Peer

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
53776286 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'การศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสน…')

รุ่นปัจจุบันของ 03:06, 29 สิงหาคม 2556

การศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนต่อระดับน้ำตาลสะสมของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนต่อระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยใช้แนวคิดการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนในการกำหนดทักษะทั้ง 6 ด้าน ของ Hiester (2009) และใช้กระบวนการการจัดการตนเองของ AADE (2009) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีระดับ HbA1C มากกว่า 8% ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ที่มารับบริการในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลระยอง แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ราย รวมทั้งหมด 40 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนเบาหวานโดยมีการจัดกิจกรรมโดยผู้วิจัยจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นกลุ่มเพื่อนเบาหวานติดตามทางโทรศัพท์ 4 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยได้รับการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย แผนการสอน ภาพสไลด์ และคู่มือ “พิชิตเบาหวาน” เป็นสื่อในการดำเนินกิจกรรม เครื่องมือกำกับการทดลอง คือ แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานของเพื่อนเบาหวาน ซึ่งมีค่าความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .70 ค่าความเที่ยง KR - 20 .85 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการวัดซ้ำพบว่ามีความสัมพันธ์กัน (r = .99) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และทดสอบด้วยสถิติที ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยระดับ HbA1C ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.416, p< .05) และค่าเฉลี่ยของการลดลงของระดับ HbA1C ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.64, p < .05) ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้ ดังนี้ 1. สามารถนำโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อน ไปประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมระดับ HbA1C เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการตนเองส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดความเชื่อมั่น เกิดแรงจูงใจที่จะจัดการตนเองทั้ง 6 ด้าน 2.ควรศึกษาแนวคิดการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนให้เข้าใจถึงกระบวนการดำเนินการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหารเบาหวานและอาหารแลกเปลี่ยน การใช้ยา การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด การเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดในเลือดด้วยตนเอง และการจัดการกับการเกิดภาวะ hypoglycemia หรือ hyperglycemia และควรศึกษารูปแบบ บทบาทของการนำเพื่อนเบาหวานในการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวานก่อนนำไปใช้ 3.ควรดำเนินการติดตาม กำกับ สนับสนุนและให้ข้อเสนอเพื่อนเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ และในขณะอภิปรายกลุ่มระหว่างเพื่อนเบาหวานและผู้ป่วยเบาหวาน พยาบาลควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อคอยกำกับ สนับสนุนความรู้ในข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง 4.ควรมีการกระตุ้นซ้ำ (Booster dose) ในทักษะการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวานและเพื่อนเบาหวานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อความต่อเนื่องของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 5.การศึกษาวิจัยโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการสนับสนุนจากเพื่อนต่อระดับ HbA1C ครั้งต่อไป ควรเพิ่มบทบาทของญาติหรือบุคคลในครอบครัวเข้าร่วมในการส่งเสริมการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากบุคคลในครอบครัวเป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญส่วนหนึ่งในการจัดการตนเองเพื่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

รับข้อมูลจาก "https://chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=Peer"
เครื่องมือส่วนตัว