โรคไข้เลือดออก

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'ไข้เลือดออกมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 ชน…')

รุ่นปัจจุบันของ 05:09, 25 ตุลาคม 2554

ไข้เลือดออกมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 ชนิดคือ เดงกี-1 ถึง เดงกี-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไวรัสเดงกีไปยังผู้อื่นได้หลังจากยุงลายดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสและไปกัดคนอื่น


อาการของผู้ป่วย

ในปัจจุบันอายุของผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่ที่มีอายุไม่มากนัก ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟัน และอาจพบเลือดออกในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสม่าออกจากเส้นเลือดทำให้เกิดภาวะเลือดข้น และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกมี 3 ระยะคือ

  1. ระยะไข้สูง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงนาน 3-7 วันและมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ พบอาการชักได้ในเด็กเล็ก จะมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มักไม่มีอาการของหวัดชัดเจน มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟัน และอาจพบเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  2. ระยะวิกฤติ เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ลดลง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสม่าออกจากเส้นเลือดทำให้เกิดภาวะเลือดข้น และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบาลง มีความดันโลหิตต่ำ ซึ่งมีความจำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
  3. ระยะพักฟื้น เป็นระยะที่ผู้ป่วยหายจากโรค ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจลดลง อาจมีผื่นแดงขึ้นโดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้าง

การวินิจฉัยไข้เลือดออกอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือดซึ่งจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวและจำนวนเกร็ดเลือดลดลง กรณีที่มีการรั่วของพลาสม่าจะมีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นและตรวจพบน้ำในเยื่อหุ้มช่องปอด การตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออกจริงมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางราย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม


การรักษา

โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะในระยะแรกของโรค ควรเช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สารน้ำที่แนะนำได้แก่ น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำที่มีสีแดงหรือสีดำ เนื่องจากกรณีผู้ป่วยอาเจียนอาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้


สำหรับผู้ป่วยที่ขาดน้ำอย่างมาก มีภาวะช็อกซึ่งจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยเร็ว


การป้องกัน

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีทำได้โดยการปราบยุงและลูกน้ำยุงลาย หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดโดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและใช้ยากันยุง ควรรณรงค์การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะใส่น้ำให้กำจัดโดยใส่ทรายอะเบต และที่สำคัญคือ การทิ้งหรือทำลายภาชนะขังน้ำที่ไม่ได้ใช้


วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นอีกทางออกหนึ่งในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันวัคซีนอยู่ในขั้นทดลองใช้และพบว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง คาดว่าจะมีการนำวัคซีนมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้


ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงและดูแลโดย : รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครื่องมือส่วนตัว