สิงคโปร์เสือเศรษฐกิจของเอเชีย

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Schaweew (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'สิงคโปร์ : เสือเศรษฐกิจของเอเชีย คอลัมน์ บทความเศ…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:20, 12 พฤษภาคม 2554

สิงคโปร์ : เสือเศรษฐกิจของเอเชีย คอลัมน์ บทความเศรษฐกิจสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสไปเยือนสิงคโปร์ครั้งแรก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ไม่ได้ห่างไกลจากประเทศไทยเลย เพียงแค่ระยะเดินทางโดยเครื่องบิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ก็จะติดตามข่าวคราวและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะด้านความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาเป็นลำดับผ่านทางสื่อต่างๆ และจากปากคำบอกเล่าของผู้คนที่เดินทางไปทำงาน ไปท่องเที่ยวและช็อปปิ้งที่สิงคโปร์กันเป็นประจำ

การได้ไปสัมผัสไปเห็นสิงคโปร์ด้วยตาตนเองในครั้งนี้ ทำให้เกิดความประทับใจ จนอดที่จะเขียนออกมาเป็นบทความ ในฉบับนี้ไม่ได้ เพราะได้เห็นในสิ่งที่อยากเห็นอยากให้มีให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย แต่ไม่เคยได้เห็นเลย แต่กลับไปได้เห็นในประเทศสิงคโปร์ และหลายสิ่งหลายอย่างเช่นเดียวกับที่เห็นในประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปหรืออเมริกา จึงเกิดคำถามขึ้นมาในใจทันทีว่า "หรือสิงคโปร์กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (developed coun try) ?"

ทั้งๆ ที่สิงคโปร์เป็นเพียงประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่ไม่เท่าไหร่และมีประชากรในปัจจุบัน 3.5 ล้านคน (ทำให้เป็นประเทศที่มีประชากรอยู่กันหนาแน่นมากที่สุดในเอเชีย เพราะพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดมากดังกล่าว) เคยเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียและอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน และสถาปนาขึ้นเป็นประเทศเอกราชเมื่อ พ.ศ.2508 (หรือปี 1965) และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ใช้เวลาเพียง 3 ทศวรรษหลังจากสถาปนาขึ้นเป็นประเทศสิงคโปร์ ก็เปลี่ยนจากประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียกลายมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด

ดัชนีทางเศรษฐกิจที่มีการเผยแพร่ออกมาชี้ให้เห็นถึงฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจมาก เป็นต้นว่าหลังสถาปนาเป็นประเทศแล้ว เศรษฐกิจของสิงคโปร์มีการขยายตัวโดยเฉลี่ยในอัตราสูงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ย 8% ต่อปี ประกอบกับนโยบายการออมโดยบังคับของรัฐบาล ทำให้เป็นประเทศที่มีเงินออมสะสมเอาไว้มากที่สุด (จึงกลายเป็นประเทศที่ส่งเงินไปลงทุนในประเทศต่างๆ ในเอเชียมาก และนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 แทนที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยสนใจลงทุนในสถาบันการเงิน ธุรกิจพลังงานและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)

จากตัวเลขในปี 2000 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนสิงคโปร์เป็น 32,810 เหรียญสหรัฐ (เทียบกับของสหรัฐ 29,080 เหรียญสหรัฐ, ญี่ปุ่น 38,160 เหรียญสหรัฐ, สวิส 43,060 เหรียญสหรัฐ, เกาหลีใต้ 10,550 เหรียญสหรัฐ, มาเลเซีย 4,530 เหรียญสหรัฐ และไทย 2,740 เหรียญสหรัฐ)

นอกจากนั้นจากการสำรวจของสถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ในอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความโปร่งใส/มีธรรมาภิบาลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ 4 ของโลกจากจำนวน 70 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ (โดยอันดับ 1 เป็นสหรัฐ อันดับ 2 ฟินแลนด์ และอันดับ 3 เป็นไต้หวัน และส่วนไทยอยู่ในอันดับ 31) และนอกจากนั้นแล้วยังถูกจัดอยู่ในอันดับต้นในด้านการพัฒนาคนและยังด้านอื่นๆ อีก

แม้จะไม่ดูจากดัชนีทางเศรษฐกิจที่ชี้ถึงฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจอันน่าประทับใจของสิงคโปร์ข้างต้น เพียงดูจากผลงานที่ปรากฏออกมาให้เห็นหรือจากสิ่งต่างๆ ภายนอกที่สามารถสัมผัสเห็นได้ด้วยตนเองของผู้มาเยือน ก็พอเพียงที่จะบอกได้ว่าผู้นำ/รัฐบาลสิงคโปร์และคนสิงคโปร์ทำเป็น มีฝีมือหรือมีความสามารถในการสร้างและพัฒนาประเทศของเขากันขนาดไหน

มองดูนับตั้งแต่ท่าอากาศยานแห่งชาติสิงคโปร์ บริการแท็กซี่/คนขับแท็กซี่ ถนนและสองข้างทางถนนเข้าสู่ในตัวเมือง หรือมหานครสิงคโปร์ แม่น้ำและท่าเรือสิงคโปร์ ตึกรามบ้านช่อง สวนสาธารณะอันกว้างและร่มรื่นในเมือง ถนนที่ไม่กว้าง และรถก็ไม่ติดแต่แล่นไปได้เรื่อยๆ และไม่มีมลพิษทางอากาศมากอย่างกรุงเทพฯและอากาศที่ไม่ร้อนแต่ชุ่มชื้นมาก ทำให้มีบรรยากาศคล้ายกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ (หวนให้นึกถึงผู้ปกครองอังกฤษเก่าของสิงคโปร์ ที่อาจเป็นผู้ออกแบบไว้ให้) ย่านศูนย์กลางการเงิน ย่านธุรกิจ ย่านการค้า/การพาณิชย์ ศูนย์กลางช็อปปิ้งที่เต็มไปด้วยสินค้า แบรนด์เนมของโลกทั้งนั้น ขนส่งมวลชนทั้งรถเมล์และรถใต้ดิน ห้องน้ำที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไปและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีของสิงคโปร์

ดูเหมือนทุกพื้นที่ทั่วเกาะสิงคโปร์ถูกวางผังเมืองเอาไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดค่าและประโยชน์สูงสุด และสิ่งและสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นเหล่านั้นได้สะท้อนหรือแสดงให้เห็นว่ามีการบริหารและการจัดการกันเป็นอย่างดี (ไม่ได้ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม) มีระบบ มีระเบียบ มีความสะอาดเป็นเลิศและเรียบร้อยมาก (ไม่มีอะไรระเกะระกะให้เป็นที่รกหู รกตาเต็มไปหมดอย่างบ้านเรา) ป้าย/เครื่องหมายแสดงเส้นทาง/ สถานที่มีความชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจมาก

ภายใต้ความเป็นปกติและความเป็นธรรมชาติที่ดูดี ยังมีความก้าวหน้าทันสมัย และรู้จักนำเอาความเจริญก้าวหน้า ทางด้านเทคโนโลยีมาใช้ได้เป็นอย่างดี และเหมาะสม ดูเป็นประเทศที่รู้เท่าทันและก้าวหน้าทันโลกมาก รู้จักทำให้สิ่งธรรมดาๆ หรือสถานท่องเที่ยวที่ธรรมดาๆ ดูมีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นมาก (ไม่ใช่ใช้ทรัพยากร และทรัพยากรท่องเที่ยว อย่างไม่บันยะบันยังอย่างประเทศไทย) และรู้จักดำรงรักษาความสวยงาม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ได้อย่างน่าชมเชย

และในส่วนคนสิงคโปร์/คนทำงานสิงคโปร์โดยทั่วไป ก็ดูเป็นคนปกติธรรมดาดี (ไม่ดูเว่อร์/ไม่ดูขี้โอ้อวด) แม้แต่ในย่านธุรกิจ/ย่านการเงินอันทันสมัยก็ไม่เห็นคนทำงานใส่สูทผูกเนกไทกัน (ดูน่าจะสะท้อนความเป็นตะวันออกอย่างที่เขาโฆษณากันหรือเปล่า) ไม่ค่อยเห็นใครที่ไม่ว่าจะนั่ง/ยืน เดินและแม้แต่ในขณะขับรถก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง (เหมือนคนมีปัญหาทางจิตอย่างคนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) ผู้คนดูมีสติ ดูเรียบเฉย ดูเป็นคนมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ แต่งตัวในลักษณะที่พร้อมต่อการออกไปทำงาน/ ออกไปเรียนหนังสือดี (ไม่ใช่เพื่อออกไปโชว์) ดูเป็นคนทำงานเก่งและเป็นมืออาชีพกันดี ตามย่าน/ท้องถนนต่างๆ ก็ไม่เห็นคนจน คนเร่ร่อนหรือคนขอทานอย่างในบ้านเรา ไม่ได้เห็นตำรวจสิงคโปร์เลย (สันนิษฐานว่าคงไม่ค่อยมีคนทำผิด/มีโจรมาก) และตลอดเวลาที่อยู่ในสิงคโปร์รู้สึกสะดวกและปลอดภัยดีมาก


อะไรที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จหรือดังคำที่ใช้โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ของสิงคโปร์เองว่า "จากการเป็นประเทศในโลกที่สามมาเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง"

คนสิงคโปร์ก็คงจะเหมือนกับคนอเมริกันหรือคนออสเตรเลีย คือเป็นคนอพยพ และเป็นคนอพยพมาจากจีน อินเดีย และมาเลเซีย เพื่อหนีจากความยากจน การดำเนินชีวิตที่แร้นแค้นและความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาล/ ผู้ปกครองในดินแดนอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน จึงหนีออกมาเพื่อมองหาอนาคตที่ดีกว่าในดินแดนใหม่

คนอพยพมักจะต้องเป็นนักสู้ เป็นคนแกร่ง เป็นคนพอตัว ต้องอดทนได้กับความยากลำบาก ต้องขยัน ต้องทำงานทุกอย่างไม่เลือก มองหาทุกโอกาสทุกช่องทางที่จะทำมาหากินอะไรได้เพื่อความอยู่รอดและความสำเร็จ ซึ่งลักษณะของคนอพยพเหล่านี้จึงน่าจะเป็นพลังผลักดันให้สิงคโปร์รุกก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ (โดยปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์เป็นคนจีน 60% และส่วนที่เหลือเป็นคนมาเลย์และคนอินเดีย)

การเคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษมาก่อน (เฉกเช่นเดียวกับอเมริกาหรือฮ่องกง) เป็นเวลายาวนาน ซึ่งคนอังกฤษมักจะถูกกล่าวถึงในแง่ของการเป็นผู้ปกครองที่ดี จึงได้ช่วยวางโครงสร้างและรากฐานของประเทศไว้ให้เป็นอย่างดี เพื่อทำให้สิงคโปร์สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจและการค้า/การพาณิชย์ เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและวางรากฐานการศึกษา ที่ทำให้สิงคโปร์ กลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดและคนสิงคโปร์ โดยทั่วไปก็สามารถพูดและใช้ภาษาอังกฤษกันได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอันเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของสิงคโปร์

และภายหลังจากสิงคโปร์สถาปนาขึ้นเป็นประเทศเอกราชในปี 1965 (จนถึงปัจจุบันสิงคโปร์มีอายุ 38 ปี) ก็ได้นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู (จากพรรค People"s Action Party หรือ PAP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารปกครองประเทศสิงคโปร์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอดอายุของประเทศจนถึงขณะนี้) ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ (โดยอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 25 ปี และเกษียณอายุไปในปี 1990 แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อประเทศมากแม้ในปัจจุบันในฐานะรัฐมนตรีอาวุโส) ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในระดับภูมิภาคและระดับโลกว่าเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้เศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งระดับนักเศรษฐศาสตร์ โลก เป็นคนกล้าหาญในยุคสมัยของเขาและมีความสามารถ จึงรู้เป็นอย่างดีว่าจะนำสิงคโปร์ไปสู่ความรุ่งเรืองได้อย่างไร

จากประสบการณ์ที่เคยรู้เป็นอย่างดีถึงรสชาติของการที่เคยเป็นผู้ถูกปกครองโดยต่างประเทศมาก่อน (เฉกเช่นเดียวกับมาเลเซีย) จึงมุ่งเน้นให้ความหมายของการพัฒนาประเทศ คือ การทำประเทศให้มีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจ (economic independence) โดยระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะอนุญาตให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนเข้ามามีบทบาทในประเทศ มองว่าบริษัทข้ามชาติขูดรีดเอารัดเอาเปรียบประเทศที่ยากจน

นายกฯ ลี กวน ยู เพิกเฉยอย่างคงเส้นคงวาต่อสิ่งที่คนเชื่อกันจนคลั่งว่าภาคเอกชน (private sector) โดยปกติแล้วดีกว่าภาครัฐ (public sector) ในการดำเนินธุรกิจ เขาทำให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ในสิ่งที่ยึดถือนี้ทำให้สิงคโปร์แตกต่างจากเสือเอเชียอื่น ฮ่องกงเติบโตร่ำรวยขึ้นมาในฐานะที่ยึดมั่นคงในระบบเศรษฐกิจเสรีอย่างเต็มที่ และในไต้หวันและเกาหลีใต้รัฐบาลอาจให้การชี้นำแนวทางแต่แทบจะไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของธุรกิจเลย

จนถึงปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทธุรกิจมากมายทั้งบริษัทใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์และบริษัทเล็กอีกมากมาย และแทบจะในเกือบทุกประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบิน กิจการโทรคมนาคม กิจการขนส่ง ธนาคาร อู่ต่อเรือ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทน้ำมัน นักพัฒนาที่ดิน (เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินเกือบจะทั้งหมด) การเดินเรือ โรงแรมและอื่นๆ อีกมากมาย รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วน 60% ของธุรกิจทั้งหมดในสิงคโปร์เป็นเจ้าของโดยรัฐบาล (government ownership)

สิงคโปร์ทำไปได้ดีกับยี่ห้อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ "ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐ" หรือ "state capitalism" อย่างน้อยก็จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997 (ที่เริ่มต้นที่ประเทศไทยแล้วก็ต่อไปยังที่อื่นๆ)

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แล้วก็กลับมาฟื้นตัวในระยะสั้นๆ แต่ก็กลับมาหดตัวอีก ทำให้เศรษฐกิจที่เคยขยายตัวในอัตราสูงโดยเฉลี่ย 8-9% ต่อปีตกต่ำลงไปมากโดยขยายตัวเหลือเพียง 2% และสถานการณ์ยิ่งกลับมาเลวร้ายลงไปอีก จากผลกระทบจากสงครามอิรัก และวิกฤตโรคซาร์ส โดยเฉพาะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตโรคซาร์ส ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ไปทั่ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สินค้าส่งออกสำคัญ) อุตสาหกรรมก่อสร้างและอื่นๆ ยิ่งทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจตกต่ำลงมากหรือแทบจะไม่เติบโตเลย และแม้ในขณะนี้โรคซาร์สผ่านไปแล้วและเศรษฐกิจกลับมาขยายได้ดีขึ้นบ้าง แต่ก็คาดว่าการเติบโตของทั้งปี 2546 จะอยู่ที่เพียง 1% หรือน้อยกว่า


นอกจากเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย สงครามอิรัก และวิกฤตโรคซาร์ส ต่อเนื่องกันมาในช่วง 5-6 ปีดังกล่าวมาแล้ว สิงคโปร์กำลังเผชิญกับปัญหา/แรงกดดันอย่างอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็น ก) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าอย่างอินโดนีเซีย ข) จีนและฮ่องกง กำลังเข้ามาแทนที่สิงคโปร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะแหล่งแนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ค) แม้แต่สถานภาพของสิงคโปร์ในฐานะ "ศูนย์กลางการขนส่ง" (transport hub) ก็กำลังอยู่ภายใต้การคุกคามของท่าเรือและท่าอากาศยานที่เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย

ง) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเคร่ง ครัดเพื่อสร้างระเบียบวินัย/สร้างให้คนกลัวการกระทำผิด (ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีน้อยกว่ามากหรือเทียบกันไม่ได้เลยกับการสร้างให้ผู้คนมีสำนึกในเรื่องเหล่านี้ โดยพัฒนาคนให้เป็นผู้เจริญขึ้นทั้งด้าน ร่าง กาย จิตใจ สติปัญญา และจิตวิญญาณ) และการขาดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ทำให้ผู้คนอยากแสดงความคิดเห็น/แสดงออกอย่างสร้าง สรรค์

ประกอบกับแม้รายได้และมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนสิงคโปร์จะสูง แต่ต้นทุนค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย (เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนสิงคโปร์ที่จะมีรถยนต์ มีบ้านของตนเอง ต้องอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ เพราะพื้นที่อันมีอยู่อย่างจำกัด) ผู้คนสิงคโปร์อาจรู้สึกเครียด จึงทำให้แทบจะไม่ค่อยได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของคนสิงคโปร์ มีการสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าคนสิงคโปร์มีความปรารถนาที่จะย้ายออกจากประเทศเป็นการถาวรมากขึ้น (จาก 14% เป็น 21%) โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถ

และ จ) การที่รัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย การที่รัฐเข้าไปบังคับปกครองการดำเนินชีวิต ทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ (ไม่ใช่โดยใช้กลไกตลาด) อิทธิพลของชนชั้นสูง และบรรดาสมาชิก ในครอบครัวของอดีตนายกฯลี กวน ยู (family connections) ที่ปกครองสิงคโปร์ หรือแม้แต่ในกิจการธุรกิจบางแห่ง ที่รัฐแปรรูปไปให้เอกชนดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่เคยเป็นข้า ราชการและทหารมาก่อนเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารกิจการกันอยู่เลย

สภาพการณ์ดังเช่นเหล่านั้นถูกกล่าวถึงว่า ทำให้สิงคโปร์ขาด "ลัทธิความเป็นผู้ประกอบการ" (entrepreneurism) มีกิจการธุรกิจมากมายของรัฐบาลที่มีปัญหาด้านต้นทุนสูง ความไม่มีประสิทธิภาพ และผลประกอบการไม่ได้ดีตามความคาดหวัง จึงเริ่มมีการตระหนักกันมากแล้วว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันบีบกลั้นความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

และเริ่มสำนึกว่าแบบจำลอง (model) ที่พลิกให้เกาะที่เป็นตมกลายมาเป็นมหานคร อาจทำงานไม่ได้ดีเท่า เมื่อมันจะต้องมาพลิกมหานคร มาสู่การเป็นป้อมหรือที่มั่นสุดท้ายของ "เศรษฐกิจความรู้" หรือ "Knowledge economy" (ระบบเศรษฐกิจที่หากินจากทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์ความรู้) ความทุกข์โศกในเรื่องนี้ตกลงสู่บริษัทสิงคโปร์หรือ "Singapore Inc." ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่กำลังเผชิญเหล่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้มียุทธศาสตร์หลักออกมา 3 ยุทธศาสตร์ คือ ในระยะสั้นจะทำให้ต้นทุนธุรกิจต่ำลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันโดยการลดภาษี และจำกัดการขึ้นของค่าจ้างแรงงาน

ในระยะกลางรัฐบาลวางแผนที่จะใช้ภาษี และการหว่านเงินลงไปเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ คือ อุตสาหกรรมเวชกรรมและอุตสาหกรรมพันธุกรรม และในระยะยาวรัฐบาลมีความมุ่งมั่นว่า จะถอยออกมาจากธุรกิจ และสนับสนุนให้ชาวบ้านสิงคโปร์กลายมาเป็นผู้ประกอบการ ที่มีจิตวิญญาณอิสระ และมีความเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยปราศจากการดูแลของรัฐบาล (government supervision)

มีการวิจารณ์กันออกมาว่า รัฐบาลจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือมันจะเกิดเป็นจริงขึ้นมาหรือไม่ เพราะยังไม่มีมาตรการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้มันเกิดเป็นจริงขึ้นได้ และเห็นว่ารัฐบาลได้อยู่ในธุรกิจมายาวนานเหลือเกิน และทำเงินได้มากมายจากมัน นั่นจะทำให้ไม่เต็มใจที่จะถอนตัวออกมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้แต่งตั้ง นางโฮชิง (ภรรยาของลูกชายของ นายลี กวน ยู คือ นายลี เสียน หลง ซึ่งมีข่าวออกมาแล้วว่าจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ต่อจากนาย โก๊ะ จ๊ก ตง) ให้เข้ามาเป็นผู้ถือหางเสือของบริษัทเทมาเซค (บริษัท โฮลดิ้งที่รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นบริษัทที่แสดงออกถึงความเป็นบริษัทสิงคโปร์มากที่สุดที่มีบริษัทใหญ่สุดของสิงคโปร์อยู่ในความดูแลถึง 20 บริษัท และบริษัทที่เล็กกว่าอีกมากมาย) และเป็นผู้เข้ามาดูแลการปฏิรูปบริษัทสิงคโปร์

จึงมีคำวิจารณ์ออกมาว่า เธอมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานนี้แล้วหรือยัง ? เธอจะใช้วิธีใดในการปฏิรูปบริษัทสิงคโปร์ หรือในการที่จะแหกออกจากธรรมเนียมประเพณีของสิงคโปร์ได้ ? เธอจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ?

มีคำเตือนจากนักวิเคราะห์ตะวันตกว่า สิงคโปร์จะต้องนึกถึงปัจจัยในแง่ที่เลวร้ายที่มากับความเป็นเจ้าของของรัฐบาล (government ownership) ทางเดียวสำหรับบริษัทชั้นนำของสิงคโปร์ที่จะรุ่งเรืองก็คือ ต้องขยายตัวพ้นจากตลาดในบ้านที่เล็กมาก ออกไปสู่ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก แต่ความเป็นเจ้าของของรัฐบาลเป็นอุปสรรคขัดขวางหุ้นส่วนต่างประเทศที่มีศักยภาพมากมาย

แต่อย่างไรก็ตาม ก็เห็นว่ามีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะประเมินครอบครัว (ของท่านอดีตนายกฯลี กวน ยู) นี้ต่ำไป (ลี กวน ยู ผู้อาวุโสกล้าหาญในช่วงเวลาของเขา) คนรุ่นที่สองอาจมีความกล้าหาญ แต่การทดสอบที่แท้จริงจะเป็นว่า สิงคโปร์ได้สำนึกหรือไม่ว่าสิ่งที่จะบังเกิดผลดีที่สุดที่สิงคโปร์สามารถทำได้ ก็คือ การแตกหรือการกระจาย "บริษัทสิงคโปร์" หรือ "Singapore Inc." ที่มันได้เป็นมรดกกันมาออกไป

เครื่องมือส่วนตัว