การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนในนักเรียนมัธยมศึกษา
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '<nowiki> ในช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการป…')
รุ่นปัจจุบันของ 08:25, 22 มิถุนายน 2556
ในช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิตของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนในชั้นมัธยมปลายได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอันมาก ทั้งนี้นักเรียนชั้นมัธยมปลายนับเป็นช่วงของวัยรุ่นที่มีการเติบโต พัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความกดดันในการเลือกแผนการเรียนรวมทั้งเส้นทางอาชีพ หากนักเรียนขาดความเข้าใจในตนเอง ไม่มีความพร้อมในการเติบโตต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงขาดองค์ประกอบเกื้อหนุนหรือขาดวิธีการ ทักษะต่างๆที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาตนเองเพื่อพร้อมที่จะพัฒนาเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะตามวัยและสามารถเผชิญรับมือกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอย่างในปัจจุบันแล้ว นักเรียนอาจมีการเติบโตไม่เป็นไปตามวัยหรืออาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ แนวคิดทางจิตวิทยาแนวคิดหนึ่งที่ให้ความสำคัญของการส่งเสริมภูมิคุ้มกันจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต คือ แนวคิดเรื่อง การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตน (Personal growth initiative หรือ PGI) ที่พัฒนาโดย Christine Robitschek นักจิตวิทยาชาวอเมริกันจาก Texas Tech University ในปี ค.ศ. 1998 ทั้งนี้ Robitschek ได้ให้ความหมายของ การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนว่าหมายถึงเป็นแนวโน้มโดยรวมของบุคคลที่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือพัฒนาตนเองให้เติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ ผู้ที่มีการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนสูงจะเป็นผู้ที่มีพลัง มีความกระตือรือร้น มีความมุ่งมั่น มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมีเป้าหมาย นอกจากนั้นผู้ที่มีการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนสูงยังมีความมุ่งมั่นในการลงมือปฏิบัติจริงตามขั้นตอนหรือแนวทางที่วางไว้อย่างตั้งใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนมีรากฐานมาจากแนวคิดด้านมนุษย์นิยม ที่เน้นให้คุณค่ากับมนุษย์ โดยมองมนุษย์แบบองค์รวม มนุษย์มีเสรีภาพภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มนุษย์จะมีอิสระในการคิด รู้สึก สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างเสรี รวมถึงรับผิดชอบในการกระทำตนเอง ในการเลือกวิถีการดำเนินชีวิตของตนเองด้วย และพัฒนาตนเองไปสู่การพัฒนาตนตามศักยภาพ การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน คือ (1) ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง (Readiness for Change) เป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อมต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง (2) การวางแผน (Planfulness) เป็นการคิดหาวิธีการ กลวิธีที่จะนำมาใช้ในการวางขั้นตอนหรือกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการวางแผนสู่การปฏิบัติเพื่อให้บุคคลเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง (3) การรู้จักใช้แหล่งทรัพยากร (Using Resources) เป็นความสามารถในการเข้าถึงแหล่งสนับสนุนข้อมูล แนวทางต่างๆ รวมถึงการรู้จักขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษา จากบุคคลรอบข้างหรือคนอื่นๆได้เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตน และ (4) พฤติกรรมที่แสดงถึงความตั้งใจ (Intentional Behavior) เป็นกระบวนการลงมือปฏิบัติจริงตามขั้นตอน แผนการหรือเป้าหมายต่างๆที่วางไว้อย่างตั้งใจจริง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตน การศึกษาวิจัยของ Robitschek และ Keyes (2009) แสดงว่านักเรียนที่มีการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนสูงจะยอมรับตนเองมากกว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับคนอื่นๆ มองเป้าหมายในชีวิต รับรู้ การควบคุมและการเรียนรู้ธรรมชาติของตน และการเป็นตัวของตนเอง หรือมีทิศทางและทางเลือกของตนในชีวิต มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิตและมีมุมมองทางบวกมากกว่านักเรียนที่มีคะแนนความงอกงามแห่งตนต่ำกว่า สำหรับงานวิจัยในประเทศไทย พิชามญช์ บุญสิทธิ์(2554) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนกับความวิตกกังวลในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จำนวน 385 คน เป็นชาย 119 คนและหญิง 266 คน ผลการวิจัยพบว่า การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนมีความสัมพันธ์ทางลบกับความวิตกกังวลในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยและการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนี และการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการเผชิญปัญหา 2 รูปแบบคือการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหาและการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม ส่วนการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีกับการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมนั้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความวิตกกังวลในการสอบคัดเลือก นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่านพบว่าการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนส่งผลต่อความวิตกกังวลในการสอบคัดเลือกโดยมีการเผชิญปัญหาแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมและการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน การวิจัยในประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งโดยผู้เขียน ซึ่งเป็นการวิจัยในระดับปริญญามหาบัณฑิตในสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ที่มุ่งศึกษาผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธต่อการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนและการเผชิญปัญหาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตน แบบวัดการเผชิญปัญหา และกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ค่าที(t-test) ผลการวิจัยพบว่า การริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตน และ การเผชิญปัญหาด้านบวกของนักเรียนในระยะหลังการทดลองสูงกว่าค่าคะแนนเฉลี่ยในระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<.05) อย่างไรก็ตามผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างของการเผชิญปัญหาด้านลบของนักเรียนในระยะก่อนและหลังการทดลอง การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่มีการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนสูงมีแนวโน้มมีสุขภาพจิตดีและมีทักษะการจัดการปัญหาในเชิงบวก เช่น การมุ่งแก้ปัญหาและแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งนับเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดี ดังนั้นการติดตามประเมินระดับการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตน รวมทั้งจัดบริการทางจิตวิทยาเพื่อส่งเสริมการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนในนักเรียนมัธยมศึกษาจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและควรจะได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
เนื้อหา |
อ้างอิง
1. Robitschek, C. (1998). Personal growth initiative: The construct and its measure.
Measurement and Evaluation in Counseling and Development, 30, 183-198
2. Robitschek, C., & Keyes,C. L. M. (2009).Keyes’s Model of Mental Health With Personal Growth Initiative as a Parsimonious Predictor. Journal of Counseling Psychology, 56, 321-329
3. พิชามญช์ บุญสิทธิ์.(2554).ความสัมพันธ์ระหว่างการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนกับความวิตกกังวลในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน.วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
4. วิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล (2555). ผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธที่มีต่อการริเริ่มพัฒนาความงอกงามแห่งตนและการเผชิญปัญหาของนักเรียนมัธยมศึกษา ตอนปลาย.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.