ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เป็นวงดนตรีของไทยประเภทหน…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 07:30, 31 พฤษภาคม 2554

วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เป็นวงดนตรีของไทยประเภทหนึ่ง มีพัฒนาการมาจากวงปี่พาทย์ไม้นวม ได้รับความนิยมและใช้บรรเลงประจำในราชสำนัก ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดบรรเลงดนตรีไทยอย่างไพเราะ เพื่อต้อนรับแขกทั้งภายในและต่างประเทศอยู่เนืองๆ จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เจ้ากรมโขนและพิณพาทย์หลวงในขณะนั้นจัดการบรรเลงดนตรีขึ้น เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ จึงกราบทูลชวน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ช่วยจัดตามพระราชประสงค์ ด้วยเคยเห็นและชอบวิธีคิดที่แปลกใหม่ ในงานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพรยานริศรานุวัดติวงศ์ คิดจัดให้ทหารบรรเลงดนตรีถวายหน้าพระที่นั่งตามแบบอย่างวิธีเล่นคอนเสิร์ตของฝรั่ง โดยจัดให้มีการบรรเลงและขับร้องประสานเสียงชายหญิง ในคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ทั้งสองท่านจึงได้ร่วมมือกันจัดบรรเลงดนตรีถวาย ด้วยความคิดสำคัญ ๒ ประการที่ว่า ลักษณะการประสมวงแบบปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ที่มีมาแต่เดิมประกอบการตีด้วยไม้แข็งนั้นมีเสียงดังมากเกินไปไม่เหมาะที่จะบรรเลงภายในอาคารประการหนึ่ง และการขับร้องประสานเสียงชายหญิงก็มักไม่ได้เสียงที่ประสมกลมกลืนน่าฟังอีกประการหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ จึงได้คิดปรับปรุงลักษณะการประสมวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่โดยตัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงเล็กแหลมออก และเพิ่มเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเสียงทุ้มนุ่มนวลเข้าไป โดยยึดวงปี่พาทย์ไม้นวมเป็นพื้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในคราวเดียว แต่ค่อยๆแก้ไขทีละน้อยเรื่อยมา

เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบไปด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ฆ้องหุ่ย ๗ ลูก กลองตะโพน ๒ ลูก ตะโพน กลองแขก ๒ ใบ ฉิ่ง และกรับพวง ดนตรีที่เกิดขึ้นใหม่ในครั้งนั้น ในระยะแรกยังไม่ได้มีการตั้งชื่อเรียกเป็นพิเศษอย่างใด และได้ใช้ติดต่อกันมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังได้ทรงปรับปรุงเนื้อร้องและทำนองดนตรีเสียใหม่ให้เหมาะสมอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้ไปยุโรป มีโอกาสได้ชมละครร้องอย่างฝรั่งซึ่งเรียกว่า Opera เมื่อกลับมาจึงเล่าถวายและกราบทูลชวนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ให้ทรงร่วมมือจัดทำอุปรากรแบบไทยขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงพระนิพนธ์บทและจัดกระบวนลำนำสำหรับขับร้องและบรรเลงปี่พาทย์ โดยใช้ปี่พาทย์อย่างที่เคยบรรเลงนั้นเอง ตลอดจนกระทั่งคิดจัดวิธีการเล่นละคร ส่วนเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ทำเครื่องแต่งตัวละครเพื่อให้ละครผู้หญิงของท่านเล่น และสร้างโรงละครขึ้นในบริเวณบ้านของท่าน ที่วังบ้านหม้อ ถนนอัษฎางค์ ตั้งชื่อโรงละครนี้ว่า โรงละครดึกดำบรรพ์ หมายจะให้ชื่อนี้เป็นชื่อคณะละครของท่านแทนที่จะเรียกว่า ละครเจ้าพระยาเทเวศรฯอย่างแต่ก่อน ละครที่คิดปรับปรุงขึ้นใหม่นี้เล่นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ต่อมาคนทั่วไปเรียกละครชนิดนี้ว่าละครดึกดำบรรพ์ตามชื่อโรงละคร แม้กระทั่งวงปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงซึ่งมีกำเนิดมาก่อนถึง ๑๐ ปีเศษ ก็เรียกว่า “วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” ตามชื่อโรงละครไปด้วยแต่นั้นมา


ผู้ดูแลบทความ สำนักบริหารงานศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว