คลัสเตอร์และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '"คลัสเตอร์" และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ค…')
รุ่นปัจจุบันของ 07:27, 12 พฤษภาคม 2554
"คลัสเตอร์" และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว
ทำไมทำอะไรจะดี ทำต้องทำเป็น "คลัสเตอร์" (cluster) หรือ "กลุ่มอุตสาหกรรม" และต้องเป็นคลัสเตอร์จริงๆ ถึงจะดี
ถ้าไม่รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ไม่ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จะหากินได้ยาก จะแข่งขันได้ยาก
กลุ่มอุตสาหกรรมในลักษณะคลัสเตอร์ที่สร้างกันขึ้นมามันจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมนี้อยู่ได้ (viable) มันอยู่ได้เอง มันเกิดเอื้อกัน และตรงนี้มันฮุกกับโลกภายนอกด้วย
แนวคิด "Clustering Model" นี้ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วง 10 ปีมาจนถึงปัจจุบัน โดยไมเคิล อี.พอร์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ โดยแนวคิดนี้ของเขาได้เป็นแม่แบบให้หลายๆ ประเทศนำไปใช้
สำหรับประเทศไทย ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ ได้รับเชิญให้มาเป็นที่ปรึกษาใน "โครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถ ด้านการแข่งขันของประเทศไทย" ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และในฐานะที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว เขาได้เดินทางมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Thailand"s Competitive- ness : Creating the Foundations for Higher Productivity" เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอข้อมูลที่ให้ภาพรวมที่ได้รับจากโครงการศึกษาดังกล่าว
ซึ่งสิ่งที่พอร์เตอร์ได้นำเสนอไว้ในวันนั้นที่ได้มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ให้ได้รับรู้รับทราบกันนั้น สำหรับผู้เขียนเองก็เห็นด้วยมากมาย ทั้งในแง่ที่พูดถึงหัวใจของการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหา/จุดด้อยของธุรกิจไทย/ประเทศไทย และข้อเสนอแนะ แนวทางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (เพราะสิ่งที่พูดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่คนไทยไม่เคยรู้ หรือพูดถึงกันมาก่อนเลย)
โดยดังกล่าวข้างต้นก็คือ เขาบอกว่าหัวใจของการพัฒนาขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ อยู่ที่การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งก็คงหมายความว่า การที่จะเพิ่มหรือขยายผลผลิตของประเทศต่อไปจะต้องเป็นการขยายตัวในเชิงคุณภาพถึงจะอยู่รอด ถึงจะแข่งขันได้
เขาชี้ว่าจุดด้อยของธุรกิจไทยอยู่ที่การพึ่งแรงงานขั้นต่ำ ขาดการพัฒนาห่วงโซ่ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนทำให้การลงทุน เพื่อสร้างสินทรัพย์ระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสำคัญที่กีดขวางความสามารถ ในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกำแพงภาษี ระเบียบขั้นตอนของทางราชการ หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาการส่งออกของไทย จากที่สินค้าส่งออกขั้นปฐมที่ใช้แรงงานราคาถูก ไม่ได้เป็นจุดแข็งอีกต่อไปแล้ว
และบนปัญหา/จุดด้อยที่เขามองเห็นดังกล่าว เขาจึงได้เสนอแนะแนวทาง ในลักษณะก้าวกระโดด เพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งดังกล่าวเอามาไว้ 6 ประการคือ
(1) จะต้องมีการปฏิวัติเพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ เพื่อเร่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
(2) รัฐและเอกชนจะต้องประสานงานร่วมกันเพื่อสร้าง "คลัสเตอร์" หรือกลุ่มอุตสาห กรรมเพื่อเชื่อมเครือข่ายระหว่างอุตสาหกรรมย่อยและอุตสาหกรรมหลัก
(3) ไทยจะต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กรและหน่วยงานเอกชน เช่น เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มผลิตภาพการผลิต
(4) ภาคเอกชนและรัฐบาลจะต้องเดินหน้าไปด้วยเป้าหมายเดียวกัน โดยนโยบายของเอกชน และความช่วยเหลือจากรัฐบาลต้องส่งเสริม และสนับสนุนซึ่งกัน และกันเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มผลิตภาพ ในองค์กรรวมของประเทศ
(5) สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำคือ การกระจายอำนาจการบริหารของภาครัฐ ลงไปสู่ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง และ
(6) ไทยต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะพันธมิตร
นอกจากนั้นแล้วเขายังแนะว่า "ไทยต้องพยายามลบจุดด้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาน ภาพทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงคุณภาพประชาชนและวัฒนธรรม" "ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่อยู่ในระดับต่ำสะท้อนถึงคุณภาพของสังคม ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
"รัฐบาลจะต้องปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ เปิดทางให้กับภาคเอกชนด้วยการลดกำแพงภาษี เช่น แก้กฎหมายเพื่อขจัดการผูกขาด เร่งเปิดเสรีโทรคมนาคมก่อนกำหนดเสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน ลดปัญหาคอร์รัปชั่น ยกระดับเทคโนโลยีและใช้ยุทธศาสตร์ไร้พรมแดนกับประเทศเพื่อบ้าน" และ "ยังแนะให้ภาคเอกชนไทยทบทวนยุทธศาสตร์ของตัวเองด้วยการหาทางขยายห่วงโซ่ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก"
ผู้เขียนเห็นด้วยกับที่ศาสตราจารย์ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ พูดมาและให้ข้อเสนอแนะเอาไว้ทั้ง หมดข้างต้น แต่มีอยู่ปัญหาเดียวก็คือว่า ทั้งหมดเหล่านั้นจะทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้อย่างไร (implementation problems)
ดังกรณีตัวอย่างข้อเสนอแนะประการที่ 2 ข้างต้นที่บอกว่า "รัฐและเอกชนจะต้องประสานงานร่วมกันเพื่อสร้าง "คลัสเตอร์" หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมเครือข่ายระหว่างอุตสาหกรรมย่อยและ "อุตสาหกรรมหลัก" ปัญหาคือจะทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร
เพราะการทำเป็นคลัสเตอร์จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้ เพราะคลัสเตอร์มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ดังกรณีตัวอย่าง ซิลิคอน วัลเลย์ในสหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์หลัก จะมีอุตสาหกรรมหลัก (core industries) แล้วก็จะมีอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industries) มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือมีพวกมหาวิทยา ลัยด้วย แล้วมีความร่วมมือ มีชีวิต (life)
หรือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมือนกันมาอยู่ด้วยกันโดย
(1) มีการแข่งขัน (2) มีอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องที่จะตอบสนองซึ่งกันและกัน (3) มีความร่วมมือ (4) มีส่วนส่งออก (export division) (5) มีสถาบันวิจัยและพัฒนา และ/หรือมีมหาวิทยาลัยมาตั้งอยู่ และ (6) มีสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน (common facilities)
ที่สำคัญมันมีชีวิต (living cluster) นี่คือความสัมพันธ์กันแบบแต่ละส่วนต่างเป็น "ส่วนของร่าง กายเดียวกัน" (part as a same body)
ดังกล่าวข้างต้นคลัสเตอร์มันเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่กำหนดให้มีมาจากข้างบน หรือไม่ใช่เกิดจากการมีนโยบาย และมาตรการของรัฐบาล หรือไม่ใช่จากการมีนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy)
แต่จากการสร้างวัฒนธรรมของความร่วมมือร่วมใจกัน เพราะฉะนั้นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาด้านวัฒนธรรม (นอกเหนือจากปัญหาการกระจายอุตสาหกรรมไปทั่ว ตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมของบีโอไอที่มีมา)
เรา (นักธุรกิจไทย) ไม่มีวัฒนธรรมดังเช่นว่านั้น เพราะ (กล่าวตามจริง) นักธุรกิจไทยเป็นพวกที่เห็นแก่ตัวมาก หากินง่ายๆ ไม่มีความเป็นผู้ประกอบการ ไม่ต้องการเสี่ยง ชอบหากินง่ายๆ รวมกันไม่ได้ นักธุรกิจไทยรวมกันแต่หลวมๆ เพื่อหาผลประโยชน์ เมื่อไม่มีผลประโยชน์จะแบ่งกันได้ก็แยกกันอยู่ ต่างคนต่างอยู่ไม่มีความร่วมมือ ไม่มี "ความเห็นพ้องต้องกัน" (likemindedness)
จะมีวัฒนธรรมความร่วมมือร่วมใจกันดังกล่าวได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการเป็น "คนใหม่" (reborn) จะต้องเปลี่ยนธรรมชาติ เปลี่ยนสันดานคนไทย เปลี่ยนถึงขั้นเปลี่ยนจิตวิญญาณกันใหม่ ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นจากการมีผู้นำเป็นเช่นนั้นก่อน
คนจะร่วมมือร่วมใจกันได้ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องไม่มีความเห็นแก่ตัว (selflessness) ซึ่งน้อยกว่านี้มันไม่ได้ผลเลย