การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนกรณีศึกษา : ชุมชนตลาดล่าง ในเขตเมืองเก่าลพบุรี

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
54733046 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษ…')

รุ่นปัจจุบันของ 14:28, 5 กันยายน 2555

เนื้อหา

การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา : ชุมชนตลาดล่าง ในเขตเมืองเก่าลพบุรี

ไฟล์:TaladLang.jpg ไฟล์:Sajjavess.JPG


โดย นาย กิตติพงษ์ ล้ออุทัย

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร. ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ

วิทยานิพนธ์นี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก "ทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์สำหรับนิสิต" จากบัณฑิตวิทยาลัย

บทนำ

ปัจจุบันการอนุรักษ์มรดกประเภทชุมชนประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจมากขึ้น และชุมชนตลาดล่าง ในเขตเมืองเก่าลพบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนเก่าแก่ที่กำลังริเริ่มดำเนินโครงการอนุรักษ์ โดยหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ศึกษาการวางแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าลพบุรี และระบุให้ชุมชนตลาดล่างเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี, 2555: 63) แสดงให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญและศักยภาพของชุมชนตลาดล่าง ที่เหมาะสมแก่การรักษาไว้ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2554 คณะกรรมการชุมชนได้จัดทำแผนชุมชน ของบประมาณจากทางเทศบาลเมืองลพบุรี เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และจัดกิจกรรมถนนคนเดิน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ (ชุมชนตลาดล่าง, 2554) งานวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวคิดในการอนุรักษ์ชุมชน โดยศึกษาถึงคุณค่าและความแท้ของสถานที่เป็นสำคัญ พร้อมกับเสนอเป็นแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้ชุมชนสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากการอนุรักษ์แล้ว โดยไม่ให้เกิดการทำลายหรือลดทอนคุณค่าและความแท้ของสถานที่ลง อีกทั้งมุ่งเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยความต้องการของชาวชุมชน และส่งเสริมโครงสร้างทางสังคมของชุมชนและบริบทแลดล้อม โดยมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการอนุรักษ์ชุมชน มุ่งเน้นการศึกษาคุณค่าและความแท้ของชุมชนตลาดล่าง เพื่อที่จะเสนอแนวคิดในการอนุรักษ์ที่จะคงคุณค่าและความแท้เหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงมีวัตถุประสงค์ชี้ให้ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนและชาวเมืองลพบุรีตระหนักถึงคุณค่าและความแท้ของมรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าแห่งนี้ให้รุ่งเรืองด้วยมรดกอันล้ำค่า และเจริญด้วยการค้าและการท่องเที่ยวควบคู่กันไป โดยที่ทั้งการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าและความแท้ของมรดก กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา

จากวัตถุประสงค์ในการศึกษาที่ต้องการวิเคราะห์คุณค่าและความแท้ของชุมชนตลาดล่าง จึงได้ใช้กรอบในการศึกษาคุณค่าและความแท้ของพิธีสารฮอยอันเพื่อการอนุรักษ์ที่ดีในเอเชีย (Hoi An Protocols for Best Conservation Practice in Asia) ซึ่งเป็นเอกสารที่ตีความและสังเคราะห์การประเมินคุณค่าและความแท้ของมรดกทางวัฒนธรรมประเภทต่าง ๆ จากเอกสารขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ออกมาเป็นการจำแนกมิติของความแท้ 4 ด้าน ดังนี้ (UNESCO, 2009: 8)

1. สถานที่และการตั้งถิ่นฐาน (Location and Setting) เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม การประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน 2. รูปทรงและการออกแบบ (Form and Design) เกี่ยวกับประเด็นทางกายภาพ เช่น วัสดุ การออกแบบ และที่ว่าง 3. การใช้งานและประโยชน์ใช้สอย (Use and Function) เกี่ยวกับการใช้งาน โครงสร้างทางสังคม วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และการแบ่งพื้นที่ใช้สอย 4. คุณค่าเชิงนามธรรม (Immaterial Quality) เกี่ยวกับอารมณ์ของสถานที่ การรับรู้ทางความรู้สึก กระบวนทัศน์ของสังคม

ประกอบกับใช้เกณฑ์ในการจำแนกคุณค่าด้านต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรมของเซอร์ เบอร์นาร์ด เฟลเดน (Sir Bernard Feilden) ที่แบ่งคุณค่าออกเป็น 3 ด้าน คือ (Feilden, 2003: 9)

1. คุณค่าด้านอารมณ์ (Emotional Values) ได้แก่ ความอัศจรรย์ (wonder), อัตลักษณ์ (identity), ความต่อเนื่อง (continuity), การเคารพนับถือ (respect and veneration) และคุณค่าทางด้านสัญลักษณ์และจิตวิญญาณ (symbolic and spiritual Values) 2. คุณค่าด้านวัฒนธรรม (Cultural Values) ได้แก่ คุณค่าเชิงความเป็นหลักฐาน (documentary), เชิงประวัติศาสตร์ (historic), เชิงโบราณคดีและอายุ (archeological and age), เชิงสุนทรียภาพและสถาปัตยกรรม (aesthetic and architectural), เชิงภูมิทัศน์เมือง (townscape), เชิงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (landscape and environmental) และเชิงเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (technological and scientific) 3. คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย (Use Values) ได้แก่ เชิงการใช้สอย (functional), เชิงเศรษฐกิจ อันรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย (economic including tourism), เชิงสังคม อันรวมถึงอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง (social including identity and continuity), เชิงการศึกษา (educational) และเชิงการเมือง (politic)

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาและปรากฏการณ์ศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ เรื่องอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของสถานที่ของคริสเตียน นอร์เบิร์ก-ชูลซ์ (Christian Norberg-Shulz) เควิน ลินช์ (Kevin Lynch) และเอ็ดเวิร์ด เรล์ฟ (Edward Relph), เรื่องภาพและองค์ประกอบของเมือง ของเควิน ลินช์ และเรื่องความต้องการทางจิตใจของมนุษย์ของอีริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) เพื่อประกอบการเข้าไปในพื้นที่และศึกษาถึงคุณค่าและความแท้ในเชิงนามธรรมต่าง ๆ

ประกอบกับการศึกษาถึงกรณีศึกษาถึงประเด็นด้านการอนุรักษ์ในเรื่องต่าง ๆ ผ่านชุมชนเก่าแก่ที่ด้รับการอนุรักษ์เรียบร้อบแล้ว เช่น ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการอนุรักษ์ชุมชนสามชุก จังหวัดสุพรรรบุรี ประเด็นเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการจัดการพื้นที่ริมน้ำในชุมนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น ข้อมูลทั่วไปและบริบทของชุมชนตลาดล่าง

ชุมชนตลาดล่างตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองเก่าลพบุรี ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นตลาดริมน้ำที่มีอายุร่วม 100 ปี สถานที่ตั้งของชุมชนตลาดล่างนั้นเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำลพบุรี บริเวณที่มีการบรรจบกันของลำน้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำลพบุรี, คลองระบายใหญ่ชัยนาท – ป่าสัก 3 หรือคลองบางขันหมาก และคลองคูเมืองสมัยทวาราวดี ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคลองชลประทานแล้ว เกิดเกาะตามธรรมชาติขึ้น ชื่อ เกาะแก้ว ซึ่งจากแผนที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกาะแก้วและพื้นที่ริมน้ำนั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น และปรากฏการรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังปรากฏพื้นที่ตลาดของเมืองทางด้านล่างของชุมชน (Bellin, 1764)

องค์ประกอบทางกายภาพที่สำคัญของชุมชนตลาดล่างนั้น ประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ ท่าน้ำ ถนนพระราม และอาคาร มีรายละเอียดและประวัติศาสตร์ดังนี้ ท่าน้ำ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของตลาดมีระดับต่ำกว่าพื้นที่บนถนนประมาณ 3 เมตร ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้า และเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัด ปัจจุบันท่าน้ำนี้คงเหลือไว้เพียงลานและซุ้มประตูบนถนน แต่ไร้ซึ่งกิจกรรมเช่นในอดีต ถนนพระราม เป็นถนนเลียบกำแพงเมืองในอดีต ยาวตั้งแต่ถนนประตูชัยทางทิศใต้ขึ้นไปจรดตลาดท่าโพธิ์ เป็นถนนที่ตัดผ่านกลางชุมชนตลาดล่าง และตลาดท่าขุนนาง มีจุดหมายตาระหว่างสองชุมชนคือ ศาลลูกศร ถนนพระรามแห่งนี้เคยเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญของเมืองเก่าลพบุรี ในส่วนของตลาดล่างนั้นถนนพระรามมีลักษณะแนวโค้งตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งทำให้เกิดคุณค่าด้านอื่น ๆ อีก อาคาร อาคารในชุมชนตลาดล่างแบ่งออกเป็น ตึกแถวก่ออิฐฉาบปูน ห้องแถวไม้ และบ้านพักอาศัยหลังชุมชนและริมน้ำ ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และยังแสดงให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของตลาด อาคารให้ในพื้นที่ถนนพระรามนั้น เป็นอาคารแถวสูง 2 ชั้นมีลักษณะองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สร้างความกลมกลืนในพื้นที่ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความหลากหลายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่ ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการค้าอันรุ่งเรืองในอดีต มีร้านค้าหลายร้านที่เปิดกิจการขายสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สินค้าเก่าแก่ที่โดดเด่นในพื้นที่ คือ เครื่องจักสาน จากร้านสิวะสถาน, ยาสมุนไพร จากร้านเทพประเสริฐโอสถและดีอันโอสถ, ร้านขายข้าวสาร เช่น ร้านวัฒนาพานิช และร้าน ต. รุ่งเรือง, ร้านขายของชำ คือ ร้านวิริโยวานิช 2, ร้านขายข้าวสารเก่าที่ปัจจุบันขายอาหารแห้ง และให้หน้าร้านของตนเป็นที่ตั้งร้านขายกล้วยทอดมันทอด คือ ร้านสัจจเวสส ตลอดจนร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างเก่าแก่ คือ ร้านสุทธิเวสส เป็นต้น สินค้าเหล่านี้นอกจากจะแสดงความสืบเนื่องทางการใช้งานของพื้นที่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลาง (node) ของพื้นที่ในอดีต ที่มีความหลากหลาย และบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองลพบุรีและอำเภอใกล้เคียง

การรวมตัวกันของชุมชนในการอนุรักษ์ และพัฒนาชุมชน

ชุมชนตลาดล่างมีการรวมตัวเป็นชุมชนเมื่อราว พ.ศ. 2530 (แป้น หมื่นปล้อง, สัมภาษณ์, 5 เมษายน 2555) โดยมีคณะกรรมการชุมชนเป็นตัวแทนชุมชนในการประสานงานกับภาครัฐ และทำหน้าที่สานสัมพันธ์ภายในชุมชน มีการจัดกิจกรรมงานทำบุญกลางบ้าน ให้ชาวชุมชนนำอาหารมาร่วมกันเลี้ยงพระในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 คณะกรรมการชุมชน ได้จัดกิจกรรมเวทีประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชนในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ โดยเรียกประชุมชาวชุมชนตลาดล่างเพื่อร่วมกันแสงดความคิดเห็น ซึ่งได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ห้องแถวและถนนพระราม รวมถึงรื้อฟื้นกิจกรรมการค้าขายในพื้นที่ โดยเสนอให้มีการจัดกิจกรรมตลาดนัดถนนคนเดินเพื่อฟื้นฟู และพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีการคำนึงถึงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ให้กับชาวชุมชนด้วย (ชุมชนตลาดล่าง, 2554)


การวิเคราะห์ความแท้ผ่านคุณค่าของสถานที่

“ที่นี่น่ะ มีบรรยากาศดี ห้องแถวแบบนี้เดี๋ยวนี้หาดูได้ยากแล้ว เป็นร้านรวงเก่าแก่ทั้งนั้น น่าจะเก็บรักษากันเอาไว้ และที่นี่ก็เคยเป็นที่ที่เจริญมากในสมัยก่อน ก็แน่นอน น่าจะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก็น่าจะมีคุณค่าอะไรบ้าง” (วิชัย จิโรจน์วงศ์, สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2554) จากคำกล่าวของผู้อยู่อาศัยในชุมชน จะเห็นถึงการตระหนักในคุณค่าของพื้นที่ชุมชนโดยตัวตลาดล่างเอง และเห็นถึงความต้องการในการรักษาคุณค่าเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป จึงเป็นที่มาของการศึกษาคุณค่าและความแท้ของสถานที่ อันจะทำให้เมื่ออนุรักษ์และพัฒนาชุมชนตลาดล่างแห่งนี้แล้ว คุณค่าและความแท้เหล่านั้นยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป และจากข้อมูลประวัติศาสตร์ การสัมภาษณ์ และการสำรวจพื้นที่ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์คุณค่าที่เป็นความแท้ของชุมชนตลาดล่าง ภายใต้กรอบแนวคิดของความแท้ โดยเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. ความแท้ด้านสถานที่และการตั้งถิ่นฐาน (Location and Setting) ความแท้ของสถานที่และการตั้งถิ่นฐาน สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเด็น คือ คุณค่าเชิงภูมิทัศน์ธรรมชาติและภูมิทัศน์เมือง และคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของชุมชน มีรายละเอียด คือ

-คุณค่าเชิงภูมิทัศน์ธรรมชาติและภูมิทัศน์เมือง ตลาดล่างเกิดขึ้นเป็นชุมชนและตลาด จากองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ แม่น้ำลพบุรี และถนนพระราม ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่อยุธยา และมีการตั้งถิ่นฐานทับซ้อน รวมถึงพัฒนาเป็นชุมชนตลาด ก่อนที่จะซบเซาลงจากความเจริญที่ขยายตัวออกจากแม่น้ำ ด้วยเพราะบทบาทหน้าที่ของแม่น้ำลพบุรี และถนนเลียบแม่น้ำสายนี้หมดลง

แม่น้ำลพบุรี เป็นแม่น้ำสายย่อยที่ไหลแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับมีคลองสายย่อยอีก 2 สาย คือ คลองบางขันหมาก ที่เชื่อมไปสู่แม่น้ำบางขาม และคลองคูเมือง ทำให้สามารถเดินทางติดต่อมายังชุมชนตลาดล่างได้สะดวก และนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ จึงดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ต่อมาเมื่อมีการสร้างโครงข่ายถนนและสะพาน รวมถึงการสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำวัดมณีชลขัณฑ์ จึงทำให้ชีวิตบนแม่น้ำสายนี้ตายลง (บุญญวัฒน์ ทิพทัส, 2546: 28)

ถนนพระราม เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ชุมชนตลาดล่างเกิดขึ้นเป็นชุมชนค้าขาย ในสมัยปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พื้นที่ตลาดค้าขายตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลลูกศร (Bellin, 1764 และวิชัย จิโรจน์วงศ์, สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2554) และได้ขยายตัวพื้นที่ตลาดมาตามแนวถนนพระราม ดังนั้นพื้นที่ตลาดจึงขยายมาสู่ตลาดล่าง และทำให้เกิดการใช้ท่าน้ำตลาดล่างเป็นท่าขนส่งสินค้าและเดินทางของผู้คน

นอกจากนี้องค์ประกอบทางกายภาพต่าง ๆ ของชุมชนตลาดล่างยังมีคุณค่าที่ส่งผ่านถึงภูมิทัศน์เมือง คือ เป็นชุมชนที่มีขนาดสัดส่วนเล็ก มีระยะถนนกว้าง 5 เมตร อาคารที่ตั้งอยู่ขนาบข้างสูง 2 ชั้น เช่นลักษณะของชุมชนในอดีต ซึ่งปัจุบันในพื้นที่เมืองเก่าลพบุรี หลงเหลือชุมชนที่มีขนาดและสัดส่วนนี้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

-คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน ชุมชนตลาดล่างเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าน้ำและตลาดสำคัญของเมืองเก่าลพบุรี ดังนั้นคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่จึงมีสูง ทั้งในเชิงการเป็นพื้นที่ค้าขายที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเชิงการเป็นที่ตั้งถิ่นฐานแรกของคนจีนแต้จิ๋วในเมืองเก่าลพบุรี ซึ่งเข้ามาประกอบกิจการค้าขายตามแนวถนนพระราม (วิชัย จิโรจน์วงศ์, สัมภาษณ์, 16 มกราคม 2555) ก่อนที่จะกระจายมาอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองเก่าส่วนที่เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมในปัจจุบัน

2. ความแท้ด้านรูปทรงและการออกแบบ (Form and Design) ความแท้ด้านรูปทรงและการออกแบบนั้นเชื่อมโยงเข้ากับคุณค่าด้านสุนทรียภาพและสถาปัตยกรรม จากการสำรวจพื้นที่ พบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ คือ ตึกแถวรูปแบบสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6, ตึกแถวรูปแบบสมัยใหม่-อาร์ตเดโก, ห้องแถวไม้ และบ้านพักพื้นถิ่นริมน้ำ มีรายละเอียดดังนี้

-ตึกแถวรูปแบบอิทธิพลศิลปะ-สถาปัตยกรรมตะวันตกในอดีต มี 2 อาคารได้แก่ร้านสัจจเวสส และร้านสิวะสถาน มีอายุประมาณ 85 ปี เป็นตึกก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น 4 คูหามีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นบริเวณกรอบประตู หน้าต่าง ชายคา และโครงสร้างต่าง ๆ ประตูบ้านยังคงเป็นประตูบานเฟิ้ยม ด้านบนดาดฟ้าทำเป็นระเบียงลูกกรง

-ตึกแถวรูปแบบสมัยใหม่-อาร์ตเดโก มีอายุประมาณ 50 – 60 ปี เป็นตึกแถวสมัยใหม่ 2 ชั้นแต่ยังคงมีการตกแต่งลวดลายที่ลดทอนลง และยังมีอาคารร้านดีอันโอสถ ที่มีการออกแบบรูปทรงอาคารที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงความเรียบง่ายแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

-ห้องแถวไม้ เป็นอาคารชุดที่เก่าแก่ที่สุดบนถนนพระราม มีอายุประมาณ 90 ปี เป็นห้องแถวไม้สูง 2 ชั้น มีการออกแบบที่คำนึงถึงการระบายอาคารโดยตีลูกกรงไม้เหนือกรอบประตูและหน้าต่าง การตีไม้ผนังใช้การตีไม้ตามนอน

-บ้านพักพื้นถิ่นริมน้ำ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำ เป็นอาคารยกเสาสูงเพื่อรับกับอุทกภัย ภายหลังมีการต่อเติมพื้นที่ชั้นล่างเพื่อใช้สอย มีการออกแบบที่คำนึงถึงการระบายอากาศ และใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นหลัก

นอกจากนี้รูปทรงและที่ว่างที่เกิดขึ้นตามแนวโค้งของถนนพระรามและแม่น้ำลพบุรี ยังทำให้เกิดการรับรู้ถึงสุนทรียภาพ ด้วยแนวโค้งของถนนที่สร้างความต่อเนื่องทางสายตา ทำให้รับรู้ถึงการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ของที่ว่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นเส้นทาง (path) อันจะสร้างบุคลิกและภาพของชุมชน รวมถึงภาพของเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (Lynch, 1960: 51-52)

3. ความแท้ด้านการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย (Use and Function) ความแท้ด้านการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยของชุมชนตลาดล่าง แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ คุณค่าด้านสังคม คุณค่าด้านเศรษฐกิจ และคุณค่าด้านการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้ -คุณค่าการใช้งาน ชุมชนตลาดล่าง มีพื้นฐานมาจากชุมชนอยู่อาศัย และเกิดการใช้งานที่เป็นท่าน้ำ จนพัฒนาเป็นตลาดของเมือง การใช้งานเป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้คนในชุมชน ทั้งที่อยู่อาศัยในบริเวณริมน้ำ และบริเวณห้องแถวบนถนนพระราม มีการอยู่อาศัยสืบทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ผู้คนในชุมชนจึงสนิทสนมกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สำหรับการใช้งานเป็นท่าน้ำนั้น ได้เลือนหายไปจากพื้นที่แล้ว แต่ยังคงปรากฏหลักฐานคือ ซุ้มประตูท่าน้ำข้างร้านสัจจเวสส และลานท่าน้ำด้านล่าง ซึ่งยังคงศักยภาพในการปรับปรุงให้กลับมีชีวิตได้อีกครั้ง ด้วยยังคงองค์ประกอบทางกายภาพดังกล่าว แต่การรื้อฟื้นกิจกรรมบริเวณท่าน้ำนั้นอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย สำหรับการใช้งานเป็นตลาด ชุมชนตลาดล่างยังคงเป็นดังที่เคยเป็นมาเช่นในอดีต แต่ความเจริญและการค้าขายที่คึกคักได้เบาบางลงจางพื้นที่ ร้านค้าเก่าแก่ต่าง ๆ เช่น ร้านขายเครื่องแกง ร้านขายของชำ ร้านขายข้าวสาร ร้านขายเครื่อง จักสาน และร้านขายยาสมุนไพร ยังคงแสดงศักยภาพและหน้าที่ในการเป็นตลาดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนชาวเมืองลพบุรี ประกอบกับการผสานของร้านค้าไหม่ในพื้นที่ เช่น ร้านเสริมสวย และร้านตัดเสื้อผ้า ซึ่งสร้างบุคลิกความหลากหลายให้กับตลาดโบราณแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น -คุณค่าด้านสังคม ชุมชนตลาดล่าง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการอยู่อาศัยมาเนิ่นนาน และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คุณค่าทางสังคมในพื้นที่จึงเป็นวิถีชีวิตของคนไทย ผู้คนจึงสนิทสนม มีมิตรไมตรีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น การให้ที่พักพิงแก่ชาวบ้านริมน้ำในช่วงที่เกิดอุทกภัย และการให้ชาวบ้านริมน้ำขึ้นมาขายอาหาร เช่น กล้วยทอด ขนมจีน และขนมครก บริเวณหน้าร้านสัจจเวสส สุทธิเวสส และเปิดร้านปะยางในซุ้มประตูท่าน้ำข้างร้านสัจจ-เวสส ซึ่งวิถีชีวิตในอดีตของชาวชุมชนก็คือ การมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งหาบเร่ขายสินค้าหน้าห้องแถวบนทางเท้า (แป้น หมื่นปล้อง, สัมภาษณ์, 24 กันยายน 2554) แสดงให้เห็นการเกื้อกูลกันของผู้คนในอดีต และควรค่าแก่การสืบทอดต่อไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสอดส่องระวังภัยให้กัน ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิสันถารพื้นฐานในสังคมมนุษย์ (Hall, 1959: 61-68) ที่สื่อให้เห็นได้จากการเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือ ผู้ที่เข้ามาเช่าอาศัยใหม่ หรือ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่บนแนวถนน หรืออยู่บริเวณริมน้ำ ก็จะระวังคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเมื่อวิถีชีวิตของชุมชนซบเซาลง ก็ทำให้เจ้าของห้องแถวบางส่วนย้ายถิ่นฐานออกไปนอกพื้นที่ แล้วให้ผู้คนจากภายนอกได้เข้ามาเช่าประกอบการค้า ประกอบกับการออกไปทำงานของบุตรหลานชาวชุมชนในพื้นที่ภายนอก ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนเริ่มที่จะเจือจางลง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนวัยทำงานและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผู้คนที่จะดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคมของชุมชนจึงเป็นที่สำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน ชาวชุมชนตลาดล่าง จึงมีการรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการสานความสัมพันธ์ของผู้คนภายในชุมชน และทำหน้าที่ประสานงานกับทางเทศบาลเมือง ซึ่งกิจกรรมที่ทางคณะกรรมการชุมชนจัดนั้นยังค่อนข้างมีน้อย และไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี แต่ก็ได้มีความพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชนด้วยการจัดงานทำบุญกลางบ้านทุกวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี (แป้น หมื่นปล้อง, สัมภาษณ์, 24 กันยายน 2554) -คุณค่าด้านเศรษฐกิจ ด้วยเพราะเป็นพื้นที่ตลาดมาตั้งแต่อดีต ชุมชนตลาดล่างจึงมีความแท้ในเชิงคุณค่าทาง เศรษฐกิจอยู่สูงเช่นกัน เพราะเป็นจุดรวม (node) สำคัญของเมืองเก่าและพื้นที่อื่น ๆ ของลพบุรี ที่ผู้คนเดินทางมาขึ้นเรือและซื้อขายสินค้ากันบริเวณนี้ และกิจการร้านค้าต่าง ๆ ก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ตลาดล่างยังมีความสามารถในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งโบราณสถานให้ดียิ่งขึ้น

4. ความแท้ด้านคุณภาพเชิงนามธรรม ความแท้ที่เป็นคุณภาพเชิงนามธรรมนี้ เป็นคุณค่าที่สำคัญที่ส่งผลต่อความประทับใจในพื้นที่ชุมชน เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ความรู้สึก (UNESCO, 2009) หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นคุณค่าทางอารมณ์ของสถานที่ก็ได้ คุณค่าทางอารมณ์ของชุมชนตลาดล่างประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ความอัศจรรย์ใจ (wonder) และอัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของสถานที่ (identity or spirit of place) ดังนี้ -ความอัศจรรย์ใจ (wonder) เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ความประหลาดใจ และความชื่นชม ส่งผลต่อการรับรู้สุนทรียภาพซึ่งทำให้เกิดความปิติ (delight) และประทับใจ (Prinz, 2007: 11 และ Louw, 2003: 13) ผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่ชุมชนตลาดล่างรับรู้ถึงความอัศจรรย์ใจ (wonder) จากจากแนวโค้งและความต่อเนื่องของถนนพระรามและรูปด้านอาคาร ประกอบกับขนาดสัดส่วนของที่ว่างและอาคารที่แตกต่างกับพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองลพบุรี สิ่งนี้สร้างความอัศจรรยใจถึงการดำรงอยู่ของสถานที่ทีมีคุณภาพของที่ว่างในท่ามกลางเมืองที่มีวุ่นวาย การหวนระลึกถึงบรรยากาศและวิถีชีวิตในอดีตที่ฝังรากอยู่ในจิตใจมนุษย์ ผุดขึ้นมาจากความต้องการรับรู้ถึงรากของตน (rootedness) สนองต่อความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของมนุษย์ (Fromm อ้างถึงใน ทิพย์สุดา ปทุมานนท์, 2546: 104) ทำให้ดึงดูดผู้คนเข้าไปในพื้นที่ชุมชน อีกประการหนึ่ง คือการรับรู้ที่ว่างด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ (sensory spaces) ซึ่งในชุมชนมีร้านสมุนไพรที่ส่งกลิ่นดึงดูดผู้คน คือ ร้านอู่ทองสมุนไพร บริเวณตรงข้ามศาลลูกศร ซึ่งเป็นร้านที่แผ่ปริมณฑลของกลิ่นออกมากว้าง และทำให้เห็นถึงร้านขายยาสมุนไพรอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในชุมชน เช่น ร้านสุนทรสมุนไพร ร้านเทพประเสริฐโอสถ และร้านดีอันโอสถ ที่เป็นร้านเก่าแก่ที่สืบทอดกิจการมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผิวสัมผัสของชีวิตอื่น ๆ เช่น การจัดว่างสินค้าบนแคร่ ตั่ง และพื้นถนน ที่ล้นออกมาหน้าร้าน และป้ายร้านค้าเก่าที่ยังคงแต่งแต้มด้วยรูปแบบตัวอักษรที่เคยเป็นที่นิยมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รวมถึงการประดับธง กระถางต้นไม้ และการเอาเก้าอี้มานั่งหน้าร้าน เหล่านี้ยังคงส่งเสียงแห่งชีวิตของผู้คนในตลาดเก่าที่ซบเซาแห่งนี้ ให้ได้ยินออกมานอกพื้นที่ชุมชน -อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของสถานที่ (Identity or Spirit of Place) เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบทางกายภาพ กิจกรรม และความหมาย (Relph, 1986: 47) ซึ่งเป็นเหมือนผลรวมแห่งคุณค่าและความแท้ด้านต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การปรากฏของแม่น้ำและท่าน้ำ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติในอดีต, รูปแบบสถาปัตยกรรมและสินค้าที่หลากหลายแต่ยังคงกลมกลืนเป็นเอกภาพ, สินค้าที่โดดเด่น เช่น เครื่องจักสาน ข้าวสาร และยาสมุนไพร ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของชุมชน, โครงสร้างสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกัน และความอัศจรรย์ในที่เกิดขึ้นจากความต่อเนื่องของกายภาพและกิจกรรมในชุมชน ได้สั่งสมผ่านกาลเวลามาหลายยุคสมัย จนเป็น อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของชุมชนตลาดล่าง ซึ่งหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ก็จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ดังกล่าว และเมื่อชุมชนสูญเสียซึ่งความเป็นตัวตนไปแล้ว ก็ย่อมทำให้ชุมชนไม่สามารถดำรงอยู่ในฐานะที่อยู่อาศัย หรือในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน อัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของสถานที่นอกจากจะส่งผลถึงความยั่งยืนของชุมชนแล้ว ยังส่งผลภาพ (image) ของสถานที่ (Lynch, 2000: 2-8) ด้วยเพราะอัตลักษณ์หรือจิตวิญญาณของสถานที่ จะส่งผลออกมาเป็นบุคลิก (character) ซึ่งทำให้ผู้คนรับรู้ถึงภาพ (image) ของสถานที่ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความเป็นสถานที่ หรือความเป็นถิ่น (placeness) และจะทำให้ผู้คนประทับใจ และจดจำสถานที่แห่งนี้ได้ยาวนาน

แนวคิดในการอนุรักษ์และพัมนาชุมชนตลาดล่าง ในแนวทางที่ยั่งยืน

จากที่ได้วิเคราะห์ถึงความแท้โดยใช้คุณค่าของชุมชนตลาดล่างเป็นพื้นฐานแล้ว รวมถึงการศึกษาหลักการในการอนุรักษ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) องค์กรอิโคมอส (ICOMOS) และจากการศึกษากรณีศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ ตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี, ชุมชนย่านท่าหลวง จังหวัดจันทบุรี, ชุมชนย่านยานากะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, และชุมชนย่านคาวาโกเอะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น จึงได้สรุปเป็นแนวคิดในการอนุรักษ์ 6 ประการ ลำดับขั้นตอนตามความสำคัญ และตามลำดับประเด็นท่มุ่งเน้นศึกษา ดังนี้

1. การรักษาความแท้ ประกอบด้วยความแท้ทั้ง 4 ด้าน คือ สถานที่ตั้งและการตั้งถิ่นฐาน, รูปทรงและการออกแบบ, การใช้งานและประโยชน์ใช้สอย, และคุณภาพเชิงนามธรรม ซึ่งเป็นทั้งความแท้ที่จับต้องได้ และความแท้ที่จับต้องไม่ได้ สามารถสรุปแนวคิดในการรักษาความแท้เหล่านี้ โดยต้องอาศัยการร่วมกันปฏิบัติของประชาชนในชุมชน และความสนับสนุนจากภาคส่วนภายนอก ดังนี้ - รักษา ปรับปรุง และฟื้นฟูภูมิทัศน์ริมแม่น้ำลพบุรี และกิจกรรมบริเวณท่าน้ำ เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของชุมชน โดยต้องมีการปลุกฝังจิตสำนึกในกาอนุรักษ์ให้กับชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมเสวนา การร่วมกันรณรงค์ และการให้ประชาชนเป็นผู้ดำเนินการในการปฏิบัติการปรับปรุงและฟื้นฟุด้วยตัวเอง โดยมีการสนับสนุนงบประมาณ และคำปรึกษาจากภาครัฐและภาควิชาการ - จัดแสดงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และสืบทอดประเพณีของคนจีนโดยคนจีนที่ยังอยู่ในพื้นที่ เพื่อสืบทอดความแท้และเรื่องราว ตลอดจนเฉลิมฉลองความสำคัญของพืน้ที่ในการเป็นย่านแรกแห่งการตั้งถิ่นฐานของคนจีนในลพบุรี โดยผู้คนในชุมชนเช่น ร้านค้าของคนจีนที่ยังคงเปิดกิจการสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ควรแสดงประวัติร้านค้า และควรร่วมงานเทศกาลแห่เจ้า และงานกิจเจประจำปี - รักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อม ซึ่งชุมชนต้องร่วมกันรณรงค์ และอาจออกเป็นข้อพึงปฏิบัติร่วมกันภายในชุมชนเพื่อดูแลรักษาความแท้ทากายภาพนี้ไว้ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวชุมชนเอง โดยภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาเรื่องรูปแบบและเทคนิควิธีการ ส่วนภาครัฐสามารถออกนโยบายรวมถึงเงินทุนสนับสนุน - รื้อฟื้นทางเท้า และดูและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของถนน โดยอาจรื้อฟื้นทางเท้าขึ้นมาเหมืนอที่เคยเป็ฯในอดีต เพื่อให้ถนนพระรามกลับมาเป็นถนนสำหรับผู้คน ไม่ใช่สำหรับยานพาหนะ อีกครั้ง ชาวชุมชนควร่วมกันรณรงค์ และร่วมมือปฏิบัติ ตลอดจนพัมนาเป็นข้อพึงปฏิบัติร่วมในการดูแลรักษาชุมชน - สืบทอดประเพณีงานบุญในชุมชน ได้แก่ งานทำบุญกลางบ้าน ซึ่งเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชน โดยต้องมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม คือ ส่วนของเยาวชน นอกจากนี้ อาจรื้อฟื้น หรือ จัดงานประเพณีต่าง ๆ ขึ้นใหม่ในพืน้ที เช่น งานลอยกระทง เป็นต้น - จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในชุมชน อันนอกเหนือจากงานบุญ โดยเฉพาะการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัยทำงานและเยาวชน อาทิ การจัดกิจกรรมงานวันเด็กของชุมชน หรือ งานตามเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังอาจจัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัมนาชุมชนด้วย - จัดกิจกรรมการค้าขาย รวมถึงอนุรักษ์ และพัฒนาต่อยอดสินค้าดั้งเดิม ได้แก่ การจัดกิจกรรมตลาดนัดถนนคนเดิน ดังที่ชาวชุมชนต้องการจัดขึ้น โดยจัดเป็นช่วงเวลา เช่น ทุกคืนวันอาทิตย์ เป็นต้น เมื่อประชาชนชาวเมืองลพบุรีทราบถึงกิจกรรมแล้ว ก็อาจนำไปสุ่การตื่นขึ้นของตลาดเพื่อสนองวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเหมือนดังเดิม นอกจากนี้ควรมีแนวคิดหลัก (theme) ในการจัดงานเพื่อควบคุมรูปแบบและประเภทสินค้าให้สอดคล้องกับรูปแบบของชุมชนประวัติศาสตร์ อีกทั้งควรพัฒนาต่อยอดรูปแบบสินค้าจากสินค้าดั้งเดิมในพื้นที่ เช่น เครื่องจักสาน สมุนไพร อาหาร และขนมไทยต่าง ๆ - ดำเนินการอนุรักษ์ในลักษณะองค์รวม รักษาความแท้ที่จับต้องได้ ควบคู่กับการรักษาความแท้ที่จับต้องไม่ได้ โดยต้องดำเนินการควบคู่กันไปพร้อม ๆ กัน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนควรเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

2. การทำความเข้าใจพื้นที่มรดก ชุมชนควรทราบถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ และควรศึกษาถึงความแท้ของสถานที่ทั้งกายภาพ วิถีชิวิต และอารมณ์ของสถานที่ โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนา ให้ความรู้แก่ชุมชน รวมถึงการจัดแสดงประเด็นของคุณค่า ความแท้ และความสำคัญ ของชุมชนตลาดล่าง และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นถึงทัศนะเกี่ยวกับคุณค่า ความแท้ และความสำคัญ ของชุมชนของตน

3. การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของชุมชน มีการจัดกิจกรรม เช่น เสวนา หรือนิทรรศการ ให้ชาวชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมในวัยทำงานและเยาวชน

4. การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรภายนอก ผู้อยู่อาศัยในชุมชนควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ริเริ่มโครงการ ในการทำความเข้าใจ การตีความ การวางแผน ตลาดจนการปฏิบัติการอนุรักษ์ และต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ในการสนับสนุนงบประมาณและคำแนะนำ การสร้างการมีส่วนร่วมทำได้โดยอาศัยกิจกรรมที่จัดขึ้น และอาศัยกิจกรรมทางสังคม เช่น งานบุญประเพณี หรือ โครงสร้างความสัมพันธ์ที่เหนี่ยวแน่นทางสังคม ทำให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมและรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งพื้นที่มรดก

5. การจัดกิจกรรมส่งเสริม โดยมุ่งหวังที่จะใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการกระตุ้นส่งเสริมการตระหนักถึงความสำคัญ คุณค่า และความแท้ของชุมชน รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานอนุรักษ์ เช่น กิจกรรมเสวนา กิจกรรมจัดแสดงของดีประจำชุมชน กิจกรรมการสืบสานเทศกาลประเพณีและงานบุญ กิจรรมเสวนา กิจกรรมตลาดนัดถนนคนเดิน กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ หรือ กิจกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อสร้างการตระหนักถึงคุณค่าและความแท้ของชุมชน สร้างการมีส่วมในการอนุรักษ์และพัฒนา และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน

6. การตรวจสอบและประเมินผล ควรมีการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานอยู่เป็นระยะ และทำอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นผู้ประเมิน และมีองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น แนวคิดในการอนุรักษ์ทั้ง 6 ประการนี้ เป็นแนวทางนำร่องในการศึกษาวางแผนการจัดการพื้นที่ชุมชนตลาดล่าง ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนในการอนุรักษ์ชุมชนแห่งนี้ เพื่อดำรงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม และพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด ซึ่งจากแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนในแนวทางที่ยั่งยืนที่ได้เสนอไปนั้น สามารถใช้เป็นพื้นบาน เพื่อศึกษาหาแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด เช่น การวางแผนการดำเนินงาน และแผนงบประมาณ กำหนดความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการที่ชัดเจน เป็นต้น เพื่อนำไปปฏิบัติการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนจริง โดยต้องตั้งเป้าหมายสำคัญของการดำเนินการ คือ การรักษาความแท้ของชุมชน เพื่อหชุมชนเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

บรรณานุกรม

    ชุมชนตลาดล่าง. 2554. แผนชุมชนปี 2555 ชุมชนตลาดล่าง ต. ท่าหิน. จัดทำแผนชุมชนโดยผ่านเวทีประชาคมระดับชุมชน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554. (อัดสำเนา)
    ทิพย์สุดา ปทุมานนท์. 2546. จิตวิทยาสถาปัตยกรรม มนุษย์ปฏิสันถาร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    บุญญวัฒน์ ทิพทัส. 2546. กลยุทธ์ฟื้นฟูชุมชนเมืองริมน้ำ : รายงานการประชุมปฎิบัติการ วันที่ 29 พฤษภาคม 2546.            ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย.
    แป้น หมื่นปล้อง. ประธานชุมชนตลาดล่าง. 2554. สัมภาษณ์. 24 กันยายน .
    _______. 2555. สัมภาษณ์. 5 เมษายน.
    วิชัย จิโรจน์วงศ์. 2554. สัมภาษณ์. 16 กรกฎาคม.
    ศิลปากร, กรม. 2550. ศาลหลักเมืองหรือศาลลูกศร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:  http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.asp?id=0000680# [25 กันยายน 2554]
    หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี. 2555. โครงการ: การศึกษาการศึกษาแนวทางเพื่อจัดทาแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าลพบุรี. [ซีดี-รอม]. ลพบุรี: หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี 
    Bellin, Jacques Nicolas. 1764. Plan de la Ville de Louvo, Demeure Ordinaire des Rois de Siam. [Online]. Available from: http://www.ulib.niu.edu/rarebooks/thailandmaps.cfm [17  January 2555]
    Feilden, Sir Bernard M. 2003. Conservation of Historic Building. 3rd edition. Burlington, MA: Architectural Press.
    Hall, Edward  T. 1959. The Silent Language. Garden City, NY: Doubleday & Company, Inc.
    ICOMOS. 1999. The Burra Charter 1999: The Australia ICOMOS Charter for places of cultural Significance. Australia: ICOMOS.
    _______. 2005. The Seoul Declaration on Tourism in Asia’s Historic Towns and Areas[Online]. Available from: http://unesdoc.unesco.org/images/0015/001562/ 156208eo.pdf [2011, September 25].
    Louw,  Marti. 2003. Designing for Delight The Role of Wonder, Discovery, Invention & Ingenuity in Exhibit Design. Thesis for the Degree of Master of Design in Interaction Design School of Design, Carnegie Mellon University.
    Lynch, Kevin. 1960. The Image of the City. Cambridge, MA: MIT Press.
    Norberg-Shulz, C. 1980. Genius Loci Towards a Phenomenology of Architecture. London, UK: Academy Editions.
    Prinz, Jesse. 2007. “Emotion and Aesthetic Value”. American Philosophical Association, Pacific Division meetings, San Francisco.
    Relph, Edward. Place and Placelessness. London, UK: Pion Limited, 1983
    Rodwell, Danis. 2007. Conservation and Sustainable in Historic City. Oxford, UK: Blackwell Publishing.
    UNESCO. 2007. Asia-Pasific Heritage Awards for Cultural Heritage Conservation. Bangkok: UNESCO Bangkok.
    _______. 2009.Hoi An Protocols for Best Conservation in  Asia. Bangkok: UNESCO Bangkok.
    _______, ICCROM and ICOMOS. 1994. The Nara Document on Authenticity [Online].  Available from:        
    http://www.unescobkk.org/fileadmin/user_upload/culture/cultureMain/Instruments /Nara_Doc_on_Authenticity.pdf [2011, September 25].

เครื่องมือส่วนตัว