การใช้คำเรียกญาติของชาวไทดำ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== การใช้คำเรียกญาติของชาวไทดำ : ดำรงค์ นันทผาสุข == …')
รุ่นปัจจุบันของ 15:02, 20 เมษายน 2556
การใช้คำเรียกญาติของชาวไทดำ : ดำรงค์ นันทผาสุข
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้บอกภาษาชาวไทดำที่บ้านสะแกราย ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน 40 คน ผู้วิจัยแสดงรูปภาพผู้หญิงหรือผู้ชายตามเพศของผู้บอกภาษาแล้วสมมติให้รูปภาพนั้นเป็นผู้บอกภาษา ต่อจากนั้นจึงแสดงรูปภาพผู้หญิงที่แก่กว่าผู้หญิงหรือผู้ชายในรูปภาพที่สมมติให้เป็นผู้บอกภาษาแล้วจึงบรรยายข้อมูลของคนในรูปภาพว่า “ผู้หญิงคนนี้อุ้มท้องผู้บอกภาษาแล้วให้กำเนิดผู้บอกภาษา” แล้วจึงถามผู้บอกภาษาว่า “ผู้บอกภาษาเรียกผู้หญิงคนนี้ว่าอย่างไร” เมื่อผู้บอกภาษาตอบจากนั้นจึงแสดงรูปภาพถัดไปแล้วทำกระบวนการเดิมคือ บรรยายข้อมูลความสัมพันธ์ของคนในรูปภาพแล้วถามคำถามจนได้คำเรียกญาติครบทั้ง 10 คำ (ตามที่ปรากฏในตาราง)
ผู้วิจัยพบว่าการใช้รูปแปรแต่ละรูปแปรในแต่ละคำแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มที่ใช้รูปแปรภาษาไทดำเท่านั้นได้แก่ “พ่อ” และ “แม่” 2) กลุ่มที่ใช้รูปแปรภาษาไทดำมากกว่ารูปแปรภาษาไทยมาตรฐานได้แก่ “ปู่” “ย่า” “ตา” “ยาย” “ลูกเขย” “ลูก” และ “ลูกสะใภ้” และ 3) กลุ่มที่ไม่ใช้รูปแปรภาษาไทดำแต่ใช้รูปแปรภาษาไทยมาตรฐานเพียงรูปแปรเดียว คือ “อาชาย” คำนี้ในภาษาไทดำใช้รูปแปร [a:w] ต่างจาก “อาหญิง” คือรูปแปร [a:] แต่ในภาษาไทยมาตรฐาน รูปแปร [a:] หมายถึงทั้ง “อาชาย” และ “อาหญิง” ชาวไทดำที่บ้านสะแกรายน่าจะได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยมาตรฐานจึงใช้รูปแปร [a:] หมายรวมถึง “อาชาย” ด้วยทำให้รูปแปร [a:w] สูญไปจากภาษาไทดำ เมื่อพิจารณารูปแปรภาษาไทดำของลูกเขยและลูกสะใภ้พบว่ารูปแปร [lu? khɯәj] และ [lu? paɯ] เป็นรูปแปรดั้งเดิมของภาษาไทดำที่พบในงานวิจัยในอดีต ส่วนรูปแปร [lu? khә:j] และ [lu:k pau] เป็นรูปแปรใหม่ของภาษาไทดำที่พบในงานวิจัยนี้ซึ่งเกิดจากประสมกันระหว่างภาษาไทดำกับภาษาไทยมาตรฐานในสองคำนี้มากกว่ารูปแปรดั้งเดิมภาษาไทดำและรูปแปรภาษาไทยมาตรฐานคือรูปแปร[lu? khә:j] (คำว่า lu? เป็นคำภาษาไทดำประสมกับ khә:j ซึ่งเป็นคำภาษาไทยมาตรฐาน) และรูปแปร [lu:k pau] (คำว่า lu:k เป็นคำภาษาไทยมาตรฐานประสมกับ pau ซึ่งเป็นคำภาษาไทดำ )
ดำรงค์ นันทผาสุข. 2555. การแปรของคำเรียกญาติและ (aɯ) ในภาษาไทดำ บ้านสะแกราย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมตามอายุและทัศนคติต่อภาษา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชา ภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.