การวิเคราะห์ความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลัง

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
53878100 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'งานวิจัยนี้ศึกษาความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเ…')

รุ่นปัจจุบันของ 09:36, 8 กรกฎาคม 2557

งานวิจัยนี้ศึกษาความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังโดยประยุกต์ใช้ตัวแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์และการเงินเพื่ออธิบายพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังวิเคราะห์ร่วมกับตัวแปรต่างๆ วัตถุประสงค์ของงานศึกษาคือ การพิจารณาผลกระทบของความไม่แน่นอนของราคาหน้าโรงกลั่น ค่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาฟิวเจอร์ส และค่าการตลาด ต่อการบริหารและความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อการขนส่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ เบนซิน และดีเซลหมุนเร็ว

การวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักตามคุณลักษณะของตัวแปรที่ศึกษา การวิเคราะห์ในส่วนแรก วิเคราะห์ความไม่แน่นอนของการบริหารระดับน้ำมันสำเร็จรูปจากตัวแบบจำลองทางเศรษฐมิติ คือ Generalized Auto-Regressive Conditional Heteroskedasticity in Mean (GARCH-M) ที่สามารถใช้อธิบายผลกระทบของความไม่แน่นอนของตัวแปรตลาดได้แก่ ราคาหน้าโรงกลั่น ค่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาฟิวเจอร์ส ต่อความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลัง ไปพร้อมกับการวิเคราะห์ผลกระทบของความไม่แน่นอนต่อการบริหารระดับน้ำมันคงคลัง ผลลัพธ์จากการใช้แบบจำลองกับข้อมูลรายเดือนของน้ำมันสำเร็จรูป พบว่า ความไม่แน่นอนของราคาหน้าโรงกลั่นและค่ากองทุนน้ำมันมีผลทำให้ระดับน้ำมันคงคลังมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความไม่แน่นอนของราคาฟิวเจอร์สส่งผลให้ความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันคงคลังลดลง ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้ประกอบการเพิ่มระดับการเก็บน้ำมันคงคลังมากขึ้นอีกด้วย การวิเคราะห์ความอ่อนไหวโดยใช้ข้อมูลความไม่แน่นอนที่ประมาณการจากแบบจำลองพบว่า ความไม่แน่นอนของราคาหน้าโรงกลั่นมีผลต่อความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันคงคลังมากที่สุด ในขณะที่ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของค่ากองทุนน้ำมันต่อความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันคงคลังนั้นน้อยกว่ามาก

การวิเคราะห์ในส่วนที่สองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความไม่แน่นอนต่อการบริหารจัดการน้ำมันคงคลังโดยได้นำแนวคิดที่ว่าการตัดสินใจทางธุรกิจเกี่ยวกับระดับน้ำมันคงคลังและระดับค่าการตลาดนั้นกระทำไปในเวลาที่พร้อมกันเข้าไปรวมในแบบจำลอง และได้จำลองค่าความไม่แน่นอนของค่าการตลาดเข้าไปในโครงสร้างของแบบจำลองแบบพร้อมกันอีกด้วย ผลลัพธ์จากการประยุกต์ใช้แบบจำลองกับข้อมูลน้ำมันสำเร็จรูปพบว่า ระดับน้ำมันคงคลังและค่าการตลาดมีความสัมพันธ์ต่อกันในเชิงบวกสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันคงคลังส่งผลให้ธุรกิจเพิ่มระดับการจัดเก็บน้ำมันทุกประเภทที่ศึกษา นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของค่าการตลาดยังส่งผลให้ธุรกิจเพิ่มระดับการจัดเก็บน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วคงคลัง

ผลลัพธ์จากแบบจำลองและการวิเคราะห์ทั้งสองส่วนช่วยระบุตัวแปรที่สามารถช่วยระบุตัวแปรที่ลดความไม่แน่นอนของระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลัง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถประเมินค่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล ส่งผลให้การบริหารจัดการและการวางแผนการผลิตมีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุน และเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง

เครื่องมือส่วนตัว