมรณกรรมของมัวร์เนาก็มีการเปิดกล้อง Tabu: A Story of South Sea ผลผลิตความคิดชิ้นสุดท้ายในชีวิตมัวร์เนาซึ่งเคยมีโรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตีร่วมลงขันทางความคิด แม้มัวร์เนากับฟลาเฮอร์ตีจะแตกคอกันในระยะหลัง ทว่ามัวร์เนาก็พยายามขัดเกลาบทหนังอย่างเต็มกำลัง ครั้นสิ้นบุญมัวร์เนาหนังที่เคยมีเค้าจะเป็นงานไว้ลายในช่วงวางโครงการกลับมีอันคลายความเข้มข้นจัดจ้านลงและกลายเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติผลงานของมัวร์เนา หนังมีลักษณะเป็นงานส่วนตัวของมัวร์เนาค่อนข้างสูง เต็มไปด้วยภาพสวย ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างภาพคนดำดิ่งลงสู่ดงหอยมุข หรือ เรือแคนูแล่นฉิวตัดผิวน้ำ พร้อมด้วยทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา หนังถ่ายทำที่ตาฮิติ แต่ตามความในจดหมายถึงมิตรสหาย หมู่เกาะในทะเลใต้แห่งนั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่เขาหมายใจเอาไว้ มัวร์เนาอยากได้บาหลีซึ่งเขามีเพื่อนเก่าเพื่อนแก่คนหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่เป็นฉากหลังของหนังเรื่องนี้มากกว่า

จากเรื่องราวของนักบวชฮินดูผู้สันโดษแต่มีจิตปฏิพัทธ์หญิงสาวรายหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจ ครั้นรู้ว่าเธอมีคู่อยู่แล้ว นักบวชเฒ่าจึงทำตัวเป็นบ่างช่างยุสร้างความร้าวฉานในสัมพันธภาพของคู่หนุ่มสาวและล่อลวงหญิงสาวมาเป็นของตน ไม่น่าเชื่อว่าคุณค่าของ Tabu จะผิดกับ Nosferatu อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งที่น่าจะถือเป็นคู่แฝดของ Nosferatu เสียด้วยซ้ำ เพราะดูยังไง การที่ผู้มีพลังจิตกล้าแข็งอย่างนักบวชเฒ่าทำตัวเป็นมือที่สามเข้าไปบ่อนทำลายชีวิตรักของหนุ่มสาวคู่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมและคาบพรหมจรรย์หญิงสาวไปกินตัดหน้าก็อยู่อีหรอบเดียวกับกับผีดิบ ไม่แต่เท่านี้ แม้แต่การอุปมาตัวเรือเดินสมุทรดั่งพาหนะนำพาเสนียดไปทุกหนแห่งเฉกเช่นในครั้ง Nosferatu ก็ยังถูกย้ำถึงใน Tabu จากฉากเรือแล่นดอดเข้าเทียบท่าอย่างอ้อยอิงและวังเวงนั้นนับเป็นฉากท่าเรือที่สมบูรณ์แบบฉากหนึ่ง

แม้จะมีงานวิจัยเจาะลึกเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ของ เอ็ม บูวิเอร์(M. Bouvier)และ เจ แอล เลอทราต์(J.-L. Leutrat) ออกมา แต่กำเนิด Nosferatu ยังคงเป็นปริศนาดำมืดในหลายส่วนด้วยกัน ชื่อที่ถูกอ้างถึงเสมอในฐานะบริษัทอำนวยการสร้าง Nosferatu คือ ปรานา ฟิล์ม(Prana Film) อันปรานาฟิล์มนี้ ในวาระนั้นกำลังเผชิญมรสุมทางการเงิน และหลังจากเข้ามารับหน้าเสื่อผลิต Nosferatu ก็เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเข้าอีก เมื่อโดนภริยาม่ายของ แบรม สโตเกอร์ฟ้องร้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ นอกเหนือจากคำก่นประณามจากการเที่ยวไปเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามตัวละครให้ผิดไปจาก Dracula ฉบับดั้งเดิม อีกหนึ่งชื่อที่อยู่คู่กับโครงการสร้าง Nosferatu คือ อัลบิน เกรา(Albin Grau) โดยนิตินัยแล้วเกรารับผิดชอบด้านการออกแบบเสื้อผ้า และงานมัณฑนศิลป์ให้แก่หนัง แต่โดยพฤตินัยแล้วเขาเป็นหัวเรือใหญ่ในการปลุกปล้ำ Nosferatu จนเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

เกราไม่ใคร่เป็นที่รู้จักในวงการ เท่าที่มีการเอ่ยถึงบทบาทเขาไว้ก็มีเพียงบทความของนักเขียนเอ็นโน่ ปาทาลัส ซึ่งก็ให้ภาพเกราไว้ในหลากหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใฝ่ศึกษาปรัชญาตะวันออก ศิลปินอิสระ และเป็นเสาหลักของกลุ่ม pansophic lodge of the light-seekers ซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่นครเบอร์ลิน บทความดังกล่าวยังให้ข้อมูลเสริมอีกว่า เกราเป็นแฟนตัวยงของอลิสแตร์ โครว์ลีย์(Aleister Crowley) และเป็นสหายร่วมสำนักคิดกับจิตรกร-นักประพันธ์นาม อัลเฟรด กูบิน(Alfred Kubin) เกรายังเคยแต่งหนังสือตำราการจัดแสงและงานสร้างฉากหนังในแบบเน้นให้แสงสีขาว-ดำมาแล้วอีกด้วย บุคลากรเบื้องหลัง Nosferatu อีกสองสามรายเป็นมือปืนรับจ้างในวงการหนัง เป็นธรรมดาที่เมื่อมีความต้องการสุดยอดฝีมือ คนในวงการหนังยุคนั้นย่อมต้องนึกถึงรายชื่อต่อไปนี้: มือเขียนบท - เฮนริก กาลีน(Henrik Galeen)(เขามีชื่อเป็นผู้เขียนบทร่วมใน The Golem หนังอีกเรื่องของมัวร์เนาด้วย) อีกคนคือผู้กำกับภาพ ฟริตส์ อาร์โน วากเนอร์(Fritz Arno Wagner)หนึ่งในสามขุนพลกล้องผู้เกรียงไกรแห่งสมัย

ระหว่างค.ศ. 1921-22 เป็นช่วงที่ชนชาติเยอรมันกำลังเลียแผลบูรณะบ้านเมือง ภายหลังสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อพลเมืองเป็นจำนวนมากจากการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิทแกล้วนิยมที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในแถบกรุงมิวนิคและเบอร์ลินอันเป็นผลจากการเห็นดีเห็นงามจะสถาปนาการปกครองตามระบอบรัฐขุนศึกของโซเวียตซึ่งเน้นการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง ยังเป็นหอกข้างแคร่ลำเอ้ของระบอบสาธารณรัฐที่เพิ่งตั้งไข่อยู่ไม่เว้นวาย นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจเยอรมันยิ่งทรุดหนักปางล้มละลายเมื่อต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงลิ่ว กองทัพประจำการในห้วงเวลานั้นก็ถูกลดบทบาทลงจนศักดิ์ศรีของเหล่าทหารไม่ต่างกับขอทานในเครื่องแบบ

แต่ปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมเยอรมันจนแทบสิ้นชาติและมาปรากฏร่องรอยอยู่ใน Nosferatu ด้วยก็คือ ทุพภิกขภัยจากภาวะอดอยากและไข้หวัดสเปนระบาดในช่วงฤดูหนาวของค.ศ.1919 ถึง 1920 จากยอดผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานไว้ภัยพิบัติทั้งสองได้คร่าชีวิตพลเมืองเยอรมันไปมากกว่าพิษสงจากสงครามโลกที่เพิ่งยุติไปหยก ๆ ด้วยซ้ำ โดยนัยหนึ่ง ย่อมถือได้ว่า Nosferatu อุบัติขึ้นจากการปลูกฝีเชื้อร้ายที่นำหายนะใหญ่มาสู่ชาติเยอรมันถึงสองครั้งสองคราในเวลาไล่เลี่ยกันและยังบ่อนทำลายขวัญกำลังใจคนในชาติจนแทบสิ้น ยังต้องไม่ลืมท่าทีของคนเยอรมันต่อการให้ความช่วยเหลือจากชาติผู้ชนะสงครามที่กว่าจะเดินทางมาถึง ชาวเยอรมันก็พากันล้มตายเป็นใบไม่ร่วงไปมากต่อมาก เท่านั้นไม่พอไฟแค้นของชนชาวเยอรมันยิ่งสุมแน่นอกจากการที่ฝรั่งเศสยืนกรานให้เยอรมันต้องส่งมอบค่าปฏิกรรมสงครามทั้งที่อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ฝรั่งเศสไม่พูดเปล่าแต่ยังกรีฑาทัพเข้ายึดแคว้นไรน์แลนด์(Rhineland)ของเยอรมันด้วย แต่ยิ่งฝรั่งเศสฝากรอยเท้าย่ำยีเกียรติภูมิเยอรมันหนักหน่วงเพียงใด กลับยิ่งส่งผลดีต่อแนวร่วมชาตินิยมขวาจัดในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของเยอรมัน จนกวาดคะแนนเสียงจากชนชั้นแรงงานได้อย่างท่วมท้น และคว้าชัยชนะมาครองได้สำเร็จ

ถึงขนาดนั้นแล้ว ความปราชัยในมหาสงครามก็หาได้ฝากรอยแผลเป็นและความแค้นเคืองไว้เด่นชัดดังคาด โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เคยออกสู่สมรภูมิและกลับสู่มาตุภูมิในฐานะผู้แพ้ เกราได้ตีพิมพ์ใบแทรกคู่มือการรับชมหนังในระหว่างเปิดตัว Nosferatu เพื่อชี้แจงที่มาของเรื่อง รวมถึงแรงจูงใจที่ดัดแปลงเรื่องราวสู่หนัง ตามคำของเกรา เรื่องราวในหนังมาจากประสบการณ์ของเขาเมื่อครั้งเป็นทหารราบและถูกส่งไปรบในเซอร์เบีย ครั้งนั้น เกราติดสอยห้อยตามหน่วยปฏิบัติการแทรกซึมและบ่อนทำลายบุกป่าฝ่าดงหาที่ตั้งค่ายลึกเข้าไปในชนบท ที่นั่นเองเขาได้รับฟังเรื่องราวของชาวนาที่ถูกฆ่าตายจมกองเลือด และถูกนำศพไปฝังโดยไม่ผ่านพิธีล้างบาป ต่อมาชาวนารายนี้ก็คืนชีพเป็นผีดิบออกหลอกหลอนชาวบ้าน เรื่องราวจากปากชาวนาชราผู้เป็นบุตรชายชาวนาผีดิบมีรายงานการขุดศพผีดิบผู้เป็นพ่อเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใน ค.ศ.1884 เป็นพยานเอกสารช่วยยืนยัน ในรายงานระบุว่าร่างกายผู้ตายยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี แต่มีความผิดปกติไปจากก่อนตายเพียงประการเดียวก็คือ ฟันสองซี่หน้าของศพยื่นง้ำออกมาคร่อมขบเหนือริมฝีปากล่าง เพื่อให้ nosferatu(คำโรมาเนียนอันแปลได้ว่า ผู้เป็นอมตะ) ผู้ที่ตายโดยปราศจากการสั่งเสียร่ำลารายนี้ ได้ไปสู่สุขคติ ก็ต้องตอกลิ่มแทงเข้าหัวใจ

แบรม สโตเกอร์ประพันธ์ Dracula ด้วยมุมมองคล้ายคลึงกับความทรงจำตามจุลสารของเกรา Nosferatu จึงเป็นผลรวมจากสองส่วนผสมหลักดังกล่าวในสัดส่วนใกล้เคียงกัน นอกเหนือจากการคลุกเคล้าจินตนาการจากงานเขียนของสโตเกอร์เข้ากับตำนานลี้ลับที่เกราได้ยินได้ฟังมา ปมเค้าวัตถุดิบซึ่งจะคลี่คลายมาเป็น Nosferatu ในภายหลัง และเมื่อตกถึงมือกาลีนผู้เขียนบทยังเจือเพิ่มด้วยทัศนคติของชนชาวยุโรปฟากตะวันตกรวมถึงเกาะบริเตนต่อชาวยุโรปในอาณาบริเวณภูมิภาคค่อนไปทางสหภาพโซเวียตเดิม (Mitteleuropa)และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทหนังยังปรายตาไปยังเอกลักษณ์อันไม่น่าวางใจของชาวอนุทวีปบอลข่าน อีกด้วย

นอกจากกลุ่มชนที่ชาวยุโรปฟากแอตแลนติกถือว่าเป็นยุโรปบ้านนอกดังกล่าวแล้ว ปฐพียุโรปในห้วงเวลานั้น ยังมีคนชายขอบอีกจำพวกกระจัดพลัดพรายรายรอบถิ่นฐานของยุโรปบ้านนอกอยู่อีกชั้น นั่นคือ ชาวยิวซึ่งแตกกระสานซ่านเซ็นจากเมื่อครั้งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังกาเรียน(Austro-Hungarian Empire)ล่มสลายในค.ศ.1918 และอพยพมาทางตะวันตกของยุโรป ชาวยุโรปเรียกชาวยิวเหล่านี้ว่า พวกตัวซีด การแทรกผสานทัศนคติเชิงลบต่อชนจากบุรพทิศของยุโรปเข้ามาในบทหนัง ส่งผลให้ Nosferatu เป็นเกาเหลาหม้อยักษ์เข้มข้นด้วยกรุ่นอายความขัดแย้งทางชาติพันธุ์วรรณาและเชื้อชาติ จากการแบ่งเขาแบ่งเรา(otherness) โดยคนยุโรปตะวันตกกับเพื่อนร่วมทวีป โลกของหนังจึงมีสภาพเป็นลับแลกันชนระหว่างโลกสองวัฒนธรรม ทั้งยังถูกห่อหุ้มไว้ด้วยบรรยากาศนับชั้นไม่ถ้วนจนหนาทึบ

นอกจากนี้ ยังมีเค้าของการสลับทิศการจราจรของอำนาจในแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดินิยมกับอาณานิคม กล่าวได้ว่า Nosferatu เป็นฝันร้ายของฝ่ายรัฐมหาอำนาจที่มีอันต้องเพลี่ยงพล้ำต่อยุทธศาสตร์แทรกซึมและบ่อนทำลาย ของฝ่ายรัฐชายขอบ จนฝ่ายที่เคยถูกกดขี่พลิกกลับมาเป็นฝ่ายครอบงำได้บ้าง โดยนัยนี้ อาวุธยุทธปัจจัยสำคัญในปฏิบัติการไม้ซีกงัดไม้ซุง ได้ถูกบรรจุลงโลงพร้อมยกพลขึ้นบกและออกยึดพื้นที่ในหนแห่งที่เรือท่านเคาท์ชื่อ Demeter(แปลว่า แม่พระธรณี)เข้าเทียบท่า

แง่มุมความผกผันของการแผ่อำนาจสะท้อนชัดถึงความหวั่นวิตกว่าสักวันสายลมแห่งแสนยานุภาพจะพัดหวนกลับเข้าโจมตีชาติเจ้าอาณานิคม ที่สำคัญมันจะมาในรูปความเหลวแหลกโสมมซึ่งมีอานุภาพในการมอมเมาและเปี่ยมประสิทธิผลในการแพร่ระบาดซึมลึกลงสู่ดินแดนที่ไปถึง ในส่วนสงครามส่วนตัวของท่านเคาท์ ยุทธปัจจัยของเขามาในรูปฝูงหนูและสัตว์นำโรคนานาชนิด นอกจากนี้ คลื่นความเหน่อแปร่งจากสำเนียงพูดของตัวละครอันเป็นตัวแทนการเหยียดผิวในห้วงไร้สำนึกของของเหล่าผู้มีการศึกษาอันเป็นชนชั้นที่ก่อตัวเป็นปึกแผ่นอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ ยังเป็นการแสวงจุดร่วมกับผู้รับสื่อ ไม่ว่าจะในฐานะ”ผู้อ่าน”งานเขียนของสโตเกอร์ หรือ "ผู้ชม" งานกำกับของมัวร์เนา ขอเพียงเป็นพลเมืองยุโรปฝั่งแอตแลนติก ซึ่งเติบโตมาโดยมีปราการอันแข็งแกร่งของภาคพื้นตะวันตกคอยปกปักสร้างความอุ่นใจมาตลอดและมีอันต้องเผชิญกับฝันร้ายจากการรุกคืบเข้ามาของอมตะชีพจากดินแดนตอนในของทวีป

ขุมข่ายความฟอนเฟะ โสมมของการหักเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบใน Nosferatu เกิดจากการเลื่อนไหลถ่ายเทสารสนเทศในทางลับ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนอสเฟอราตูกับฮาร์เกอร์ และระหว่าง นอสเฟอราตูกับไมนา อันประกอบด้วย การเข้าแทนที่ การตกเป็นทาส และการส่งถ่ายอำนาจและอิทธิพล ต่างเลี้ยงตัวอยู่บนโยงใยตาข่ายความสัมพันธ์อันอ่อนไหวยวบยาบ ความเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดภายในขุมข่ายย่อมสร้างความแตกตื่นและผลกระทบแก่การคลี่คลายเรื่องราวอยู่ตลอดเวลาเชิงชั้นการถักทอเงื่อนปมดังกล่าวยิ่งไปเพิ่มความรกชัฏทางนัยยะแก่องค์ประกอบในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจว่าด้วยการครอบงำและพึ่งพาระหว่างผีดิบกับเหยื่อขึ้นไปอีกชั้น

หากคำนึงถึงฐานะของหนังท่ามกลางบริบทของการผลิต จะพบร่องรอยการครอบงำและพึ่งพาด้วยเช่นกัน บทบาทของท่านเคาท์ในหนัง Nosferatu อาจเป็นการสัพยอกศักดานุเดชของ Ufa กลไกรัฐที่คอยกำกับและสนับสนุนงานด้านภาพยนตร์ เนื่องจากหนังเยอรมันส่วนใหญ่ในยุคนั้นจะเป็นหรือตายก็ขึ้นอยู่กับปกาศิตจากอูฟา ซึ่ง Nosferatu ก็เป็นหนึ่งในนั้น สภาพความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ผิดไปจากเหยื่อในอุ้งมือผีดิบ มองจากมุมเช่นที่ว่า Nosferatu จึงมีเค้าจะเป็นหนังซ้อนหนัง ความชิงชังและความลุ่มหลงที่ขับเคี่ยวแบบเกี่ยวดองอยู่ภายในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาระหว่างสององค์อินทรีย์ใน Nosferatu เป็นตัวลิขิตชะตากรรมและผลักดันยถากรรมอันน่าตื่นตาและพิศวงในเวลาเดียวกัน ด้านหนึ่งพลังหมักบ่มจากความชิงชังและความลุ่มหลงกรูเข้าสิงสู่เรือสินค้าพร้อมคร่าชีวิตลูกเรืออับโชคยกลำ ก่อนมุ่งสู่วิสบอร์ก(Wisborg)เพื่อจะบ่ายหน้าออกจากเมืองแห่งนี้ในเวลาต่อมาโดยทิ้งไว้เพียงความรกร้างวังเวงหลังคนทั้งเมืองต้องสังเวยชีวิตแก่มฤตยูที่ล่องมาและล่องไปกับเรือ

อีกด้านหนึ่งหนังเล่าความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาของเหล่าสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ผ่านวีรกรรมของศ.แวน เฮลซิง นักชีววงศาวิทยา กับการค้นคว้า และจัดระเบียบองค์ความรู้ว่าด้วยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์จำพวกที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิง แมงมุม และแมลงมีพิษอื่น ๆ เรื่อยไปจนสัตว์พาหะจำพวกหนู เช่นเดียวกับภาพไมนาคลุกคลีเล่นหัวกับแมวและสัตว์ฟันแทะ ห่วงโซ่การครอบงำมาเริ่มต้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะหลังจากฮาร์เกอร์ออกเดินทางไปยังดินแดนยุโรปกลาง ไมนาเริ่มตกอยู่ในภวังค์ การที่จิตใจไมนาถูกเหนี่ยวนำให้คนึงหาใครบางคนนับเป็นโซ่ข้อตั้งต้นให้โซ่ลูกถัดมาเกาะเกี่ยวซึ่งก็คือ การที่เรนฟิลด์ (Renfield)ศิโรราบต่ออำนาจและลดตัวลงเป็นลิ่วล้อท่านเคาท์ ติดตามมาด้วยหายนะแห่งชีวิตลูกเรือ Demeter ทั้งลำ วงจรการครอบงำมาบรรจบครบรอบเมื่อท่านเคาท์ลอบเข้าถึงตัวไมนาและฝ่ายหลังก็ยอมทอดกาย

ปฏิบัติการแทรกซึมของเคาท์นอสเฟอราตูในหนังมาในวิถีสอดคล้องตามองค์ความรู้ว่าด้วยความไร้ระเบียบของแบบแผนการแพร่กระจายรหัสนัย องค์ความรู้ที่ว่านี้คิดค้นโดยนักสถิติและนักคณิตศาสตร์ซึ่งทำการศึกษาปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สภาวะการระบาดพฤติกรรมในอนุภพ(small-world syndrome) มีการพัฒนาแบบจำลองเพื่อทำความเข้าใจพลวัตรของกลุ่มหรือรูปการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบเปิดหนึ่ง ๆ รวมถึงแบบแผนปฏิกิริยาระหว่างสมาชิกในกลุ่มหรือในระบบนั้น ๆ ผลการศึกษาชี้ว่าพลวัตรและปฏิกิริยาในมวลหมู่สมาชิกมีแนวโน้มเหวี่ยงกลับไปกลับมาระหว่างสภาพอภิมหาโกลาหล กับ สภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แบบจำลองดังกล่าวช่วยให้นักชีววิทยาเข้าใจกับพฤติกรรมฝูงจิ้งหรีดกับการร้องประสานเสียงกันระงมหลังจากมีตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มกรีดเสียงนำขึ้นมา ในทางเศรษฐศาสตร์ แบบจำลองนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือพยากรณ์การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น รวมถึงผลกระทบจากการยุบตัว ณ จุดใดจุดหนึ่งของระนาบตลาด นอกจากนี้แบบจำลองยังมีเอื้อประโยชน์ในการวางกลไกเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงช่วยเปิดโปงจุดอ่อนหรือช่องว่างที่นักเวชศาสตร์ป้องกัน จะเข้าไป กัก หรือ ชะลอ โรคจากการระบาดของเชื้อไวรัสบางสายพันธุ์

แบบจำลองสภาวะการระบาดพฤติกรรมในอนุภพยังมีบทบาทในงานส่งสัญญาณโทรคมนาคมอีกด้วย กล่าวคือ ในการวางโครงข่ายระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ตำแหน่งของสถานีทวนสัญญาณข้ามเครือข่ายควรมีระยะห่างกันน้อยที่สุด และการคำนวณโดยใช้แบบจำลองนี้จะช่วยหาพิกัดของตำแหน่งที่ตั้งสถานีทวนสัญญาณที่เหมาะสมที่สุดได้ องค์ความรู้ว่าด้วยความไร้ระเบียบของแบบแผนการแพร่กระจายรหัสนัย หรือ ถ้าจะเรียกตามภาษาชาวบ้านก็น่าจะเป็นการขยายตัวของเหตุการณ์ ข้อมูลหรือรหัสนัยแบบไฟลามทุ่ง หรือ ปากต่อปาก เมื่อดูจากเส้นทางการไหลของข้อมูล หรือ เบาะแสจากวงย่อยหนึ่งลัดเลาะไปตามสายสัมพันธ์ทวีคูณที่สมาชิกแต่ละรายในวงย่อยแรกมีสืบสานไปยังวงย่อยอื่น ๆ ขอบเขตการรับรู้ข้อมูลจะขยายเป็นอาณาบริเวณกว้างในเวลาอันรวดเร็วและยากจะหยุดยั้ง ฉันใดก็ฉันนั้น หากยึด Nosferatu เป็นปลายทางของเขาวงกตและใช้มัวร์เนาเป็นจุดตั้งต้น จะพบว่ากว่าจะสำเร็จออกมาเป็นหนังได้ มีการจราจรของความสัมพันธ์อันสะเปะสะปะแต่ให้ผลอันน่าทึ่งเกิดขึ้นมากมาย

มัวร์เนา เกิดที่เมืองบีเลอเฟลด์(Bielefeld) เมื่อค.ศ.1888 ในครอบครัวผู้ประกอบกิจการสิ่งทอ ชื่อเดิมของเขาคือ ฟรีดดิช วิลเฮล์ม พลัมเปอ(Friedrich Wilhelm Plumpe)แต่มาเปลี่ยนเป็นมัวร์เนาตอนย่างเข้าวัยรุ่นเนื่องจากชื่อสกุลเดิมออกจะเชย กอร์ปกับเจ้าตัวหมายจะใช้ชื่อสกุลเป็นการแสดงคารวะคุณต่อกลุ่มศิลปินแนวเอ็กเพรสชั่นนิสม์ย่านมิวนิคตอนใต้ซึ่งมีคันดินสกี(Kandinsky)และ ฟรานซ์ มาร์ค(Franz Marc)เป็นแกนนำ ภายใต้ชื่อ Der Blaue Reiter กลุ่มศิลปินเหล่านี้ปักหลักทำงานและพบปะกันที่เมืองมัวร์เนา เมือง ๆ นี้จึงนับเป็นวงย่อยแรกของแบบจำลองการลุกลามของความร่วมแรงร่วมใจ เพราะจากตรงนี้ มนุษย์ที่ชื่อมัวร์เนาได้เข้ามาคลุกคลีกับกวีเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ นาม ฮันส์ แอเรนบาม เดเกอเลอ(Hans Ehrenbaum-Degele)และสมัครพรรคพวกที่เป็นศิลปินแนวอว็องต์ การ์ด

คนนอกวงการอย่างอัลบิน เกรา ต่อสายเข้าร่วมขบวนการผ่านมาทางอัลเฟรด กูบิน และนักเขียนกลุ่มปราก โกธิค อันมีกุสตาฟ เมย์ริงก์ (Gustav Meyrink)และฟรานซ์ คาฟคา(Franz Kafka)เป็นเสาหลัก โยงใยระหว่างกาลีนผู้เขียนบท และวากเนอร์ผู้กำกับภาพกับมัวร์เนาไม่ซับซ้อนอ้อมค้อมแต่ประการใด เพราะคนคู่นี้เป็นมืออาชีพด้านหนังซึ่งทำงานอยู่กับ Ufa ภายใต้การนำของเอริค ปอมแมร์(Erich Pommer)อยู่แล้ว คำว่าเอ็กซ์เพรสชันนิสม์(expressionism) อันเป็นนิยามตระกูลหนังที่ Nosferatu ถูกพะเป็นยี่ห้อ จึงน่าจะเป็นการสะท้อนถึงรสนิยมทางศิลปะของและความฝักใฝ่ต่อขนบการนำเสนอของขบวนการกุ๊กกุ๊กกู๋รุ่นลายครามประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 20 ชีวิตต้น ๆ ซึ่งได้มาช่วยกันปลุกเสกผีดิบคนละไม้ละมือ มากกว่าเหตุผลอื่น ๆ ในโลกเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ทางภาพยนตร์

นอกจากฟริตซ์ ลังก์(Fritz Lang) มัวร์เนา และผู้กำกับแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสต์อีกหยิบมือเล็ก ๆ แล้ว ยากจะหาผู้กำกับผู้ไม่นำพาต่อความวิจิตรบรรจงของฉากและภาพทำยาได้ มัวร์เนาเป็นที่ร่ำลือในฐานะเสาหลักแห่งการผลิตงานเชิงกวีของวงการหนังเยอรมัน ส่วนจอมเทคนิคอย่างลังก์เป็นที่นับหน้าถือตาจากลูกเล่นอันพิศดารในการถ่ายทอดจินตภาพสู่แผ่นฟิล์ม The Spider และ Destiny งานของลังก์ในค.ศ.1919 และ 1921 มีส่วนหนุนส่งอูฟาจนผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ย้อนกลับมาที่มัวร์เนา การถูกเกณฑ์เป็นทหารราบ และถูกส่งไปรบที่ปรัสเซียตะวันออกในค.ศ.1915 สร้างความเบื่อหน่ายแก่มัวร์เนาจนแทบคลั่ง เขาชิงชังรังเกียจสภาพดังกล่าวจนกระทั่งต้องทำเรื่องขอย้ายไปลุฟวัฟเฟอ(Luftwaffe) ที่นั่นเองมัวร์เนากลายเป็นลูกทัพฟ้า เขาได้ร่วมการยุทธทางอากาศในน่านฟ้าเหนือดินแดนฝรั่งเศส มัวร์เนาใช้ชีวิตอยู่บนฟากฟ้าจนกระทั่งประสบอุบัติเหตุจากการนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากทัศนวิสัยเลวเพราะหมอกลงจัด หลังปลดระวางจากการเป็นเสืออากาศ มัวร์เนาข้ามไปปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครอารักขาความเป็นกลางของรัฐสวิตเซอร์แลนด์

ช่วงหนึ่งในชีวิต กับการได้เหาะเหินไปบนฟากฟ้ามองลงมาเห็นห่าฝนเหล็กลูกระเบิดร่วงสู่เบื้องล่าง กอร์ปกับความเลื่อมใสต่อพลังอันน่าเกรงขามของเทคโนโลยีจักรกล หล่อหลอมมัวร์เนาจากคนมีจิตใจอ่อนโยนกลายเป็นนักหักหาญความรู้สึกตามวิสัยของนักรบเจนศึก ควรกล่าวด้วยว่า มุมมองกว้างไกลไร้ขอบเขตของนักบินขณะร่อนโฉบไต่ผืนฟ้าโดยมีผืนพสุธาเลื่อนไหลผ่านตา ณ เบื้องล่างนั้น มีอิทธิสูงยิ่งต่องานด้านภาพในหนังของมัวร์เนา ดูได้จากความผาดโผนโจนทะยานตัดผ่านพื้นที่ฉากของกล้อง

งานศึกษา Nosferatu (หรือ อันที่จริงคือการศึกษาเอาจากทางต้นตำรับในภาควรรณกรรม คือ Dracula ของแบรม สโตเกอร์) ในเชิงวัฒนธรรม โดยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบรรยากาศของประวัติศาสตร์ในขณะตัวงานก่อกำเนิด รวมถึงไม่พยายามพลิกหาเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ ของตำนานผีดูดเลือด เฉกเช่นเดียวกับ ไม่มุ่งพิเคราะห์คุณค่าของตำนานในฐานะเบาะแสบ่งชี้สถานภาพของเพศหญิงในภูมิทัศน์สำนึกทางการเมืองของสังคม ในช่วงเวลานั้นพฤติกรรมหรือโรคเดินหลับอันเกิดแก่ไมนาและลูซีอย่างที่เห็นกันในหนังประพิมพ์ประพายกับอากัปกิริยาคนป่วยในสภาวะ"ไข้ขึ้น" ตามหลักฐานจากภาพที่ถ่ายโดยอัลแบร์ต ลองเดอ(Albert Londe) ในรายงานการสังเกตอาการผู้ป่วยสตรีที่เข้ารับการบำบัดอาการฮิสทีเรียตามกรรมวิธีของชาร์คอต(Charcot)ที่ปารีส ทั้งนี้ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการจับภาพเคลื่อนไหวที่ลองเดอนำมาใช้เพื่องานวิจัยดังกล่าว ย่อมไม่พ้นสายตาสองแพทย์หนุ่มจากเยอรมันนีและเอาสเตรีย คือ โจเซ็ฟ บรอยเออร์(Josef Breuer) และซิกมันด์ ฟรอยด์(Sigmund Freud) ผู้ในกาลต่อมาผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการจิตวิเคราะห์ (ข้อวินิจฉัยอาการลูซีจากปาก ศ.แวน เฮลซิงในภาควรรณกรรมของสโตเกอร์ มีช่องทางอิงอ้างย้อนกลับไปหางานวิจัยของชาร์คอตได้หลายต่อหลายจุด)

แต่ความผิดปกติที่ Nosferatu นำมาเล่นก้าวไกลไปกว่าโรคหรือ อาการอันผูกติดกับความเป็นเพศ จากข้อเท็จจริงที่ว่านับแต่ Nosferatu เป็นต้นมา ผีดูดเลือดในหนังแนวนี้ในทุกยุดต่อมาล้วนต้องเป็นเสือไบ(Bisexual) เป็นเหตุให้แบบแผนสัมพันธภาพระหว่าง“เจ้าสาว”ของผีดิบกับตัวผีดิบ คลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง เธออาจเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการสมสู่ของผีดิบอย่างแท้จริง หรือเธอเป็นแค่นางนกต่อล่อผู้ชายมาติดกับและสังเวยความหนุ่มแก่ผีดิบอีกชั้นหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ การขึ้นรูปบุคลิกผีดิบไว้ ณ ตำแหน่ง มีเพศอันไม่อาจระบุ นับเป็นต้นแบบที่ล้ำเลิศไม่ด้อยไปกว่าการนำลักษณะเด่นจากสัตว์นานาชนิดมาเสียบปักไว้ตามเรือนกายหลักที่เป็นร่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใบหูด้อยพัฒนาขนาดจิ๋ว หรือการมีกรงเล็บแบบนก ไปจนถึงทันตสัณฐานแบบสัตว์ฟันแทะ ผิดกับท่านเคาท์ในสมัยหลังที่ความเป็นอมนุษย์ถูกลดรูปเหลือเพียงการมีฟันเขี้ยวคู่ขาวผ่องประดับอยู่บนกะโหลกทรงชะลูด พร้อมกับเรือนกายสง่างาม ภูมิฐาน และขรึมขลัง ดังจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากผีดิบในมาดเบลา ลูโกซี(Bela Lugosi)และ คริสโตเฟอร์ ลี (Christopher Lee)

ระบบการสังวาสในหมู่ตัวละครของ Nosferatu ยังไปสะดุดใจนักวิจารณ์แนวเหลื่อมจริง(Surrealist)สายฝรั่งเศส ดังได้มีการเทียบแย้งคุณค่าของความรักสองวิถี ทางหนึ่งคือ ความรักบริสุทธิ์ระหว่างไมนากับฮาร์เกอร์ อีกทางหนึ่งเป็นบรรดาราคะกรรมขั้นวิตถาร หากอนุมานว่าผีดูดเลือดเป็นซากอินทรีย์ที่ไม่ได้สิงสถิตย์ไว้ด้วยวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น การที่ไมนามีอาการเคลิ้มซ่าน ลุ่มหลงและเกิดความรัญจวนใจไปกับการได้สัมผัสขันธ์ทั้งปวงอันมีแหล่งกำเนิดจากหลุมศพ รวมถึงเนื้อหนังมังสาของนอสเฟอราตู ย่อมเท่ากับว่าเธอเป็นผู้ป่วยกามวิตถารชนิดอสุภสังวาส(นิยมร่วมรักกับศพ - necrophiliac)ว่าไปแล้วงานของมัวร์เนาหลายชิ้นตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่า ราคะจริตเป็นเชื้อเพาะความชั่วร้าย จากการตั้งข้อสังเกตของรอบิน วูด(Robin Wood) ภาวะถูกสิงสถิตและมีใจอาวรณ์ จดจ่อเฝ้ารอการได้เสพสังวาสกับผีดูดเลือดของไมนายังตลบกลับไปหนุนเนื่องแนวคิดว่าด้วยแรงขับแห่งการยังชีพเพื่อสมสู่ของนอสเฟอราตู พร้อมกับผลักไสสถานะการเป็นคู่รักของผีดิบตนนี้ ไปอยู่ปลายสุดของด้านตรงกันข้ามกับสถานะของฮาร์เกอร์ จิตของไมนาจึงไม่ต่างกับกระดานโยกที่ถูกถ่วงไว้ด้วยความกระสันต่อผีดิบในฟากหนึ่งและกับความผูกพันแสนอบอุ่นไร้ราคีคาวต่อฮาร์เกอร์ในอีกฟาก หากเธอใฝ่ต่ำเกินกว่าจะเห็นคุณค่าความรักจากฮาร์เกอร์ เธอย่อมจะถูกโยกไปหัวปักหัวปำอยู่กับกามรส ไมนาจึงมิใช่ผู้หญิงธรรมดา แต่ทั้งหมดในตัวเธอเป็นภาพสะท้อน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความหวั่นวิตกที่สังคม ชายเป็นใหญ่ มีต่อแรงปรารถนาลับ ๆ ของสตรีเพศ หญิงใดมีประพฤติกรรมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าละเมิดต่อขอบเขตที่สังคมตั้งแง่จับผิดไว้ดังกล่าวไว้ก็ย่อมต้องมีอันเป็นไปในทางตกนรกหมกไหม้ ดุจดังไมนาต้องตายตกตามชู้รักผีดูดเลือดไป

ความซับซ้อนและเส้นสนกลในของรักสามเส้าใน Nosferatu ไม่ได้หมดลงเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากทฤษฎีกระดานหกและแนวคิดคาดโทษลงทัณฑ์หญิงเลวแล้ว ตัวเส้ายังสลักเสลาไว้ด้วยลวดลายเชิงชู้ และอาการรักพี่เสียดายน้องในแต่ละชุดความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น กว่าที่ไมนากับเคาท์ผีดิบจะได้สู่สมตามครรลองชู้รักต่างเพศ เธอก็ต้องฝ่ากระแสคลื่นใต้น้ำจากปฏิกิริยาของอีกสองชาย คือ เรนฟิลด์ และ ฮาร์เกอร์

ในเบื้องต้น โครงเรื่อง Nosferatu ดูเหมือนจะมีสองปมรอคอยการขมวดและคลี่คลาย ปมหนึ่ง คือ รักต่างเพศ และอีกปมหนึ่งคือการสืบสาวเส้นสายความสัมพันธ์ ฉันท์ชายรักชาย ระหว่าง นอสเฟอราตูกับเรนฟิลด์ ปมชายรักชายยิ่งพะรุงพะรังขึ้นไปอีกเมื่อมีสัมพันธภาพระหว่างเรนฟิลด์กับฮาร์เกอร์พ่วงเข้ามา จากการที่หนังจงใจขีดเส้นทางให้ทั้งสองโคจรมาพบกันในพื้นที่สาธารณะที่สงวนไว้เฉพาะชายชาตรี เรนฟิลด์ในฐานะไก่แก่เป็นฝ่ายเข้ามาตีซี้เจ้ากี้เจ้าการแนะนำไก่อ่อนฮาร์เกอร์ให้รู้จักกับแม่ปลาช่อนรายหนึ่ง ร่องรอยความสัมพันธ์เชิงไม้ป่าเดียวกันของเหล่าตัวเอกในงานของมัวร์เนายังมีให้เห็นจาก Faust งานในค.ศ.1926 กล่าวสำหรับหนังเรื่องนี้เมฟิสโต(Mephisto) และเฟาสท์(Faust)ผู้ยอมแลกวิญญาณของตนกับความหนุ่ม พากันออกผจญภัยไปทั่วลุ่มเมดิเตอเรเนียน และระเริงไปตามแรงปรารถนาจะได้ชิดเชื้อกับเพศเดียวกัน โดยต่างยกเอาการออกตามหาเกรทเชน(Gretchen)มาเป็นข้ออ้าง จนกระทั่งเรื่องราวความรักฉันท์ชายหญิงระหว่างเฟาสท์กับเกรทเชนแทบกลายเป็นเพียงส่วนเกินเมื่อหนังเดินทางมาถึงช่วงนี้

ซิกฟรีด กราเซาเออร์(Siegfried Kracauer)เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หนังเยอรมันจากยุคสาธารณรัฐไวมาร์ ถูกครอบไว้ด้วยความรู้สึกคับข้องและสับสนต่อภาพลักษณ์และเพศสภาพความเป็นชาย ในหนังสือ From Caligari to Hitler ที่ตีพิมพ์ในค.ศ.1966 กราเซาเออร์สำทับต่อด้วยว่า ความพร่าเลือนและการพังทลายของภาพความเป็นชายชาตรีในหนังที่ผลิตออกมาในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากความเสื่อมถอยของสำนึกปิตุลาธิปไตยในสังคมเยอรมันภายหลังจากลัทธิชาติอาชาไนยนำรัฐนาวาเข้าสู่สงครามและประสบความปราชัยย่อยยับ โดยเหตุที่หนังสกุลเอ็กซ์เพรสชันนิสม์มักนิยมขยายภาพวิกฤติอัตลักษณ์ของเพศชายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และรักสามเส้าในแบบ“เพื่อน กูรักมึงว่ะ”ก็เป็นโครงเรื่องหากินของหนังแนวนี้ อาจกล่าวได้ว่า ยังไงเสียหนังแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ไม่เคยขาดไปซึ่งเรื่องเล่าถึงชายสองคน ซึ่งหากไม่เป็นเรื่องของเพื่อนรักเพื่อนเกลอ คลุกคลีตีโมงกันเหนียวหนึบอยู่แต่เดิม หนังก็ต้องหาเหตุให้ผู้ชายต้องมาข้องแวะกัน จากนั้นชายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีใจคิดพิศวาสอีกฝ่ายขึ้นจนได้

แต่ในบรรดาเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ด้วยกัน สัมพันธภาพชายต่อชายในงานของของมัวร์เนา ถ้าไม่จับทางได้ยาก ก็จะดุดันผิดมนุษย์มนาไปเลย เนื่องจากมัวร์เนาแปรรูปความสัมพันธ์ดังกล่าวมาอยู่ในรูปการเสแสร้ง(อย่างที่เห็นใน Turtuffe งาน ค.ศ.1926) และที่ยอกย้อนพิศดารขึ้นไปอีกก็เห็นจะเป็นใน Faust เพราะเฟาสท์เป็นตัวละครสองบุคลิก(หรือถึงขั้นมีสองชีวิตก็ว่าได้) มัวร์เนาอาศัยช่องว่างจากความแปลกแยกในตัวเองสวมรอยสอดใส่ปฎิสัมพันธ์ไม้ป่าเดียวกันเข้าไปในบุคลิกตัวละครและกลายเป็นว่าในด้านหนึ่ง เฟาสท์ไม่ได้ไปแอบจิตมีใจกับชายใด แต่กลับตกหลุมรักความหนุ่มของตัวเอง

แต่สัมพันธภาพชายต่อชายที่เด่น ๆ ในกลุ่มสุดยอดผลงานของมัวร์เนากลับเป็นในเชิงริษยาอาฆาต กล่าวคือ มีฝ่ายหนึ่งเข้ามาบ่อนทำลายหรือคุกคามความรักอันบริสุทธิ์อันมีอยู่เดิมของชายอีกคน เพื่อครอบครองเขาคนนั้น ตัวอย่างก็เช่น การหักเหลี่ยมระหว่างนอสเฟอราตูกับฮาร์เกอร์ใน Nosferatu เมฟิสโตกับเฟาสท์ ใน Faust ทูร์ทูฟเฟอกับอาร์กอน ใน Turtuffe รวมตลอดจน ฮิตู กับ มาตาฮี ใน Tabu ในมุมมองของนักประพันธ์อย่างจิม เชพเพิร์ด(Jim Shepard)ความสัมพันธ์ฉันท์ไม้ป่าเดียวกันเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะในงาน หรือในชีวิตของมัวร์เนา ความขมขื่นและการต้องมีชีวิตในอีกมิติหนึ่งอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ อันเป็นคุณสมบัติพ่วงมากับเพศสภาพของชาวรักร่วมเพศเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศแก่มัวร์เนาในการจัดวางและเดินกลไกสร้างแรงจูงใจความเสน่หา ความพลัดพรากและโหยหา ความรู้สึกมีตราบาป และความลุ่มหลงในตนเอง เพราะทั้งเจ้าตัวเองย่อมรู้ซึ้งถึงสภาวะต่าง ๆ เหล่านี้อยู่แก่ใจดี

ใน Nosferatu in Love หนังสือที่เชพเพิร์ดแต่งขึ้นเพื่อเล่าชีวประวัติของมัวร์เนาซึ่งตีพิมพ์เมื่อค.ศ.1998 เขาวินิจฉัยถึงต้นสายปลายเหตุของการนิยมเล่าเรื่องราวการจมปลัก ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับราคะ ว่าทางหนึ่งเป็นการประชดชีวิตเพื่อสำเร็จโทษตัวเอง และ อีกทางหนึ่ง ความกลัดกลุ้ม หมองไหม้ในชีวิตของมัวร์เนาชักนำให้เขาใช้หนังเป็นช่องทางระบายเรื่องราวความร่านสำส่อนผ่านตัวละคร โดยหวังจะมุดหัวขดตัวซุกอยู่ในเกราะกำบังของอรรถรสจากการดังกล่าวเพื่อดับทุกข์และเลิกกล่าวโทษตัวเอง

เชพเพิร์ดสางเงื่อนงำหาสาเหตุของการมุ่งลงโทษตัวเองและความระทมทุกข์ในใจมัวร์เนาจนได้กลิ่นคาวของแผลในใจจากการสูญเสียฮันส์ แอเรนบาม เดเกอเลอ(Hans Ehrenbaum-Degele)ผู้เป็นทั้งชู้รักและเพื่อนสนิทไป ณ แนวรบด้านตะวันออก มัวร์เนานั้นฝังจิตฝังใจว่าตัวเองเป็นต้นเหตุให้เพื่อนเดินทางไปสู่ความตาย เนื่องจากอกหักเพราะถูกเขาเมิน ความเจ็บช้ำน้ำใจผลักดันแอเรนบามเข้าชื่อไปออกรบและเสียชีวิตในแนวหน้าหลังเข้าสู่สมรภูมิได้เพียงไม่นาน ทิ้งไว้เพียงความทรงจำอันปวดร้าวและผิดบาปในใจมัวร์เนาตราบจนสิ้นลม อย่างน้อยเชพเพิร์ดก็เชื่อเช่นนั้น

ในเมื่อตามทัศนะของเชพเพิร์ด แอเรนบาม เดเกอเลอ มีอิทธิพลต่อมัวร์เนาล้ำลึกถึงเพียงนั้น จึงสมควรทำความรู้จักกับชายในชีวิตมัวร์เนาคนนี้พอสังเขป แอเรนบาม เดเกอเลอเป็นกวีแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ และเป็นบรรณาธิการร่วมนิตยสาร Das Neue Pathos บิดาชาวยิวของเขาประกอบอาชีพเป็นนายธนาคารและนิยมสะสมผลงานศิลปะ ส่วนแม่เป็นนักร้องในงานแสดงดนตรี แอเรนบามอพยพจากซูริกมาอยู่ในการอุปถัมภ์ของมัวร์เนาตอนสิ้นสุดสงครามโลก โดยมีทะเบียนบ้านที่เขาพำนักในเบอร์ลิน – กรุนวอลด์ แต่ขึ้นชื่อมัวร์เนาเป็นเจ้าบ้านนับตั้งแต่ ค.ศ.1919 ตราบจนมัวร์เนาย้ายไปสหรัฐในค.ศ.1926 ช่วยยืนยันการคบหาของคนทั้งสอง

น่าเสียดายที่เชพเพิร์ดมองข้ามสมมติฐานอันมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรไปหลายข้อ แต่มัวไปชักแม่น้ำทั้งห้าถึงผู้คนที่ผ่านเข้า ๆ ออก ๆ ในชีวิตมัวร์เนา รวมไปถึงยกเหตุบังเอิญต่าง ๆ นานามาอ้างโดยปราศจากพยานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์งานเขียนของเชพเพิร์ดอาจนับเป็นการค้นพบความชุลมุนใหม่ ๆ ของ Nosferatu ก็จริง แต่ผู้อ่านก็จำต้องใช้ความระมัดระวังไม่น้อยที่จะยึดถือตาม เพราะข้อมูลจากหนังสือมีลักษณะขัดแย้งในตัวเอง เชพเพิร์ดได้อ้างรายงานข่าวเชิงโยนหินถามทางจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ออกมาหลังการฉาย Nosferatu รอบปฐมทัศน์ ว่าหนังของมัวร์เนาอาจเป็นการขุดเบื้องหลังของคนในแวดวงศิลปะของยุคนั้นมาเผาและหยอกเล่นผ่านทางการวางบุคลิกและภูมิหลังตัวละคร รวมตลอดจนการเลือกและตกแต่งปราสาทส่วนตัวหลังหนึ่งในออสเตรียกับสถาปัตยกรรมอันเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Deutche Schauspieslhous ในเบอร์ลินเพื่อเป็นฉากหลัง ก็เป็นการล้อตามขนบการสร้างฉากของแม็กซ์ ไรน์ฮาร์ดท์(Max Reinhardt) ปรมาจารย์แห่งโลกละครเวทีของเบอร์ลินในยุคนั้น (มัวร์เนาฝากตัวเป็นศิษย์ผ่านการรับงานแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับละครเวทีของไรน์ฮาร์ดท์ในระหว่างค.ศ.1911 – 1914)

ในงานเขียนจากการศึกษามัวร์เนาโดยสังเขป ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ.1977 สแตน แบร็คเคจ มองว่า Nosferatu เป็นผลพวงจากจินตภาพแบบรักร่วมเพศในวัยเด็กของมัวร์เนาล้วน ๆ เพราะไม่อาจแพร่งพรายกิจกรรมที่คุกรุ่นอยู่ในหัวให้เป็นที่ระแคะระคายของพ่อแม่ ซ้ำยังมีใจคิดแก้เผ็ดพฤติกรรมที่พ่อทำกับแม่ อย่างไรก็ดีแบร็คเคจก็ลาก Nosferatu เข้าไปพัวพันกับไรน์ฮาร์ดท์ และสโมสรเด็ก ๆ ในคาถาของไรน์ฮาร์ดท์มากเกินเหตุ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะท่านป้าไรน์ฮาร์ดท์เป็นดั่งราชินีผึ้ง จึงย่อมมีสนมไม้ป่าเดียวกันเข้ามาสวามิภักดิ์กันให้หึ่ง เป็นผลให้อาณาจักรรักร่วมเพศของไรน์ฮาร์ดท์เติบใหญ่และมีชื่อเสียกระฉ่อนไปทั่วในด้านความบัดสีบัดเถลิงและการใช้ชีวิตหรูเลิศไม่บันยะบันยัง แต่วิมานฉิมพลีในเบอร์ลินแห่งนี้ก็ไม่เคยต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ กับฝ่ายบ้านเมืองในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ ก็ด้วยมีบารมีของไรน์ฮาร์ดท์เป็นเกราะกำบัง

ที่เชพเพิร์ดฝอยถึงเบื้องลึกของ Nosferatu ได้เป็นคุ้งเป็นแควถึงเพียงนั้น เพราะเขามัวบ้าน้ำลายอยู่กับการเจาะลึกตัวละครใน Nosferatu ตัวหนึ่งที่ชื่อชปีส (Spies)ซึ่งเป็นสาลิกาลิ้นทองตัวยง หากจะเปรียบตามเค้าโครงของ Faust โดยให้มัวร์เนาเป็นเฟาสท์ นักแสวงหาผู้สองจิตสองใจ ใครสักคนที่เป็นชปีสในโลกความเป็นจริงก็ย่อมเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเมฟิสโต อัจฉริยะในการล่อลวง การจับแพะมัวร์เนามาชนกับแกะบุรุษลึกลับผู้เป็นต้นเค้าตัวละครชปีส ใน Nosferatu และโยงเข้าสู่เส้นทางการปฏิสนธิตัวหนังอย่างเมามัน ด้วยฤทธิ์ปากกาพาไปจนถึงช่วงท้ายของหนังสือ เป็นผลบั่นทอนความน่าเชื่อถือของตัวงานเขียนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความสัมพันธ์ดังกล่าวไปทาบเข้ากับโครงเรื่องของ Faust นั้นแทบเอาเป็นสาระไม่ได้ เนื่องด้วยบุรุษลึกลับเจ้าของนาม ชปีสมีตัวตนอยู่จริง และแม้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง Nosferatu อยู่บ้าง แต่ชปีสตัวจริงไม่เคยถูกขึ้นชื่อเป็นคณะผู้ผลิต แต่ที่จริงยิ่งกว่าจริงก็คือ วอลเทอร์ ชปีส(Walter Spies)ไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างที่เชพเพิร์ดใส่ความไว้ เพราะชปีสมีฐานภาพสูงส่งและทรงอิทธิพลมากในวงการดนตรี นาฏลีลา และภาพยนตร์ รวมถึงต่อตัวมัวร์เนาเอง ความข้อนี้ย่อมหักล้างนิทานของเชพเพิร์ดจนแทบดูเป็นการนั่งเทียน ความเป็นไปได้ของสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกึ่งชู้ระหว่างมัวร์เนากับชปีสตัวจริงมีเพียงมูลฝอยจากครั้งมัวร์เนาเชื้อเชิญชปีสมาพำนักที่บ้านตนและวานให้เป็นธุระในการดูแลงานตกแต่งบริเวณบ้าน แต่หลังจากมัวร์เนาเปิดกล้อง Nosferatu ได้ไม่นานชปีสก็เดินทางออกจากเยอรมัน และก็ไม่ได้ข้องแวะกับโลกอันแห้งแล้งเสน่ห์ของการภาพยนตร์อีกเลยนับแต่นั้น ชปีสเป็นนักวาดภาพประกอบ และนักดนตรี เขาเกิดเมื่อค.ศ.1895 ที่มอสโคว ครอบครัวสลาฟของเขาย้ายมาตั้งรกรากที่เบอร์ลินเมื่อค.ศ.1909 ชปีสถูกส่งตัวไปเรียนกับออสการ์ โกกอสกา(Oskar Kokoschka)และ อ็อตโต ดิกซ์(Otto Dix)ที่เมืองเดรสเด็น(Dresden) ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ วัฒนธรรมดัทช์ที่ไปชูช่อในซีกโลกตะวันออกแทรกซึมสู่ตัวเขาจากการได้ตระเวณสัมผัสและชื่นชมผลงานภาพเขียนและคีตนิพนธ์ตามพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาในเบอร์ลินและอัมสเตอร์ดาม ค.ศ.1923 ชปีสล่องเรือไปยังเกาะชวาเพื่อลงหลักปักฐานที่เมืองย็อคยากาตาร์ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นราวสี่ปี ก่อนย้ายไปอยู่บาหลี ถ้อยความจากจดหมายถึงแม่และมัวร์เนา บ่งบอกถึงมิตรภาพอันแนบแน่นของชปีสกับมัวร์เนาได้เป็นอย่างดี เพราะแม้นว่าชปีสจะไปอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลอันเป็นอาณานิคมของดัทช์แล้ว มัวร์เนาก็ยังจุนเจือเขาอยู่(ด้วยการรับซื้อภาพเขียนหลายชิ้น) การไปเยี่ยมเยียนชปีสถึงบาหลีเป็นความตั้งใจเสมอมาของมัวร์เนา ภายหลังผิดหวังกับการทำงานในฮอลลิวูด มัวร์เนาควักกระเป๋าซื้อเรือยอร์ชออกล่องไปทั่วแถบทะเลใต้ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หากรักเป็นพิษจากกรณีแอเรนบามยังคงกลัดหนองอยู่ในอกมัวร์เนาเป็นเรื่องจริง วอลเทอร์ ชปีสก็หาได้เกี่ยวข้องไม่ ไม่ลองคิดบ้างว่า การหายหน้าไปของชปีสในคราที่กำลังมีการถ่ายทำ Nosferatu รังแต่จะยิ่งเร้าความอาวรณ์แก่มัวร์เนา จนไม่น่าจะมีแก่ใจทอดอาลัยอยู่กับโศกนาฏกรรมของแอเรนบาม การณ์หากเป็นเช่นนี้มิใยเรื่องจะกลับตาลปัตรยุ่งขิงจนหาความกระจ่างแจ้งอันใด ณ ใจกลางความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งหมดไม่ได้

Shadow of The Vampire ของผู้กำกับ อี. อีเลียส เมอร์ไฮจ์(E. Elias Merhige)เป็นการนำเบื้องหลังการถ่ายทำ Nosferatu มาเล่าตามสมมติฐานที่ว่า ตัวละครนอสเฟอราตูนั้นที่จริงเป็นการเล่นโดยผีดิบผู้จำแลงตัวมา หาได้ใช้นักแสดงในการสวมบทบาท ข้อสงสัยทำนองนี้เคยมีผู้จุดประกายเอาไว้ตั้งแต่ค.ศ.1953 กล่าวคือ อาดู ไครู(Adou Kyrou)ผู้เขียน Le Surrealism au Cinema ได้พาดพิงถึง Nosferatu ไว้ในหนังสือดังนี้ “ถึงหนังจะขึ้นชื่อนักแสดงอุปรากรอย่างแม็กซ์ ชเร็ค(Max Schreck)ว่าเป็นผู้รับบทนอสเฟอราตู แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าทั้งหมดเป็นการตบตาผู้คน ผู้ปลุกเสกชีวิตนอสเฟอราตูขึ้นมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์อาจเป็นนอสเฟอราตูตัวจริงก็เป็นได้” จริงทีเดียว สำหรับวงการธุรกิจภาพยนตร์ การมีผีดิบแฝงกายมาในคราบนักแสดงเที่ยวกินแรงสูบเลือดคนอื่นโดยมีนายหน้าคอยหาเหยื่อผู้ไม่รู้โหน่อิเหน่มาปรนเปรอ นับเป็นการอุปมาอุปมัยเบื้องหลัง Nosferatu เข้ากับสภาพความเป็นไปในยุทธจักรภาพยนตร์ได้เข้าท่าไม่หยอก เพราะก็มีอยู่จริงที่ดาราใหญ่ระดับคับกองถ่ายหลายรายขึ้นชื่อลือชาในเรื่องขยันสร้างความหายนะแก่กระบวนการถ่ายทำ นับตั้งแต่การยื้อแย่งบทสำคัญ ๆ ในขั้นสรรหาตัวแสดง ไหนยังจะมีพวกที่ชอบร้องแรกแหกกระเฌอให้มีการแก้ไขบทหรืออวดเบ่งขอเล่นแต่ฉากสำคัญเพื่อดูดซับพลังความเด่นดังเข้าตัว การราวีกันทางอัตตาดังกล่าวย่อมเป็นไปชนิดเลือดท่วมกองถ่าย โดยมิพักต้องกล่าวต่ออีกด้วยว่าการชำเราเกียรติภูมิของตัวเองและผู้เกี่ยวข้องเช่นนั้น ย่อมนำความมัวหมองมาสู่ทุกฝ่ายโดยถ้วนหน้ากัน

ถ้าจะลากไส้วงการมายาให้ถึงที่สุด การอุปมาอุปมัยเพียงเท่านั้นยังนับว่าน้อย เพราะถ้าจะให้ครบสูตรก็ควรอุปมาเข้ากับหนังแนวไสยศาสตร์สยองขวัญด้วย โดยธรรมชาติของหนังแนวนี้ย่อมต้องมีบทนักวิทยาศาสตร์ผู้พลีตนเป็นหนูทดลองเพื่อพิสูจน์ความเชื่อหรือผลการทดลอง จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะตกแก่ตัวเองและตัวละครอื่น ๆ การฉีดเซรุ่มเข้าร่างตัวเองของ ดร.แจ็คกิล ไม่ต่างกับอาการร้อนวิชา หรือ การลองของลองอาคมของผู้กำกับหรือพ่อมด การที่เฟาสท์เสนอขายวิญญาณแก่เมฟิสโตก็ไม่ผิดกับการที่ผู้กำกับนำนักแสดงฝ่ายหญิงมาเซ่นนักแสดงชายผีดิบใน Shadow of The Vampire เพื่อหวังผลในทางสร้างความสมจริง เพราะต่างเป็นการยอมถวายทุกสิ่งเท่าที่จะขวนขวายมาได้เพื่อแลกกับการสนองตัณหาของตัวเอง ซึ่งไม่ผิดอะไรกับอาการกระหายของผีดูดเลือด

นอกเหนือจากการจับขนมนักแสดงผสมน้ำยาผีดิบแล้ว Shadow of The Vampire ก็ไม่ได้ให้แง่มุมพิลึกพิลั่นอันใดเกี่ยวแก่ Nosferatu เพิ่มเติมเข้ามาอีก ส่วนที่เหลือเป็นเพียงการเอาของเก่ามาเล่าใหม่ ไม่แต่เฉพาะในส่วนงานของมัวร์เนา แต่รวมไปถึงหนังเยอรมันเอ็กซ์เพรสชันนิสม์เรื่องอื่น ๆ ด้วย กระนั้นก็ยังนับว่าทำได้ไม่เลว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเทคนิคการดัดเสียง การมีชีวิตขึ้นมาของหุ่นขี้ผึ้ง เงาที่ดูหลอนหลอก องค์ประกอบการเล่าเหล่านี้เอื้อประโยชน์ในทางเพิ่มความสับสนทับซ้อนระหว่างศิลปะกับชีวิต อีกด้านหนึ่งหนังก็บอกเป็นนัยว่าศิลปะนั้นเที่ยงแท้จีรัง และมีพลังสดจริงเสียยิ่งกว่าชีวิต แต่เหตุไฉนหนังลายครามอย่าง Nosferatu จึงถูกนำมาปัดฝุ่นส่องขยายและนำออกฉายในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อสหัสวรรษ แถมเป็นการเข้าโรงไล่หลังหนังตลกฝันเฟื่องอย่าง Nurse Betty ของผู้กำกับนีล ลาบิวต์(Neil LaBute) โดยปมเรื่องแล้ว Vampire กับ Nurse หาความเกี่ยวข้องอันใดไม่ได้ แต่ตัวละครเอกของหนังสองเรื่องนี้กลับอยู่ในภาวะสิ้นไร้หนทางในการแบ่งแยกชีวิตจริงออกจากชีวิตสร้าง และนำไปสู่ความผิดพลาดในการกำหนดบทบาทหรือการขับเคลื่อนชีวิต อาจไม่แปลกที่ลูกหลงของวิวาทะถึงความสูงต่ำของคุณค่าระหว่างความสมจริงกับการปรุงแต่งอันเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ ยังคงตามติดพันมากับโลกเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอลซึ่งของปลอมดูสมจริงเสียยิ่งกว่าของแท้

อันที่จริงผู้คนในทุกวันนี้เริ่มจะข้องใจกับเนื้อแท้และสิ่งที่พบพานในโลกใบนี้มากขึ้นทุกทีว่า ทั้งหมดอาจเป็นแค่ฉบับสำเนา หากเป็นเช่นนั้นของจริงก็ย่อมต้องถูกปรุงสร้างขึ้น เช่นเดียวกับเอกภพของตัวละครใน The Matrix, The Truman Show, The Cell และ Being John Malkovich คำถามอันชวนค้นลึกถึงคำตอบ ณ ใจกลาง Nurse และ Vampire จึงเป็นประเด็นเชิงปรัชญา(ในทางญาณวิทยา-Epistemology)เกี่ยวกับจิตอื่น ๆ และ(ในทางภววิทยา-Ontology)เกี่ยวกับโลกหรือภพอื่นๆ

ในแง่ญาณวิทยา การรับรู้ถึงจิตหน่วยอื่น ๆ ในหนังเหล่านี้ชวนให้ขบคิดต่อไปถึงความหมายของการได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงจิตดวงอื่น และ ข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันถึงการมีจริงของบุคคลอื่น ๆ ส่วนในแง่ภววิทยาก็เป็นการตั้งแง่กับการดำรงอยู่ของภพ-โลก สภาวะมิติอื่น ๆ หนังทั้ง 6 ได้โยนโจทย์หนักอึ้งแก่คนดู โดยอาจรวบความเป็นคำถามได้ว่า หากโลกที่เราอยู่จะเป็นเพียงฉาก หรือ ห้วงสมมติอันไพศาลจากการรังสรรค์ของใครคนอื่น ฉากอันไพศาลนี้มีขอบเขตหรือสิ้นสุดลง ณ จุดใด และถ้าสรรพสิ่งเป็นเพียงสภาวะอื่นแล้วไซร้ สภาวะที่เป็น “ของเรา” จริง ๆ ไปอยู่เสียที่ไหน ตราบเท่าที่ยังถูกล้อมกรอบด้วยสภาวะ/ฉาก/โลก/ห้วงสมมติเช่นนี้ มนุษย์พึงจะมองหาและยึดสิ่งใดเป็นเกณฑ์อ้างอิงเพื่อการเปรียบเทียบปัญหาทำนองนี้สร้างความหนักอกหนักใจและเป็นที่เข็ดขยาดในการฟันธง เพราะมีศรัทธาเป็นเครื่องเดิมพัน พลันที่คนผู้หนึ่งเลือกจะยอมรับทางแพร่งความเชื่อใด ย่อมหมายความว่าเขาผู้นั้นย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงจากการติดอยู่ในกับดักความศรัทธาชนิดใดชนิดหนึ่ง บางครั้งความศรัทธาดังกล่าวอาจจำต้องเป็นเพียงความว่างเปล่าเพื่อจะลดความแหลมคมของคำตอบหนึ่งที่อาจไปตัดกำลังคำตอบอื่นๆ

ดังที่กล่าวมาแต่ต้นแล้ว หนังผีดิบส่วนใหญ่เดินตามวงจรความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจลี้ลับกับทาสหรือทายาทของอำนาจมากกว่าจะเป็นบทพิสูจน์แรงศรัทธาในการเอาชนะอำนาจลี้ลับของฝ่ายที่ตกเป็นทาส ดังจะเห็นได้จากเหยื่อล่อทั้งหลายที่ฝ่ายเหนือกว่ายื่นฝ่ายด้อยไม่ว่าจะเป็นความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความรัก และ ชีวิตอมตะ ทั้งหมดล้วนเป็นกิเลสไม่ใช่พรหมวิหาร หรือไม่ก็ด้วยแบบจำลองและกลไกเดียวกัน แต่เปลี่ยนจากตัวแสดงจากอำนาจเหนือธรรมชาติมาเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง หรือ ศิลปินหลุดโลก กับหนูทดลองผู้กระตือรือร้น โดยมีความทะเยอทะยานของฝ่ายหลังผสมโรงด้วยเล่ห์กระเท่ของฝ่ายแรก เป็นแรงผลักดันทั้งสองฝ่ายต้องถลำสู่วิบากกรรมเพื่อการพิสูจน์และบรรลุซึ่งความเชื่อ-ความใฝ่ฝัน-ความงดงาม-ความสุขล้ำ ร่วมกัน ทั้งนี้ เบี้ยล่างในแบบจำลองความสัมพันธ์เฟาสท์-เมฟิสโตนั้น มีแต่เป็นฝ่ายเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง การต่อรองตามแต่โอกาสเอื้ออำนวยไม่ได้ให้ผลอันน่าพิศมัยมากไปกว่าการมีชีวิตรอดตามยถากรรม ท้ายที่สุดมักไม่พ้นต้องกลายเป็นอมตชีพหัวใจด้านชา และทรมานกายใจไปตราบชั่วนิรันดร์ หรือไม่ก็ต้องจบชีวิตอย่างน่าสมเพช ทั้งสองทางเลือกล้วนไม่น่าพิสมัยเพราะเบี้ยล่างเหล่านี้ต้องแปรสภาพเป็นอสุรกาย เป็นที่รังเกียจจากสังคม และต้องแบกรับบาปส่วนเกินของความเป็นเดนชีวิตไว้ไม่ว่าจะอยู่ค้ำฟ้าหรือจนกว่าจะม้วยมรณาไป พลังและความหมายแฝงขุมใดกันที่ให้กำเนิดเดนชีวิตผู้มีแรงปรารถนาที่ไม่มีวันมอดดับ พลังงานส่วนเกินนั้นมีอยู่แน่แต่จะเป็นผลของเจตจำนงอย่างใดอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ "คนแถวนี้ไม่รู้หรอกว่าเรานำบรรพบุรุษติดมาด้วย" ว่ากันว่าซิกมันด์ ฟรอยด์เคยกล่าวประโยคนี้กับคาร์ล ยุงในวันที่ทั้งสองมาถึงท่าเรือนิวยอร์คเมื่อค.ศ.1908

การนำทฤษฎีเพศวีถีของผู้หญิง(female sexuality)มาวิเคราะห์ Nosferatu และ Dracula ไม่อาจสร้างความกระจ่างแก่ตัวตนของผีดิบมากเท่าการวิเคราะห์โดยใช้ตัวแบบจิตวิเคราะห์สำนักลากังเนียน(Lacanians)กล่าวคือ จากการใช้ผู้หญิงเป็นตัวตั้งเพื่อวัดการตอบสนองจากผีดิบ ทฤษฎีพฤติกรรมเพศของผู้หญิงให้ผลลัพธ์เพียงว่า การตอบสนองจากแรงปรารถนาของผีดิบต่อผู้หญิงมีลักษณะลมเพลมพัด และมีทั้งความขยะแขยงและความลุ่มหลงคลั่งไคล้ปนเปกันอยู่ คำอธิบายที่แหลมคมกว่าจากกรอบการศึกษาของจิตวิเคราะห์แนวลากังเนียน(Lacanian จิตวิเคราะห์สายที่พัฒนาขึ้น โดย ฌาคส์ ลากัง)โดยการใช้ผีดิบเป็นตัวตั้ง ให้ข้อสรุปว่า ผีดิบไม่ได้มีหรือเกิดจากเจตจำนง หากแต่เกิดมาจากแรงขับต่อความตาย เมื่อดูจากการที่ผีดิบไม่อาจสลัดตัวเองให้พ้นจากบ่วงความกดดันจากความตาย เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในการดำรงชีพของผีดิบจะพบว่ามีลักษณะแปรปรวนกลับไปกลับมา ประเดี๋ยวกระจัดพลัดพราย ประเดี๋ยวก็กระจุกตัว หาค่าความถี่คงตัวได้ยาก ส่วนปัจจัยที่นักวิเคราะห์แนวลากังเนียนยกมาสนับสนุนความคิดที่ว่า เจตจำนงมิได้เป็นหลักเหนี่ยวนำให้ผีดิบมีชีวิตอยู่ก็คือ ผีดิบอยู่เพื่อแพร่พันธุ์ไปวัน ๆ อย่างสะเปะสะปะและไร้วิสัยทัศน์ (เช่น สืบพันธุ์เพื่อสร้างครอบครัวที่อบอุ่น - เหมือนอย่างมนุษย์) เหมือนเป็นกบในกะลา

นอกจากแนวคิดเกี่ยวกับพลังส่วนเกินซึ่งกรูมาผนึกตัวอยู่ในผีดิบและการเป็นสังขารที่มีชีวิตเลื่อนลอยอันมีแรงขับต่อความตายเป็นหางเสือแล้ว ในกระบวนการซ่องสุมกำพืดผีดิบยังอาจมีพลังอีกสายมีส่วนสมรู้ร่วมคิดนั่นคือ พลังจากการปฏิวัติเทคโนโลยี อันสภาพผ่าเหล่านอกคอกของผีดิบนั้นเปรียบไปก็เหมือนมารหัวขนของเครือข่ายสารสนเทศ และการสื่อสาร เนื่องด้วยตำนานผีดิบเป็นปรัมปราหนึ่งเดียวที่ถือกำเนิดและผ่านร้อนผ่านหนาวมาในโลกยุคจักรกล ไม่ว่าในความเป็นจริง ยุคการผลิตด้วยเครื่องจักรกับผีดิบจะสัมพันธ์กันแนบแน่นเพียงใด แต่ในสายตาฟรีดดิช คิตเลอร์(Friedrich Kittler)ผีดิบ คือ อมตะผลิตผลของยุคเครื่องจักร อันมีระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นภาพเคลื่อนไหว และ หนัง เป็นครรภ์ฟักตัว แนวคิดดังกล่าวยังมีช่องโหว่มากมายและหาข้อยุติได้ยาก กล่าวสำหรับคิตเลอร์ซึ่งมองว่าชาร์คอต์(Charcot) บรอยเออ(Breuer) และฟรอยด์ต่างก็เก็บเกี่ยวเอาประโยชน์จากศักยภาพในการเป็นสื่อกลางของผู้หญิงแล้ว เหตุการณ์ใน Dracula ที่จริงคือกระบวนการกลายเป็นสื่อของเพศหญิง ทั้งหมดทั้งหลายในตัววรรณกรรม Dracula คือ การเลิกม่านเผยขั้นตอนที่สังคมลงมือถลุงความอ่อนไหวและว่าง่ายของผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 19 ตอนกลาง และเก็บกักไว้เป็นทุนวัตถุดิบในยุ้งฉางของสังคม

Dracula ฉบับแบรม สโตเกอร์จึงเป็นปฏิบัติการกระชากหน้ากากนักวิชาการเพศชายเหล่านี้ผ่านวรรณกรรมเพื่อเปิดโปงความแยบคายของกลไกสังคมยุคปิตุลาธิปไตย และทดลองเสนอทางออกเชิงจินตภาพแก่สังคมแบบวิคตอเรียน ในการรับมือกับความนอกลู่นอกทางอันชวนขวัญเสีย สโตเกอร์หันมาขับเน้นและเชิดชูพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยและตัวตนของไมนาและลูซีโดยสร้างชุดอรรถาธิบายเปรียบเปรยร่างของสองสาวว่าเป็นเหมือนเครื่องรับสัญญาณ หรือ คลื่นความถี่วิทยุ(เครื่องรับสัญญาณวิทยุของจริงประดิษฐ์โดย มาร์โคนี ในค.ศ.1895) อาการสติแตกและเดินละเมอของสาว ๆ เป็นเพราะมีคลื่นเข้ามาแทรกและบงการพวกเธอ

สถานภาพความเป็นเครื่องหรือสถานีรับสัญญาณและแปลงเก็บสารสนเทศจากผีดิบเพียงหนึ่งเดียวที่พวกสุภาพบุรุษนักล่าผีดิบมีอยู่ในมือ เรืองรองขึ้นทาบบุคลิกของไมนาเต็ม ๆ จากเหตุการณ์ตอนที่พวกผู้ชายนักล่าผีดูดเลือดออกเดินทางไปยังทรานซิลวาเนียเพื่อแกะรอยหาแหล่งส่งสัญญาณความวิปลาสอันเกิดแก่ไมนา ขณะเดียวกัน การดั้นด้นสู่ทรานซิลวาเนียก็อยู่ในรอยเดียวกับการไปตามนัดหมายแห่งซามารา เพียงแต่เปลี่ยนฉากหลังไปเป็นเทือกเขาคาร์เปเทียแทน

ตามการสังเกตลวก ๆ ของคิตเลอร์ผู้หญิงในคริสตทศวรรษ 1890 มีทางเลือกเพียง 2 ทางคือ ถ้าไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นอีบ้า ด้วยเหตุดังนี้ ในการรับช่วงเป็นผู้สืบสันดานผีดิบอย่างเต็มตัวภายหลังลูซีตายไป ไมนาจึงมีอาชีพหลักเป็นพนักงานพิมพ์ดีดผู้เก็บบันทึกสารสนเทศของผีดิบ และมีงานอดิเรกเป็น"อีบ้า"

ข้อสังเกตของของคิตเลอร์มีจุดอ่อนอยู่ตรงที่ในความเป็นจริงแล้ว ฟรอยด์จะฉกฉวยผลประโยชน์จากศักยภาพในการเป็นสื่อของเพศแม่ไปได้อย่างไร ในเมื่อเขาได้ชื่อว่าเป็นพวกเต่าล้านปีในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร สื่อเก็บบันทึกและส่งผ่านสารเพียงชนิดเดียวที่ฟรอยด์เคยปริปากถึง คือ กระดานชนวนมหัศจรรย์(mystic writing pad)ซึ่งอย่าว่าแต่ในสมัยนี้ แม้ในสมัยนั้นอุปกรณ์การสื่อสารชนิดนี้ยังถือเป็นนวัตกรรมขั้นกระจอกหรืออาจจะตกรุ่นไปแล้ว การที่คิตเลอร์นำฟรอยด์ไปเทียบบทบาทกับเจ้าพ่อแห่งการคิดค้นอย่างเอดิสัน ลูมิเยร์ และมาร์โคนี จึงนับเป็นการจาบจ้วงโดยใช่เหตุ มิใยต้องกล่าวต่ออีกด้วยว่าความเกี่ยวพันเพียงครั้งเดียวระหว่างฟรอยด์กับวงการหนัง(ในฐานะหนังก็เป็น"สื่อ") ก็อย่างที่รู้กันว่าใน ค.ศ.1912 มีการยื่นข้อเสนอให้ฟรอยด์เข้าร่วมในโครงการสร้าง Secret Of a Soul หนังในการกำกับของผู้กำกับจี ดับเบิลยู พาบส์ท(G. W. Pabst) แต่ฟรอยด์ก็บอกปฏิเสธไป

ศาสตร์จิตวิเคราะห์มีจุดกำเนิดร่วมกันกับการภาพยนตร์ก็จริง แต่งานสองแผนกนี้ก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด ตามที่ฟรอยด์ตั้งข้อสังเกตไว้ ในที่สุดจิตวิเคราะห์และภาพยนตร์ไม่พ้นต้องหันหน้าเข้าหากันโดยเห็นแก่ภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการล้มล้างความศักดิ์สิทธิ์ของศัตรูร่วมคือ หน้ากระดาษงานวรรณกรรมและปลายปากกานักประพันธ์ กิจกรรมในชั่ว 100 ปีแห่งความอ่อนต่อโลกของภาพยนตร์อันเป็นตัวแทนนวัตกรรมด้านสื่อ และการศึกษาค้นคว้าด้านจิตวิเคราะห์ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อฉุดลากงานเขียนลงจากบัลลังก์การผูกขาดบทบาทในการเก็บบันทึก ส่งผ่าน จัดระเบียบ แบ่งสรร และผลิตซ้ำประสบการณ์ของปัจเจก

ภาพยนตร์และจิตวิเคราะห์ดาหน้าเข้าฟาดฟันวรรณกรรมด้วยยุทธศาสตร์การปรุงสร้างประสบการณ์มนุษย์ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว เสียง ตัวบทและเบาะแสผ่านสื่อแผ่นฟิล์มและทฤษฎี นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการถ่ายทอดพฤติกรรมภายนอกและจินตนาการภายในมนุษย์ จุดแข็งของภาพยนตร์มาจากระบบความสัมพันธ์อันลงตัวระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ ขณะที่ข้อได้เปรียบของจิตวิเคราะห์อยู่ที่ได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์ไขปริศนาการเป็นคน เพราะองค์ความรู้ทั้งหลายล้วนมีเรือนร่างมนุษย์(เพศหญิง)และสุ้มเสียง(ของมนุษย์)เป็นครูใหญ่ พัฒนาการของหนัง ไปไกลถึงขั้นมีจิตวิญญาณเป็นของตัวเอง อีกนัยหนึ่งหนังเป็นการเขียนจากจิตไร้สำนึกของผู้สร้างสรรค์ เฉกเช่นเดียวกับที่นักจิตวิเคราะห์อุทิศสนามวิชาของตนเป็นเขียงชำแหละห้วงประสบการณ์ของมนุษย์ ตลอดรายทางการเติบโตในฐานะสื่อใหม่สำหรับถ่ายทอดประสบการณ์

ภาพยนตร์และจิตวิเคราะห์ได้ขับหลั่งผลผลิตส่วนเกินออกมาด้วยเช่นกัน ผลผลิตส่วนเกินเหล่านี้มีด้วยกันหลากหลายขนาน (ไล่ตั้งแต่หนังเพลง หนังน้ำเน่า หนังสยองขวัญไปจนถึงหนังเทคนิคตระการตา) อันเป็นเป้าการศึกษาที่กลุ่มอิตถีนิยมและการภาพยนตร์เพียรพยายามทำความเข้าใจอยู่ตลอด 30 ปีหลังมานี้ ล่วงถึงศตวรรษใหม่ ศาสตร์จิตวิเคราะห์เติบใหญ่ ปีกกล้าขาแข็งขึ้นตามกาลจนกลายเป็นปีศาจคอยหลอกหลอนสรรพสิ่งที่พลัดหลงเข้าไปในยุ้งฉางศาสตร์การตีความ

กระนั้น Nosferatu ก็ยังวนเวียนอยู่เคียงข้างผู้คนในโลกยุคใหม่ พลังงานส่วนเกินของอมตะสังขารถูกตีความในฐานะผลิตผลจากครรภ์ภาพยนตร์และเป็นตัวแทนอันพิลึกพิลั่นของการแพร่ขยายและส่งตัวเองตัดข้ามความแปรผันทางมิติวัฒนธรรมมาปีแล้วปีเล่า หนังไม่ใช่ปู่โสมเฝ้าขุมทรัพย์แห่งอดีตดุจดังพิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงานศิลปะ หรือ ห้องสมุดเป็น ตรงกันข้ามหนังได้ปลุกอดีตอันซีดจางให้หวนกลับมาโลดแล่น มีชีวิตชีวาต่อหน้าต่อตาผู้คน พร้อมกันนั้นของแท้ก็ได้รับการชื่นชมด้วยการนำออกมาใช้งาน(ฉาย)ครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะจับแช่แข็งผ่านกาลเวลาไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ การดำรงอยู่ของภาพยนตร์อันเป็นการฉายภาพย้อนให้เห็นพัฒนาการของตัวสื่อไปในตัว จึงนับเป็นบทบาทที่พิเศษและน่าหลงใหลยิ่ง ไม่เพียงแต่จินตนาการอันน่าตื่นตะลึงจะจืดชืดไป การปัดฝุ่นงานขึ้นหิ้งและฟื้นฟูมรดกภาพยนตร์อาจกลายเป็นการทำคุณบูชาโทษ เพราะเป็นการไปเสือกไสไล่ส่ง หรือไม่ก็เป็นการจองจำพลังเร้นลับหรืออินทรีย์รูปบางชนิดที่งานภาพยนตร์รุ่นก่อนเคยยกขึ้นมาสร้างความสั่นสะเทือนและเขย่าคลอนระบบการดำรงตนของมนุษย์ ไปจากที่อันควรสู่คุกของการอนุรักษ์วัฒนธรรม

การโน้มน้าวให้คนดูเชื่อว่าแม็กซ์ ชเร็ค เป็นผีดิบจำแลงมาอาจพอยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ข้อผิดพลาดร้ายแรงกว่าของ Shadow of The Vampire อาจอยู่ตรงหนังพลั้งมือไปลบล้างเสน่ห์ความเป็นหนังและความน่าครั่นคร้ามของตำนานผีดิบ เพราะช่างไม่เดียงสาเสียบ้างเลยว่า ด้วยต้นทุนทรัพยากรในการผลิตหนังได้หนึ่งเรื่องเท่ากัน แทนที่จะได้ผลออกมางานต่ออายุและเพิ่มความกระชุ่มกระชวยแก่วงการหนังชวนขนหัวลุก แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่คล้ายจะเป็นฆ้อนมาตอกตะปูปิดฝาโลงฝังหนัง(อย่าง Nosferatu เป็นต้น)ด้วยกันไว้ในสภาพโบราณวัตถุ นานทีปีหนจึงถูกนำมาจัดแสดงเพื่อระลึกถึงความรุ่งโรจน์ในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ควรจะเป็นหน้าที่(หรือการปองร้าย)ของสื่อรูปแบบใหม่อย่างวิดีโอ หรือ ดีวีดี ขืนหนังเองมองไม่เห็นคุณค่าในศักยภาพของหนังด้วยกันเช่นนี้ มิใยภารกิจในการสานต่อเจตนารมณ์ผลิตผลงานผีดิบสายพันธุ์ใหม่ ๆ อาจต้องฝากฝีฝากไข้ไว้กับสื่อรุ่นใหม่อื่น ๆ เสียแล้วกระมัง


อ้างอิง

Elsaesser, Thomas. 2001. “Six degrees of Nosferatu”. http://www.bfi.org.uk/sightandsound/feature/92/

เครื่องมือส่วนตัว