น้ำท่วม
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' == น้ำท่วม (flood) == การที่น้ำในแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ ห…')
รุ่นปัจจุบันของ 07:38, 3 มิถุนายน 2554
น้ำท่วม (flood)
การที่น้ำในแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้นจนกระทั่งล้นและไหลเข้าสู่ส่วนที่เป็นพื้นดิน (MSN Encarta Dictionary, 2011) โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ สาเหตุที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นนั้นอาจเกิดจากการที่ฝนตกหนัก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือหิมะละลาย เป็นเหตุให้น้ำในลำน้ำ ทะเลสาบ หรือทะเลไหลล้นตลิ่ง ชายฝั่งทะเล หรือไหลบ่าลงมาจากที่สูง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2549) น้ำท่วมจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่เป็นสถานที่มนุษย์ใช้ทำกิจกรรม เช่น ที่อยู่อาศัย ย่านธุรกิจการค้า หรือที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่าในบางพื้นที่ มนุษย์ยังคงประกอบกิจกรรมบนพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมได้เป็นครั้งคราว เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว (Wikipedia, 2011) ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตมรสุม โดยพื้นที่ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ภาคกลางจึงเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งเมื่อเกิดฝนตกหนักในภาคเหนือทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองจากภาคเหนือมีระดับสูงขึ้นและไหลลงสู่ทะเลโดยผ่านพื้นที่ภาคกลาง เมื่อใดที่ระดับน้ำมีมากจนระดับน้ำสูงกว่าผิวดิน ก็ไหลล้นเข้าท่วมพื้นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน นอกจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลก ประกอบกับการยุบตัวของผิวดินจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป ก็เป็นเหตุที่ให้น้ำทะเลและน้ำจากแม่น้ำลำคลองไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่บริเวณภาคกลางและที่ราบชายฝั่งทะเลด้วยเช่นกัน (Vongvisessomjai, 2009) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ในปี 2526, 2538 และ 2549 โดยมีสาเหตุจากฝนตกหนักและน้ำเหนือไหลหลาก ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ ปี 2531 น้ำป่าไหลเข้าท่วมหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ปี 2543 ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ ปี 2544 เกิดน้ำท่วมจังหวัดแพร่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ปี 2548 น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน และ 8 จังหวัดภาคใต้ และ ปี 2553 ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบริเวณหมู่บ้านใน อ.ปัว และอ.ท่าวังผา จ.น่าน (กรุงเทพธุรกิจ 2553)
ที่มาข้อมูล กลุ่มอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ