เสาหิน หรือ หน่อหิน

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' == เสาหิน หรือ หน่อหิน (pedestal rock) == ลักษณะภูมิสัณฐานย่อ…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:39, 3 มิถุนายน 2554

เสาหิน หรือ หน่อหิน (pedestal rock)

ลักษณะภูมิสัณฐานย่อยซึ่งเกิดจากการสึกกร่อน (erosion) และการผุผังอยู่กับที่ (weathering) ของเปลือกโลกบริเวณที่เป็นหินชั้น พบในบางพื้นที่ของหินทราย เนื่องจากชั้นตะกอนของหินที่ทับถมมีสมบัติคงทนต่อการสึกกร่อนแตกต่างกัน บางชั้นมีความทนทานได้ดีต่อการกัดกร่อนโดยน้ำหรือลมแล้วแต่กรณี ในกรณีที่การสึกกร่อนเกิดจากน้ำ เมื่อน้ำซึมผ่านตามร่องหินจะทำให้หินแตกร้าวโดยธรรมชาติ ส่วนของหินที่ไม่แข็งแกร่งจะสลายตัวไปรวดเร็วกว่าส่วนที่แข็งแกร่ง ทำให้เกิดหน่อหินรูปร่างแปลกๆ หากหินชั้นบนมีความทนทานกว่าหินชั้นล่าง จะก่อให้เกิดการสึกกร่อนที่มีรูปร่างคล้ายดอกเห็ด ซึ่งเรียกว่า แป้นหินรูปเห็ด (Mushroom rock) ในประเทศไทยพบลักษณะภูมิสัณฐานย่อยเช่นนี้อยู่หลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อุทยานประวัติศาสตร์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เขาเฉลียง ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนการสึกกร่อนที่เกิดจากลมนั้นส่วนใหญ่พบบริเวณที่แห้งแล้งในทะเลทราย เนื่องจากมีลมพัดแรงซึ่งจะหอบเอาละอองทรายผ่านไปตามรอยแตกร้าวของหิน จะขัดสีหินให้สึกกร่อนเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามความแรงของลมและความทนทานของชั้นหิน (ราชบัณฑิตยสถาน,2549) เช่น เสาหินในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นทะเลทรายในทวีปแอฟริกาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกและเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง จึงพบเสาหินลักษณะนี้กระจายอยู่ทั่วไป


ที่มาข้อมูล กลุ่มอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว