เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบหน้าหลัก
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' เทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats) Six thinking hats คืออ…')
รุ่นปัจจุบันของ 15:14, 14 มกราคม 2556
เทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ
(Six Thinking Hats)
Six thinking hats คืออะไร
Six thinking hats คือ เทคนิคการคิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีโฟกัส มีการจำแนกความคิดออกเป็นด้านๆ และคิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร. Edward de Bono (เอดเวิร์ด เดอ โบโน) ได้ทำการคิดค้นเทคนิคการคิด six thinking hats ขึ้นมาเพื่อเป็นระบบความคิดที่ทำ ให้ผู้เรียนมีหลักในการจำแนกความคิดออกเป็น 6 ด้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยการคิดทีละด้านอย่างเป็นระบบ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้ทักษะการคิด ทำให้ไม่คิดกระโดดไปกระโดดมา หรือคิดพร้อมกันทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้สับสนใช้เวลานาน และสรุปไม่ได้
สีและความหมายของหมวก 6 ใบ Six Thinking Hats ประกอบด้วยหมวก 6 ใบ 6 สี คือ 1.White Hat หรือ หมวกสีขาว หมายถึง ข้อมูลเบื้องต้นของสิ่งนั้น เป็นความคิดแบบไม่ใช้อารมณ์ และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน แน่นอน ตรงไปตรงมา ไม่ต้องการความคิดเห็น สีขาวเป็นสีที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นกลาง จึงเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลข เมื่อสวมหมวกสีนี้ หมายความว่าที่ประชุมต้องการข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยปกติแล้วเรามักจะ ใช้หมวกขาวตอนเริ่มต้นของกระบวนการคิดเพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดที่กำลังจะเกิดขึ้นแต่เราก็ใช้หมวกขาวในตอนท้ายของกระบวนการได้เหมือนกัน เพื่อทำการประเมิน อย่างเช่นข้อเสนอโครงการต่างๆของเราเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่หรือไม่ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีขาว เช่น มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้,
มีข้อมูลอื่นอีกหรือไม่, ได้ข้อมูลมาด้วยวิธีใด, เกี่ยวกับประเด็นนี้ หากคุณสวมหมวกสีขาว คุณจะพูดว่าอย่างไร
2.Red Hat หรือ หมวกสีแดง หมายถึง ความรู้สึก สัญชาตญาณ และลางสังหรณ์ เมื่อสวมหมวกสีนี้ เราสามารถบอกความรู้สึกของตนเองว่าชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี มีการใช้อารมณ์ ความคิดเชิงอารมณ์ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงอารมณ์จะไม่มีเหตุผลประกอบ หรือการตระหนักรู้โดยฉับพลันซึ่งก็คือ เรื่องบางเรื่องที่เคยเข้าใจในแบบหนึ่ง อยู่ๆก็เกิดเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งการตระหนักรู้แบบนี้จะทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีคิดทางคณิตศาสตร์แบบก้าวกระโดด ความคิดความเข้าใจในสถานการณ์โดยทันที ซึ่งเป็นผลจากการใคร่ครวญอันซับซ้อนที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ เป็นการตัดสินที่ไม่อาจให้รายละเอียดหรืออธิบายได้ด้วยคำพูด เช่นเวลาที่คุณจำเพื่อนคนหนึ่งได้ คุณก็จำได้ในทันที
ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีแดง เช่น รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ หรือความคิดนี้,รู้สึกอย่างไรกับการกระทำเช่นนี้,มีความรู้สึกลึกๆอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้,มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับข้อมูลนี้,ชอบหรือไม่ชอบสิ่งนี้,มีความสุขหรือไม่ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นสิ่งนี้
3.Black Hat หรือ หมวกสีดำ หมายถึง ข้อควรคำนึงถึง สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า เราไม่ควรทำ เป็นการคิดในเชิงระมัดระวัง หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับวิธีการคิดของตะวันตกมาก หมวกสีดำช่วยชี้ให้เราเห็นว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้องและสิ่งใดใช้ไม่ได้ มันช่วยปกป้องเราจากการเสียเงินและพลังงาน ช่วยป้องกันไม่ให้เราทำอะไรอย่างโง่เขลาเบาปัญญา และผิดกฎหมาย หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่มีเหตุมีผลเสมอ เพราะในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิเคราะห์สิ่งใดจะต้องมีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ในการประเมินสถานการณ์ในอนาคตของเรานั้น ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเราเองและของผู้อื่นด้วย
ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีดำ เช่น เรื่องนี้มีจุดอ่อนอะไร, ข้อมูลที่ได้ไม่ถูกต้องเพราะอะไร, สิ่งนี้ไม่คุ้มค่าอย่างไร, ความคิดนี้ขัดต่อระบบแบบแผนอย่างไร, จะเกิดผลเสียอะไรบ้างถ้าขาดความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
4.Yellow Hat หรือ หมวกสีเหลือง หมายถึง การคาดการณ์ในทางบวก ความคิดเชิงบวก เป็นการมองโลกในแง่ดี การมองที่เป็นประโยชน์ เป็นการคิดที่ก่อให้เกิดผล หรือทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้ การคิดเชิงบวกเป็นการเปิดโอกาสให้พัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดเชิงลบอาจป้องกันเราจากความผิดพลาด ความเสี่ยง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการคิดเชิงบวกต้องผสมผสานความสงสัยใคร่รู้ ความสุข ความต้องการ และความกระหายที่จะทำสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น หรือไม่
ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีเหลือง เช่น สิ่งนี้มีประโยชน์อะไร, สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร, มันจะก่อให้เกิดผลดีอย่างไร
5.Green Hat หรือ หมวกสีเขียว หมายถึง ความคิดนอกกรอบที่มีความสัมพันธ์กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมองซึ่งปกติมักถูกกำหนดจากระบบความคิดของประสบการณ์ดั้งเดิม และความคิดนอกกรอบนั้นจะอาศัยข้อมูลจากระบบของตัวเราเอง โดยเมื่อสวมหมวกสีนี้ จะแสดงความคิดใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การคิดอย่างสร้างสรรค์
ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีเขียว เช่น มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลในด้านอื่นได้อย่างไร, ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อให้สิ่งนี้ดีขึ้น, จากแนวคิดนี้น่าจะนำไปสู่อะไร, มีทางออกสำหรับเรื่องนี้อย่างไร, มีวิธีการใดที่จะทำให้มันดีขึ้น
6.Blue Hat หรือ หมวกสีน้ำเงิน หมายถึง การควบคุม และการบริหารกระบวน การคิด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความคิดรวบยอด ข้อสรุป การยุติข้อขัดแย้ง การมองเห็นภาพและการดำเนินการที่มีขั้นตอนเป็นระบบ เมื่อมีการใช้หมวกน้ำเงิน หมายถึง ต้องการให้มีการควบคุมสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในระบบระเบียบที่ดี และถูกต้องหมวกสีน้ำเงินมักเป็นบทบาทของหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมบทบาทของสมาชิก ควบคุมการดำเนินการประชุม การอภิปราย การทำงาน ควบคุมการใช้กระบวนการคิด การสรุปผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ อย่างไรก็ตามสมาชิก ก็สามารถ สวมหมวกน้ำเงิน ควบคุมบทบาทของหัวหน้าได้เช่นกัน ตัวอย่างคำถามที่ผู้สวมหมวกน้ำเงินสามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ เรื่องนี้ต้องการคิดแบบไหน ขั้นตอนของ เรื่องนี้คืออะไร เรื่องนี้จะสรุปอย่างไร ขอบเขตของปัญหาคืออะไร ขอให้คิดว่าเราต้องการอะไร และให้เกิดผลอย่างไร เรากำลังอยู่ในประเด็นที่กำหนดหรือไม่ เป็นต้น ผู้สวมหมวกน้ำเงินเปรียบเสมือนผู้ควบคุมวงดนตรีที่จะทำให้ผู้เล่นดนตรีแต่ละชิ้นบรรเลงสอด
ตัวอย่างคำถามที่ให้ได้มาซึ่งความคิดแบบหมวกสีน้ำเงิน เช่น เรื่องนี้ต้องการสรุปความคิดแบบไหน, ขั้นตอนของเรื่องนี้คืออะไร, เรื่องนี้จะสรุปว่าอย่างไร, ขอบเขตของปัญหาคืออะไร, ขอให้คิดว่าเราต้องการอะไร และต้องการให้เกิดผลอย่างไร, ข้อยุติเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร, เรากำลังอยู่ในประเด็นที่กำหนดหรือไม่
วิธีการใช้หมวกความคิดหกใบ
เนื่องจากหมวกความคิดมีจำนวนถึง ๖ ใบ ใช้ ๖ สีแตกต่างกันคือ สีขาว สีแดง สีดำ สีเหลือง สีเขียว
และสีฟ้า แต่ละสีใช้แทนวิธีคิดแต่ละแบบ เมื่อนำไปใช้อาจมีปัญหา ว่าจะเริ่มใช้หมวกสีไหนก่อน และใช้หมวกสีใดต่อไป และจะใช้หมวกทั้ง ๖ ใบในลักษณะใด สามารถสรุปวิธีการใช้หมวกความคิดหกใบในขั้นพื้นฐานได้ดังต่อไปนี้
• ใช้หมวกที่ละหนึ่งใบสำหรับความคิดแต่ละครั้ง เป็นการกำหนดให้ใช้วิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งในทิศทางเดียวกันทีละครั้ง เมื่อเลือกใช้หมวกใบใดใบหนึ่งแล้ว ทุกคนในกลุ่มจะต้องสวมหมวกใบเดียวกันหมด ซึ่งหมายถึงว่า ในขณะนั้นทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกันตามหัวข้อเรื่องที่กำหนด โดยไม่ต้องคิดถึงสิ่งที่คนก่อน หน้านั้นพูดว่าอย่างไร • ใช้หมวกลักษณะเป็นชุด เป็นการใช้หมวกหลายใบต่อเนื่องกันเป็นชุด โดยชุดของหมวกที่ใช้อาจเป็นแบบกำหนดไว้ล่วงหน้า (Pre-Set) หรือแบบสับเปลี่ยน ในการใช้ชุดของหมวกแต่ละครั้ง ลำดับการใช้และความคิดขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวิธีคิดของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเริ่มต้นด้วยหมวกสีฟ้าก็ควรจบ ด้วยหมวก สีฟ้า • บุคคลแต่ละคนสามารถใช้ความคิดได้กับหมวกทุกสี ควรมีการทบทวนความหมายของสีหมวกบ่อยๆเมื่อสวมหมวกใบไหนก็ต้องคิดและปฏิบัติในหน้าที่ของ หมวกนั้น • จัดกิจกรรมให้มีบรรยากาศของความสนุกสนานและมีชีวิตชีวา เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนในกลุ่มได้แสดงบทบาทสมมติอย่างเต็มที่ภายใต้บรรยากาศ แบบผ่อนคลาย จะทำให้การคิดเป็นเรื่องสนุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น • ฝึกให้มองทั้งด้านบวกและด้านลบจะช่วยให้ผู้ฝึกมีทักษะในการประเมินที่ดี หากมีใครสักคนในที่ประชุมมีความคิดด้านลบตลอดเวลาอย่างเหนียวแน่น อาจถูกบอกให้ถอดหมวกสีดำออกและเปลี่ยนมาใส่หมวกสีเหลือง เพื่อให้ได้รู้จักการมองโลกในแง่ดีบ้าง
ข้อควรจำ
1.หมวกมีสีต่างๆหกสี 2.หมวกหนึ่งสีแทนการคิดหนึ่งแบบ 3.คุณสามารถสวมหรือถอดหมวกได้ทีละใบ คุณสวมหมวกใบไหน คุณเล่นบทบาทที่ติดมากับหมวกใบนั้น 4.คุณสามารถบอกให้ใครสวมหมวก ถอดหมวก หรือเปลี่ยนหมวกได้ 5.เมื่อคุณสวมหมวกสีใด คุณต้องคิดแบบที่หมวกใบนั้นแสดงเท่านั้น
ตัวอย่างการนำ Six Thinking Hats มาใช้
สำหรับประเทศไทย ได้มีเอกชนจัดตั้งศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Center) ตามแนวทางของ เดอ โบโน ขึ้น โดยเปิดอบรม หลักสูตรการคิดแบบหมวก Six Thinking Hats ผู้ที่มาเข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหารหรือพนักงานขององค์กร ธุรกิจเอกชนที่สนใจนำทักษะการคิดดังกล่าวไปพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับการนำไปใช้ในโรงเรียน ในประเทศไทย ยังไม่มีโรงเรียนใดนำไปรวมในหลักสูตรการเรียนการสอนโดยตรง แต่ละเป็นในรูปแบบที่ครูซึ่งสนในโดยส่วนตัวนำไป ทดลองใช้กับลูกศิษย์ตนในโรงเรียน
ตัวอย่าง ครูไทยที่ได้นำวิธีคิดแบบ Six Thinking Hats ไปให้นักเรียนฝึกฝนความคิดตามแนวทางคือ ฝึกฝนความคิดตามแนวทาง นี้คือ อาจารย์ชาตรี สำราญ ครูต้นแบบสาขาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2541 แห่งโรงเรียน คุรุชนพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยกิจกรรม มอบหมายงานให้นักเรียนอ่านข่าวหรือบทความ จากหนังสือพิมพ์ แล้วมาร่วมกันสรุปความคิดโดยตั้งคำถามแบบหมวก 6 ใบ
สมมุติว่า ตัวอย่างสถานการณ์ข่าวที่นำมาให้ร่วมวิจารณ์คือ "ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้า ขณะที่นำยาบ้ามาจากเชียงราย เพื่อส่งขายลูกค้าที่กรุงเทพฯ ได้ยาบ้า 25,800 เม็ด" ให้นักเรียนแต่ละคนอ่านข่าวหรือให้ร่วมอภิปรายโดยใช้การคิดแบบ หมวก 6 ใบ เป็นรูปแบบการแสดงความคิดเห็น หมวกสีขาว ครูจะช่วยตั้งประเด็น คำถาม มุ่งหาข้อมูลจริงที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ครูต้องระวังมิให้ข้อคิดเห็นของตน ปะปนเข้าไปในคำถาม ครูอาจถามว่า ข้อมูลหลักๆ ในข่าวมีอะไรบ้าง นักเรียนต้องตอบคำถามตามข้อมูลที่ปรากฏ นักเรียนต้องตอบว่า"ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้า ได้ยาบ้า 25,800 เม็ด "หากนักเรียนตอบว่า "ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้ารายใหญ่" หรือ"ได้ยาบ้าจำนวนมหาศาลถึง 25,800 เม็ด" จะเป็นคำ ตอบที่เกินเลยข้อมูลความจริง เพราะบางข้อความที่ปรากฏคือ รายใหญ่ หรือมหาศาล เป็นความคิดเห็นเพิ่มเติมส่วนตัว ไม่มีในเนื้อข่าว ผิดจุดประสงค์ของการติดแบบหมวกสีขาว ซึ่งครูต้องชี้แจงให้นักเรียนทราบถึงความ แตกต่างดังกล่าว หมวกสีแดง นอกจากเหตุผล แล้ว ธรรมชาติของคนยังประกอบด้วยอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งลางสังหรณ์ที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ยาก อาจกล่าวได้ว่าหมวกสีแดง ตรงกันข้ามกับหมวกสีขาว ขณะที่หมวกสีขาวเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นและไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้น แต่หมวกสีแดงไม่สนใจข้อมูลจริง แต่สนใจ อารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีต่อข้อมูลนั้นๆ ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความรู้สึกภายในออกมา เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของกระบวนการคิด แม้คนเราพยายามคิดโดยปราศจาก อารมณ์ หรืออคติ แต่สุดท้ายทางเลือกการตัดสินในที่ได้มักขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนอยู่ มาก ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการคิดแบบหมวกสีแดง ก็เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคน ได้เผยอารมณ์ความรู้สึกของคนต่อเรื่อง นั้นๆ ออกมา ประโยชน์ที่ได้คือเราจะไม่นำความรู้สึกและข้อมูลเหตุผลมาปะปนกันจนเกิดความสับสนในการคิด
ถึงตอนนั้นนักเรียนจะแสดงความคิดในบทบาทสวมหมวกสีแดง ครูอาจถามนำว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไรต่อข่าวที่อ่าน เมื่อเด็ก สวมหมวกความคิดสีแดง เด็กอาจใช้ อารมณ์พูดออกมาว่า "พ่อค้าพวกนี้ไม่รู้จักกลัวบาป" "พ่อค้าพวกนี้ใจร้ายฆ่าคนตายทั้ง เป็น " หรือ "น่าจะยิงเป้าให้รู้แล้วรู้รอด" เมื่อเด็กแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา แล้ว ครุจะได้สังเกตเห็นและชี้ให้เด็กมอง เห็นว่านี่คืออารมณ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ที่มักมีผลต่อกระบวนการคิดของคนเรา เมื่อเด็กรู้เท่าทันก็จะไม่นำอารมณ์ความรู้สึก ไปปะปนกับข้อมูลความจริงส่วนอื่น
หมวกสีดำ เป็นการพิจารณาหรือใช้วิจารณญาณ ตั้งข้อสงสัยก่อนจะตัดสินใจเชื่อสิ่งใดลงไป การติดแบบหมวกสีดำเป็นการ ติดที่มีเหตุผลสนับสนุนดำเนินไปอย่าง รอบคอบ และผู้ติดตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยครุอาจตั้งคำถามนำ เช่น มีผล ประโยชน์ใดแอบแฝงเบื้องหลังการค้ายาบ้าครั้งนี้หรือไม่ เมื่อได้รับคำถามเหล่านี้ เด็กๆ จะต้องคิดหาเหตุผลมาตอบปัญหา เช่น เด็กอาจตอบว่า ถึงแม้มีข่าวการจับกุมการค้ายาบ้าอยู่เป็นประจำ แต่ยาบ้ายังคงแพร่ระบาดอยู่ทุกหนแห่งในประเทศ ไทย ทั้งนี้เป็นเพราะผู้มีอิทธิพลได้รับผลประโยชน์จากการค้ายาบ้า เป็นต้น หมวกสีเหลือง เหมือนหมวกสีดำตรงต้องอาศัยเหตุผลมาสนับสนุนความคิด แต่ขณะที่หมวกสีดำเป็นการตั้งข้อสงสัย (เรื่องราวเป็นเช่นนี้จริงหรือมีสิ่งใดแอบแฝงหรือ ไม ่ ) หมวกสีเหลืองจะคิดถึงแง่บวก เต็มไปด้วยความหวัง แต่ความหวังนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลด้วย หรืออาจพูดได้ว่าการคิดแบบหมวกสีเหลือง คือการมองไปข้างหน้า ถามตน เองว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้ว จะเกิดประโยชน์หรือผลดีอย่างไร ครูอาจตั้งคำถาม เช่น ข่าวนี้สะท้อนปรากฏการณ์ด้านบวกอย่างไรบ้าง หรือควรทำเช่นไร เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การค้ายาบ้าในประเทศไทย เมื่อนักเรียนสวมหมวกความคิดสีเหลือง เด็กจะต้องหาเหตุผลด้านบวกมาแสดง เช่นระยะนี้มีข่าวการจับพ่อค้ายาบ้าได้บ่อย ครั้งมากขึ้น เป็นเพราะมีการรณรงค์ให้ หลายฝ่ายร่วมมือกัน และผู้รักษากฎหมายเอาจริงเอาจังมากขึ้นในการปราบปราม ถ้าทุกฝ่ายเอาจริงเอาจังเพิ่มขึ้นอีก โดยคิดถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ปัญหา ยาบ้าก็จะทุเลาเบาบางลงในที่สุด เป็นต้น หมวกสีเขียว คือความคิดที่สร้างสรรค์ นำมาซึ่งทางเลือกใหม่ และวิธีแก้ปัญหาใหม่ เด็กจะต้องตั้งข้อเสนอแนะความคิดหรือ มุมมองใหม่ๆ ของตนออกมาหมวกสีเขียว ต่างจากหมวกสีเหลืองและหมวกสีดำตรงข้อเสนอแนะหรือแนวคิดแบบหมวกสีเขียวไม่ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมา สนับสนุน เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นสำหรับการสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดนั้นต่อไป ครูอาจตั้งคำถาม เข่น อ่านข่าวเกี่ยวกับยาบ้าแล้ว นักเรียนคิดว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะป้องกัน ไม่ให้ชุมชนของเรามีคนเสพย์และขายยาบ้า เด็กๆ ร่วมกันคิดหาหนทางแก้ไข ที่แปลกแหวกแนวจากความคิดเก่าๆ ที่เคยมีผู้เสนอมา หน้าที่ครูคือต้องกระตุ้นให้เด็กกล้าแสดงความคิด ที่แปลกใหม่ เช่น เด็กๆ อาจเสนอความคิดเรื่องการรณรงค์ให้ชุมชนหรือหมู่บ้านของตนเป็นเขตปลอดยาบ้า โดยทุกบ้านต้องช่วยกัน สอดส่องดูความเคลื่อนไหวของการซื้อขายยาบ้าในชุมชน อย่างจริงจัง ให้กลายเป็นชุมชน "ปลอดยาบ้า" เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ จากนั้นครูแบะนักเรียนจึงถกกันถึงความเป็นไปได้และวิธีการที่จะทำให้เกิด ผลในทางปฏิบัติต่อไป เป็นต้น หมวกสีฟ้า เป็นหมวกคิดของการวางแผน การจัดลำดับขั้นตอน หมวกสีฟ้าจะเป็นเหมือนประธานของที่ประชุมเป็นผู้บอกว่า เมื่อไรควรสวม หมวกสีใด หรือเปลี่ยน ไปสวมหมวกสีใด
หมวกสีอื่นๆ จะมุ่งคิดถึงเนื้อหาสาระของข้อมูล แต่เมื่อคิดแบบหมวกสีฟ้า ผู้คิดจะมุ่งสังเกตกระบวนการคิดของตนโดยทั่วๆ ไป การคิดแบบ หมวกสีฟ้าจะควบคุม ประเด็นต่างๆ อาทิเช่น ถึงตอนนี้เรากำลังคิดแบบใดอยู่ และคืนหน้าไปถึงไหนแล้ว อะไรคือข้อสรุปที่ได้จากการคิดทบ ทวนหลายรูปแบบ(หลายหมวกความคิด) และมีข้อน่าสังเกตหรือข้อท้วงติงใดบ้าง (เช่น กำลังหลงประเด็นอยู่หรือไม่ หรือใช้ความคิดแบบ หมวกสีแดงมากไปหรือไม่) ครูอาจแนะนำให้นักเรียนตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขากำลังใช้เวลามากเกินกับการโต้เถียงในจุดใดจุดหนึ่งหรือไม่ หรือจนขณะนี้นักเรียนอภิปรายกันถึงแต่ทางเลือกเดียว นักเรียนควรพิจารณากันถึงทางเลือกอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เป็นต้น
อ้างอิง การคิดแบบหมวก 6 ใบ. 2545. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.montfort.ac.th/mcs/dept/develop/News6hat.html การพัฒนากระบวนการคิด.2006. หน้า 20-22. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://khom-paya.com/think.pdf จุดประกาย การคิดอย่างเป็นระบบด้วยเทคนิค หมวก 6 สี. (วารสาร). กรุงเทพฯ : สายใยสังคม (12).2549 นวัตกรรมการเรียนรู้. 2543.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.vanessa.ac.th/2548/my_map/brain.htm Six Thinking Hats. ณิทฐา แสวงทอง 2006. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.stabundamrong.go.th/journal/journal15/155.doc Six Thinking Hats. 2006. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Six_Thinking_Hats Six Thinking Hats. 2001. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.nationejobs.com/content/learn/quickcourse/template.asp?conno=4 http://www.lungjaidee.com/article/6_hat/6_hat.html