ประเด็นที่หันมาให้ความสนใจ ตลาดจีน อินเดีย และรัสเซีย

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Schaweew (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'ประเด็นที่หันมาให้ความสนใจ ตลาดจีน อินเดีย และรั…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:36, 12 พฤษภาคม 2554

ประเด็นที่หันมาให้ความสนใจ ตลาดจีน อินเดีย และรัสเซีย คอลัมน์ เศรษฐกิจระบบสารสนเทศ โดย ดร.ฉวีวรรณ สายบัว

มีคนถามว่าทำไมรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลทักษิณ) ดำเนินงานด้านการต่างประเทศมากเหลือเกิน โดยมองดูจากความถี่หรือความบ่อยครั้งที่หัวหน้ารัฐบาลและผู้ร่วมคณะเดินทางไปเยือนต่างประเทศ และแม้กระทั่งประเทศที่หัวหน้ารัฐบาลก่อนๆ ไม่ค่อยจะได้ไปเยือนหรือให้ความสนใจกันสักเท่าไร เป็นต้นว่าอินเดีย รัสเซีย พม่า กัมพูชา และประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกันนี้ (ดังที่นายกฯทักษิณบอกว่าเพียง 2 ปีกว่าเดินทางไปต่างประเทศแล้ว 40 ครั้ง)

นอกจากนั้นก็มองดูจากการเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดให้มีเวทีหรือกลไกต่างๆ โดยบอกว่าเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาค เช่น การเกิดเอซีดีหรือเอเชียบอนด์ การรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างประเทศทั้งการประชุมเล็กและใหญ่ มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านเช่นกับมาเลเซียและกัมพูชา การให้มีทูตซีอีโอ การตั้งทีมไทยแลนด์ การมีผู้แทนการค้า การไปทำเอฟทีเอหรือเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เช่นกับจีนและอินเดีย และกับประเทศอื่นๆ ที่จะตามมาอีก และงานด้านต่างประเทศอีกมากที่มีการประชาสัมพันธ์กันออกมาเรื่อยๆ

คนที่ถามก็คงอยากจะรู้ว่า งานด้านต่างประเทศที่ทำมากมายเหล่านั้น แล้วมันจะนำประเทศไทยไปสู่ที่ไหน ? หรืออยู่ในตำแหน่งใดในภูมิภาคหรือในโลกอย่างไร ? และเพื่ออะไร ? หรือมันจะช่วยแก้ไขปัญหาภายในและภายนอกของประเทศที่มีอยู่มากมายได้จริงๆ หรือไม่ ? และอย่างไร ?

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ก็สนใจที่จะพูดถึงเพียงนโยบายหนึ่งในระหว่างนโยบายและมาตรการมากมายที่รัฐบาลออกมาจนน่าที่จะไม่มีใครจดจำได้หมด (แม้แต่ตัวรัฐบาลเองก็เถอะ) และก็เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างประเทศด้วย และที่สนใจก็เพราะเห็นว่ามันเป็นนโยบายที่มีประเด็นที่น่าจะวิจารณ์

นั่นคือประเด็นที่รัฐบาลทักษิณจะหันมาให้ความสนใจตลาดจีน อินเดีย และรัสเซียแทน สนใจตลาดเดิมในยุโรป อเมริกาเหนือและญี่ปุ่น

และประเด็นที่น่าวิจารณ์ก็คือ มันเป็นการดำเนินนโยบายที่ใช่หรือไม่ ? หรือมันเพียงพอหรือไม่ ? (เพราะนายกฯทักษิณมักโต้ตอบคนวิจารณ์ว่านโยบายด้านการต่างประเทศของท่านถูก 1,000%)

อย่างไรก็ตาม ก็เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลในการที่จะแก้ปัญหาการส่งออกของไทยที่ลดลงจากเดิมมาก (จากช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจะคลี่ออกมาให้เห็นในปี 2540 ซึ่ง 10 ปีต่อเนื่องกันมาก่อนหน้านี้ การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยถึงปีละ 20% แล้วต่อมาการส่งออกก็มาตกลงอย่างฮวบฮาบถึงขั้นติดลบมาก จนกลายเป็นสาเหตุที่มองเห็นประการหนึ่งของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุดของประเทศในครั้งนี้)

โดยรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมาและรวมทั้งรัฐบาลนี้มักมองปัญหาการส่งออกไม่ได้แต่เฉพาะที่เป็นปัญหาที่มองเห็น (observable/unseen) ได้แก่ (1) เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเอเชียแล้วลุกลามไปทั่วโลก ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหดตัวลงมาก การส่งออกของแทบทุกประเทศจึงลดลง ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น และ (2) มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการส่งออก ได้แก่ ก) ขาดสินเชื่อหรือสภาพคล่องสำหรับเป็นเงินทุน หมุนเวียนกิจการส่งออก ข) ปัญหาด้านท่าเรือแออัดและปัญหาความล่าช้าของพิธีการทางศุลกากร ค) ต้นทุนค่าระวางเรือ/ค่าขนส่งแพง ง) ปัญหาด้านการตลาดและปัญหาการขาดตลาดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ และ จ) ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ทำให้สินค้าไทยราคาแพงสู้คู่แข่งขันไม่ได้ แล้วก็ไปออก แรงแก้แต่ปัญหาที่มองเห็นเหล่านั้น (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้นอย่างที่หวัง)

ขณะที่ปัญหาที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการส่งออกไม่ได้ (หรือส่งออกไม่ได้ดี) เป็นปัญหาที่มองไม่เห็น (unseen) ได้แก่ (1) สินค้าส่งออกหลักของไทยทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นประเภทสินค้าที่สนองความต้องการของตลาดล่างสำหรับผู้ซื้อ/ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศที่มีรายได้ไม่มาก ซึ่งอุปสงค์สำหรับสินค้าส่งออกไทยเหล่านี้ตอนนี้มันหายไปหมด โยกย้ายไปซื้อจากแหล่งอื่น (demand shiff) (2) การส่งออกต้องแข่งขันสูง และที่ส่งออกได้ก็ไม่ทำให้ได้รายได้และผลกำไรมากมายอะไร เพราะตอนที่เราส่งออกได้หลักใหญ่แล้วเป็นเพราะเราขายถูก ขายถูกจนไม่มีใครแข่งขันสู้ได้จากข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีค่าจ้างถูก ที่ดินที่ตั้งโรงงานไม่แพง รัฐบาลลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ และการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า และนอกจากนี้แล้วยังเป็นสินค้าที่ต้องใช้ปัจจัยนำเข้าสูง

และ (3) ตอนนี้อุตสาหกรรมส่งออกเก่าๆ ไม่มีทางจะดีขึ้นได้ ต้องเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สามารถเติบโตได้ (viable) เป็นอุตสาหกรรมส่งออกใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ (new export earning industry) หรืออุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูง (highly in demand) หรือที่ได้กำไรสูง (highly profitable)

โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดส่งออกที่เป็นตลาดเดิมของไทยจะอยู่ในยุโรป อเมริกาเหนือและญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนดังต่อไปนี้ (1) สหรัฐอเมริกา (19.6%) (2) สหภาพยุโรป (16.1%) ญี่ปุ่น (16.0%) อาเซียน (20.1%) และอื่นๆ (28.2%) ซึ่งกลุ่มตลาดหลักเดิมเหล่านี้มีส่วนแบ่งในรายได้ส่วนใหญ่ของโลก ดังตัวอย่างแบบแผนอุปสงค์ (pattern of demand) ในสินค้าสำหรับมาตรฐานความเป็นอยู่สูงจะอยู่ในประเทศร่ำรวยหมด

แต่ที่รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะหันมาให้ความสนใจตลาดจีน อินเดียและรัสเซียแทนตลาดหลักเดิมดังกล่าว เหตุผลหลักใหญ่แล้วคงเป็นเพราะคิดว่าเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรมาก บวกกับเหตุปัจจัยประกอบอื่น

จีน (1) ประเทศใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและประวัติ ศาสตร์มายาวนาน (2) ตลาดใหญ่ขนาดประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,300 ล้านคน (3) นโยบายพัฒนาประเทศให้ทันสมัยช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นโรงงานโลก มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมไว้มาก และคนจีนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น (4) จีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งของโลก เพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจตะวันตกและจะเป็นผู้นำของประเทศในเอเชีย และ (5) ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์อันดีและแนบแน่นมายาวนาน ดังนั้น เมื่อคนไทยรู้สึกว่าอเมริกาไม่สนใจเรา อเมริกาคุกคามเราคนไทยจึงต่างหันไปซบจีนแทน

อินเดีย (1) ประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดของโลกที่มีประชากรเป็น 1,000 ล้านคน (2) ในช่วง 10 ปีมานี้อินเดียมีการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงจากในอดีตที่ผ่านมามาก ช่วยลดสัดส่วนประชากรยากจนของอินเดียลงมาก ซึ่งทำให้อำนาจซื้อสูงขึ้นและเป็นประเทศหนึ่งที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และ (3) อินเดียมีสิ่งที่กำลังดึงดูดความสนใจของโลก คือ มีความสามารถด้านอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านซอฟต์แวร์ที่กำลังรุ่งเรืองอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมนี้ของอินเดียมีส่วนเกื้อกูลร้อยละ 3 ของจีดีพีของประเทศ และร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศในปัจจุบัน (ซึ่งนายกฯทักษิณก็เป็นบุคคลในวงการธุรกิจนี้อยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สนใจอินเดียและก็มีที่ปรึกษาเป็นคนอินเดียด้วย)

รัสเซีย (1) อดีตประเทศมหาอำนาจยิ่งใหญ่ในฐานะประเทศผู้นำของค่ายโลกคอมมิวนิสต์ (และก็ยังพยายามจะดำรงสถานะนี้ไว้แม้ในปัจจุบัน) (2) ขนาดตลาดใหญ่ด้วยประชากร 145 ล้านคน (3) เคยเป็นคู่แข่งด้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับอเมริกามาในอดีต (4) หลังการล่มสลายของการใช้ระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์และระบอบการปกครองแบบเผด็จการในปี 1991 ก็หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแทน นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่าทศ วรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ภาวการณ์ของประเทศและผู้คนยังไม่รู้ว่าจะรอดหรือเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องไปได้ดีหรือไม่ ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคนอยู่เลย

เพราะฉะนั้น แม้จีน อินเดียและรัสเซียจะเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรมาก แต่มีส่วนแบ่งรายได้โลกเพียงแค่เล็กน้อยมาก จีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่สุดและมีประชากรมากสุด แต่ก็มีส่วนแบ่งในรายได้โลกเพียงประมาณ 3.9% อินเดียและรัสเซียก็ยิ่งน้อยลงไปกว่านี้มาก เพราะเอเชียทั้งหมด (ที่ไม่รวมญี่ปุ่น) ก็มีส่วนแบ่งรายได้โลกรวมกันเพียง 11.4% แล้วจะขายสินค้าอะไรให้แก่ประเทศเหล่านั้นได้

แต่ถ้าสามารถผลิตสินค้าอะไรที่ขายให้ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้และอำนาจซื้อมาก จะไม่ทำให้ฐานะและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเราดีกว่าหรือ เพราะสหรัฐประเทศเดียวมีรายได้เป็นสัดส่วนสูงถึง 32.6% หรือ 1 ใน 3 ของรายได้โลก ญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนสูงถึง 12.5% สหภาพยุโรป (เฉพาะเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีรวมกัน) ก็มีสัดส่วนถึงเกือบ 30% และประเทศกำลังพัฒนาแล้ว/ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมดมีสัดส่วนถึงกว่า 76% ของรายได้โลก (ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่แม้จะมีประชากรมากกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลก แต่มีรายได้รวมกันเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึง 24% ของรายได้โลก)

เครื่องมือส่วนตัว