พม่าและอองซานซูจี

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Schaweew (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'พม่า และ ออง ซาน ซู จี คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสาระสนเ…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:16, 12 พฤษภาคม 2554

พม่า และ ออง ซาน ซู จี คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสาระสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

แม้จนถึงวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังคงรู้สึกว่า เราคนไทยโดยทั่วไปยังมีความรู้ความเข้าใจน้อย หรือขาดความรู้ความเข้าใจ ในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดมากอย่างพม่า กัมพูชาและลาวที่มีพรมแดนอันยาวเหยียดเป็นพันๆ กิโลเมตรติดกับประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ไม่ได้ดีนัก

แล้วอะไรทำให้ความรู้ความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างเรา และประเทศเพื่อนบ้านพม่า กัมพูชา และลาวที่มีพรมแดนยาวเหยียดติดกันเป็นเช่นนั้น มาจากเหตุปัจจัยทางด้านประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นเอง มาจากเหตุปัจจัยทางด้านประเทศไทยเราเอง และ/หรือมาจากเหตุปัจจัยทางด้านประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น และทางด้านประเทศไทยร่วมกันอย่างไร

เท่าที่ความรู้อันจำกัดที่มีอยู่ และที่พอจะนึกภาพออกได้บ้าง ประเทศเพื่อนบ้านของเราเหล่านั้น ล้วนมีปัญหาจากภายในประเทศของตน โดยเฉพาะปัญหาทาง ด้านการเมืองการปกครองอยู่มากมาโดยตลอด จนแม้ในปัจจุบัน เป็นต้นว่าประเทศพม่าก็มีปัญหาการขาดความ ปรองดองของคนในชาติมากเพราะประชาชน ประกอบขึ้นด้วยหลายเชื้อชาติและปัญหาจากระบอบการปกครองเผด็จการทหารที่ยังดำรงอยู่

ส่วนกัมพูชาก็มีปัญหาสงครามสู้รบกันเองภาย ในประเทศเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองเดิมที่ทำ ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำให้ผู้คนต้องถูกฆ่าตายเป็นเบือ นับเป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด และกระทบต่อความรู้สึกของมนุษยชาติจนต้องถูก บันทึกเป็นประวัติศาสตร์โลก และถูกฮอลลีวูด นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภายใต้ชื่อเรื่อง "ทุ่งสังหาร" (Killing Field) และลาวเองก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แบบที่มีกษัตริย์มาสู่ระบอบการปกครองสังคมนิยม ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาการปฏิรูปประเทศที่ยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

สภาพการณ์ดังกล่าวภายในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น ทำให้ไม่มีเวลาเป็นปกติ ไม่มีเวลาเหลือ ขาดความสนใจ หรือขาดความกระตือรือร้นและเอาจริงเอาจังที่จะพัฒนาประเทศ และพัฒนามาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนภายในประเทศของตนให้ดีขึ้น ความต้องการเปิดประตูประเทศออกไป มีความสัมพันธ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านอื่นๆ กับประเทศอื่นทั้งใกล้ และไกลรวมทั้งกับประเทศไทยเราเองจึงยังมีน้อย และก็ยังมีน้อยเช่นกัน สำหรับระหว่างประชาชนด้วยกันจะได้มีโอกาสไปมาหาสู่ และติดต่อสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกัน และกันให้ดีขึ้น ข่าวสารข้อมูลหรือ เรื่องราวเหตุการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นที่ออกสู่โลกภายนอกจึงยังมีอยู่น้อยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามจากแรงผลักดันของภาวะความขาดแคลน ความยากจนและความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นของไทย บีบบังคับให้ประชาชนของเขามากมาย ต้องหาช่องทางลักลอบ หรืออพยพหลบหนีเข้ามาอาศัย เข้ามาทำมาหากิน เข้ามาขายบริการแรงงานอยู่ในประเทศไทย แน่นอนย่อมสร้างปัญหาหนักให้แก่ประเทศไทย ที่ต้องแบกรับภาระคนเหล่านี้ เพราะเพียงแต่แรงงานพม่าอย่างเดียว ก็เป็นจำนวนหลักล้านคนเข้าไปแล้ว

และคนเหล่านี้ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอจากบ้านเมืองของตนเอง เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย ก็ย่อมสามารถสร้างหรือนำปัญหาอื่นๆ อีกมากมาสู่ประเทศไทย และคนไทยเจ้าของ ประเทศได้มาก (และเพราะระบบ และผู้คนของเราที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ และควบคุมดูแลก็ยัง อ่อนแอและหละหลวมอยู่มาก) จึงทำให้คนไทยไม่น้อยหวาดกลัวว่า คนพม่าอาจจะเข้ายึดครองประเทศไทย เหมือนดังเช่นที่เคยทำประวัติศาสตร์ และอาจทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ยังยากไร้ ไม่พอใจเพราะชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ แต่แล้วทำไมรัฐบาลไทย ยังไปช่วยโอบอุ้มผู้อพยพ และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นอีก

ขณะที่เมื่อมองจากเหตุปัจจัยทางด้านประเทศไทยเราเอง เรามีสภาพการณ์ที่แตกต่างไปจาก ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นมาก เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชา ธิปไตยในปี 2475 แล้ว แม้เวลาส่วนใหญ่หลังจากนั้นของประเทศ จะถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนที่จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเวลาต่อมา แต่ก็พอจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยสงบ และมีความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง (ในแง่ที่ ชนชั้นผู้ปกครองดั้งเดิม ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่รวมกันเป็นอย่างดี ยังดำรงอำนาจการปกครองคนส่วนใหญ่ที่ถูกทำให้อ่อนแอ และรวมกันไม่ได้จนถึงเวลานี้) นอกเหนือจากเหตุการณ์นองเลือด ที่เกิดขึ้นในประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 19 และพฤษภาทมิฬ 35

ประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จึงมีเวลามากมายที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ และประเทศไทย ก็ดำเนินนโยบาย เปิดประตูประเทศ และรับเอาแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามแบบอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ในตะวันตกโดยนโยบายเร่งรัด การขยายการเจริญเติบโต และพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ขึ้นในประเทศ ส่งเสริมการนำเข้า และส่งออกหรือการค้าต่างประเทศ การพัฒนาโดยการกู้ยืม และรับความช่วยเหลือต่างๆ จากต่างประเทศ การส่งเสริมให้รัฐบาลลงทุนอย่างขนานใหญ่ในการพัฒนาบริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการส่งเสริมและต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อประเทศไทย มุ่งไปในแนวทางการพัฒนาประเทศตามแบบอย่าง และโดยพึ่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างหนักดังกล่าว แน่นอนจึงละเลย ขาดความสนใจ หรือมองไม่เห็นความจำเป็นความสำคัญ ที่จะต้องเกี่ยวข้อง หรือพึ่งพาอาศัยเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันอะไรนัก และโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา และลาว เพราะประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เองก็เช่นกัน ก็ไม่ได้สนใจที่จะเปิดประตูประเทศของตนนัก เพราะยังมีปัญหาภายในของตนเองอยู่มาก และยังด้อยพัฒนาและยากจนอยู่มากด้วย

ผลของการพัฒนาด้วยยุทธศาสตร์พึ่งพาอาศัยทรัพยากรต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยาย การเจริญเติบโตในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องกันมา (แม้ส่วนใหญ่ หรือเกือบจะทั้งหมด เป็นการพัฒนาเชิงกายภาพ หรือขยายตัวเชิงปริมาณ มากกว่าจะเป็นการขยายตัวเชิงคุณภาพ) นี่จึงอาจจะทำให้คนไทยรู้สึกว่าตนเองดีกว่า เหนือกว่าหรือพัฒนาก้าว หน้าไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก หรือทำให้เรามองเพื่อนบ้านในทางที่ต่ำต้อยกว่า เราจึงมักชอบพูดจาตลกหรือเผลอพูดในทำนองดูถูกดูแคลนประเทศเพื่อนบ้าน หรือการที่เรามักชอบทำตนเป็นพี่ใหญ่ ของประเทศเพื่อนบ้านเราเหล่านั้น แทนที่จะมองเพื่อนบ้านของเราอย่างประเทศที่เสมอกัน หรืออย่างคนที่เสมอกันมากกว่า


จริงๆ แล้วเราก็ไม่ควรหลงตนเอง หลงว่าเราดีกว่าเพื่อนบ้าน เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปมาก แต่ผลประโยชน์ก็ยังไม่ได้ตกถึงมือคนส่วนใหญ่ คนไทยส่วนใหญ่จึงยังยากจน ยังด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลงไปมาก สิ่งแวดล้อมก็มีปัญหามาก หนี้สินต่างประเทศก็มีไม่ใช่น้อย เศรษฐกิจไทยก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ยังไม่อาจจะเป็นอิสระจากการพึ่งต่างประเทศ แต่ยังคงต้องพึ่งต่างประเทศหนักทุกด้าน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร ปัญหาการบริหารเศรษฐกิจผิด ที่ปรากฏเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้เห็น

นอกจากนั้น ประเทศยังมีปัญหาทางสังคมเสื่อมทรุดหนัก กลายเป็นสังคมบูชาเงิน สังคมวัตถุนิยม ความล้มเหลวของระบบการศึกษา/ ระบบราชการ การขาดศีลธรรมและจริยธรรมหนัก ระบบพวกพ้อง และเกิดการคอร์รัปชั่นทุกระดับ ชีวิตผู้คนถูกมอมเมา ด้วยการพนัน/ การเก็งกำไร/ การแสวงหาความสำเร็จ และความร่ำรวยกันง่ายๆ ไปหมด การแพร่ระบาดของยาเสพย์ติด และสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด การเมืองก็ยังเป็นการเมืองที่ซื้อเสียง/ การเมืองที่ใช้เงิน (ยังห่างไกลจากการเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตย ในความหมายที่แท้จริง)

ภาพเหล่านี้ของประเทศไทย ได้ถูกฉายถูกถ่ายทอดออกไป ให้ได้เห็นให้ได้รับรู้ของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่รับสื่อต่างๆ จากประเทศไทยอย่างเต็มที่ ประเทศไทยกลายเป็นตัวอย่างอย่างดี สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ได้เรียนรู้ถึงแนวทาง และผลของการพัฒนา ดูเหมือนว่าเพื่อนบ้าน เขาจึงไม่ได้ชื่นชมอะไรเรานัก จึงไม่ได้คิดจะรีบเร่งพัฒนา ตามแบบอย่างประเทศไทย เพราะฉะนั้น การที่เราก็ไม่ได้พัฒนาประเทศของตนได้ดีอะไรนัก กว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ชอบเที่ยวไปให้คำแนะนำ หรือเสนอตัวให้ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็เพื่อประโยชน์ของเราเอง) จึงเป็นสิ่งที่พึงตระหนักเป็นอย่างยิ่ง (และเพราะความเป็นมาในประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็ไม่ได้เก่งน้อยกว่าไทย หรืออาจเก่งกว่าเสียอีกด้วย)

และสุดท้ายเมื่อมองเหตุปัจจัย ของการขาดความรู้ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน อันมาจากทั้งทางด้านของประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศไทยร่วมกันแล้ว น่าจะมาจากบาดแผล ที่ยังไม่จางหาย หรือลึกๆ แล้วก็ยังรู้สึกเจ็บปวด และมีความไม่ไว้วางใจในกันและกัน อันเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ ที่ต่างเคยเป็นศัตรูทำสงครามสู้รบกันมา และการเกิดกรณีพิพาทแย่งชิงดินแดนระหว่างกันมา (ที่ดูเหมือนประเทศไทย ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือฝ่ายพ่ายแพ้มากกว่าที่จะได้รับชัยชนะ เหนือประเทศเพื่อนบ้าน)

จึงตามมาด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศตน กันไปคนละทางในทางที่เข้าข้างตนเองของแต่ละฝ่าย ยังไม่กล้าเผชิญความจริงจึงยังไม่กล้าชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน เพื่อหาช่องทางที่จะช่วยเยียวยาความเจ็บปวด จากความรู้สึกที่ยังคงเป็นศัตรูกัน ให้ลดน้อยลง และจนหมดไปในที่สุด ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับผิวเผิน เป็นเพียงความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ ที่มีการค้า และการลงทุนระหว่างกันบ้าง

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง และสำหรับประเทศไทยเอง ก็เป็นการมองหาโอกาสที่จะได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติท ี่ยังอุดมสมบูรณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน (ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์น้ำ พลังงานจากธรรมชาติและวัตถุดิบอื่นๆ) และเพื่อใช้ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นตลาดระบายสินค้า และแหล่งขยายการลงทุนของประเทศไทย (จากหากินโดยการขยายตัวเชิงปริมาณภายในประเทศไม่ได้แล้ว)

นอกจากนั้นแล้วแม้จนในปัจจุบันเราและ ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีปัญหา อันเกิดจากการมีดินแดนที่ติดต่อกัน อันยาวเหยียดอยู่อีกมาก และยังแก้ไขปัญหากันไม่ได้ซึ่งนำมาสู่การมีความขัดแย้ง การไม่ลงรอยกัน หรือการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ ราบรื่นไม่ว่าจะเป็น (1) ปัญหาการปักปันเขตแดน ระหว่างกัน (2) ปัญหาที่พื้นที่ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะของพม่าที่ติดกับไทยเป็นแหล่งในการผลิตยาเสพย์ติด โดยเฉพาะยาบ้าแล้ว ถูกลักลอบขนถ่ายเข้าสู่ประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย และ (3) ปัญหาการเป็นแหล่งค้ามนุษย์ โสเภณี และแหล่งกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ เป็นต้น

แม้เรา และประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นชนชาติที่มี หน้าตาคล้ายคลึงกัน มีผู้คนของแต่ละประเทศ สามารถใช้ภาษาของแต่ละฝ่าย สื่อสารกันได้ และต่างมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราและประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในด้านความเชื่อ ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตที่ทำให้ความเป็นไป ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแตกต่างกัน จึงอาจเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง ของการขาดความรู้ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

เพราะฉะนั้น ความพยายามของรัฐบาลไทย หรือรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ และทำตัวเป็นผู้นำโดยใช้เรื่องเศรษฐกิจ/ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเรา และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ ไขปัญหาภายใน ของแต่ละฝ่ายเอง และปัญหาที่มีอยู่ร่วมกันทุกด้านดังกล่าวมา คงจะเป็นไปไม่ได้ง่ายดังหวัง ตราบใดที่เรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้าน ยังมืดมน หรือเป็นปัญหามาก และการขาดความจริงจังและ จริงใจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราเอง ที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชน และประเทศกันจริงๆ ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพียงการให้ได้อำนาจ และดำรงรักษาอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ หรือสถานะของชนชั้นผู้ปกครองของตนเองกันเท่านั้น จึงยังคงไม่รู้ว่าจะอีกยาวนานสักแค่ไหน หรือมันจะเกิดเป็นจริงได้หรือไม่ที่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองกันจริงๆ จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้

และโดยเฉพาะในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ พม่า กัมพูชา และลาว ตอนนี้ดูเหมือนว่าพม่า จะเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วง น่าหนักใจ สำหรับประเทศไทยมากที่สุด ในแง่ที่จะสร้างปัญหาให้แก่ไทย การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันให้เกิดขึ้น ความยากต่อการที่จะคาดการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในพม่าต่อไป และความยากลำบาก ในการที่จะสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นจุดเด่นสุดที่ทำให้ผู้คน และประเทศทั่วโลกยังต้องคอยให้กำลังใจ ให้ความหวัง และความสนใจพม่ากันต่อไปก็คือ การที่พม่ายังมีนางอ่อง ซาน ซู จี ผู้นำในการต่อสู้เพื่อให้พม่า กลับมามีประชาธิปไตยขึ้นอีก ซึ่งเมื่อระลึกถึงการอุทิศชีวิตของนางซู จีเพื่อต่อสู้เพื่อทำตนให้เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน และประเทศของตนเช่นนั้นแล้ว อันนับเป็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยการเสียสละอย่างกล้าหาญ ด้วยมือเปล่า กับรัฐบาลเผด็จการที่มีกองทัพ และอาวุธอยู่ในมืออย่างทรหดอดทน จึงไม่น่าแปลกใจหรือสมควรแล้วที่นางได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ


ข่าวของพม่าที่ออกสู่โลกภายนอกอาจกล่าวได้ว่ามันวนเวียนหรือซ้ำไปมาอยู่กับข่าวหลักๆ เพียงไม่กี่ข่าว ได้แก่ข่าวเกี่ยวกับนางออง ซาน ซู จี ในฐานะราษฎรพม่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในความรู้สึก และการยอมรับ ของประชาคมระหว่างประเทศ ข่าวการปะทะกันระหว่างผู้ที่สนับสนุนนางซู จี และ ผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ข่าวการจับกุมคุมขังนางซู จี และบรรดาผู้คนที่เคลื่อนไหวในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ข่าวที่ผู้นำ และรัฐบาลทหารพม่า ออกมาวิจารณ์โต้ตอบบรรดาผู้คน และประเทศโลกภายนอก ที่วิจารณ์กิจการภายในของพม่า ตลอดจนกดดันและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า

ข่าวที่พม่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพย์ติดสำคัญแหล่งหนึ่งและการเป็นศูนย์กลางการฟอกเงินจากยาเสพย์ติด ข่าวการสู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่า ข่าวแรงงานพม่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ข่าวการเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านการทำลายสิทธิและเสรีภาพของผู้คนมากมาย และข่าวท่าที บทบาทและนโยบายของอาเซียนบวกจีน และโดยเฉพาะของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยต่อพม่า เป็นต้น

ข่าวหลักๆ ของพม่าไม่กี่ข่าวที่วนเวียนหรือซ้ำไปมาออกสู่โลกภายนอกดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ของพม่า ในสายตาของผู้คนภายนอกออกมา เป็นต้นว่าการเป็นประเทศปิด หรือประเทศที่โดดเดี่ยวตนเองออกจากโลกภายนอก (แม้จนในปัจจุบันที่โลกอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ยุคสารสนเทศกันไปแล้ว) พม่าจึงมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัว อย่างของประเทศหนึ่งในโลกที่ยังหลงเหลือกันอยู่อีกไม่กี่ประเทศว่าเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบปิด (แม้ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ถึงกับปิดเต็มที่เลยทีเดียว เพราะยังมีการติดต่อทางเศรษฐกิจและทางด้านอื่นๆ กับต่างประเทศอยู่บ้าง)

นอกจากนี้แล้ว ยังมีภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศ ที่ยังมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร การปกครองที่ยังใช้กำลังใช้อาวุธเข้าปราบปรามประชาชนของตน ประเทศที่ประชาชนถูกปิดหูปิดตา หรือขาดเสรีภาพในการแสดงออกมาก ภาพลักษณ์ของการเป็นดินแดนแห่งยาเสพย์ติด ภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่ยังล้าหลัง/ ด้อยพัฒนา/ประชาชนยากจน และภาพลักษณ์ของการเป็นดินแดน ที่ยังขาดความปลอดภัย และลึกลับ หรือกล่าวโดยรวมๆ แล้วภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาของชาวโลก ก็ยังออกมาในทางลบมาก (อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาคนภายนอก กับความเป็นจริงในพม่า มันเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ?)

ภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาของคนภายนอกที่ออกมาดังกล่าว การติดต่อเกี่ยวข้องกับพม่าในทางเศรษฐกิจ หรือการเดินทางไปท่องเที่ยวพม่า จึงเกิดมีประเด็นปัญหา/ คำถามทางด้านศีลธรรมเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่คิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวพม่า จะต้องตัดสินใจ ฝ่ายแรกเห็นว่าการที่มีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยวพม่า ก็จะช่วยทำให้พม่ามีรายได้มากขึ้น และรายได้นี้จะตกไปสู่กระเป๋าของบรรดานายพลพม่า ที่อยู่ในรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่าอยู่ในเวลานี้ทั้งในทางตรง และทางอ้อม

ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าการกดดันพม่า หรือการคว่ำบาตรโดยไม่แนะนำให้ผู้คนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวพม่า หรือการพยายามโดดเดี่ยวพม่า น่าจะบังเกิดผลร้ายมากกว่า ตรงกันข้าม ถ้ามีผู้คนจากภายนอก เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพม่ากัน และทำให้นักท่องเที่ยวภายนอก และชาวพม่าได้มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกัน อาจช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในพม่า

จากข้างต้นของข่าวสารของพม่าที่ออกมาสู่โลกภายนอก ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นตามมาของพม่าในสายตาของคนภายนอก และผลกระทบบางประการที่ตามมาต่อพม่าดังกล่าวแล้ว ภายใต้สถานการณ์ของบ้านเมืองที่เป็นอยู่อย่างนั้นของพม่ามายาว นาน แล้วผู้คนพม่า (โดยเฉพาะที่ไม่ได้อพยพหลบหนี ออกจากบ้านเมืองของตนเองไปอยู่ประเทศอื่น) หรือคนพม่าโดยทั่วไป เขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง เขาอยู่รอดกันได้อย่างไรภายใต้สภาพบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ประกอบอาชีพทำมาหากินอะไรกันบ้าง มีชีวิตแค่อยู่รอดไปวันๆ หรือสามารถมีชีวิตที่ดีหรือร่ำรวยกันได้บ้างหรือไม่ หรือเขามีความทุกข์อะไรในชีวิต แล้วเขาแสวงหาทางออกหรือหาความสุขอะไรในชีวิตได้บ้างหรือไม่

ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยมีโอกาสไปเยือนพม่าเลย เพื่อให้ได้สัมผัสได้มีประสบการณ์ได้เห็นพม่าด้วยสายตาตนเอง เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวมาเหล่านั้น ที่มีโอกาสได้ไปเห็น หรือเหยียบลงบนแผ่นดินพม่า ก็เพียงแค่ตอนที่ไปเที่ยวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วก็เลยถือโอกาสเดินข้ามพรมแดนตรงแม่สายของฝั่งไทย ไปยังท่าขี้เหล็กในฝั่งพม่า แล้วก็เดินเที่ยวเล่นลึกเข้าไปในพม่าอีกเล็กน้อย

จึงได้เห็นหน้าตาประเทศพม่าและหน้าตาคนพม่า ตลอดจนได้เห็นสภาพบ้านเมือง และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวพม่าบ้างเล็กน้อย ที่พอจะพูดได้ว่า สภาพบ้านเมือง และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ยังดูไม่ดีนัก น่าจะยังยากจนกันอยู่มาก ดูผู้คนจะยากจนเท่าเทียมกันดี เพราะมองไม่เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ไม่เห็นความแตกต่างอะไรนักระหว่างคนพม่าเดินดิน และเจ้าของ กิจการร้านค้า/ธุรกิจ แต่ดูมีปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสะอาดของบ้านเมืองและผู้คน (เพราะประเทศ ยังขาดการพัฒนาอยู่อย่างมาก)

แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความด้อยพัฒนาทางกายภาพ/ ทางวัตถุดังกล่าว ก็ยังได้เห็นภาพที่ทำให้รู้สึกดี และทำให้เข้าใจคนพม่ามากขึ้น ก็คือได้เห็นภาพของชายชาวพม่าวัยผู้ใหญ่ (นุ่งกางเกง) และต่อมา ชายชาวพม่าวัยรุ่น (นุ่งโสร่ง) ที่แสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน หน้าตาที่บ่งบอกถึงความเคารพศรัทธา ความปลาบปลื้มใจ ขณะที่ถอดรองเท้า แล้วก้มลงกราบพระภิกษุกับพื้นฟุตบาทถนน (ที่ไม่ได้สะอาด และเต็มไปด้วยเศษดินและฝุ่น) ก่อนที่จะลุกขึ้นวางของ ใส่ลงในบาตรพระภิกษุพม่า ที่อยู่หัวแถวรูปนั้น (เข้าใจว่าเป็นพระที่อาวุโสสูงสุด) ของพระกว่า 30 รูปที่เดินตามหลังกันมาตามลำดับ

นอกจากนั้นแล้ว ผู้เขียนยังมีประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้สัมผัสกับแรงงานพม่าจำนวนมาก ที่ข้ามจากฝั่งพม่ามาทำงาน ที่แพปลาที่ระนอง (ในงานสำรวจภาคสนามของโครงการวิจัย เรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว) แรงงานพม่าที่ได้เห็นได้สัมผัสนั้น ดูอายุไม่มากนัก แต่ตัวโต แข็งแรง แข็งขัน มีชีวิตชีวามาก (แทนที่น่าจะหดหู่สิ้นหวัง เพราะความอับจน) และยังดูทรหดและเอาการ เอางานมาก (เมื่อเปรียบเทียบ กับแรงงานไทยในปัจจุบันที่ดูอ่อนล้า ไม่เอาจริงเอาจัง ชอบแต่งานสบาย ช่างเลือกงาน และมีทัศนคติต่องาน และการทำงานที่ไม่ค่อยดีนัก)

และผู้เขียนยังมีโอกาสได้สัมผัส และรู้จักคนพม่า/ นักศึกษาพม่าที่มีการศึกษาดีด้วย ในช่วงที่ผู้เขียน เคยเป็นผู้บรรยายวิชา Managerial Economics ของหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเคยมีนักศึกษาคนหนึ่งในชั้นเรียนนี้ของผู้เขียน เป็นคนพม่าที่หนีภัยการเมืองของประเทศ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย แล้วก็เลยมาเรียนหนังสือต่อในเมืองไทย ซึ่งได้ค้นพบว่านักศึกษาพม่านี้ มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีมาก มีความสามารถ ในการเรียนรู้ในการซึมซับ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นอย่างดี จนทำให้มีผลการเรียนการสอบที่ดีที่สุดในห้อง (ซึ่งมาตรฐานของนักศึกษาพม่านี้ ห่างจากนักศึกษาไทยมาก) ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงคนอังกฤษ ที่เคยปกครองพม่าว่า อาจได้ช่วยวางพื้นฐานการศึกษาที่ดีเอาไว้ให้ และทำให้นึกต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลทหารพม่าไม่ทำให้พม่าตกอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ พม่าน่าจะมีโอกาสสร้าง และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปไกลได้เลยทีเดียว

ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผู้เขียนได้เห็น และสัมผัสประเทศ และคนพม่าข้างต้นแม้อาจจะน้อย แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะไปสอดคล้อง กับสิ่งที่ได้รับจากการบอกเล่า ของคนใกล้ชิดที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนพม่า เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ในแง่ที่ได้พบเห็น เช่นเดียวกันว่า บ้านเมืองและผู้คนพม่ายังล้าหลัง/ ด้อยพัฒนาอยู่มาก (แม้ในย่างกุ้งเมืองหลวง จะมีรถแล่นเต็มถนน) คนทั่วไปก็ยังดูจะยากจนอยู่มาก จึงไม่ค่อยจะมีร้านอาหารและภัตตาคารดีๆ มากมาย สำหรับผู้คนออกไปกินข้าวนอกบ้าน อย่างในกรุงเทพฯของประเทศไทย แม้แต่โรงแรมที่พักที่เลือกระดับดีแล้ว ที่ภายนอกดูใช้ได้ แต่ภายในห้องพัก กลับขาดความสะอาดไปหมด และสิ่งอำนวยความสะดวกก็ใช้การไม่ได้ดีเลย (จึงมีคำเตือน ออกมาสำหรับคน ที่จะไปเที่ยวพม่าว่า อาจจะต้อง เตรียม/ ระมัดระวังในเรื่องอาหารการกิน และอุปกรณ์ ที่จะต้องใช้ในชีวิตส่วนตัวประจำวันไปด้วย)

นอกจากนั้นแล้ว ก็เช่นเดียวกัน ความประทับใจในบ้านเมือง และผู้คนพม่าก็จะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะเป็นบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยวัดและเจดีย์อันสวยงามมากมาย และภาพแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพม่า ที่มีต่อพระพุทธศาสนา ที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นผู้คนพม่าทั้งหญิง-ชาย-เด็ก และผู้ใหญ่ ต่างไปวัดเพื่อสวดมนต์ และสงบใจทั้งกลางวัน และกลางคืนกันอย่างคึกคักมาก สิ่งนี้น่าจะทำให้ชาวพม่า (ผู้ชายชาวพม่า) ที่คนไทยดูที่หน้าตาภายนอกแล้ว อาจรู้สึกหวาดกลัว (ว่าหน้าตาดูเป็นคนไม่ดี หรือหน้าตาเหมือนโจร/ผู้ร้าย) ไม่น่าไว้วางใจเอาเสียเลย

แต่จากปากคำบอกเล่าคำยืนยัน ของคนที่เคยไปพม่าที่เชื่อถือได้บอกว่า จริงๆ แล้วคนพม่าไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี หรือน่ากลัวตามหน้าตาภายนอก ที่ทำให้คนไทยรู้สึกกันไปเช่นนั้น แต่เขากลับ (ปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว) เรียบร้อย มีมารยาท ซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ และทำให้รู้สึกว่า ปลอดภัยเมื่ออยู่ในพม่า (รู้สึกปลอดภัยกว่า การใช้บริการรถแท็กซี่ของคนไทย หรือแม้แต่การใช้สะพานลอยข้ามถนน ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืนในกรุงเทพฯเสียอีก)


พม่านอกจากจะมีพรมแดนติดกับประเทศไทยโดยมีพรมแดนติดต่อกันยาวเหยียดถึงกว่า 2,000 กิโลเมตรแล้ว ยังมีพรมแดนติดกับประเทศลาว อินเดียและจีนด้วย โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ทางตอนเหนือ (จากพื้นที่ทั้งหมด 671,000 ตารางกิโลเมตร) และมีแม่น้ำอิระวดีไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดของพม่า (น่าจะเปรียบเทียบได้กับแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย)

สองฝั่งของแม่น้ำเป็นพื้นที่ที่มีประชากรพม่าตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยหนาแน่นมากที่สุด และยังเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญ 2 เมือง คือ เมืองหลวงย่างกุ้งและเมืองท่ามันทะเลย์ และลุ่มแม่น้ำอิระวดีก็เต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ จึงถือเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์หรือเป็นแหล่งอู่ข่าวอู่น้ำของพม่า (แหล่งปลูกข้าวสำคัญที่สุด)

ประชากรพม่าในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 47 ล้านคน ประกอบขึ้นด้วยคนหลายเชื้อชาติถึง 8 เชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นชาวพม่า นอกจากนั้นที่เหลือเป็นคนเชื้อชาติฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น มอญ ยะไข่ จีน อินเดียและอีก 135 ชนเผ่าหรือที่เรียกว่า "ชนกลุ่มน้อย"

โดยแม้จะมีภาษาที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่หรือเป็นภาษาหลักและภาษาทางการคือภาษาพม่า แต่ก็มีภาษาท้องถิ่นและภาษาภูมิภาคที่ใช้พูดกันทั่วพม่าเป็น 100 ภาษาเลยทีเดียว และประชาชนพม่าส่วนใหญ่ 88% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท นอกจากนั้นก็นับถือศาสนาคริสต์ 5% อิสลาม 4% และนับถือผี 3% พม่าจึงถือว่าเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติวัฒนธรรมอย่างมาก และมีการสู้รบทำสงครามทางเชื้อชาติกัน ไม่จบสิ้นเลย จึงถือว่าเป็นประเทศที่มีปัญหา การขาดความปรองดองของคนในชาติ มากที่สุดประเทศหนึ่ง

พม่าเคยรุ่งเรืองมากที่สุดในยุคสมัยอาณาจักรพุกาม ถือเป็นศูนย์กลางอารยธรรมแห่งแรกของพม่า ยุคนี้มีช่วงระยะเวลายาวนานถึงเกือบ 1,000 ปี เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม เพราะกษัตริย์พม่าในช่วงเวลานั้นต่างแข่งขันกันสร้างวัดและเจดีย์เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะยุครุ่งเรืองที่สุดคือรัชสมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช พุกามจึงถูกเรียกขานอีกอย่างว่าเป็นอาณาจักร แห่งพระเจดีย์สี่พันองค์ที่ยูเนสโกจดทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว (ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพม่า)

ชาวพม่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาในประพุทธศาสนามาก สิ่งนี้ได้ช่วยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และขัดเกลาจิตใจของชาวพม่า ที่แม้ชีวิตจะขาดแคลนสิทธิ และเสรีภาพและมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ยากจน แต่ก็ไม่ยากจน หรือขาดความเป็นคน โดยเฉพาะคนที่มีมารยาท และความซื่อสัตย์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกดีและปลอดภัยเมื่ออยู่ในพม่า (นี่ดูเหมือนจะเป็นความรู้สึก/ความคิดเห็นทำนองเดียวกันของคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือเพื่อกิจการงานในพม่า)

หลังยุครุ่งเรืองของพม่าผ่านไปแล้ว ต่อมาในปี 1886 อังกฤษสามารถเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งประเทศ แล้วได้ปกครองพม่า ในฐานะเมืองขึ้นผ่านทางให้เป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่าก็ได้ช่วยวางโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาประเทศ ที่ทำให้พม่า กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลกมาแล้ว

ต่อมานับตั้งแต่ประมาณปี 1930 คนพม่านำโดยนายออง ซาน (บิดาของนางอ่อง ซาน ซู จี) ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่พม่า และ (ต่อมาญี่ปุ่นก็พยายามจะเข้ายึดครองพม่าจากอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ในที่สุดอังกฤษได้ให้เอกราชแก่พม่าในปี 1948 และนายออง ซานได้รับการยกย่องเป็น "วีรบุรุษ" ในการเรียกร้องเอกราชให้แก่พม่า

หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว พม่าก็มีรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นบริหารปกครองประเทศ นำโดยนายอูนุ รัฐบาลพลเรือนนี้ปกครองประเทศอยู่ได้ไม่นานก็เกิดมีปัญหาขึ้น ทำให้พวกทหารฝ่ายซ้าย ที่นำโดยนายพลเนวิน ทำรัฐประหารเข้ายึดครองอำนาจในการปกครองประเทศ จากรัฐบาลพลเรือนในปี 1962 นายพลเนวินซึ่งถูกกล่าวถึงว่า เป็นคอมมิวนิสต์หัวก้าวหน้า ก็ขึ้นเป็นผู้นำประเทศของรัฐบาลทหารพม่า และเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม/ ระบอบคอมมิวนิสต์ และโดดเดี่ยวประเทศออกจากโลกภายนอก

ตลอดระยะเวลา 25 ปีของการนำประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม/ระบบเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ (และระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร) เศรษฐกิจของพม่าแตกพังทลายลงเป็นเสี่ยงๆ จนในที่สุดในปี 1987 และ 1988 ประชาชนพม่าก็ตัดสินได้ว่าพวกเขาเผชิญกับชีวิตเศรษฐกิจที่ยากลำบากเพียงพอแล้ว จึงเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ขึ้นในพม่า ซึ่งนำโดยนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้นายพลเนวินลาออก และเกิดการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่ ระหว่างผู้คนที่สนับสนุนประชาธิปไตย และกองทัพ มีผลทำให้นักศึกษาประชาชนต้องตายถึง 3,000 คนเพียงใน 6 สัปดาห์ ในที่สุดนายพลเนวินก็ลงจากอำนาจ แล้วก็มีทหารกลุ่มใหม่ (เข้าใจกันว่าหนุนโดยนายพลเนวิน) ที่เรียกตนเองว่า "สภาฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ" (SLOC) (และ 10 ปีต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (SPDC) ขึ้นเป็นรัฐบาลทหารปกครองพม่าจนถึงทุกวันนี้

หลังจากปราบปรามและสังหารนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า "เหตุการณ์ 8888" (เหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ของปี 1988) สภาทหารที่ปกครองพม่าดังกล่าวได้ให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติในปี 1989 ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลทหารพม่าได้รวมตัวกันตั้งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นชื่อ "พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย" (The National League for Democracy หรือ NLD) โดยอยู่ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี (ลูกสาวของนายออง ซาน วีรบุรุษเรียกร้องเอกราชให้แก่พม่า) ในฐานะประธานพรรค

แต่ก่อนถึงวันเลือกตั้ง รัฐบาลทหารพม่ากลับกักขังนางซู จีไว้ในบริเวณบ้านพักของนางเองเพื่อไม่ให้ออกไปหาเสียงได้ แต่ผลการเลือกตั้ง (ที่เกิดขึ้นในปี 1990) ปรากฏว่าคนพม่าได้เทคะแนนเสียงส่วนใหญ่ (กว่า 60%) ให้แก่ผู้สมัครจากพรรค เอ็นแอลดีของนาง แต่สภาทหารที่ปกครองของพม่า กลับล้มกระดานผลการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลทำนองว่า คนพม่ายังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง (ตามระบอบประชาธิปไตย) นับจากนั้นมารัฐบาลทหารพม่า ก็ยังใด้แสดงท่าที่ครั้งแล้วครั้งเล่าอีก ที่จะนำพม่าไปสู่การมีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้วยังไม่เคยมีขั้นตอนอะไรจริงๆ ที่จะเดินไปสู่ทิศทางนั้น

ในระหว่างที่นางซู จีถูกกักไว้ในบริเวณบ้านของตนเอง นางได้รับรางวัลสันติภาพระหว่างประเทศมากมายรวมทั้งการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 ซึ่งนางถูกกักบริเวณมาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 15 ปีแล้ว (จากวัยกลางคนจนมามีอายุ 58 ปีในปัจจุบัน) เธอยังเป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าต่อไปจนถึงทุกวันนี้

ล่าสุดเมื่อมีการคุยกันที่เกิดขึ้นอย่างลับๆ ระหว่างนางซู จี และรัฐบาลทหารพม่าผ่านทางผู้ทำ ความตกลงของสหประชาชาติ รัฐบาลทหารพม่าได้ปล่อยตัวนางจากการถูกกักตัวไว้ในบริเวณบ้านในเดือนพฤษภาคม 2002 โดยเธอมีเสรีภาพที่จะดำเนินกิจกรรมได้ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเริ่มต้นทำความตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับการที่พม่าควรจะถูกบริหารปกครองกันไปอย่างไร ซึ่งนางซู จี ได้แสดงออกถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศของนางอีกครั้งแม้ว่ามันจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ อีกเท่าไหร่

หลังจากที่นางซู จีได้รับการปลดปล่อย นางจึงถือโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเยี่ยมเยียน และกล่าวปราศรัย กับบรรดาผู้คนที่ให้การสนับสนุนนาง และพรรคของนาง ซึ่งปรากฏว่าดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาฟังเธอได้อย่างมากมาย แต่แล้วเพื่อที่จะเริ่มบ่อนทำลายการทัวร์ทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จของนางซู จี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2003 ที่ผ่านมาก็เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนนางซู จีและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า จนมีผลทำให้มีผู้คนล้มตายและบาดเจ็บกันมาก และตัวนางซู จีถูกจับไปไว้ยังสถานที่ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยและจากนั้นก็ถูกนำมากักไว้ในบริเวณบ้านของนางที่ย่างกุ้งอีกครั้ง

นางซู จี จะไม่ยอมรับการปล่อยตัวจนกว่าสมาชิกทั้งหมดที่ถูกจับกุมตัวพร้อมนางเมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมาจะได้รับการปล่อยตัวด้วย ซึ่งนายปินเฮโร - ทูตสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติคือได้เรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัวนางรวมทั้งประชาชนอีก 35 คนที่ถูกจับติดคุกข้อหามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นองเลือดข้างต้น (ขณะที่ 101 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว) และมีสมาชิกอาวุโสของพรรคเอ็นแอลดีอีก 8 คนที่ยังคงถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักด้วย ตลอดจนเขายังได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองราว 1,300 คนในพม่าโดยไม่มีเงื่อนไขด้วย เพราะส่วนใหญ่อยู่ในวัยชราและกำลังป่วยและถูกจำคุกมานานถึง 15 ปีแล้ว


ประเทศพม่าซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมากว่า 40 ปีแล้ว บรรดานายพลที่เป็นผู้นำในรัฐบาลทหารพม่าไม่เพียงแต่ยังจองจำนักโทษทางการเมืองเป็นพันๆ คนดังกล่าวมาแล้ว พวกเขายังหันกลับประเทศของตนไปสู่การเป็นสถานที่ที่ซึ่งความยืดยาวของชีวิต (life expectancy) ของผู้คนพังทลายลงไปสู่ระดับอายุเฉลี่ยเหลือเพียง 55 ปี และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมลายหายไปสิ้น นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกจัดอันดับความมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของพม่าอยู่ที่อันดับ 190 ของ 191 ประเทศ

ประเทศสำคัญมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ หรือผลิตภัณฑ์สำคัญของพม่า ได้แก่ ไม้สัก ข้าว ปอกระเจา และต้นฝิ่น ผิดกฎหมายและหุ้นส่วนทางการค้า/การลงทุนสำคัญของพม่าคือ สิงคโปร์ ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย และรายได้เฉลี่ยต่อหัว/ต่อปีของประชาชนพม่าคือ 1,500 เหรียญสหรัฐ

ผู้คนภายนอกพม่าต่างได้ช่วยกันแสดงออกถึงความปรารถนาและมีความพยายามดำเนินการกันมาเป็นเวลานานแล้ว (อาจกล่าวได้ว่านานเท่าที่พม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมากว่า 40 ปีแล้ว หรือโดยเฉพาะในช่วงที่นางซู จี ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านของตนเองมากว่า 15 ปีแล้ว) เพื่อให้มีการปล่อยตัวนางซู จี ให้เป็นอิสระ และให้นางมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ได้ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน รวมทั้งให้ปล่อยตัวและให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่บรรดาสมาชิกของพรรคเอ็นแอลดีของนาง และบรรดานักโทษทางการเมืองอีกมากที่ยังถูกจำคุกดังกล่าวมาแล้ว และเพื่อให้ประชาธิปไตยในพม่ากลับคืนมา แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่บังเกิดผลแต่ประการใด

ตัวนาง ซู จี และพรรคเอ็นแอลดีได้เรียกร้องต่อประชาคมระหว่างประเทศให้กดดัน/คว่ำบาตรในการเดินทางเข้าไปในพม่า จนกว่านักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 ได้รับอนุญาตให้รวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย เข้าบริหารปกครองประเทศแทนรัฐบาลทหารพม่า ตามที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งท่วมท้น จากประชาชนอย่างถูกต้องชอบธรรมมาก่อนหน้านี้แล้ว (แม้ขณะเดียว กันจะมีนักกิจกรรมที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาก มายภายในพม่าเองโต้แย้งว่าการคว่ำบาตรเช่นนั้นอาจจะส่งผลในทางร้าย แต่การพัฒนาเศรษฐกิจสามารถนำไปสู่ความมีเสรีภาพทางการเมือง)

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีทัศนคติอย่างแข็งขัน หรืออย่างเอาการเอางานมากต่อกรณีพม่ามาจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะมาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดที่ได้ออกมาตรการอย่างเข้มเอากับผู้ปกครองทหารของพม่า เป็นต้นว่ามาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับพม่า โดยการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากพม่า อันส่งผลหนักให้โรงงานสิ่งทอของพม่า ต้องปิดตัวลง ทำให้มีคนต้องตกงาน 30,000-40,000 คน รวมถึงหญิงสาวหลายคน ที่ต้องหันไปค้าบริการทางเพศ (แต่ฝ่ายอเมริกาก็ยังออกมาปกป้องมาตรการนี้ของตน เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จะส่งผลดีต่อคนพม่าในระยะยาว แม้ตอนนี้อาจโชคร้ายที่มีคนต้องตกงาน จนต้องหนีไปทำงานอย่างอื่น รวมทั้งการขายบริการทางเพศ) และกระทรวงการคลังสหรัฐ ยังดำเนินการตัดชื่อพม่า ออกจากระบบการเงินของประเทศตนอีกด้วย ด้วยเหตุผลว่า ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้เป็นศูนย์กลางการฟอกเงิน (ธนาคารพม่าพัวพันการค้ายาเสพย์ติด)

ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านั้นก็เห็นว่า การคว่ำบาตร หรือการโดดเดี่ยวพม่าเช่นนั้น ก็มีเพียงเพื่อนบ้านในอาเซียน และจีนที่จะทำให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ต่อพม่าได้จริง แต่เพื่อนบ้านในอาเซียนของพม่า รวมทั้งจีนก็ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรพม่าทางเศรษฐกิจเช่นนั้นจะ "ไม่ช่วย" ให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างเดียว กันดังกล่าวมาข้างต้นของทุกฝ่ายได้

บรรดาผู้นำในรัฐบาลทหารพม่า จึงยังคงมีความสุขกับความสัมพันธ์อย่างรักใคร่กันดีกับบรรดาเพื่อนสมาชิก ในสมาคมประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกัน ที่ต่างมี "นโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน" ซึ่งพม่าได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1997 และในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ถึงคราวที่พม่าจะได้ขึ้นเป็นประธานของอาเซียน (ซึ่งทำให้นายโคฟี่ อานัน เลขาธิการสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้พม่ามีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าปัจจุบันก่อนก้าวสู้ตำแหน่งนี้)

ในทรรศนะของผู้เขียนไม่รู้สึกแปลกใจอะไรนัก ว่าทำไมสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป จึงมีมาตรการกดดัน หรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น หรือเอาการเอางานต่อพม่าดังกล่าวมาข้างต้น เพราะแน่นอนว่า จะไม่ใช่แต่สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่จะเป็นทุกคนทุกประเทศที่เป็นผู้เจริญแล้ว หรือเป็นประเทศที่เจริญแล้ว

โดยเฉพาะถ้าอยู่ในฐานะหรือตำแหน่งที่จะทำอะไรได้ก็มีแนวโน้มที่จะกระทำ หรือแสดงออกในทำนองเดียวกัน หรือไม่แตกต่างกันหรือสอด คล้องกันเช่นนั้น ซึ่งเป็นการแสดงออก หรือการกระทำที่สอดคล้องกับพื้นฐานความเชื่อ หรือค่านิยมในชีวิตที่ยึดถือเหมือนกัน ในการให้ความหมาย ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงย่อมต้องการเห็นการปล่อยตัว นางอ่อง ซาน ซู จี และการมีประชาธิปไตยขึ้นในพม่า และจึงเห็นควรต้องกดดันรัฐบาลทหารพม่าที่ทำลายสิ่งดีงามของมนุษยชาติเหล่านี้

และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรนักกับการที่อาเซียนและจีนไม่เพียงแต่ปฏิเสธที่จะใช้มาตรการกดดัน หรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า เช่นเดียวกันนั้น แต่ยังคงดำรงการติดต่อ และเกี่ยวข้องสัมพันธ์อันดี และดูเหมือนจะมากขึ้น กับบรรดาผู้นำของรัฐบาลทหารพม่า (ปรากฏชัดเจนในกรณีของประเทศไทย ในรัฐบาลทักษิณปัจจุบัน) การแสดงออกและการกระทำที่ออกมาเช่นนี้ก็พอจะเข้าใจได้

เพราะบรรดาประเทศในเอเชียเหล่านี้ (โดยเฉพาะในระดับชนชั้นผู้นำประเทศ) มีความเชื่อ ค่านิยมและวัฒนธรรม ที่ยึดถือที่แตกต่างออกไป หรือเพราะล้วนยังมีปัญหา หรือขาดตกบกพร่อง ในเรื่องการขาดการให้ความหมายความสำคัญ ขาดการเคารพหรือมักชอบกระทำในทางทำลายในเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และอำนาจอธิปไตยของประชาชน ในประเทศของตนเอง ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ขนาดดีกรีมากน้อยแตกต่างกันออกไปบ้าง (และต่างเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่า รวมทั้งประเทศไทย และครอบครัวของผู้นำไทย)

เป็นต้นว่า อินโดนีเซียก็ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารมายาวนาน และมีปัญหาด้านทำ ลายสิทธิมนุษยชนมาก หลายประเทศที่ยังมีระบอบการปกครองที่ผู้ปกครอง/รัฐมีอำนาจเป็นใหญ่เหนือประชาชน (ประเทศคอมมิวนิสต์จีน ลาว และเวียดนามหรือมีระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ เช่น บรูไน) หรือหลายประเทศแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลแบบประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อแท้/ตามความเป็นจริงๆ แล้วก็ยังมีคำถาม หรือข้อกังขาอีกมากในเง่เป็นต้นว่า การเป็นประชาธิปไตยแต่ในนามการเป็นประชาธิปไตยที่มีอำนาจกองทัพหนุนหลัง

ประชาธิปไตยแบบพวกพ้องที่มีการสืบ ทอดอำนาจ ระหว่างพวกพ้องกันเอง ประชาธิปไตยที่ได้อำนาจมาโดยการซื้อเสียง/ ใช้เงิน หรือเป็นประชาธิปไตย แต่โครงกระดูกแต่ขาดเลือดเนื้อหรือจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง (มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และประเทศไทย)


สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่เข้มข้นของประเทศในเอเชีย มีอิทธิพลอย่างสูงที่บังคับให้คนเอเชีย เป็นคนมีบุคลิกภาพแบบผู้ตาม (dependent character) มักไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ ต้องมีชีวิตเป็นไปตามระเบียบ ตามแบบแผนประเพณีที่ผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นและสร้างขึ้น หรือตามหลักศาสนาหรือลัทธิความเชื่อที่นับถือ เช่น คนญี่ปุ่น คนเกาหลีและคนจีน ก็เชื่อในลัทธิขงจื้อ/ลัทธิเต๋า (confucius) ที่สอนให้คนประพฤติปฏิบัติตน เป็นคนดีเพื่อสืบทอดบรรพบุรุษ (อันเป็นที่ มาของระบบครอบครัว ระบบพวกพ้องของคนเอเชีย)

หรือประเทศไทยก็ใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือของการปกครอง เพื่อควบคุมความประพฤติของผู้คน ให้ประพฤติตน อยู่ในกรอบของหลักศาสนา ให้อยู่ในโอวาทในความสงบเรียบร้อย ให้ยอมรับชะตากรรมชีวิตของตนเองแต่โดยดี ไม่ให้มีปากมีเสียง ไม่ให้ก่อความวุ่นวาย หรือเช่นเดียวกันใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสอนคนให้เป็นคนว่านอนสอน ง่าย ให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจและผู้อยู่ในตำแหน่ง (ที่ไปทำลายความคิดของตนเอง ความคิดริเริ่ม และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก/ ผู้คน จนทำ ให้กลายเป็นคนคิดเองไม่เป็น คิดไม่ได้กว้างไกล คิดไม่ได้ลึกซึ้ง เรียนรู้ไม่ได้ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศถูกทำลายไปหมด)

ปัญหาการมีบุคลิกภาพแบบผู้ตามของคนเอเชีย มันจึงไปทำลายระบบความรู้สึกนึกคิดข้างในตนเองของผู้คน ทำให้เป็นคนไม่มีสิ่งที่ยึด (sense of value) ที่กำหนดจากข้างในของตนเอง แต่จะต้องยึดตามคนอื่น ยึดตามผู้มีอำนาจดังกล่าว ทำให้กลายเป็นคนไม่พอตัว เป็นคนรู้สึกขาด รู้สึกว่าทุกอย่างขาดแคลนต้องแก่งแย่งกัน (scarcity mentality) ตามมาด้วยการเป็นคนมีปัญหาทางใจ คือ ปัญหาความต้องการความสำเร็จส่วนตัวสูง และปัญหาความต้องการอำนาจมาก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่นของสังคม (เพราะยึดถือตนเองไม่ได้ เคารพตนเองไม่ได้) คนเอเชีย จึงเป็นคนประเภทนิยมอำนาจ หรือมีบุคลิกภาพแบบเผด็จการ (autocratic) มากกว่าจะเป็นคนประเภทมีจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตย หรือบุคลิกภาพแบบนักประชาธิปไตย (ระบอบการปกครองโดยคนเสมอกัน)

นอกจากนั้นแล้วโดยวัฒนธรรมเอเชีย ผู้หญิงมักจะได้รับการปฏิบัติหรือมีฐานะที่ต่ำ ต้อยกว่าผู้ชายมาก เพราะเป็นวัฒนธรรม ที่ให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ให้ผู้หญิงเป็นผู้ตามหรือเป็นช้างเท้าหลัง (ประเทศที่นับถือลัทธิขงจื้อ/ ลัทธิเต๋า ศาสนาฮินดูและ ศาสนาพุทธ) จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะมีโอกาสได้เลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งงานสูงๆ เช่น ตำแหน่งงานสูงสุดขององค์กรทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน

และยิ่งยากมากขึ้นหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงในประเทศเอเชียจะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในฐานะผู้นำประเทศ (ยกเว้นในบางประเทศ เช่น ประเทศที่มีศาสนาที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือ (popular religion) เป็นศาสนาที่มีพระเจ้า เช่น คนฟิลิปปินส์ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกจึงอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้ ตัวอย่างนางคอราซอน อะคีโน และนางอาโรโยในปัจจุบัน และคนอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิม (ที่ศาสนาอิสลามก็มีพระเจ้าเช่นเดียวกัน) จึงมีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงได้คือนางเมกาวตีในปัจจุบัน เป็นต้น)

เพราะฉะนั้นแทนที่นางอ่อง ซาน ซู จี ประธานพรรคเอ็นแอลดี (พรรคฝ่ายค้านที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า) และผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนสู่พม่าน่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และนางได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศพม่าไปตั้งแต่ปี 1990 แล้ว เพราะสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของนางได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐบาลทหารพม่าล้มกระดานผลการเลือกตั้ง แล้วก็ยึดเอาอำนาจการปกครองประชาชนและประเทศพม่าโดยใช้กำลังต่อมาจนถึงปัจจุบัน) และนางอ่อง ซาน ซู จี จึงน่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบนักหรือแม้แต่อาจจะเป็นที่อิจฉาของผู้นำในเอเชียได้ เพราะการเป็นคนที่มีความเชื่อ ความคิดและการกระทำหรือมีบุคลิกภาพที่แตกต่างออกไปจากผู้นำเหล่านี้

โดยเฉพาะการที่นางอ่อง ซาน ซู จี เป็นผู้หญิง ซึ่งความเป็นผู้หญิงก็ทำให้มีความพิเศษหรือความโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก และนอกจากนั้นแล้วนางยังมีบุคลิกภาพของผู้นำที่โดดเด่นมาก (อาจเหนือผู้นำทุกประเทศในเอเชียในปัจจุบันก็ว่าได้) เป็นบุคลิกภาพของคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอ่าน ที่ก้าวหน้า (ซึ่งขัดกับบุคลิกภาพแบบผู้ตามของคนเอเชียเป็นส่วนใหญ่ดังกล่าว) มีสิ่งที่ยึดของตนเองและประพฤติปฏิบัติตนตามสิ่งที่ยึดอย่างคงเส้นคงวา มีจิตใจดีและจิตใจที่เข้มแข็งมาก ยอมอุทิศยอมเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นนักสู้ เป็นคนที่เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ อดทน สงบ นิ่ง กล้าเผชิญทุกสถานการณ์อย่างสันติวิธี และเป็นผู้มีสติปัญญาในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสุภาพสตรีมาก

บุคลิกภาพความเป็นผู้นำและความเป็นสุภาพสตรีผู้ยิ่งใหญ่ของนางอ่อง ซาน ซู จี จึงสามารถดึงดูดจิตใจของคนพม่าและดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจพม่าและให้การ สนับสนุนนาง ซึ่งเมื่อดูผู้นำในประเทศโลกตะวันออกคนนี้แล้ว ดูไม่ได้ด้อยกว่าหรือทัดเทียมกับผู้นำของประเทศในโลกตะวันตกได้อย่างไม่อายเลย ทีเดียวหรือทำให้นึกเปรียบเทียบไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ หญิงเหล็กแห่งเกาะอังกฤษเลยทีเดียว จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจแทนชาวพม่า เพราะแม้ว่าสภาพบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่าจนถึงเวลานี้ยังดูเหมือนอนาคตมืดมน แต่อย่างน้อยคนพม่าและประเทศพม่าก็มีมนุษย์ที่ดีมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งอย่างนางอ่อง ซาน ซู จี เป็นจุดประกายที่น่าจะนำแสงสว่างแห่งอนาคตที่ดีมาสู่ประชาชนพม่าและประเทศพม่าได้ในที่สุด

เห็นด้วยกับอดีตผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์) ที่เคยให้ความเห็นผ่านสื่อเอาไว้ในทำนองว่า "ปัญหาในประเทศพม่าไม่ใช่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นต้องเข้าไปแก้ไข แต่เป็นปัญหาภายในที่คนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่าจะต้องแก้ไขปัญหาต้องจัดการปัญหากันเองให้ได้" และผู้เขียนมองเห็นว่าน่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้ แต่เป็นเรื่องหรือถึงเวลาแล้วที่ผู้นำและรัฐบาลทหารของพม่าควรจะถอนตัว ควรจะถอยออกมาหรือควรจะลงจากอำนาจกันได้แล้ว (เพราะได้ทำลายโอกาสในการพัฒนาของคนพม่า และประเทศพม่ามานานแล้ว) ควรจะเริ่มต้นจากการปล่อยตัว นางอ่อง ซาน ซู จี จากการกักตัวไว้ในบริเวณบ้านพักและให้มีอิสรภาพที่จะดำเนินกิจกรรมทุกอย่างได้ รวมทั้งการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ที่ยังคงถูกจับกุมคุมขังไว้ในคุก และการเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยกลับคืนสู่พม่า และให้มีรัฐบาลพลเรือน/ รัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ของประชาชนขึ้นมาบริหาร และปกครองประเทศแทน

น่าจะเป็นแนวทางของการนำประเทศพม่าไปสู่การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวเท่านั้น ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ปัญหาทุกปัญหาภายในของพม่าเองและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพรมแดนไทยและพม่าได้เริ่มต้นได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ในทรรศนะของผู้เขียน จึงมองไม่เห็นความหมาย หรือมองไม่เห็นค่า หรือประโยชน์อันใดของท่าทีและนโยบายของอาเซียน และจีนรวมทั้งประเทศไทยต่อพม่า (นโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน การไม่ทำอะไร ที่จะเป็นการกดดันรัฐบาลทหารพม่า การแสดงออกถึงการมีความสัมพันธ์อันดี กับผู้นำและรัฐบาลทหารพม่า และการมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ กับผู้นำของรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้นโดยเฉพาะของผู้นำของรัฐบาลไทย)

ดูเหมือนจะมีแต่มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มีความพยายามอย่างสม่ำเสมอ มากที่สุดที่จะทำให้เกิดความมั่นคงว่าจะมีการปล่อยตัวนางซู จีให้เป็นอิสระและเห็นว่าถ้าพม่าทำ ให้ภาพลักษณ์ของอาเซียนตกต่ำก็อาจจะต้องให้พม่าออกจากการเป็นสมาชิกของอาเซียนไปก่อนเสียเลย

และผู้เขียนก็เห็นว่า ผู้คนและประเทศนอกพม่าที่มีความปรารถนาและมีความจริงใจที่อยากเห็นนางอ่อง ซาน ซู จี ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระและมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของนาง และอยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่าจริงเพื่อประโยชน์ของประชาชนพม่าและประเทศพม่าโดยส่วนรวม (ในฐานะที่มนุษย์ต่างเป็นพี่น้องร่วมโลกเดียวกัน)

ก็น่าที่จะรู้จะเข้าใจได้ว่า (แม้จะไม่กดดันหรือจะไม่คว่ำบาตรพม่า) ควรจะเลือกแสดงออกที่จะให้ การสนับสนุนส่งเสริมแก่ฝ่ายใดในพม่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและดีงามกว่า (เพราะในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยเห็นผู้ปกครอง/รัฐบาลเผด็จการที่ ไหนยอมลงจากอำนาจเอง ถ้าไม่โดยการถูกโค่นล้มลงโดยประชาชนจำนวนมาก ที่รักความเป็นธรรมรักประชาธิปไตย ที่ต้องยอมเอาชีวิตและเลือดเนื้อเข้าแลกเพื่อให้ได้มา)

เครื่องมือส่วนตัว