มิติของโลกาภิวัตน์
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'สามมิติของโลกาภิวัตน์ ๑. ด้านเศรษฐกิจ มีการจัด…')
รุ่นปัจจุบันของ 06:54, 12 พฤษภาคม 2554
สามมิติของโลกาภิวัตน์
๑. ด้านเศรษฐกิจ มีการจัดการเกี่ยวกับการผลิต การแลกเปลี่ยน การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคสินค้าและบริการจะมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น ๒. ด้านการเมือง มีการจัดการด้านอำนาจไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารประเทศ การทหาร และการดำเนินนโยบายในระดับมหภาคต่าง ๆ จะไม่สามารถทำได้ในระดับรัฐชาติ (nation-state) อย่างเป็นเอกเทศ ต้องพึ่งพิงกระบวนการหรือองค์กรที่มีลักษณะข้ามชาติหรือที่มีการรวมกลุ่มระหว่างประเทศมากขึ้น ๓. ด้านวัฒนธรรม มีการจัดการเกี่ยวกับ การผลิต การแลกเปลี่ยนและการแสดงออก ซึ่งสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทน ความเชื่อ ค่านิยม และธรรมเนียมที่มีความหมายในสังคมหนึ่ง ๆ จะได้รับอิทธิพลจากอีกสังคมหนึ่งหรือส่งผลต่ออีกสังคมหนึ่งมากขึ้น
โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดผลดี ๔ ด้านสำคัญ คือ
๑. นำไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่รุ่งโรจน์ ๒. สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ระบบโลกและสังคมทุกสังคม ๓. สร้างอารยธรรมใหม่ คือสังคมข่าวสารหรือสังคมแห่งวิทยาการ ๔. คริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่ของมนุษยชาติ
กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์กระแสโลกาภิวัตน์
เป็นการขยายอำนาจการครอบงำทางเศรษฐกิจการเมืองของระบบทุนนิยมโลก ยิ่งก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน จะมีการกดขี่ขูดรีดทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์จนเป็นวิกฤตไปทั่วทุกด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโหมกระพือวาทกรรมโลกาภิวัตน์ไปทั่วโลกเพื่อยึดความคิดความเชื่อของประชาชนในที่ฝ่ายเสียเปรียบ
ทางออกจากกระแสโลกาภิวัตน์
วอลเดน เบลโล (๒๕๔๖) นักวิชาการในฝ่ายซีกโลกใต้ ได้เสนอทางออกจากกระแสการครอบงำของกระบวนการโลกาภิวัตน์ว่าต้องเลิกล้มโลกาภิวัตน์ สร้างกระบวนการที่เรียกว่า Deglobalization ขึ้นมาต่อสู้ทัดทานโลกาภิวัตน์ และจัดการกับเศรษฐกิจโลกด้วยการร่วมมือกันของกลุ่มประชาชนที่ตกอยู่ในฝ่ายผู้เสียเปรียบ เพื่อแสวงหาระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์
พิภพ ธงไชย ผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมภาคประชาชน เสนอทางออกโดยเน้นการแสวงหาทางเลือกใหม่ในด้านการศึกษา เกษตรธรรมชาติ หรือเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรแบบผสมผสาน การสร้างชุมชนทางเลือกใหม่ การสร้างรูปแบบการสะสมทุนที่พึ่งตนเองของชุมชนโดยไม่ผ่านระบบธนาคารที่เป็นกลไกสะสมทุนของระบบทุนนิยมโลก ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกระบวนการสันติวิธีและต่อสู้ด้วยการดื้อแพ่ง (civil disobedience) เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง หรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (radical democracy)
โดย Introduction to Mass Media Team Teaching รศ. ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รศ. ปัทวดี จารุวร ผศ. ดร. พิรงรอง รามสูต ผศ. เมธา เสรีธนาวงศ์ อ. ไศสทิพย์ จารภูมิ รศ. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์