การบริหารงานวิจัย
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''การบริหารงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา''' สถาบันอุ…')
แตกต่างถัดไป →
การปรับปรุง เมื่อ 12:52, 11 พฤษภาคม 2556
การบริหารงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา
สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาด้านการวิจัยทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพของงานวิจัย ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมการบริหารงานวิจัยเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพงานวิจัยภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ของสถาบัน ซึ่งอาจทำได้โดยใช้หลักการบริหารงานวิจัยที่สำคัญ 3 ส่วน คือ การบริหารงานวิจัยระดับต้นน้ำ การบริหารงานวิจัยระดับกลางน้ำ และการบริหารงานวิจัยระดับปลายน้ำ ร่วมกับเครื่องมือทางการบริหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล คือ เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria For Performance Excellence: EdPEx) และแนวคิดการเทียบเคียงสมรรถนะ (Benchmarking) เพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารงานวิจัยของสถาบันอื่น เช่นกรณีศึกษาของผู้วิจัย ที่ได้ทำการเทียบเคียงสมรรถนะการบริหารงานวิจัยระหว่างวิทยาลัยพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมกับสถาบันการศึกษาพยาบาลสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิดของเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ พ.ศ. 2552-2553 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผลการศึกษาทำให้ได้แนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารงานวิจัยที่สถาบันการศึกษาทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานวิจัยได้ ดังนี้
แนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารงานวิจัย
ด้านการนำองค์การ คือ ผู้นำระดับสูงกำหนดและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย และค่านิยมด้านการวิจัยที่ชัดเจนและเป็นระบบ สร้างความผูกพันหรือแรงจูงใจด้านการวิจัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน สร้างบรรยากาศทางการวิจัยที่ดี และบริหารงานวิจัยโดยใช้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ คือ จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยโดยให้ความสำคัญต่อความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์และความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการวิจัยที่เป็นระบบสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน และคาดการณ์ผลการดำเนินการด้านการวิจัยและเปรียบเทียบตัวบ่งชี้กับคู่เปรียบเทียบอยู่เสมอ (คู่เปรียบเทียบ หมายถึง ผลการดำเนินงานในอดีต เป้าประสงค์ หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ)
ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ สร้างความผูกพันด้านการวิจัยให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยกำหนดทิศทางการวิจัยที่ชัดเจนและให้บริการด้วยความเอาใจใส่ สร้างวัฒนธรรมวิจัยที่มุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยกำหนดให้งานวิจัยเป็นภาระงานหลักที่มีผลต่อการเลื่อนขั้นเงินเดือน/เพิ่มค่าจ้าง มีเงินรางวัลสำหรับโครงการวิจัยที่เสร็จตรงเวลา และรับฟังข้อมูลด้านการวิจัยจากผู้รับบริการและจัดการอย่างเป็นระบบ
ด้านการวัดผล การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ คือ วัด วิเคราะห์และปรับปรุงผลการดำเนินการด้านการวิจัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จัดการสารสนเทศด้านการวิจัยและเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร และจัดการความรู้ด้านการวิจัยที่เชื่อถือได้
ด้านการมุ่งเน้นผู้ปฏิบัติงาน คือ ผูกใจผู้วิจัยด้วยแรงจูงใจหรือสิ่งตอบแทนที่หลากหลายและเป็นระบบ พัฒนาศักยภาพอาจารย์ด้านการวิจัยอย่างเป็นระบบตอบสนองต่อความต้องการของอาจารย์และผู้บริหาร ประเมินความผูกพันด้านการวิจัยและใช้ผลการประเมินมาทำให้ผลการดำเนินการด้านการวิจัยดีขึ้น บริหารขีดความสามารถและอัตรากำลังด้านการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาบรรยากาศในการทำงานให้ปลอดภัย มั่นคงและเกื้อหนุนต่อการทำงานวิจัย
ด้านการจัดการกระบวนการ คือ ออกแบบระบบการบริหารงานวิจัยที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพโดยสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยในสถาบัน ออกแบบและบริหารโครงการวิจัยที่เป็นระบบและคล่องตัว และจัดสรรเงินรายได้สนับสนุนเครือข่ายวิจัยภายในเพื่อกระตุ้นการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ
รายการอ้างอิง
อาทิตยา ดวงมณี. (2555). การพัฒนายุทธศาสตร์การบริหารงานวิจัยตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศของวิทยาลัยพยาบาล สังกัดกระทรวงกลาโหม. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.