สมรรถนะข้ามวัฒนธรรม
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'การวิจัยเรื่องการพัฒนาตัวบ่งชี้และแบบวัดสมรรถน…')
รุ่นปัจจุบันของ 07:39, 27 สิงหาคม 2556
การวิจัยเรื่องการพัฒนาตัวบ่งชี้และแบบวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรม: การทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของการวัดตามภูมิหลังของครู มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้และแบบวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครู 2) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครูที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลการวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครูที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูผู้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 732 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและแบบวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครู การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows เพื่อวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานและสถิติอ้างอิง ประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์การกระจาย ความเบ้ ความโด่ง และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และใช้โปรแกรม LISREL ในการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างกลุ่มพหุ ผลการวิจัยพบว่า 1. สมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครูประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ จำนวน 8 ตัวบ่งชี้ ดังนี้ 1) ความตระหนักทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ตัวบ่งชี้ คือ ความไวทางวัฒนธรรมและการเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม 2) ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ตัวบ่งชี้ คือ ความรู้ในวัฒนธรรมเฉพาะและความรู้ในวัฒนธรรมหลากหลาย และ3) ทักษะส่วนบุคคล ประกอบด้วย 4 ตัวบ่งชี้ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสามารถในการสื่อสาร ความยืดหยุ่น และการกำกับตนเอง 2. แบบวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครูครอบคลุม 3 องค์ประกอบ 8 ตัวบ่งชี้ โดยมีลักษณะเป็นแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 78 ข้อ แบบวัดมีความตรงตามเนื้อหา โดยดัชนี IOC มีค่าตั้งแต่ 0.60 – 1.00 มีความตรงเชิงโครงสร้างทั้งความตรงเชิงเหมือนและความตรงเชิงจำแนกจากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และมีค่าความเที่ยงของตัวบ่งชี้แต่ละตัวตั้งแต่ 0.752-0.948 3. โมเดลการวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครูที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่า x^2>=8.868, df=9, p=0.450, GFI=0.997, AGFI=0.988, RMR=0.012 และ RMSAE=0.029 4. โมเดลการวัดสมรรถนะข้ามวัฒนธรรมของครู มีความไม่แปรเปลี่ยนของรูปแบบโมเดลระหว่างครูในภูมิภาคที่แตกต่างกัน แต่มีความแปรเปลี่ยนของค่าพารามิเตอร์ซึ่งเป็นค่าน้ำหนักองค์ประกอบของแต่ละตัวบ่งชี้และค่าน้ำหนักองค์ประกอบขององค์ประกอบหลักด้านความตระหนักทางวัฒนธรรม ด้านความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม และด้านทักษะส่วนบุคคล