ยาลดไข้
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ หรือยาแก้ปวด ที่นิยมใช้กันในปัจ…')
แตกต่างถัดไป →
การปรับปรุง เมื่อ 06:55, 25 ตุลาคม 2554
ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ หรือยาแก้ปวด ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เป็นชนิดที่เรียกว่า พาราเซตามอล โดยอาจเป็นเม็ดขาวกลมแบนหรือเม็ดขาวรียาว อยู่ในแผง แผงละสิบเม็ด เม็ดละ 500 มิลลิกรัม แม้จะมีเม็ดเล็กขนาด 325 มิลลิกรัม แต่ไม่นิยม อาจมีชื่อยี่ห้อต่าง ๆ เช่นไทลินอล ซารา เป็นต้น แต่ชื่อจริงคือ พาราเซตามอล เรียกกันทั่วไปว่า พารา
สำหรับเด็กเล็ก จะเป็นรูปแบบยาน้ำเชื่อมหรือยาแขวนตะกอน ขนาด 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา (5 มิลลิกรัม) ต้องดูให้ดี ๆ เพราะมีขนาดสำหรับเด็กโต จะเป็นขนาด 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา คือแรงกว่าสองเท่า สำหรับเด็กเล็กจะมียาอีกรูปแบบคือเป็นยาน้ำเชื่อมขวดจิ๋วแต่เข้มข้นกว่า เพราะกินแบบใช้หลอดหยด เพื่อป้อนได้ง่าย
สรรพคุณยา
ใช้ลดไข้ ตัวร้อน หรือ บรรเทาอาการปวดเช่นปวดศีรษะ ปวดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
ปริมาณยาที่เหมาะสม
ผู้ใหญ่
- รับประทานครั้งละ 1 – 2 เม็ด (500-1000 มิลลิกรัม) ทุก 4 – 6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด การจะกิน หนึ่งหรือสองเม็ด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และน้ำหนักตัวของผู้กิน แต่เริ่มจาก 1เม็ด ก็ไม่ผิด การจะซ้ำยาเมื่อไหร่ หมายถึงยานี้จะหมดฤทธิ์ในประมาณ 4-6ชั่วโมง ถ้าอาการไม่หายเราจะกินซ้ำได้หลังจากสี่ชั่วโมงขึ้นไป จนถึงหกชั่วโมง ถ้ามีอาการอีก หรือจะไม่กินก็ได้ถ้าทนอาการได้
เด็ก
- ให้ขนาดยาตามน้ำหนักตัว รับประทานครั้งละ 10 – 15 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม รับประทานทุก 4 – 6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ไม่เกินวันละ 22 ช้อนชา (120 มิลลิกรัม หรือ 2 ขวด)
- ขนาดโดยประมาณ สำหรับยาน้ำเชื่อมขนาด 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา
- อายุ 3 ถึง 5 เดือน รับประทานครั้งละ ครึ่งช้อนชา
- อายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี รับประทานครั้งละครึ่ง - 1ช้อนชา
- อายุตั้งแต่ 1 – 5 ปี รับประทานครั้งละ 1 - 2 ช้อนชา
- อายุตั้งแต่ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 2 - 4 ช้อนชา
- ใช้ยาซ้ำ เฉพาะเมื่อมีอาการปวด หรือ มีไข้ ได้ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
คำเตือน
- ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันทุกวัน ในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ในเด็กไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เนื่องจากมีอันตรายต่อตับ หากยังมีอาการปวด หรือมีไข้สูงเกินกว่า 3 วันควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับ หรือไตบกพร่องควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงและดูแลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา