ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาตามแนวคิดของเพียเจต์
จาก ChulaPedia
(ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์)
รุ่นปัจจุบันของ 18:25, 21 สิงหาคม 2555
เนื้อหา |
งานวิจัย
ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์ที่มีผลต่อความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียนประถมศึกษา
THE EFFECTS OF PHYSICAL EDUCATION LEARNING MANAGEMENT USING FOOTBALL ACTIVITIES BASED ON PIAGET’S THEORY ON SELF-DISCIPLINE OF PRIMARY SCHOOL STUDENTS
ผู้วิจัย
นายจักริน ด้วงคำ นิสิตระดับปริญญามหาบัญฑิต
สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.จินตนา สรายุทธพิทักษ์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเอง ก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผลของกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลแบบปกติ 2) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเอง หลังการทดลองและระยะติดตามผลระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 60 คนของโรงเรียนวิชากร กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นนักเรียนกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน และนักเรียนกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์ 8 แผนการจัดการเรียนรู้ แบบวัดความมีระเบียบวินัยในตนเองและแบบบันทึกความมีระเบียบวินัยในตนเองโดยการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนด้วยค่า”ที”และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวชนิดวัดซ้ำ ทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ่
ผลการวิจัยพบว่า
1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียนกลุ่มทดลองและนักเรียนกลุ่มควบคุม หลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเอง หลังการทดลองและระยะติดตามของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุปผลการวิจัย
ผลของการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์ที่มีผลต่อความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียนประถมศึกษา สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองก่อนทดลอง หลังการทดลอง และระยะติดตามผลของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์และนักเรียนกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้กิจกรรมพลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลแบบปกติมีดังนี้
1.1 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียนกลุ่มทดลองหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองในรายด้านทั้ง 4 ด้านคือด้านความรับผิดชอบ ด้านความเชื่อมั่นในตนเอง ด้านความอดทน และด้านความเป็นผู้นำ หลังการทดลองและระยะติดตามผลของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
1.2 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียนกลุ่มควบคุมหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองในรายด้านคือด้านความรับผิดชอบ ด้านความเชื่อมั่นในตนเอง ด้านความอดทน หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ในด้านความเป็นผู้นำไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และระยะติดตามผลของนักเรียนกลุ่มควบคุมค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองในรายด้านทั้ง 4 ด้านคือด้านความรับผิดชอบ ด้านความเชื่อมั่นในตนเอง ด้านความอดทน ด้านความเป็นผู้นำสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองหลังการทดลองและระยะติดตามผลของนักเรียนกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์กับนักเรียนกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้กิจกรรมพลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลแบบปกติมีดังนี้
2.1 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองในรายด้านทั้ง 4 ด้านคือด้านความรับผิดชอบ ด้านความเชื่อมั่นในตนเอง ด้านความอดทน และด้านความเป็นผู้นำ หลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองระยะติดตามผลของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความมีระเบียบวินัยในตนเองในรายด้านคือด้านความรับผิดชอบ ด้านความอดทน และด้านความเป็นผู้นำ ของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ในด้านความเชื่อมั่นในตนเองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ทางสถิติที่ระดับ .05
คำสำคัญ
แนวคิดการพัฒนาจริยธรรมของเพียเจต์ หมายถึง แนวคิดที่แบ่งระดับในการพัฒนาจริยธรรมดังนี้ ระยะที่1) ระยะที่เด็กยึดกฎเกณฑ์จากผู้อื่น (heteronymous) ช่วงอายุ 0-8 ปี เป็นระยะที่บิดามารดาและผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อเด็กใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอย่างชัดเจน เด็กจะนับถือความถูกผิด ความดีความไม่ดีในลักษณะตายตัว ระยะที่2) ระยะที่เด็กมีกฎเกณฑ์ของตนเอง (autonomous)เป็นระยะที่เด็กเริ่มพัฒนาจริยธรรมขึ้นสู่ความคิดเป็นของตนเอง ใช้เหตุผลโดยคำนึงถึงความยุติธรรม และพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำด้วย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นดังนี้ 1)ขั้นเล่นตามลำดับ 2)ขั้นตนเองเป็นใหญ่ 3)ขั้นร่วมมือ 4)ขั้นเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์
การจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดของเพียเจต์ หมายถึง การจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลเป็นสื่อตามแนวคิดของเพียเจต์ประกอบด้วย 1) ขั้นเล่นตามลำดับ 2) ขั้นตนเองเป็นใหญ่ 3) ขั้นร่วมมือ 4) ขั้นเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์ ซึ่งผู้วิจัยได้นำแนวคิดการพัฒนาจริยธรรมของเพียเจต์มาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาทั้ง 5 ขั้นตอนการสอน คือ 1) ขั้นเตรียม 2) ขั้นพัฒนาสมรรถภาพทางกาย 3) ขั้นอธิบายสาธิตและฝึกปฏิบัติ 4)ขั้นนำไปใช้ 5)ขั้นสรุป
การจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลแบบปกติ หมายถึง วิธีการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาโดยใช้กีฬาฟุตบอล ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 5 ขั้นตอน คือ 1)ขั้นเตรียม 2)ขั้นพัฒนาสมรรถภาพทางกาย 3)ขั้นอธิบายสาธิตและฝึกปฏิบัติ 4)ขั้นนำไปใช้ 5)ขั้นสรุป
ความมีระเบียบวินัยในตนเอง หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการบังคับ ควบคุมตนเองทั้งทางด้านพฤติกรรม ความประพฤติไปในทิศทางที่ดี เหมาะสมตามที่มุ่งหวังไว้ด้วยตนเอง โดยปราศจากการบังคับเป็นไปด้วยความสมัครใจ รวมทั้งสามารถอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ความมีระเบียบวินัยสามารถวัดได้จากคุณลักษณะ4ด้านได้แก่ 1)ด้านความรับผิดชอบ 2)ด้านความเชื่อมั่นตนเอง 3)ด้านความอดทน 4)ด้านความเป็นผู้นำ
เอกสารอ้างอิง
ณัฐพร สุดดี. 2550. ฝึกระเบียบวินัยผ่านกิจกรรมพลศึกษา. วารสารครุศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 (กรกฏาคม-ตุลาคม): 115-123.
พยุงศักดิ์ สนเทศ. 2530. การปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรมในการสอนวิชาพลศึกษา. สารพัฒนา หลักสูตร 66 (กันยายน): 31-34.
พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์. 2553. ทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิมพา ม่วงศิริธรรม. 2544. ผลของการปรับพฤติกรรมทางปัญญาที่มีต่อความมีระเบียบวินัยในตนเองของนักกีฬา. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาพลศึกษา ภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มงคล แฝงสาเคน. 2545. การฝึกฟุตบอล. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์.
วรศักดิ์ เพียรชอบ. 2548. หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับ ปรัชญา หลักการ วิธีสอนและการวัดเพื่อประเมินทางพลศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วาสนา คุณาอภิสิทธิ์. 2539. การสอนพลศึกษา. กรุงเทพมหานคร: วิทยพัฒน์.
วิทยา เลาหกุล. 2545. เส้นทางสู่ชัยชนะ. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์:กรุงเทพมหานคร.
วิลาพัณย์ อุรบุญนวลชาติ. 2549. การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมตามแนวทางไตรสิกขาเพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต.2553. ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อภิวัฒน์ งั่วลำหิน. 2553. การจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้กิจกรรมกีฬาฟุตบอลตามแนวคิดพัฒนาจริยธรรมของโคลเบิร์กเพื่อพัฒนาความมีน้ำใจนักกีฬาของนักเรียนประถมศึกษา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Hurlock, E. B. 1984. Child Development. 6th . Singapore: McGraw-Hill.
Jersild, A.T. 1968. Child Psychology. Engle-wood Cliffs. Prentice-Hall.
Piaget, J. 1965. The Moral Judgement of the Child. New York: The Free Press.
Piaget, J. 1967. Six Psychology Studies. New York: Random House.