ยาใส่แผล

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'เมื่อมีบาดแผลเลือดไหล ก่อนอื่นต้องทำการห้ามเลื…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:27, 25 ตุลาคม 2554

เมื่อมีบาดแผลเลือดไหล ก่อนอื่นต้องทำการห้ามเลือดให้หยุดไหลก่อน จากนั้นจึงทำความสะอาดแผลและใส่ยารักษาแผล


การล้างแผล

การล้างแผลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแผลสด แผลพุพอง หรือแผลอักเสบ จะช่วยให้แผลสะอาด เป็นการฆ่าเชื้อโรคและทำให้ยาอื่นที่จะทาต่อไปถูกดูดซึมได้ดี อาจล้างแผลด้วยวิธีต่อไปนี้ ได้แก่

  • สบู่
ทุกกรณีควรเริ่มจากการใช้สบู่ฟอกทำความสะอาด แล้วล้างแผลด้วยน้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อโรค ในกรณีฉุกเฉินแม้กระทั่งสบู่ก็หาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสะอาด เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อน
  • น้ำเกลือสำหรับล้างแผล
เตรียมใช้เองได้ โดยนำเกลือแกงที่เราใช้ทำกับข้าว 1 ช้อนโต๊ะหรือ 3 ช้อนชา ผสมน้ำสะอาด 1 ลิตร ต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ทิ้งให้เย็น นำไปล้างแผล ควรใช้ให้หมดภายใน 7 วัน และทำฉลากระบุวันที่เราเตรียมไว้ด้วย
  • ด่างทับทิม
การใช้ด่างทับทิม ให้ละลายผงยา 2-3 เกล็ดในน้ำสะอาดจนได้น้ำสีชมพูอ่อน นำไปชำระล้างแผล ด่างทับทิมที่เข้มข้นมากเกินไปจะทำให้เนื้อไหม้และตกสะเก็ดได้
  • น้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.3%
เป็นยาน้ำซึ่งเมื่อถูกแผลผิวหนังจะแตกตัวเป็นฟองออกซิเจน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคจำพวกเชื้อบาดทะยัก เหมาะสำหรับการทำความสะอาดแผลลึกที่มีสิ่งสกปรกอยู่ด้านใน แผลหมักหมม แผลเน่าเปื่อย หากใช้แล้วไม่มีฟองฟู่แสดงว่ายาเสื่อม
  • แอลกอฮอล์
การใช้จะไม่ใช้ล้างตรงๆที่บริเวณแผลเหมือนน้ำยา 3 ตัวข้างต้นแต่จะใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผล ถ้าเช็ดตรงบริเวณแผลจะแสบและระคายเคืองมากและทำให้แผลหายช้า


ยาใส่แผล

หลังจากล้างแผลแล้ว ต่อไปคือการใส่ยาที่แผล ควรเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับชนิดของแผล ข้อควรระวังคือ การเลือกยาใส่แผลให้เด็กอ่อน ควรเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยที่สุด ได้แก่


  • ทิงเจอร์ไอโอดีน ข้อควรระวังในการใช้คือ :
  1. อย่าใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนกับผิวหนังอ่อนนุ่ม เช่นบริเวณหน้า ตา เยื่ออ่อนๆ อวัยวะสืบพันธุ์ และผิวหนังของเด็กเล็ก
  2. คนที่แพ้ยานี้จะทำให้เกิดผื่น ให้หยุดใช้ยา
  3. ห้ามใช้สำลีชุบยาปิดแผลไว้
  4. ทิงเจอร์ไอโอดีนที่เก็บนานเกินไป ไม่ควรนำมาใช้เพราะแอลกอฮอล์ที่ผสมอาจระเหยไปมาก จนทำให้น้ำยาเข้มข้นขึ้นมาก ทำให้ระคายเคืองแผล


  • ยาแดง (เมอร์คิวโรโครม 2%) ข้อควรระวังในการใช้คือ :
  1. ทาแล้วผิวหนังจะติดสีแดง
  2. ในคนที่แพ้จะเกิดเม็ดน้ำใส หรือผื่นคันให้หยุดใช้ทันที
  3. การใช้ยานี้จำนวนมากๆ และนานๆอาจเกิดพิษจากปรอทได้
  4. เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน


  • ทิงเจอร์ไธเมอโรซอล(Thimerosal Tincture) ข้อควรระวังในการใช้คือ :
  1. ไม่เหมาะกับเด็กอ่อน เพราะอาจทำให้ระคายเคือง
  2. ถ้ามีอาการระคายเคือง หรือผื่นแพ้เกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยา
  3. เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน


  • โพวิโดน ไอโอดีน(Povidone Iodine)

เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดขนานหนึ่ง ใช้ทาแผลทั่วไป และแผลไฟไหม้ โดยยานี้จะปลดปล่อยไอโอดีนออกมาอย่างช้าๆทำให้ไม่ระคายเคือง หรือเปรอะเปื้อนผิวหนัง และไม่มีกลิ่น


การปิดแผล

เมื่อทำความสะอาดและใส่ยาแผลแล้ว หากเป็นแผลเปิดควรใช้ผ้าก๊อซปิดทับบาดแผลไว้ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ไม่ให้แผลสกปรกและติดเชื้ออีก แต่ไม่ควรปิดแน่น เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่แผลได้ และทำความสะอาดแผลสม่ำเสมอจนกว่าแผลจะหาย ถ้าโดนน้ำจะหายยาก



ผู้รับผิดชอบบทความ : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงและดูแลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา

เครื่องมือส่วนตัว