ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
52842029 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บ…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 07:28, 8 ตุลาคม 2555

กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน STRATEGIES FOR THE DEVELOPMENT OF MORAL LEADERSHIP FOR PRIVATE SCHOOL ADMINISTRATORS

กมลทิพย์ ทองกำแหง1 และปองสิน วิเศษศิริ2

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน และ 3) นำเสนอกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ศึกษาองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม โดยเทคนิคเดลฟายจากการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 17 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ค่ามัธยฐาน ค่าสัมบูรณ์ของผลต่างระหว่างค่ามัธยฐานและฐานนิยม และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1) ผู้อำนวยการ จำนวน 432 คน รองผู้อำนวยการ จำนวน 432 คน และครูหัวหน้ากลุ่มสาระหรือหัวหน้าระดับชั้น จำนวน 432 คน วิเคราะห์ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าดัชนีความต้องการจำเป็นในการพัฒนา และกำหนดกลยุทธ์จากการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมมี 3 ด้านคือ 1) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ประกอบด้วย 21 ตัวชี้วัด 2) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน ประกอบด้วย 17 ตัวชี้วัด และ 3) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ ประกอบด้วย 25 ตัวชี้วัด 2. จากองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบ ดังกล่าว สภาพปัจจุบันอยู่ในระดับมาก ขณะที่สภาพที่พึงประสงค์อยู่ในระดับมากที่สุด และ มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ มากเป็นอันดับที่ 1 โดยมีค่าดัชนีความต้องการจำเป็น คิดเป็นร้อยละ 14.54 3. กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน มี 3 กลยุทธ์ คือ 1) กลยุทธ์การนำตนเอง 2) กลยุทธ์การนำผู้อื่น และ 3) กลยุทธ์การนำองค์กร

คำสำคัญ: ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม / การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม / กลยุทธ์ 1 นิสิตปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก “ทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์สำหรับนิสิต”  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Kamoltip Thongkamhaeng and Pongsin Viseshsiri

Abstract The objectives of this study aimed to 1) identify the moral leadership factors of private school administrators, 2) study the current and ideal moral leadership of private school administrators, and 3) construct strategies for the development of moral leadership for private school administrators. Delphi technique through interviewing 17 experts was used to identify the moral leadership factors the data was analyzed by content analysis technique, median, median-mode differences and interquartile range. Quantitative data was collected in order to study the current and ideal of moral leadership. Data was given by 3 groups of school staff with 432 persons from each group as follows: school directors, deputy directors, and subject-head or level head-teachers and was analyzed by frequency, percentage, average, and Priority Needs Indexmodified. (PNImodified). Strategies were constructed by brainstorming technique of 8 experts. The followings were the research results: 1. There were 3 factors identified as moral leadership factors; 1) moral leadership toward oneself which composed of 21 indicators, 2) moral leadership toward others at work which composed of 17 indicators, and 3) moral leadership toward their own professions which composed of 25 indicators. 2. From 3 identified factors above, the current moral leadership was at the high level while the ideal moral leadership was at the highest level. The most needed factor to be developed was the moral leadership toward their own professions which was at PNImodified 14.52 percent. 3. There were 3 moral leadership development strategies for private school administrators found; 1) Self-Leading Strategy, 2) Others-Leading Strategy, and 3) Organization-Leading Strategy. Key words: moral leadership / development of moral leadership / strategy

บทนำ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ด้านการศึกษาของชาติ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลด้วยกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม ซึ่งตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ คือ การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ที่มุ่งจัดการศึกษาในลักษณะของกระบวนการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม อย่างเป็นระบบเป้าหมาย คือ การให้คนไทย ยุคใหม่มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและจิตสำนึก และความภูมิใจในความเป็นไทย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545) การจัดระบบการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในข้างต้นจะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของหมู่คณะ สังคม และประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ ไม่มุ่งแต่หาประโยชน์ส่วนตนโดยมองข้ามซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อันดีงาม ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตลอดไป (ว.วชิรเมธี, ๒๕๕๒) ดังนั้นภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดจริยธรรมอันดีงานให้เกิดขึ้นในองค์กรและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งวัฒธรรมธรรมองค์ที่มีจริยธรรมอันดีงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผาสุขของคนในสังคมและบรรลุตามเจตนารมณ์การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษา (วนิดา, ๒๕๕๓ : ๕๐-๕๑) ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (moral leadership) ได้แก่ ความรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้ประจักษ์แก่ ครู นักเรียน และบุคลากร ภายในสถานศึกษา (สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์, ๒๕๕๐ : ๕๗) นอกจากนี้ ผู้บริหารต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นและปฏิบัติตาม (Thomas Sergiovanni, 1992) ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้ผู้บริหารโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งไปทางด้านการแข่งขันและการสร้างกำไร แต่การแข่งขันในธุรกิจการศึกษาไม่ส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาที่สูงขึ้นตามการแข่งขัน แต่กลับสร้างจุดขายของโรงเรียนด้วยความหรูหราของอาคาร วัสดุอุปกรณ์ที่ดีเยี่ยม หรือชุดเครื่องแบบที่ดึงดูดใจ แต่ไม่มีใครที่พูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาในด้านการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมนำความรู้ (จำเริญรัตน์ เจือจันทร์, 2548 : 15,147-153) จากความสำคัญดังกล่าวในข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อพัฒนาผู้บริหารให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขยายผลให้กับครูและบุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะของผู้มีจิยธรรมที่พึงประสงค์ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษากลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ ศึกษาองค์ประกอบหรือตัวแปรหลักภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน และสร้างกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและเป็นแนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนต่อไปในอนาคต

คำถามการวิจัย ๑. องค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนประกอบด้วยอะไรบ้าง ๒. สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเป็นอย่างไร ๓. กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนควรเป็นอย่างไร

วัตถุประสงค์การวิจัย ๑. เพื่อศึกษาองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ๒. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ๓. เพื่อนำเสนอกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน

ขอบเขตการวิจัย ๑. ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ โรงเรียนที่เปิดสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สังกัดสำนักงานบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในประเทศไทย ๒. ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน และกลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ๑. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อคัดเลือกองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๗ ท่าน ประกอบด้วย แบบสอบถามจำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามปลายเปิด ๑ ฉบับ และแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน ๒ ฉบับ ๒. แบบสอบถามมาตรส่วนประเมินค่า (Rating Scale) เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และครูผู้สอนซึ่งเป็นหัวหน้าระดับชั้นหรือหัวหน้ากลุ่มสาระผู้สอนในโรงเรียนเอกชน เกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ๓. ประเด็นหัวข้อในการประชุมสนทนากลุ่มย่อยเกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน

วิธีการดำเนินการวิจัย การวิจัยเรื่องกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ครั้งนี้ ใช้วิธีวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) โดยมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้ ขั้นตอนที่ ๑. การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (moral leadership) และแนวคิดเกี่ยวกับกลยุทธ์ (Strategies) โดยใช้การประเมินความต้องการจำเป็น การออกแบบการพัฒนา การดำเนินการพัฒนา และการประเมินผลการพัฒนา เพื่อนำมาสรุปเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ขั้นตอนที่ ๒. การกำหนดองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๗ ท่าน ที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับในเรื่องภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม จากนั้นจึงกำหนดประเด็นคำถามให้ครอบคลุมเนื้อหา เพื่อกำหนดองค์ประกอบและน้ำหนักตัวแปรภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมที่ เหมาะสมของผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยใช้เทคนิคเดลฟาย และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาคัดเลือกองค์ประกอบตามความเหมาะสม ขั้นตอนที่ ๓. ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยสร้างแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหาร รองผู้บริหารและครูหัวหน้ากลุ่มสาระหรือครูหัวหน้าระดับชั้น ในโรงเรียนเอกชน จำนวน 1,296 คน ถึงสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยสอบถามความคิดเห็นกับผู้บริหาร รองผู้บริหาร และครูหัวหน้ากลุ่มสาระหรือครูหัวหน้าระดับชั้น ในโรงเรียนเอกชน และนำข้อมูลมาประเมินความต้องการจำเป็นเพื่อหาคุณลักษณะที่ต้องได้รับการพัฒนา ขั้นตอนที่ ๔. กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยนำข้อมูลจากการประเมินความต้องการจำเป็นมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางการพัฒนาจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มากำหนดร่างกลยุทธ์ฯที่ 1 เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณา อภิปราย เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะความเหมาะสมของกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยการจัดการประชุมสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Technique) กับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน เพื่อพัฒนาเป็นกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนฉบับสมบูรณ์

การวิเคราะห์ข้อมูล ๑. คัดเลือกองค์ประกอบและตัวชี้วัดของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเทคนิคเดลฟายด้วยค่าสถิติ คือ ค่ามัธยฐาน (Medium) ค่าฐานนิยม (Mode) และค่าพิสัยระหว่าง ควอไทล์ (Inter-Quartile Range) เพื่อหาฉันทามติ (Consensus) ของผู้ทรงคุณวุฒิ ๒. วิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของพฤติกรรมที่แสดงคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการใช้เทคนิค Modified Priority Needs Index (PNImodified) ในการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนา ๓. วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อมากำหนดเป็นกลยุทธ์หลักและกลยุทธ์รองโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ๑. ผลการพิจารณาการคัดเลือกองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนโดยใช้เทคนิคเดลฟายซึ่งดำเนินการโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๓ รอบ ปรากฏผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้ องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย ๓ องค์ประกอบ ได้แก่ ๑. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเองมี ๒๑ ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) มีลักษณะท่าทางการแสดงออกที่สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีกิริยาวาจาที่เหมาะสมกับกาละเทศะ 2) แต่งกายสุภาพเรียบร้อย นิยมไทย เหมาะสมกับวัยและกาลเทศะ 3) ศรัทธาในการทำความดี ความถูกต้อง มุ่งมั่นทำงานเพื่อให้ผลงานออกมาดี 4) สำนึกในบุญคุณและกตัญญูต่อผู้อื่นและแสดงออกเป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ 5) เคารพกฎกติกา คุณค่าของสังคม คือ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความพอเพียง และมีความเป็นประชาธิปไตย 6) มีจิตสาธารณะ 7) มีความมั่นใจในตัวเองที่ยึดหลักการคุณธรรมและจริยธรรม 8) ใฝ่ศึกษาหาความรู้ด้านธรรมะเพื่อเพิ่มสติปัญญา และสามารถบูรณาการความรู้ได้ ประยุกต์ใช้ได้ 9) กล้าคิดกล้าตัดสินใจบนหลักคุณธรรม จริยธรรม และยอมรับผลที่เกิดขึ้น 10) รู้จักการใช้หลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 11) มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นอย่างดี 12) เป็นผู้ที่ประพฤติดี ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดี แก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกัน 13) รู้จักการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้วยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่น 14) มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ ทั้งในการปกครอง และในทางศาสนา 15) มีความซื่อตรงในการฐานะผู้บริหาร ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต 16) มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า 17) มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน 18) ไม่แสดงอาการโกรธให้ปรากฎ สามารถระงับได้ 19)ไม่เบียดเบียนคนอื่นและตนเอง 20) ความอดทน อดกลั้น และ21) ธำรงรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม 2) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงานมี 17 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) มีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 2) ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น 3) สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา 4) มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ 5) มีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ สามารถประสานงานกับชุมชนหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลต่อโรงเรียน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร 6) รู้ในความสามารถของบุคคล มอบงานที่เหมาะสม มีความสามารถในการบริหารงานบุคคล โดยภักดีต่อโรงเรียน สร้างความสามัคคี ความเป็นธรรม 7) ใช้ระบบคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารคน 8) มีความสามารถในการประสานงาน ประสานประโยชน์ ประสานน้ำใจ กับหน่วยงาน หรือบุคคลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 9) กระตุ้นและปลุกเร้าผู้ร่วมงานให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง 10) ให้โอกาสแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในการพิสูจน์ความสามารถของตนเองเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางาน 11) พัฒนาและเผยแพร่หลักการ / หลักธรรมคำสั่งสอน กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมของชุมชน 12) ยกย่องให้รางวัลผู้มีพฤติกรรมทางจริยธรรม คุณธรรม 13) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการบริการของสถานศึกษาที่สนับสนุนด้านจริยธรรม คุณธรรม 14) ส่งเสริมความเสมอภาคของบุคคล โดยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม มีสิทธิ เท่าเทียมกันในการเข้ารับบริการและทรัพยากรต่างๆ ที่โรงเรียนจัดให้ 15) ส่งเสริมให้บุคลากรยึดหลักของความร่วมมือ มากกว่าการแข่งขันและยึดหลักสามัคคีปรองดอง 16) วางตัวเหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย และ17) เห็นความสำคัญ และการพัฒนาส่งเสริมครูและบุคลากรให้ก้าวหน้าในอาชีพอย่างต่อเนื่องทั่วถึง 3) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพมี 25 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ อันประกอบด้วยความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน ความภูมิใจ ตั้งใจและพอใจ 2) เป็นผู้นำทางการศึกษา มีภูมิรู้ทางด้านการศึกษา หลักสูตร การสอน เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสภาวะแวดล้อมในสังคม สามารถวิเคราะห์ปัญหาและแนวโน้มการศึกษาของชาติได้อย่างชัดเจน 3) ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้ในงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง 4) มีความรู้ทางด้านการบริหาร หลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม เทคนิคการบริหาร การวางแผนกลยุทธ์ ตลอดจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ 5) มีความสามารถด้านการบริหารสถานการณ์ มีความรู้เท่าทันในสถานการณ์ สามารถปรับตัวได้ฉับไวและต่อเนื่องกับสถานการณ์รอบด้าน 6) มีความรู้ความสามารถด้านการวางแผนและการใช้แผนกับเครื่องมือการบริหาร 7) มีความรู้ด้านจิตวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กร 8) รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เพื่อบรรลุเป้าหมายของโรงเรียน 9) มีการวางแผนงานที่ดี วิเคราะห์ผลกระทบด้านต่างๆ และดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 10) นิเทศและประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระบบ 11) ยกย่องและตอบแทนผลการปฏิบัติงานของบุคลากร 12) เอาใจใส่ต่อภาระงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ 13) มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 14) มุ่งมั่นในการทำงานเป็นทีม 15) มีความยืดหยุ่น 16) ขจัดความตึงเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม 17) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มมากกว่าผลสัมฤทธิ์ของตนเอง 18) มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและชัดเจน สามารถพัฒนาวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องกับปรัชญา การจัดการศึกษาที่ดี และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคลอื่นเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้า 19) มีความคิดสร้างสรรค์ คิดหาวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ และทำให้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นวิธีการที่เกิดการยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ดี สามารถนำองค์กรได้ 20) มีทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา และการตัดสินใจด้วยความสุขุมรอบคอบ มีเหตุผลในการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ข้อมูลทางสถิติ งานวิจัยมาประกอบในการตัดสินใจ 21) นำระบบการจัดการความรู้มาใช้ในโรงเรียนเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ 22) มุ่งมั่นการบริหารงานโดยกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความสำเร็จบนพื้นฐานของความถูกต้องเพื่อสังคมและประเทศชาติ 23) สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานอย่างสร้างสรรค์ 24) ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ หมั่นพัฒนางาน อย่างสม่ำเสมอ และ25) มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพจนมีความชำนาญ เชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีผลงานเป็นที่พึงประสงค์ เป็นยอมรับของผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้วยกัน 2. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันในแต่ละองค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ อยู่ในระดับมาก และผลการศึกษาสภาพที่พึงประสงค์ในแต่ละองค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (Priority Needs Index modified : PNI modified) ในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ค่าดัชนีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพมากเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 14.54 รองลงมา ได้แก่ ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง โดยมีค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (Priority Needs Index modified : PNI modified) คิดเป็นร้อยละ 13.85 และ 12.70 ตามลำดับ 3. การระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในการสนทนากลุ่มย่อยเพื่อกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม พบว่า กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์รอง 9 กลยุทธ์ และวิธีดำเนินการ 50 วิธี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ กลยุทธ์หลักที่ 1 ได้แก่ กลยุทธ์การนำตนเอง (ผู้บริหารมีความรู้ ความเข้าใจในศักยภาพและอุดมการณ์ของตนเอง ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเป็นปกติ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น) กลยุทธ์รองที่ 1 ได้แก่ พัฒนาคุณลักษณะการเป็นผู้บริหารที่ดี มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ ปฏิบัติตนให้มีอัธยาศัยอ่อนโยน มีเหตุผล มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยนต่อผู้เสมอกันหรือต่ำกว่าโดยเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาจิตใจ แสดงออกอย่างสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีกิริยาเหมาะสมกับกาละเทศะ แต่งกายสุภาพ เรียบร้อย นิยมไทย เหมาะกับวัยและกาละเทศะ ฝึกตนให้ควบคุมอารมณ์ ฝึกความอดทน ให้สุขุม เยือกเย็น จนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ฝึกตนให้มีจิตสาธารณะ มีน้ำใจ และเสียสละต่อผู้อื่น กลยุทธ์รองที่ 2 ได้แก่ เสริมสร้างความเป็นผู้นำเชิงคุณธรรม จริยธรรม มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ ประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท4 ซึ่งเป็นธรรมะสู่ความสำเร็จมาใช้ในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยฉันทะ ผู้บริหารมีความรักและพึงพอใจในงานของตน วิริยะ ผู้บริหารมีความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอยในงาน จิตตะ ผู้บริหารต้องเอาใจใส่ ตั้งใจทำงาน ไม่ปล่อยปละละเลย วิมังสา ผู้บริหารไตร่ตรองหาเหตุผล พินิจพิเคราะห์ เข้าใจในงานที่ทำ คือ ทำด้วยปัญญา ใฝ่หาความรู้ด้านธรรมะจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนอง ค้นหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เช่น ตำรา บทความ เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม เพื่อพัฒนาสติปัญญาและบูรณาการมาประยุกต์ใช้ได้ ปฏิบัติตนให้มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน ฝึกกระบวนการการตัดสินใจโดยคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมเป็นหลักอยู่เสมอ ศึกษา ค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาวิชาชีพอยู่เสมอ ปฏิบัติตนต่อทุกคนด้วยความเสมอภาคและยุติธรรม เข้าร่วม ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมอย่างสม่ำเสมอ และ ส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ร่วมงานมีคุณธรรมและจริยธรรมที่เหมาะสม กลยุทธ์รองที่ 3 ได้แก่ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม จริยธรรม จนผู้อื่นศรัทธา มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ มีความมั่นใจตนเองในการปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสอนของศาสนา รับฟังความคิดเห็นเชิงวิพากษ์จากคำพูดและอากัปกิริยาจากคนรอบข้าง เปิดโอกาสให้ผู้อื่นซักถามและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของตน และ สร้างผลงานด้านคุณธรรม จริยธรรมเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติ รวมทั้งเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ กลยุทธ์หลักที่ 2 ได้แก่ กลยุทธ์การนำผู้อื่น (ผู้บริหารมีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน รู้ในความสามารถของแต่ละบุคคลเพื่อบริหารคนให้เหมาะสมกับงาน นอกจากนั้นผู้บริหารต้องรู้จักจริตของผู้ร่วมงาน) ประกอบด้วย กลยุทธ์รองที่ 1 ได้แก่ เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานต่างๆและกลุ่มบุคคล มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ ประสานงานกับหน่วยงานหรือบุคคลอื่นโดยใช้หลักทางคุณธรรม จริยธรรม เช่น ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประสานงาน อันประกอบด้วย ทาน ผู้บริหารต้องมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ปิยวาจา ผู้บริหารต้องผูกใจผู้ร่วมงานด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อัตถจริยา ผู้บริหารต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น เข้ากับผู้อื่นอย่างเสมอภาคและมีความสุขร่วมกัน สมานัตตา ผู้บริหารต้องวางตัวสม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้ง รับผิดชอบในการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการบริการของสถานศึกษาที่สนับสนุนด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมจิตอาสา การบริการชุมชน ฯลฯ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และ ส่งเสริมหลักความร่วมมือ สามัคคีปรองดองในองค์กร กลยุทธ์รองที่ 2 ได้แก่ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ ประกาศเกียรติคุณและให้รางวัลแก่ผู้ที่แสดงว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมความเสมอภาคของบุคคล ให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ารับบริการต่างๆ ที่โรงเรียนจัดให้ บริหารงานบุคลากร โดยรู้ในความสามารถของบุคคล และมอบหมายงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรฝ่ายสนับสนุนพัฒนาตนเอง พัฒนางาน ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพัฒนาความรู้ความสามารถตามศักยภาพ กลยุทธ์รองที่ 3 ได้แก่ เสริมสร้างค่านิยมเรื่องกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้นในองค์กร มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ กระตุ้นและปลุกเร้าผู้ร่วมงานให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยปฏิบัติตนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้อง ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการวางตัวและความเสมอต้นเสมอปลาย ประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหาร 4 อันเป็นธรรมะสำหรับการครองคน ประกอบด้วย เมตตา ผู้บริหารมีความรักและปรารถนาดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา กรุณา ผู้บริหารมีความสงสารและคิดหาทางช่วยให้พ้นทุกข์ โดยเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็น มุฑิตา ผู้บริหารต้องส่งเสริมผู้ร่วมงานให้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถของตนจนสามารถก้าวหน้าในอาชีพ อุเบกขา ผู้บริหารต้องวางเฉยเป็นกลาง ไม่ลำเอียง มีความยุติธรรมในการให้รางวัลและลงโทษ กลยุทธ์รองที่ 4 ได้แก่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยใช้หลักจริยธรรมเป็นพื้นฐานเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสถานศึกษา มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ พัฒนาและเผยแพร่หลักการ คำสั่งสอน กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมให้สอดคล้องกับค่านิยมของชุมชน ใช้ระบบคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารคน และ ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น กลยุทธ์หลักที่ 3 ได้แก่ กลยุทธ์การนำองค์กร (ผู้บริหารต้องรอบรู้กับงานในความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการวางแผน บรรจุบุคลากร อำนวยการและติดตามผล) ประกอบด้วย กลยุทธ์รองที่ 1 ได้แก่ ส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารและการจัดการศึกษาโดยให้ความสำคัญและรู้สึกรับผิดชอบต่อความเจริญของผู้เรียนเป็นลำดับแรก มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ สัมมนาทางวิชาการเรื่องการกำกับการนิเทศและการประเมินผลอย่างเป็นระบบ โดยการกำหนดเป็นแผนงานเพื่อพัฒนาการนิเทศและประเมินผลอย่างมีระบบ สัมมนาทางวิชาการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ศึกษาดูงานโรงเรียนที่เป็นต้นแบบทางด้านจริยธรรมเพื่อสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำทางการศึกษา พัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษา หลักสูตร การสอน เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสภาวะแวดล้อมในสังคม วิเคราะห์ปัญหาและแนวโน้มการศึกษาของชาติได้ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักบริหารที่จะทำให้เกิดผล เพื่อบรรลุเป้าหมายของโรงเรียน และ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารงานโดยกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความสำเร็จบนพื้นฐานของความถูกต้องเพื่อสังคมและประเทศชาติ กลยุทธ์รองที่ 2 ได้แก่ เสริมสร้างความเป็นผู้นำคุณภาพ มีวิธีดำเนินการ ดังนี้ ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา และการตัดสินใจด้วยความสุขุม รอบคอบ มีเหตุผลในการตัดสินโดยอาศัยข้อมูลประกอบ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความรู้ทางจิตวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กร พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ไกลและชัดเจน และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคลอื่นได้ แลกเปลี่ยนความรู้ทางการบริหารเพื่อพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การบริหารแบบมีส่วนร่วม การกำหนดกลยุทธ์ การบริหารสถานการณ์ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนบูรณาการความรู้ทั้งหมดมาใช้อย่างสร้างสรรค์ สร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน พัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพจนมีความชำนาญเชี่ยวชาญในวิชาชีพจนเป็นที่ยอมรับ ใช้ลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชา มุ่งผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มมากกว่าผลสัมฤทธิ์ของตนเอง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการทำงานเป็นทีม ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้ในงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ หมั่นพัฒนางาน เอาใจใส่ต่อภาระงานในหน้าที่อย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ

สรุปผลการวิจัย 1. องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1.1 ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเองมี 21 ตัวชี้วัด 1.2 ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงานมี 17 ตัวชี้วัด 1.3 ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมจริยธรรมต่อวิชาชีพมี 25 ตัวชี้วัด 2. จากผลการศึกษาสภาพปัจจุบันในแต่ละองค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเองมีระดับการปฏิบัติจริงมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ สำหรับการศึกษาสภาพที่พึงประสงค์ในแต่ละองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนพบว่า คือ ด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเองมีระดับที่พึงประสงค์มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ การศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนา พบว่า ด้านจริยธรรมต่อวิชาชีพมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนามากที่สุด คือ 14.54% รองลงมาคือ จริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน 13.85% และจริยธรรมต่อตนเอง 12.70%ตามลำดับ 3. การกำหนดกลยุทธ์ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนโดยการระดมความคิดเห็นจากการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) พบว่า กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมประกอบด้วย กลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์รอง 9 กลยุทธ์ และวิธีดำเนินการ 50 วิธี

อภิปรายผลการวิจัย 1. จากผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง 2. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน 3. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับคุรุสภา (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2548 : 17-26) ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่ประกอบด้วย 1. จรรยาบรรณต่อตนเอง คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ 2. จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพและเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ และ 3. จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ 2. สภาพปัจจุบันขององค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ อยู่ในระดับมาก ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ขององค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (Priority Needs Index modified : PNI modified) ในการพัฒนาองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม พบว่า องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ มากเป็นอันดับ 1 โดยมีค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (Priority Needs Index modified : PNI modified) คิดเป็นร้อยละ 14.54 สอดคล้องกับ พรศรี ฉิมแก้ว (2552) ได้กล่าวว่า ความเป็นมืออาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ซึ่งด้านที่ 1 ได้แก่ จรรยาบรรณของวิชาชีพ บุคลิกภาพดี มนุษยสัมพันธ์ ศักยภาพในการทำงาน ความคิดทันสมัย ความรับผิดชอบ สติปัญญาดี ความโปร่งใสยุติธรรม และจิตวิญญาณของผู้บริหาร จึงแสดงให้เห็นว่าภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมมีความสำคัญและควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับผู้บริหาร ดังที่ รพีพรรณ เอกสุภาพันธุ์ (2552) ได้กล่าวว่าสภาพการส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาจากต้นสังกัดในปัจจุบันได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม แก่ผู้บริหารสถานศึกษาที่สนใจเข้ารับการพัฒนา ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคุณลักษณะย่อย พบว่า คุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ด้านความสามารถในการประสานงาน ประสานผลประโยชน์ ประสานน้ำใจกับหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีค่าดัชนีความต้องการจำเป็นในการพัฒนา (Priority Needs Index modified : PNI modified) มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 26.12 ซึ่งสอดคล้องกับ นิรันดร์ เนตรภัคดี (2553) ที่ได้กล่าวว่า องค์ประกอบหนึ่งของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม ประกอบด้วย จริยธรรมด้านการสื่อสาร ซึ่งหมายถึง ผู้นำต้องมีตรรกและมีวาทศิลป์ในการเจรจาความ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งในการบริหารงานสำหรับยุคปัจจุบัน ดังที่ Thomas J. Sergiovanni (1992) กล่าวว่าการสื่อสารที่ดีจะช่วยเชื่อมโยงให้บุคลากรร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และยังสอดคล้องกับ Michael E. Dantley (2005) ที่กล่าวว่า ผู้บริหารที่มีความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสามารถส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานใช้จินตนาการหรือสติปัญญาและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนที่มีภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (Moral Leadership) จะต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับบุคลากรของโรงเรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษาที่อยู่นอกโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดวิธีการบริหารหลักสูตร กรอบคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ซึ่งเป็นที่มาของการสรุปว่าภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมมีความสอดคล้องกับภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (Transformational Leadership) คือต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรระหว่างผู้นำกับผู้ตาม โดยเฉพาะการเป็นตัวอย่างซึ่งกันและกันในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และสนใจประโยชน์ขององค์กรหรือส่วนรวมเป็นหลัก เป็นเหมือนกระบวนการที่ผู้นำและผู้ตามต้องกระตุ้นระดับจริยธรรมให้สูงขึ้น โดยต้องเริ่มจากตัวผู้นำซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลในการบริหารและมีอิทธิพลต่อผู้ตามเท่านั้น แต่ยังต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป 3. จากการพัฒนากลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน พบว่า กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย กลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การนำตนเอง กลยุทธ์การนำผู้อื่น กลยุทธ์การนำองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชวรมุณี (2541 : 15) ที่กล่าวว่า ผู้บริหารต้องทำหน้าที่บริหารตน บริหารคน และบริหารงาน ดังนั้น ต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตนเอง คนอื่น และงานในความรับผิดชอบนั้น และสอดคล้องกับงานวิจัยของ วรภาส ประสมสุข (2549 : 41) ที่ศึกษาหลักการบริหารการศึกษาตามแนวพุทธธรรม อันเป็นสมรรถนะที่สำคัญต่อนักบริหารการศึกษาโดยการนำหลักพุทธรรมที่สอดคล้องกับหลักการบริหารด้านการครองตน ครองคน และการครองงาน มาเป็นเครื่องกำกับในการบริหารการศึกษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร และยังสอดคล้องกับ เกณฑ์การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น โดยมีการประเมินจากองค์ประกอบดังนี้ การครองตน หมายถึง ความประพฤติ การปฏิบัติตนชอบด้วยคุณธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณข้าราชการ เป็นที่ยอมรับของบุคคลในส่วนราชการและสังคม ประกอบด้วยคุณธรรมควรแก่การยกย่อง การครองคน หมายถึง เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ ยกย่อง ในเพื่อน ในสังคมร่วมงานอย่างเปิดเผยทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความสามารถในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถจูงใจให้เกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือ การครองงาน หมายถึง ประพฤติปฏิบัติงานในหน้าที่และนอกเหนือหน้าที่ สม่ำเสมอ เต็มใจมีจิตมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานที่รับผิดชอบ จนมีผลงานปรากฏที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนราชการ ประชาชน มากกว่าผู้อื่นอย่างเด่นชัด มีความสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดี (http://www.moe.go.th, 2553)

ข้อเสนอแนะ ส่วนที่ 1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1. สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กำหนดนโยบายในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม โดยนำคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมทั้ง 63 คุณลักษณะที่งานวิจัยนี้ค้นพบไปกำหนดเป็นคุณลักษณะสำคัญของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เนื่องจากผลการศึกษาองค์ประกอบของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลมาอย่างเป็นระบบตามกระบวนการวิจัยซึ่งทำให้ได้องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นข้อมูลที่เชื่อถือและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดเป็นคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาได้ 2. กระทรวงศึกษา คุรุสภา สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้มีนโยบายในการติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม ระดับการมีจริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เนื่องจากผลการวิจัย พบว่า มีเพียงเกณฑ์มาตรฐานและการประเมินคุณภาพจากภายนอกเท่านั้นที่ติดตามมาตรฐานการมีภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเพียงแต่สนับสนุน และขอความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาความมีคุณธรรม จริยธรรมจากผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ส่วนที่ 2 ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ 1. ผู้บริหารควรนำกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง โดยมีการประชุมสัมมนา สร้างความตระหนัก และให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ฯและการนำไปใช้แก่คณะผู้บริหารโรงเรียน เพื่อนำไปวางแผนปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งมีการติดตามผล ปรับปรุง พัฒนากระบวนการนำไปใช้เป็นระยะ เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต้องเริ่มที่ผู้บริหารฝึกพัฒนาตนเองก่อนเป็นลำดับแรก ให้เกิดภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน และวิชาชีพ จนผู้บริหารเป็นแบบอย่างที่ดี และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้มีค่านิยมด้านคุณธรรม จริยธรรมไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป 1. ศึกษาวิจัยการวิเคราะห์โมเดลเชิงสาเหตุเพื่อยืนยันองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เนื่องจากองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาจากความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิโดยเทคนิคเดลฟาย ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ดังนั้นควรมีการนำองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมไปวิเคราะห์เพื่อยืนยันด้วยสถิติซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณอีกครั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนให้องค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 2. ควรศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เนื่องจากค่าเฉลี่ยความต้องการจำเป็น (ค่าดัชนี PNI modified ) ในการพัฒนาองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนโดยรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 13.63 ส่วนองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อตนเอง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน และ ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมต่อวิชาชีพ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 12.70, 13.85 และ 14.54 ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะองค์ประกอบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม มีความละเอียดอ่อนการวัดด้วยวิธีการเชิงปริมาณอาจไม่สอดคล้องกับความจริง 3. ควรมีการศึกษาดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพของคุณลักษณะภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เพื่อกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมทั้ง 3 ด้าน เพื่อนำไปสู่กระบวนการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับ กลยุทธ์ที่ได้กำหนดไป เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดกลยุทธ์และวิธีดำเนินการไว้อย่างหลากหลาย แต่ไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดในแต่ละด้านไว้เพื่อนำไปสู่การประเมินผล

บรรณานุกรม คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. 2545. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงาน. 2549. แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550-2554. สำนักนายกรัฐมนตรี: กรุงเทพฯ. จำเริญรัตน์ เจือจันทร์. 2548. จริยศาสตร์: ทฤษฎีจริยธรรมสำหรับนักบริหารการศึกษา. พิมพ์ ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. นิรันดร์ เนตรภัคดี. 2553. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นประถมใน ประเทศไทย: ในทัศนคติของครู. วารสารบริหารการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น. 6, 1 (มกราคม-มิถุนายน) : 78-83. นงลักษณ์ วิรัชชัย และ รุ่งนภา ตั้งจิตรเจริญกุล. 2551. การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง คุณธรรมจริยธรรมของคนไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์คุณธรรม. พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2541. คุณธรรมสำหรับนักบริหาร. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยข้าราชการพลเรือน สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.. พรศรี ฉิมแก้ว. 2552. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเป็นมืออาชีพสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, ภาควิชา บริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. รพีพรรณ เอกสุภาพันธุ์. 2552. การพัฒนายุทธศาสตร์การเสริมสร้างจรรยาบรรณของวิชาชีพ ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. วิทยานิพนธ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, ภาควิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. 2548. มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : คุรุสภา ลาดพร้าว. เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. 2555. หลักสูตรเชิงปฏิบัติการเพื่อการเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (หลักสูตร 5 วัน). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลิฟวิ่ง. วนิดา. 2553. ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม (Moral Leadership). วารสารข้าราชการ. 55, 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์) : 44-52. วนิดา. 2553. ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม (Moral Leadership). วารสารข้าราชการ. 55, 2 (มีนาคม-เมษายน) : 50-55. วิทยาลัยข้าราชการพลเรือน สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.. 2541. คุณธรรม สำหรับผู้บริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ. วรภาส ประสมสุข. 25๔๙. หลักการบริหารการศึกษาตามแนวพุทธธรรม. ศึกษาศาสตร์ดุษฎี บัณฑิต. การบริหารการศึกษา. ศึกษาศาสตร์. มหาวิทยาลัยนเรศวร. ว.วชิรเมธี. 2552. ภาวะผู้นำ จากเนลสัน มันเดลา ถึง โอบามาแห่งทำเนียบขาว. สถาบันวิมุตตยาลัย. ศึกษาธิการ, กระทรวง. 2553. การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2553 [Online]. Available from:

         http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21397&Key=news5         
         [31 มีนาคม 2555]

สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์. 2550. ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (Ethical Leadership). วารสารดำรงรา ชานุภาพ. 7, 23 (เมษายน-มิถุนายน) :57-62. Dalkey, N.C., and Helmer, O. 1963. An Experimental application of the delphi method to the use of experts. Management Sciences 9. Michael E. Dantley. 2005. Moral Leadership Shifting the Management paradigm. Fenwick W. English Editor, The Sage Handbook of Educational Leadership Adcance in Theory, Research, and Practice. Sage Publications, Californai. Sergiovanni, T. J. 1992. Moral leadership Getting to the heart of school improvement. San Francisco: Jossey-Bass publisher.

เครื่องมือส่วนตัว