โรคต้อหิน
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเช…')
รุ่นปัจจุบันของ 08:26, 17 พฤษภาคม 2557
ผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหิน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย : เพื่อพัฒนาโปรแกรมทางการพยาบาลในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคต้อหินมีความร่วมมือในการรักษา ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา และการมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา เพื่อลดอัตราเสี่ยงของผู้ป่วยโรคต้อหินต่อการสูญเสียสายตาอย่างถาวร
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ
รูปแบบการวิจัย : การวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง
สถานที่ทำการศึกษา : แผนกผู้ป่วยนอกจักษุกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
วิธีการศึกษา : ศึกษาในผู้ป่วยโรคต้อหินวัยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจักษุกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจำนวน 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 25 คน จับคู่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมให้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่อง เพศ อายุ ระดับการศึกษาระยะเวลาของการเป็นโรคต้อหินและจำนวนของยาหยอดตาโรคต้อหิน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ประเมินความพร้อม การให้ข้อมูล การพัฒนาทักษะ การติดตามและกระตุ้นเตือน หลังได้รับโปรแกรม 4 สัปดาห์ ประเมินความร่วมมือซ้ำ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความร่วมมือในการรักษา ซึ่งมีข้อคำถาม 15 ข้อ ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .93 และค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.78 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติบรรยายและการทดสอบค่าที
ผลการศึกษา : พบว่าความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) และ ความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ (p<.05)
สรุป : โปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคต้อหินมีความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้น ดังนั้น พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคต้อหินสามารถนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคต้อหินเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการรักษา
บทนำ โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคเรื้อรังทางตาที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีรอยโรคที่เส้นประสาทตาซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ จนทำให้เกิดการทำลายเส้นประสาทตา และมีผลทำให้ลานสายตาผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ตาจะมัวลงเรื่อยๆ จนทำให้ตาบอดได้ โดยโรคต้อหินเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดคิดเป็นร้อยละ 4.64 การรักษาโรคต้อหินมีทั้งการรักษาด้วยยา การเลเซอร์ หรือการผ่าตัดโดยเป้าหมายในการรักษาคือ การลดความดันในลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การรักษาโรคต้อหินโดยการใช้ยาหยอดตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา จึงจะสามารถควบคุมความดันในลูกตาได้ เมื่อใดที่ให้ยาเต็มที่แล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันในลูกตาได้ แพทย์จะพิจารณารักษาโดยการเลเซอร์หรือการผ่าตัดอย่างไรก็ตามภายหลังการรักษาด้วยการเลเซอร์หรือการผ่าตัดผู้ป่วยยังอาจต้องหยอดยาไปตลอดชีวิต ดังนั้น การรักษาโรคต้อหินจึงต้องการความร่วมมือความเข้าใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมากและต้องติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ หากขาดการรักษาที่ต่อเนื่องอาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นในการป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ผู้ป่วยโรคต้อหินจำเป็นจะต้องให้ความร่วมมือในการรักษา ได้แก่ การหยอดยาอย่างสม่ำเสมอ ถูกต้องทั้งจำนวน ขนาด เวลา และถูกวิธี ตามแผนการรักษาเพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมความดันในลูกตาและช่วยชะลอการสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ จากการศึกษาพบว่ายังมีผู้ป่วยโรคต้อหินจำนวนมากที่ให้ความร่วมมือในการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร โดยพบว่าอัตราความไม่ร่วมมือในการรักษาอยู่ระหว่างร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 80ปัจจัยที่ส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยได้แก่ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การบริหารยา อาการข้างเคียงจากยาหรือจากสภาวะของโรค ไม่ทราบถึงความรุนแรงของโรคต้อหินที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียสายตา หากไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งยังไม่ทราบวิธีการดูแลที่เหมาะสม
แนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของ Rosenstock (1974) เชื่อว่า การที่บุคคลใดจะปฏิบัติหรือกระทำสิ่งใดเพื่อหลีกเลี่ยงจากการเป็นโรคบุคคลนั้นจะต้องมีความเชื่อว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคโรคนั้นมีความรุนแรงต่อชีวิตตนและการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงจากการเป็นโรคจะมีผลดีต่อตนเองในการช่วยลดโอกาสเสี่ยงหรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยโรคต้อหินรับรู้ว่าโรคที่ตนเป็นอยู่เป็นโรคที่อันตราย พยาธิสภาพของโรคส่งผลให้เกิดความพิการคือตาบอดได้ การรับรู้นี้จะทำให้เกิดแรงผลักดันทำให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลดอุปสรรคในการปฏิบัติในการใช้ยา เช่น การฝึกทักษะที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาหยอดตาได้อย่างถูกวิธี, มีสื่อช่วยเตือนความจำในการใช้ยาหยอดตา ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคต้อหินมีความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้นจากเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้นำแนวคิดนี้มาพัฒนากิจกรรมบำบัดทางการพยาบาล โดยจัดทำเป็นโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของ Rosenstock (1974) ซึ่งผู้วิจัยประยุกต์ขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรม ให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การส่งเสริมให้รับรู้ความรุนแรงของโรค ความเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ประโยชน์ของการให้ความร่วมมือในการรักษา และการปฏิบัติเพื่อลดอุปสรรคในการให้ความร่วมมือในการรักษา
วิธีดำเนินการวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-posttest control group design) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหิน ประชากรสำหรับการศึกษาวิจัย คือผู้ป่วย โรคต้อหินทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุตั้งแต่ 20-59 ปี ที่มารับการรักษาที่ห้องตรวจจักษุกรรม แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 25 คน กลุ่มทดลอง 25 คน โดยกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลปกติ
เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินความร่วมมือในการรักษาแบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคต้อหินและแบบประเมินทักษะการใช้ยาหยอดตา
เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่โปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สร้างขึ้นจากแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของRosenstock (1974) และการทบทวนวรรณกรรม ประกอบด้วย การส่งเสริมการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาบอด, การส่งเสริมการรับรู้ความรุนแรงของโรค, การส่งเสริมการรับรู้ประโยชน์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนสื่อต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคในการปฏิบัติในการร่วมมือในการรักษา ซึ่งได้แก่ การหยอดยาและการมาตรวจตามนัด
การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ด้วยสถิติเชิงพรรณนาโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินโดยใช้สถิติ Paired t- testและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินก่อนและหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Independent t- test
อภิปรายผลการวิจัย
จากผลการวิจัย การใช้โปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ พบว่าความร่วมมือในการรักษาของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญ ( p<0.0001) สามารถอภิปรายผลได้ว่า การให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ โดยประยุกต์แนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของ Rosenstock (1974) ซึ่งเขาเชื่อว่า การที่บุคคลจะมีพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษาได้นั้น บุคคลนั้นต้องมีความเชื่อว่าเขามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค โรคนั้นมีความรุนแรงต่อชีวิต การปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษามีผลดีต่อเขาในการช่วยลดความรุนแรงของโรค และในการปฏิบัติพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ควรมีอุปสรรคในการปฏิบัติ ในการวิจัยนี้ผู้วิจัยได้ดำเนินโปรแกรมผ่านวิธีการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มตัวอย่างมีความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย การให้ข้อมูลความร่วมมือในการรักษา โดยใช้สื่อวีดิทัศน์ เนื้อหาประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับโรคต้อหิน ประโยชน์ของการรักษา วิธีการรักษา การป้องกันการสูญเสียสายตาอย่างถาวรจากโรคต้อหิน และผู้วิจัยบรรยายให้ข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้อง ทั้งขนาด จำนวน เวลา วิธีการ และอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการใช้ยา การให้ข้อมูลเหล่านี้ ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคต้อหินเพิ่มขึ้น รับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดการสูญเสียสายตาอย่างถาวร ความรุนแรงของโรคหากไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา และรับรู้ประโยชน์ที่จะเกิดกับตนเองหากให้ความร่วมมือในการรักษา นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้พัฒนาทักษะในการใช้ยาหยอดตาให้กับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ยาไม่ถูกวิธี โดยให้กลุ่มตัวอย่างฝึกทักษะการหยอดยาที่ถูกวิธี การทบทวนชื่อยา ลักษณะขวดยา เวลาในการใช้ ปริมาณการใช้ และการปฏิบัติตัวหลังการหยอดยาและสนับสนุนโดยให้สื่อโปสเตอร์รูปภาพขั้นตอนการใช้ยาหยอดตาที่ถูกวิธี ให้กับกลุ่มตัวอย่างเพื่อช่วยเตือนความจำวิธีปฏิบัติในการหยอดยาการพัฒนาทักษะนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติของกลุ่มตัวอย่าง ว่าตนสามารถใช้ยาหยอดตาได้อย่างถูกต้อง ในเรื่องอุปสรรคจากการใช้ยาเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างลืมหยอดยาตามแผนการรักษา ผู้วิจัยสนับสนุนสื่อช่วยเตือนความจำ ได้แก่ สติ๊กเกอร์ช่วยเตือนความจำ ที่จะระบุเวลาและชื่อยาที่ต้องหยอด ให้กลุ่มตัวอย่างนำไปติดในจุดที่เห็นได้ชัดเพื่อช่วยเตือนการหยอดยา และให้คู่มือผู้ป่วยโรคต้อหิน ซึ่งจะมีการบันทึกเวลาในการใช้ยาจริงในแต่ละวันของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อช่วยเตือนการใช้ยาให้กับกลุ่มตัวอย่างอีกทางหนึ่ง หลังจากกิจกรรมที่ได้รับจากผู้วิจัยที่โรงพยาบาลแล้ว กลุ่มตัวอย่างยังได้รับการติดตามเพื่อกระตุ้นเตือนการปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษา โดยผู้วิจัยติดตามกระตุ้นเตือนการปฏิบัติตามคำแนะนำของกลุ่มตัวอย่างทางโทรศัพท์ ในการติดตามนี้ผู้วิจัยติดตามทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มตัวอย่างให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้คำแนะนำ และแก้ปัญหาให้กับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อลดอุปสรรคในการปฏิบัติตัวของกลุ่มตัวอย่าง ให้การเสริมแรงด้วยการกล่าวชมเชยกรณีที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ให้คำปรึกษาแนะนำร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติได้
จากกิจกรรมทั้งหมดที่ผู้วิจัยได้ดำเนินมาตามโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ อาจกล่าวได้ว่า โปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยโรคต้อหินวัยผู้ใหญ่ มีผลต่อความร่วมมือในการรักษาได้จริง สอดคล้องกับการศึกษาของ สุวิมล เพิ่มพูล(17)ที่ศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคปอดตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ ที่เข้ารับการรักษาในคลินิกวัณโรคโดยการให้โปรแกรมความรู้เกี่ยวกับวัณโรคปอดเป็นรายบุคคลทั้งหมด 3 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 2 เดือนผลการศึกษาสรุปได้ว่าโปรแกรมการให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคปอดตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สามารถส่งเสริมให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดมีพฤติกรรมการให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบความร่วมมือในการรักษาของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพและกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลปกติ พบว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมและกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลปกติ มีคะแนนเฉลี่ยความร่วมมือในการรักษา ไม่แตกต่างกัน (p=.336) และหลังจากเข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพแล้ว กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมมีคะแนนเฉลี่ยความร่วมมือในการรักษาสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลปกติ อย่างมีนัยสำคัญ (p<.0001) อภิปรายได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ หลังจากได้รับข้อมูล กลุ่มตัวอย่างมีความตระหนักและรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดการสูญเสียสายตาอย่างถาวร รับรู้ความรุนแรงของโรคต้อหิน ประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการให้ความร่วมมือในการรักษา ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีการลดอุปสรรคในการใช้ยาทั้งการฝึกทักษะการใช้ยาหยอดตาและสื่อช่วยเตือนความจำต่างๆ ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความมั่นใจในการปฏิบัติตามแผนการรักษา ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษาเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลปกติ ในการได้รับความรู้และคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ประกอบด้วยการให้ความรู้ คำปรึกษา คำแนะนำ และตอบข้อซักถามหรือปัญหาตามที่ผู้ป่วยแต่ละรายซักถาม โดยไม่ได้มีการประเมินความร่วมมือในการรักษาในปัจจุบัน และไม่มีการประเมินการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการใช้ยาหยอดตาของกลุ่มตัวอย่าง ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษาไม่ถูกต้อง รวมทั้งไม่ได้เน้นให้กลุ่มตัวอย่าง เห็นถึงโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียสายตาอย่างถาวร ความรุนแรงของโรค ประโยชน์ในการให้ความร่วมมือในการรักษา และไม่ได้ลดอุปสรรคในเรื่องการใช้ยาทั้งทักษะการใช้ยาที่ถูกต้อง การลืมหยอดยา และการกระตุ้นเตือน จึงส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลปกติ มีคะแนนเฉลี่ยความร่วมมือในการรักษาน้อยกว่ากลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สำหรับอุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นับเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ Rosenstrockมองว่าส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษา ในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มของการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ คิดเป็นร้อยละ 78.0 (กลุ่มควบคุมร้อยละ 38, กลุ่มทดลองร้อยละ40) ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน อุปสรรคในเรื่องค่ารักษาพยาบาลจึงไม่น่าส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาพยาบาล
สรุป ผล การวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่าโปรแกรมการให้ข้อมูลตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพส่งผลให้ผู้ป่วยโรคต้อหินวัยผู้ใหญ่มีความร่วมมือในการรักษาสูงขึ้น และมีคะแนนสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ ซึ่งคะแนนความร่วมมือในการรักษาที่สูงนี้คาดว่าจะช่วยชะลอการเสื่อมของการมองเห็น และชะลอการเกิดการสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ดังนั้นพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคต้อหิน ควรให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคต้อหินในวัยผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง
1. มัญชิมามะกรวัฒนะ.ตำรา“ต้อหิน” Basic Glaucoma. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.: 3-5
2. วรางคณา ทองคำใส. รายงานการสำรวจสภาวะตาบอดและโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญในพื้นที่ชนบทห่างไกลและขาดแคลนจักษุแพทย์. วารสารจักษุธรรมศาสตร์, 2552. 4(1): 11-21
3. โกศลคำพิทักษ์. ต้อหินและการรักษา. ใน: ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์, บรรณาธิการ. ตำราจักษุวิทยา.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2548: 124-136
4. AllinghamRR.,Damji KF., Moroi SE., Rhee DJ. The basic aspects of glaucoma. In: Allingham RR, DamjiKF.,Moroi SE., Rhee DJ, eds.Shields Textbook of Glaucoma. 6th ed. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2011: 1-10
5. Kulkarni S V, Damji K F, Buys Y M. Medical management of primary open-angle glaucoma: Best practices associated with enhanced patient compliance and persistency. Patient Preference and Adherence, 2008. 2: 303-313
6. Curtis C, Lo E, OoiL,Bennett L, Long J. Factors affecting compliance with eye drop therapy for glaucoma in a multicultural outpatient setting. Contemporary Nurse, 2009. 31 : 121-128
7. Friedman D S, Okeke C O, Jampel H D, Ying G, Plyler R J, Jiang Y, Quigley H A. Risk Factors for Poor Adherence to Eyedrops in Electronically Monitored Patients with Glaucoma. American Academy of Ophthalmology, 2009. 1097-1105
8. Tsai J C. Medication adherence in glaucoma : approaches for optimizing patient compliance. Current Opinion in Ophthalmology, 2006. 17: 190-195
9. Kholdebarin R, Campbell R J, Buys Y M. Multicenter study of compliance and drop administration in glaucoma. Can J Ophthalmol, 2008. 43(4): 454-61
10. Tsai J C, Mcclure C A, Ramos S E, Schlundt D G, Pichert J W. Compliance barriers in glaucoma : a systematic classification. Journal of Glaucoma, 2003. 12: 393-398
11. Mansouri K, Iliev M E, Rohrer K, Shaarawy T. Compliance and knowledge about in patients at tertiary glaucoma units. IntOphthalmol, 2011. 31: 369-376
12. Okeke C O, Quigley H A, Jampel H D, Ying G, Plyler R J, Jiang Y, Friedman D S. Adherence with Topical Glaucoma Medication Monitored Electronically. American Academy of Ophthalmology, 2009.: 191-199
13. Olthoff C M, Schouten J S, Borne B W, Webers C A. Noncompliance with Ocular hypotensive Treatment in Patients with Glaucoma or Ocular Hypertension. American Academy of Ophthalmology, 2005.: 953-961
14. Schwartz G F, Quigley H A. Adherence and Persistence with Glaucoma Therapy, 2008. :S57-S68
15. นภาพร พรมคำซาว, ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางจิตสังคมกับพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเรื้อรัง .วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2541
16. ระติพร คำทั่ง, นันทวัน สุวรรณรูป,นริศ กิจณรงค์ และนันทิยา วัฒายุ. ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การได้รับข้อมูลข่าวสารและพฤติกรรมการป้องกันโรคต้อหินของประชากรกลุ่มเสี่ยง, J Nurs Sci. 29(2) S1 Apr-Jun 2011
17. สุวิมลเพิ่มพูล.ประสิทธิผลของโปรแกรมการให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคปอดตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอด. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2554