ผลของโปรแกรมการสอนแนะผู้ดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'บทคัดย่อ วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความสามาร…')
รุ่นปัจจุบันของ 05:56, 13 ธันวาคม 2556
บทคัดย่อ วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ระหว่างก่อนและหลังการสอนแนะ ในกลุ่มทดลอง และเปรียบเทียบความสามารถของผู้ดูแล ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนแนะกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง โดยใช้แนวคิดการสอนแนะของ Eaton and Johnson (2001) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่คาสายสวนปัสสาวะ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 24 คน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสอนแนะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 1) โปรแกรมการสอนแนะการดูแลระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย แผนการสอนและคู่มือการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความสามารถของผู้ดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ
ผลการวิจัย: 1. ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ หลังได้รับการสอนแนะสูงกว่าก่อนได้รับการสอนแนะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) 2. สามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะกลุ่มที่ได้รับการสอนแนะสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)
ควรนำโปรแกรมการสอนแนะการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ไปใช้กับผู้ดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ดูแลเพศชาย