ปัญญาประดิษฐ์ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960
จาก ChulaPedia
(ตัวละครปัญญาประดิษฐ์มีความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเป) |
ล |
||
แถว 30: | แถว 30: | ||
== ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก == | == ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก == | ||
- | นอกจากการเป็นภาพแทนของเทคโนโลยีแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ยังมีบทบาทในการเผยให้เห็นแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพทั้งภายนอกและภายใน จากการศึกษาบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายนอกจะพบอุปลักษณ์สามลักษณะ ได้แก่ 1) อสูรกายจักรกลซึ่งเป็นอุปลักษณ์แทนความผิดพลาดของรัฐและกลุ่มสถาบันในการดำเนินนโยบายต่างๆ การที่ตัวละครมนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จึงแสดงถึงความพยายามที่จะแก้ไขความผิดพลาดของรัฐและปกป้องเสรีภาพของตนเอง 2) เมสสิยาห์จักรกลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามดัดแปลงเครื่องมือของรัฐหรือกลุ่มสถาบันให้กลายเป็นเครื่องมือในการตอบสนองประโยชน์ของคนหมู่มาก ตัวละครปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้มักแสดงถึงการขบถต่อความเชื่อดั้งเดิมซึ่งเผยให้เห็นความปรารถนาของมนุษย์ในการหลุดพ้นจากชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า 3) จักรกลชนชั้นสองเป็นอุปลักษณ์ที่แสดงอคติทั้งทางชาติพันธุ์และทางเพศในสังคมอเมริกัน กล่าวคือปัญญาประดิษฐ์ประเภทหุ่นยนต์และแอนดรอยด์จะแสดงอคติต่อชาติพันธุ์อื่นๆ ในสังคมซึ่งคนผิวขาวดูถูกและเหยียดหยาม ขณะที่ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเพศหญิงจะแสดงอคติทางเพศของนักประพันธ์เพศชายในหลายด้าน อุปลักษณ์ทั้งสามลักษณะนี้ล้วนเผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลเมืองกับรัฐและกลุ่มสถาบันซึ่งนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนในหลายลักษณะเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพอันเป็นจิตวิญญาณแห่งทศวรรษ | + | นอกจากการเป็นภาพแทนของเทคโนโลยีแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ยังมีบทบาทในการเผยให้เห็นแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพทั้งภายนอกและภายใน จากการศึกษาบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายนอกจะพบอุปลักษณ์สามลักษณะ ได้แก่ |
+ | <ul>1) อสูรกายจักรกลซึ่งเป็นอุปลักษณ์แทนความผิดพลาดของรัฐและกลุ่มสถาบันในการดำเนินนโยบายต่างๆ การที่ตัวละครมนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จึงแสดงถึงความพยายามที่จะแก้ไขความผิดพลาดของรัฐและปกป้องเสรีภาพของตนเอง</ul> | ||
+ | <ul>2) เมสสิยาห์จักรกลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามดัดแปลงเครื่องมือของรัฐหรือกลุ่มสถาบันให้กลายเป็นเครื่องมือในการตอบสนองประโยชน์ของคนหมู่มาก ตัวละครปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้มักแสดงถึงการขบถต่อความเชื่อดั้งเดิมซึ่งเผยให้เห็นความปรารถนาของมนุษย์ในการหลุดพ้นจากชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า</ul> | ||
+ | <ul>3) จักรกลชนชั้นสองเป็นอุปลักษณ์ที่แสดงอคติทั้งทางชาติพันธุ์และทางเพศในสังคมอเมริกัน กล่าวคือปัญญาประดิษฐ์ประเภทหุ่นยนต์และแอนดรอยด์จะแสดงอคติต่อชาติพันธุ์อื่นๆ ในสังคมซึ่งคนผิวขาวดูถูกและเหยียดหยาม ขณะที่ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเพศหญิงจะแสดงอคติทางเพศของนักประพันธ์เพศชายในหลายด้าน อุปลักษณ์ทั้งสามลักษณะนี้ล้วนเผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลเมืองกับรัฐและกลุ่มสถาบันซึ่งนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนในหลายลักษณะเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพอันเป็นจิตวิญญาณแห่งทศวรรษ</ul> | ||
== ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก == | == ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก == |
การปรับปรุง เมื่อ 17:09, 7 กรกฎาคม 2557
เนื้อหา |
ที่มาของปัญหา
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ให้คำมั่นสัญญาว่าเทคโนโลยีจะนำพามนุษย์ไปสู่โลกในอุดมคติที่ปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บและมีชีวิตที่เป็นอมตะ แต่บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์กลับย้ำเตือนถึงผลลัพธ์ด้านมืดของเทคโนโลยีที่อาจนำไปสู่หายนะ มนุษย์หวาดกลัวว่าตนจะสูญเสียเสรีภาพ อารมณ์ คุณค่าของชีวิต และอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ให้กับเครื่องจักร ความหวาดกลัวนี้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ดังที่ปรากฏในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์จำนวนมาก
ความหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีของมนุษย์นับได้ว่าเป็นความหวาดกลัวอันเก่าแก่และอยู่เคียงคู่กับมนุษย์มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งความหวาดกลัวดังกล่าวถูกเรียกว่า “ปมแฟรงเกนสไตน์” (Frankenstein complex) โดยไอแซก อาซิมอฟ นักประพันธ์ชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย เจ้าของผลงานผลงานนวนิยายชุดหุ่นยนต์ (Robot Series) หุ่นยนต์กับสัตว์ประหลาดของแฟรงเกนสไตน์จึงถูกสร้างให้เป็นภาพแทนของเทคโนโลยีที่พัฒนาจนเกินกว่าที่อำนาจของมนุษย์ที่จะควบคุมได้ แต่อาซิมอฟชี้ให้เห็นว่าความกลัวนี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและโง่เขลาหากมนุษย์หวาดกลัวเทคโนโลยีและละทิ้งมันไปแทนที่จะใช้มันอย่างรอบคอบ เขาจึงได้ออกแบบกฎ 3 ข้อที่จะทำให้หุ่นยนต์กลายเป็นผู้ช่วยที่ซื่อสัตย์ของมนุษย์ตลอดการ อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งเพิ่มทัศนคติในแง่ลบต่อเทคโนโลยีมากขึ้นโดยเฉพาะการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของสหรัฐอเมริกาทำให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกว่าเทคโนโลยีสามารถล้างผลาญชีวิตมนุษย์ให้สูญสิ้นจากแผ่นดินโลกได้อย่างง่ายดาย
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมอย่างมหาศาลในยุโรปโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่และเป็นผู้นำแห่งโลกเสรีนิยมได้ประกาศจุดยืนต่อต้านสหภาพโซเวียตผู้นำแห่งโลกคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจนี้ถูกเรียกว่า “สงครามเย็น” อันนำไปสู่ความหวาดหวั่นต่อภัยจากสงครามนิวเคลียร์ และส่งผลให้เกิดบันเทิงคดีประเภทต่อต้านเทคโนโลยีจำนวนมากซึ่งมักแสดงภาพของโลกอนาคตที่ถูกทำลายด้วยอาวุธนิวเคลียร์จนมนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลก หรือได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีจนกลายพันธุ์ สภาพพื้นที่แห่งกลียุคนี้สะท้อนให้เห็นความวิตกกังวลต่ออานุภาพทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ยังมีบันเทิงคดีอีกจำนวนมากสะท้อนภาพสังคมที่มนุษย์ถูกควบคุมด้วยเครื่องจักรจนขาดเสรีภาพ บทบาทของปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นภาพแทนของเทคโนโลยีต่างๆ ที่สร้างความวิตกกังวลต่อมนุษย์ยุคนั้น
บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ในยุค 1960 ยังสะท้อน “จิตวิญญาณ” ของยุคซึ่งเกิดขึ้นจากความสิ้นหวังต่อรัฐที่ดำเนินนโยบายล้มเหลวผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่จึงลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐและปฏิวัติวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้น ยุคนี้ยังเป็นยุคแห่งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในสังคม ปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว การเรียกร้องสิทธิสตรี ความตื่นตัวในเสรีภาพเรื่องเพศ รวมถึงความเสื่อมศรัทธาในศาสนาพร้อมกับการผลิบานของศาสนาแนวนิวเอจ (New Age) ซึ่งเป็นศาสนาทางเลือกอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมตะวันออก ผสมผสานเข้ากับความคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่โดยเฉพาะจิตวิทยาและนิเวศวิทยา ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ดังกล่าวได้ให้กำเนิดบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “นิวเวฟ” ซึ่งมุ่งสำรวจโลกภายในและการทำความรู้จักกับโลกทางจิต อันนำไปสู่ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ รวมถึงนิยามเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์
จากการศึกษาตัวละครปัญญาประดิษฐ์ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ทั้งเก้าเรื่องได้แก่
- 1) Colossus (1966) ประพันธ์โดยเดนนิส เอฟ. โจนส์ (Dennis F. Jones)
- 2) Destination: Void (1966) ประพันธ์โดยแฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert)
- 3) The Moon Is a Harsh Mistress (1966) ประพันธ์โดยโรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ (Robert A. Heinlein)
- 4) 2001: A Space Odyssey (1968) ประพันธ์โดยอาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke)
- 5) Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968) ประพันธ์โดยฟิลิป เค. ดิก (Philip K. Dick)
- 6) The God Machine (1968) ประพันธ์โดยมาร์ติน ไคดิน (Martin Caidin)
พบว่าบทบาทของตัวละครปัญญาประดิษฐ์มีความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายประการ อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ กระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม การต่อต้านขีปนาวุธนิวเคลียร์ การเรียกร้องสิทธิของพลเมืองชั้นสองในสังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กระทบต่ออัตลักษณ์ของมนุษย์ โดยการศึกษานี้แบ่งออกเป็นสี่หัวข้อ ได้แก่ อิทธิพลของบริบททางสังคมที่นำไปสู่จิตวิญญาณแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะภาพแทนของเทคโนโลยี บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายนอก และบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายใน จากการศึกษาพบว่าตัวละครปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญที่ผู้ประพันธ์ใช้ในการสะท้อนและประกอบสร้างจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960 ซึ่งหมายถึงการแสวงหาเสรีภาพทั้งภายนอกและภายใน
บริบททางสังคมของทศวรรษ 1960
จากการศึกษาอิทธิพลของบริบททางสังคมพบว่า วิกฤตทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศคือชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเผยให้เห็นจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาเสรีภาพทั้งภายนอกและภายในเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข การแสวงหาเสรีภาพภายนอกแสดงออกผ่านการต่อสู้กับอำนาจรัฐและกลุ่มสถาบัน เช่น การเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ การเรียกร้องสิทธิของชาวเม็กซิกัน การเรียกร้องสิทธิสตรี การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเกย์-เลสเบี้ยน การเรียกร้องเสรีภาพในการพูด การต่อต้านสงครามเวียดนาม และการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนการแสวงหาเสรีภาพภายในแสดงออกผ่านการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเสือดำที่ปลุกกระแสความภูมิใจในชาติพันธุ์ของคนผิวดำ กลุ่มหมวกเบเรต์น้ำตาลที่สร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาวเม็กซิกัน กลุ่มเกย์-เลสเบียนที่สร้างความภูมิใจในเพศวิถีของตนเอง กลุ่มฮิปปี้ที่สร้างอัตลักษณ์ในการแต่งกายและวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ กลุ่มวัฒนธรรมทวนกระแสที่สร้างค่านิยมใหม่ อาทิ การปฏิวัติทางเพศ ดนตรีร็อค และการใช้ยาเสพติด
ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะภาพแทนของเทคโนโลยี
อิทธิพลจากวิกฤตทางการเมืองยังส่งผลให้เทคโนโลยีหลายประเภทได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษนี้โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรัฐและสงครามเย็น ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งล้วนถูกตั้งคำถามว่าจะนำพามนุษยชาติไปในทิศทางใด จากการศึกษาปัญญาประดิษฐ์ในฐานะภาพแทนของเทคโนโลยีดังกล่าวพบว่า ตัวละครปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกในการสะท้อนและเสริมสร้างบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจในเทคโนโลยีให้ปกคลุมสังคม เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์มีลักษณะของการเป็นอิสระจากการควบคุมของมนุษย์ ทั้งยังเป็นสัญญะที่ถูกเข้ารหัสด้วยความหมายที่เกี่ยวข้องกับความตายในเชิงจิตวิทยา เห็นได้ชัดเจนในเรื่องที่นำปัญญาประดิษฐ์มาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตัวละครปัญญาประดิษฐ์มักแสดงถึงพลังหรืออำนาจที่ยิ่งใหญ่เปรียบได้กับพระเจ้าซึ่งเผยให้เห็นความหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ร่วมกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามในเรื่องที่นำปัญญาประดิษฐ์มาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอวกาศจะปรากฏผลที่ต่างออกไป กล่าวคือปัญญาประดิษฐ์จะเผยให้เห็นความจำเป็นของเทคโนโลยีอวกาศร่วมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากแรงดึงดูดของโลก แสดงว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะยอมรับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากข้อจำกัดทางธรรมชาติมากกว่า
ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก
นอกจากการเป็นภาพแทนของเทคโนโลยีแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ยังมีบทบาทในการเผยให้เห็นแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพทั้งภายนอกและภายใน จากการศึกษาบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายนอกจะพบอุปลักษณ์สามลักษณะ ได้แก่
- 1) อสูรกายจักรกลซึ่งเป็นอุปลักษณ์แทนความผิดพลาดของรัฐและกลุ่มสถาบันในการดำเนินนโยบายต่างๆ การที่ตัวละครมนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จึงแสดงถึงความพยายามที่จะแก้ไขความผิดพลาดของรัฐและปกป้องเสรีภาพของตนเอง
- 2) เมสสิยาห์จักรกลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามดัดแปลงเครื่องมือของรัฐหรือกลุ่มสถาบันให้กลายเป็นเครื่องมือในการตอบสนองประโยชน์ของคนหมู่มาก ตัวละครปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้มักแสดงถึงการขบถต่อความเชื่อดั้งเดิมซึ่งเผยให้เห็นความปรารถนาของมนุษย์ในการหลุดพ้นจากชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
- 3) จักรกลชนชั้นสองเป็นอุปลักษณ์ที่แสดงอคติทั้งทางชาติพันธุ์และทางเพศในสังคมอเมริกัน กล่าวคือปัญญาประดิษฐ์ประเภทหุ่นยนต์และแอนดรอยด์จะแสดงอคติต่อชาติพันธุ์อื่นๆ ในสังคมซึ่งคนผิวขาวดูถูกและเหยียดหยาม ขณะที่ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเพศหญิงจะแสดงอคติทางเพศของนักประพันธ์เพศชายในหลายด้าน อุปลักษณ์ทั้งสามลักษณะนี้ล้วนเผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลเมืองกับรัฐและกลุ่มสถาบันซึ่งนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนในหลายลักษณะเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพอันเป็นจิตวิญญาณแห่งทศวรรษ
ปัญญาประดิษฐ์กับเสรีภาพภายนอก
นอกจากการประท้วงบนท้องถนนแล้ว การแสวงหาเสรีภาพภายในก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวแห่งทศวรรษนี้ จากการศึกษาบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่อแนวคิดของการแสวงหาเสรีภาพภายในจะพบว่า ตัวละครปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญในการสำรวจสภาวะภายในจิตและสำรวจอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ ในแง่ของการสำรวจสภาวะภายในจิต บทบาทของตัวละครปัญญาประดิษฐ์จะเกี่ยวข้องกับสภาวะภาพหลอนในลักษณะเดียวกับประสบการณ์จากการใช้แอลเอสดี ซึ่งเป็นสารที่กลุ่มวัฒนธรรมทวนกระแสนิยมใช้ในการหลีกหนีสังคม เยียวยาความเจ็บปวดทางใจ และสำรวจสภาวะทางจิตรูปแบบใหม่โดยปรากฏทั้งประสบการณ์ด้านดีและร้าย ในประสบการณ์ด้านดี ตัวละครปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาททั้งการเป็นภาพแทนของสภาวะอุตรภาพอันแสดงถึงความมีอำนาจเหนือจักรวาลทั้งปวง หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้มนุษย์เดินทางไปสู่สภาวะอุตรภาพนั้น ขณะที่ตัวละครปัญญาประดิษฐ์อีกกลุ่มหนึ่งจะเผยให้เห็นอำนาจในการสร้างภาพลวงตาที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงซึ่งเป็นประสบการณ์ด้านร้ายของแอลเอสดี เสรีภาพภายในในแง่นี้จึงหมายถึงเสรีภาพทางจิตวิญญาณและการหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุ
ในแง่ของการสำรวจอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ ตัวละครปัญญาประดิษฐ์จะเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางมโนทัศน์เรื่องอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิดและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรพร่าเลือน ความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ในวรรณกรรมกลุ่มนี้เกิดขึ้นในสองลักษณะ 1) การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ด้วยการเชื่อมโยงกับอารมณ์และความรู้สึก ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในประเภท “เครื่องจักรที่คิด” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรุกล้ำพื้นที่ทางอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับการคิดแบบเหตุผลตามแนวคิดของเดส์การ์ตส์ มนุษย์จึงต้องถอยร่นไปยึดเอาอารมณ์และความรู้สึกมาเป็นอัตลักษณ์ใหม่ในการนิยามความเป็นมนุษย์ 2) การเผยให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของมนุษย์นั้นไม่มีอยู่จริง ปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในประเภท “เครื่องจักรที่รู้สึก” ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่กลุ่มแรกสร้างขึ้นพังทลายลงจนคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรไม่มีความหมายอีกต่อไป เสรีภาพภายในในกรณีนี้จึงเป็นเสรีภาพทางอัตลักษณ์ซึ่งแสดงการหลุดพ้นจากคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
สรุป
อาจกล่าวได้ว่าตัวละครปัญญาประดิษฐ์ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์คือเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนและประกอบสร้างจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาเสรีภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เสรีภาพในที่นี้หมายถึงเสรีภาพจากการใช้เทคโนโลยีเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติ เสรีภาพจากรัฐและกลุ่มสถาบันซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เสรีภาพทางจิตวิญญาณซึ่งเกิดจากการใช้แอลเอสดีเพื่อเข้าถึงสภาวะอุตรภาพ รวมถึงเสรีภาพทางอัตลักษณ์ซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยตัวเองออกจากความเชื่อเดิมๆ ที่ล้าสมัย ทุกเสรีภาพที่กล่าวมานี้ล้วนประกอบกันขึ้นเป็นจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960 ซึ่งมีจุดหมายปลายทางในการสร้างสังคมใหม่ที่มนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข อย่างไรก็ตาม บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ทั้งเก้าเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาเสรีภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ละเรื่องต่างก็มีข้อบกพร่องแตกต่างกันไป เช่น การใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวละครหลักอาจไม่เหมาะในการเป็นภาพแทนของพลเมืองที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรือการใช้ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องได้กลับเป็นการลดทอนศักยภาพของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตนเอง รวมถึงการติดอยู่ในกรอบของอคติทางเพศและชาติพันธุ์ก็ทำให้บางเรื่องไม่สามารถแสดงพลังในการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น
อ้างอิง
อรรถพล ปะมะโข. “ปัญญาประดิษฐ์ในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณของทศวรรษ 1960” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบม, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.
--53802068 18:07, 7 กรกฎาคม 2557 (BST)อรรถพล ปะมะโข