พื้นเพเปลี่ยนผัน ผู้คนซมซาน ในงานของเจี่ยฉางเค่อ ภาค 1
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' == สองชาติบนเส้นขนานประวัติศาสตร์ == ฮังการีและโป…')
แตกต่างถัดไป →
การปรับปรุง เมื่อ 11:26, 25 เมษายน 2555
สองชาติบนเส้นขนานประวัติศาสตร์
ฮังการีและโปแลนด์เคยทั้งร่วมหัวจมท้ายและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาในหน้าประวัติศาสตร์ แล้วปรมาจารย์ภาพยนตร์ทั้งสองชาติมองอดีตอันสมบุกสมบันเหล่านั้นผ่านงานภาพยนตร์ด้วยรูปแบบและโลกทัศน์เช่นไร
ประวัติศาสตร์บนเส้นขนาน(A parallel history of two nations)
"โปล ฮังกาเรียน บ้านพี่เมืองน้อง/มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน" ภาษิตเก่าแก่ตกทอดปากต่อปากอยู่ในภาษาของสองชาติ แม้จะน้อยถ้อยด้อยคำแต่อัดแน่นด้วยอารมณ์และประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ที่เปรียบดั่งสายใยเชื่อมโยงชาติใจกลางยุโรปทั้งสองนี้ไว้ด้วยกันตราบนานเท่านาน ยากจะหารัฐชาติคู่ใดล้มลุกคลุกคลานผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกันมาในประวัติศาสตร์ดังเช่นฮังการีและโปแลนด์
ความพ้องพานและผิดแผกที่ฮังการีและโปแลนด์พานพบบนทางขนานของประวัติศาสตร์นับเป็นผ้าใบผืนเยี่ยมแก่การรองรับผลงานจากศิลปินเอกของสองชาติ มิโคลส แยนโช(Miklós Jancsó) และ อันเดรส วาดา(Andrzej Wajda) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำผลงานภาพยนตร์จากฝ่ายละ 2 เรื่องมาเปรียบประกบกันเป็นคู่ ๆ อันได้แก่ Szegénylegények (The Round-up, ค.ศ.1965) และ Csillagosok, katonák(The Red and the White, ค.ศ.1967) ของแยนโช กับ Kanał (งาน ค.ศ.1956) และ Popiół i diament (Ashes and Diamonds, งานค.ศ.1958) ของวาดา แต่ก่อนจะเข้าเรื่องหนังควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไว้เป็นแนวทาง
ฮังการีและโปแลนด์ตั้งมั่นเป็นอาณาจักรปกครองตนเองในเวลาไล่เลี่ยกันในศตวรรษที่ 10 โดยสวามิภักดิ์ต่อคริสตจักรเพื่อสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากชาติอื่น ๆ ครั้นปลายยุคกลางอาณาจักรทั้งสองตกที่นั่งเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับชนเผ่านอกรีตด้านใต้และทางตะวันออก ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญการโจมตีจากทัพมองโกล แถมยังมีพวกเติร์กคอยรุกราน
ในยุคเรอเนอซองส์ ฮังการีผนึกกำลังกับโปแลนด์เป็นพันธมิตรทางการเมืองอันทรงพลานุภาพ ราชวงศ์ยากีโลเนียน(Jagiellonian dynasty)ขยายเขตอิทธิพลพันธมิตรแกนคู่จรดทะเลบอลติกทางทิศเหนือ และจรดทะเลดำทางทิศใต้ผงาดขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ที่สุดในยุโรปอยู่ร่วมสองร้อยปี พลเมืองอันมีทั้งเชื้อชาติสลาฟ ฮังกาเรียน โรมาเนียน มอลดาเวียน เยอรมัน และ ชนเผ่ามุสลิม ต่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้เสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจอันแข็งแกร่ง รวมถึงขันติธรรมในการนับถือศาสนา หลังสิ้นราชวงศ์มีการเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบราชาธิบดีและประวัติศาสตร์มีอันกลับตาลปัตร เพราะตำแหน่งกษัตราธิราชองค์สุดท้ายกลับตกเป็นของ เจ้าชายสเตฟาน(อิสวาน) โบทารี(Stefan (István) Batory) หน่อเนื้อของราชวงศ์ฮังการี
ล่วงเข้าคริสตศตวรรษที่ 17 กลียุคและความพินาศก็มาเยือน ยุโรปตอนกลางอ่อนแอลงเป็นลำดับ ไหนจะมีศึกติดพันอยู่กับรัสเชีย ชาวนายูเครนก็ลุกฮือไม่รู้จักหยุดหย่อน การแผ่อิทธิพลสู่ตะวันตกของพวกเตอรกีก็มีผลลามมาจนถึงแถบนี้ ช่วง ค.ศ.1659 - 65 ชนเผ่าสวีดิชก็รณรงค์เพื่อปลดแอกตนเอง โปแลนด์ตกที่นั่งหัวเดียวกระเทียมลีบ แต่ฮังการีตกระกำลำบากสาหัสกว่าหลายเท่า ไล่ตั้งแต่ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกอ็อตโตมันเติร์ก ตามด้วยความย่อยยับจากน้ำมือออสเตรียและต้องอยู่ใต้แอกราชวงศ์แฮบสเบิร์กตั้งแต่นั้นมา ฮังการีและโปแลนด์สิ้นชื่อไปจากแผนที่ภูมิศาสตร์การเมืองของยุโรปพร้อมกับคริสตศตวรรษที่ 18 ฮังการีมีฐานะเหลือเพียงเป็นจังหวัดเล็ก ๆ กระหนาบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ภายใต้ร่มธงจักรวรรดิออสเตรีย ส่วนโปแลนด์ถูกเฉือนเป็นสามเสี้ยว แยกไปอยู่ใต้อำนาจของรัสเซีย ปรัสเซีย และ ออสเตรีย ฐานภาพทั้งสองชาติตกต่ำแทบเลือนหายจากหน้าประวัติศาสตร์ตลอดยุคมืด ถึงคริสตศตวรรษที่ 19 สงครามนโปเลียนมาปลุกความหวังให้เรืองรองก็จริง แต่ก็นำความย่อยยับมากกว่าหลายเท่ามาด้วย แถมยังทิ้งปัญหาค้างคาหมักหมมต่อไป การลุกฮือกู้ชาติหลายต่อหลายครั้งจบลงด้วยการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด มีเพียงอิสรภาพชั่วครู่ชั่วยามอันเป็นผลจากความผันผวนของสถานการณ์ทางการเมืองเป็นน้ำทิพย์ชุบชูจิตใจ แม้มีการอภิวัฒน์ "มวลชนแห่งฤดูใบไม้ผลิ"มาจุดประกายความหวังแต่ก็จบลงด้วยความหดหู่ แต่สถานการณ์ก็สร้างวีรบุรุษผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งชาวโปลและฮังกาเรียนขึ้นมาหนึ่งราย คือ นายพลโยเซฟ เบม(Józef Bem) ผู้นำกองกำลังกู้ชาติชาวโปลซึ่งหลบหนีการปราบปรามจากฝ่ายนิยมซาร์แห่งรัสเซียออกจากวอร์ซอวภายหลังการก่อหวอดใน ค.ศ.1831 ในกาลต่อมานายพลเบมผู้นี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงโค่นล้มลายอส คอสซูท(Lajos Kossuth)ลงจากบัลลังก์อำนาจเหนือบูดาเปสต์ อ่านทั้งหมด
การอ้างอิงประวัติศาสตร์แบบวัวพันหลัก(The centrifugal axis of historical reference)
ระดับความเข้าใจต่อบริบททางสังคมวิทยา-การเมือง(socio-political context)ของผู้ชมและการกรองเก็บสาระสำคัญถือเป็นหนึ่งในปัญหาพื้นฐานในการรับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศเล็ก ๆ หรือไม่เป็นที่รู้จัก พอมีการอ้างถึงชาติหรือประเทศ คนส่วนหนึ่งจะด่วนเหมาว่าต้องเป็นเรื่องตามพงศาวดารหรือไม่ก็พลิกผันเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการปกป้องมาตุภูมิ การตั้งป้อมเช่นนี้ไม่อยู่ในขอบเขตการประยุกต์เข้ากับงานที่จะยกมากล่าวถึง เพราะทั้งฮังการีและโปแลนด์ไม่ถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจ หรือทรงอิทธิพล อีกทั้งเหตุการณ์ในต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ที่เป็นฉากหลังในงานของแยนโชและวาดาก็ล้วนแล้วแต่ยากจะจับต้นชนปลาย เหมือนจับพลัดจับผลูอุบัติขึ้น ณ ชายขอบของมรสุมทางการเมืองที่โหมกระหน่ำยุโรปอยู่
จากลักษณะร่วมประการหนึ่งของหนังทั้ง 4 เรื่อง ที่จะกล่าวถึงข้างหน้า อันได้แก่ การกล่าวถึงปมขัดแย้งชนิดไฟสุมขอนในดินแดนไกลปืนเที่ยงโดยมีความขัดแย้งระดับโลกห่อหุ้มอยู่เพียงหลวม ๆ ดังนั้น การบ่มเพาะสำนึกต่อสภาวะไร้ที่พึ่ง ไร้การเหลียวแลและอยู่นอกสารบบยุทธศาสตร์ของพื้นที่ชายขอบ โดยอาศัยการเคลื่อนครอบกรอบอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ถึงสองชั้น(จากระนาบเวทีโลกสู่ระนาบภายในประเทศ และจากระดับประเทศสู่เหตุขัดแย้งในท้องถิ่น)จึงเป็นเรื่องน่าสำรวจศึกษายิ่ง การสังเคราะห์รูปการเล่าขึ้นจากลักษณะเสมอจริง และสัญลักษณ์นามธรรม(synthesis of extreme realism and symbolic abstraction)ของหนังประสบก็ความสำเร็จน่าชื่นชม แต่ก่อนจะเจาะลึกสู่เส้นทางลำเลียงทวนสัญญาณผังความคิด(system of thematical distancing)ในหนังทั้งสี่เรื่อง สมควรทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของหนังทั้งสี่เรื่องเสียก่อน อ่านทั้งหมด
ดักดานตราบลมปราณหาไม่ (The centripetal descent into death)
(Kanał, 1957 และ Szegénylegények, 1965)
[1] โครงสร้างการเล่าและการหล่อหลอมตัวละคร
ผลงานของแยนโชและวาดาโดยภาพรวมเข้าข่ายเป็นงานแนวคิดอัตถิภวนิยมก็จริง แต่ในบางแง่มุม แก่นความคิดวัวพันหลักในสุดยอดงานประวัติศาสตร์ของผู้กำกับทั้งสองก็ออกฤทธิตัดตอนหนังมิให้เจริญไปเป็นงานมหากาพย์ และเน้นรายละเอียดจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานด้วยสายตาเป็นกลาง จากการสำรวจข้อปลีกย่อยในงานของวาดาและแยนโชเพื่อวางกรอบการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า ในท่ามกลางความแตกต่างมากหลาย ก็ยังมีความเหมือนบางเสี้ยวโผล่ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าจนพอจะถือเป็นจุดยืนร่วมกันของผู้กำกับทั้งสอง การจำแนกตัวละครเอกในงานภายใต้แก่นความคิดว่าด้วย"ปุถุชนผจญคลื่นประวัติศาสตร์"มีด้วยกันหลายตำรับและจัดแบ่งไว้หลายจำพวก แต่ส่วนใหญ่แล้วตัวเอกเหล่านี้มักเป็นประเภทปลาว่ายทวนน้ำ ทรนงในศักดิ์ศรี ไม่ก็ยึดมั่นในมนุษยธรรม ในการเดินเรื่องผ่านตัวละครจำพวกนี้ มักมีโครงสร้างการเล่าเพื่อฉายภาพสัตว์พยศหนีการไล่ล่าสุดชีวิตคอยเป็นใจ โดยที่สัตว์พยศนั้นยังพร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลกกับพันธกิจที่หมดความหมายไปแล้ว โลก ของ Kanał และ Szegénylegények มีสภาพเหมือนกับดับและป่าเถื่อน ชื่อหนัง Szegénylegények นั้นมีความหมายว่า คนสิ้นหวัง ตัวละครเอกจะค่อย ๆ สูญเสียศรัทธาไปเรื่อย ๆ และได้แต่ทู่ซี้พาตัวเองรนหาที่ตายในกับดักไร้ปราณีของประวัติศาสตร์ พัฒนาการคู่ขนานดังกล่าวถือเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการฉายภาพเทียบแย้ง นอกจากนี้แล้วหนังทั้งสองเรื่องยังมีส่วนคล้ายกันอีกหลายประการ ได้แก่
ประการแรก ตัวชูโรงในหนังทั้งสองเรื่องเป็นกลุ่มบุคคล เพศชาย ไม่มีใครโดดเด่นเหนือใครไม่ว่าในแง่ท่าทีการบรรยายสรรพคุณ หรือความถี่ในการปรากฏตัวบนจอ แม้ว่าใน Kanał จะมีการระบุชั้นยศสายบังคับบัญชาในหมู่โปลดำดินไว้ชัดแจ้ง ขณะที่ใน Szegénylegények ของแยนโชนั้น ไม่มีการแจกแจงว่าในกลุ่มชาวค่ายกักกันด้วยกันใครเป็นหมู่ใครเป็นจ่า แต่จะเน้นให้เบาะแสผ่านเหตุกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มนักโทษกับผู้คุมเป็นหลัก
ประการที่สองกลุ่มบุคคลดังกล่าว กลุ่มหนึ่งถูกตัดหางปล่อยวัดอีกหนึ่งก็ถูกจองจำ ทั้งโปลดำดินในท่อระบายน้ำและกบฏฮังกาเรียนในค่ายกักกันทางทหารแห่งหนึ่งบนผืนที่ราบใหญ่(puszta)ต่างตกอยู่ในวงล้อมอันแข็งแกร่งและเจนจัดจากฝ่ายข้าศึกและต้องต่อกรกับแสนยานุภาพเหนือกว่าหลายขุมของปรปักษ์ เหมือนไม้ซีกงัดไม้ซุง หนังทั้งสองเรื่องใช้ภาพท้องทุ่งกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา และเปลวเพลิงลุกท่วมกรุงวอร์ซอวเพื่อบอกใบ้สภาวะจนตรอกเชิงนามธรรม ต่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญญาออกจากท่อระบายน้ำ หรือฝ่ากำแพงคุกไปได้ ก็ยังมีกับดักธรรมชาติจากภูมิศาสตร์รอเล่นงานอยู่อีกด่าน เพราะคงไม่รู้ที่ไป หรือที่กบดาน และก็คงจะไม่อาจตระเตรียมอุปกรณ์ยังชีพได้เพียงพอ
ประการที่สาม สภาพปิดล้อมข้างต้นได้บ่มเพาะรูปแบบของการเอาชนะคะคานกันด้วยเล่ห์เหลี่ยมและกติกาไม่เป็นธรรม ฝ่ายหนึ่งแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง พวกเขารวมตัวกันไม่ติด หวาดระแวง กระเสือกกระสนอยู่ในความมืด โดยมีฝ่ายผู้ชนะคอยชักใย ขุดหลุมพราง และคุมเชิงรอให้อีกฝ่ายเดินหมากชีวิตพลาด นอกจากนี้ก็จะเป็นบทบาทของรูปทรงหรือลายเส้นโค้งคดในหนัง สภาพเลี้ยวลดวกวนของแนวอุโมงค์ระบายน้ำอันเลี้ยวลดวกวนเล่นงานฝ่ายถอยร่นใน Kanał งงเป็นไก่ตาแตกไปตามกัน พวกเขาคลำทางกันหัวซุกหัวซุน สุดท้ายก็กลับมายังจุดเดิม เหมือนตกอยู่ในเขาวงกต รูปวงกลมยังมีให้เห็นชินตาจาก ภาพนักโทษถูกตีตรวนพ่วงไว้ด้วยกันลากสังขารเป็นวงกลมในพื้นที่สี่เหลี่ยมของแดนในกิจวัตรตรวจนับนักโทษ การยืนเรียงเป็นวงกลมรูปลักษณ์ดังกล่าวยังประหวัดนัยถึงการล้อมวงเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงอีกด้วย หากไม่นับความพ้องพานของแก่นอันเป็นขุมพลังคอยบัญชากลไกการเล่าดังกล่าวมาแล้ว หนังทั้งสองเรื่องก็เป็นคนละเรื่องกันจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง และการขึ้นรูปบุคลิกตัวละคร งานของแยนโชคลี่คลายเรื่องเป็นเส้นตรงในทิศทางเดียวจนจบ มีลำดับเป็นขั้นเป็นตอนตกทอดถึงกัน อัตราเร็วและจังหวะก็คงเส้นคงวา ดังจะเห็นได้จาก หนังเปิดเรื่องด้วยการประหารผู้ต้องขังหนึ่งราย และปิดฉากด้วยการสังหารหมู่ ส่วนวาดากลับเล่าความเป็นไปและเป็นมาจากสองมุมมองควบขนานกันไป แม้ว่าวิกฤติการณ์ของหนังจะตั้งเค้าตั้งแต่ทหารโปแลนด์ยอมมุดหัวลงท่อระบายน้ำหวังตัดแนวรบฝ่ายเยอรมัน แต่มีการเล่าถึงวีรกรรมของกองกำลังโปลบนภาคพื้นดินขณะปักหลักสู้ท่ามกลางซากป่นปี้ของเมืองเพื่อป้องกันฐานที่มั่นไว้จากการบุกสายฟ้าแลบของเยอรมัน อ่านทั้งหมด