Plasma for cell-substrate interaction study
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของก…')
รุ่นปัจจุบันของ 04:13, 18 สิงหาคม 2557
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการปรับปรุงพื้นผิวด้วยพลาสมาที่มีต่อสมบัติทางกายภาพและทางชีวภาพของพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทย ช่วงแรกของงานวิจัย ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้พลาสมาในการปรับปรุงพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทย ไนโตรเจนพลาสมาซึ่งกำเนิดจากแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับที่ความถี่ 50 เฮิรตซ์ได้ถูกใช้ในการปรับปรุงพื้นผิวของไฟโบรอินไหมไทย ผลการวิจัยพบว่า ไนโตรเจนพลาสมาสามารถปรับปรุงพื้นผิวให้มีความชอบน้ำมากขึ้นและทำให้เซลล์ผิวหนังของหนู (แอล929) ยึดเกาะบนพื้นผิวได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นผิวที่ยังไม่ได้ปรับปรุง ข้อมูลโครงสร้างเคมีพื้นผิวพบว่าพลาสมาสร้างหมู่ฟังก์ชั่นที่ชอบน้ำบนพื้นผิวเท่านั้นโดยโครงสร้างทางเคมีของวัสดุทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม ทั้งนี้สัณฐานของพื้นผิวไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการปรับปรุงด้วยพลาสมา จากผลการทดลองเบื้องต้นนำไปสู่การศึกษาผลกระทบของพลาสมาต่อพื้นผิวไฟโปรอินไหมไทยโดยละเอียด เริ่มจากการวิเคราะห์สมบัติของพื้นผิวฟิล์มบางไฟโบรอินไหมไทย พื้นผิวไฟโบรอินไหมไทยจะถูกเตรียมเพื่อให้มีคุณภาพของพื้นผิวได้ตามข้อกำหนดของวิธีวิเคราะห์สมบัติทุกวิธีที่วางแผนไว้ จากข้อมูลของโครงสร้างเคมีพื้นผิวพบว่าพื้นผิว ไฟโบรอินไหมไทยที่เตรียมด้วยวิธีนี้มีลักษณะสอดคล้องตามโครงสร้างเคมีทางทฤษฎีของไฟโบรอิน ผลการวิเคราะห์ศักย์ไฟฟ้าบนพื้นผิวพบว่าไฟโบรอินไหมไทยเป็นพื้นผิวที่มีประจุไฟฟ้าสุทธิเป็นลบ สิ่งที่พบเพิ่มเติม คือ ไฟโบรอินไหมไทยเป็นวัสดุที่บวมน้ำได้ นอกจากนั้นระดับของการบวมน้ำไฟโบรอินไหมไทยในของเหลวขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของอิออน ในของเหลวนั้น แต่ไม่ขึ้นกับอุณหภูมิของของเหลว การปรับปรุงพื้นผิวฟิล์มบางของไฟโบรอินไหมไทยด้วยพลาสมามุ่งเน้นที่จะหาสภาวะที่สามารถสร้างหมู่ฟังก์ชั่นที่ต้องการได้ ผลของโครงสร้างเคมีพื้นผิวพบว่า หมู่ฟังก์ชั่นที่ต้องการได้ถูกเหนี่ยวนำบนพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทย อย่างไรก็ตาม หมู่ฟังก์ชั่นบนพื้นผิวที่ถูกปรับปรุงด้วยพลาสมาไม่สามารถอยู่บนพื้นผิวได้ถ้าถูกชะล้างด้วยน้ำปราศจากประจุ สิ่งที่พบเพิ่มเติมคือความหนาของแผ่นฟิล์มไฟโบรอินไหมไทยลดลงหลังจากการปรับปรุงพื้นผิวด้วยพลาสมา ปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าพลาสมาทำให้เกิดการกัดเซาะบนพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทยโดดเด่นกว่าการสร้างหมู่ฟังก์ชั่นบนพื้นผิว ถึงแม้ไม่เกิดการสร้างหมู่ฟังก์ชั่นบนพื้นผิว แต่ออกซิเจนพลาสมาสามารถเปลี่ยนพื้นผิวให้มีค่ามอดูลัสของสภาพยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นจาก 62 เป็น 500 กิโลปาสคาล โดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเคมีพื้นผิว ปริมาณผลึกในโครงสร้าง ค่ามุมสัมผัสของน้ำ และ การดูดซับของโปรตีน การค้นพบนี้สามารถนำไปศึกษาอิทธิพลของความแข็งเกร็งของพื้นผิวต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวกับพฤติกรรมของเซลล์ เซลล์ผิวหนังของหนู (แอล929) และเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกของมนุษย์ได้ถูกเลือกสำหรับการศึกษานี้ เนื่องจากเซลล์ทั้งสองประเภทอยู่บนเนื้อเยื่อที่มีความแข็งเกร็งแตกต่างกัน ผลการทดลองพบว่า เซลล์ผิวหนังของหนู (แอล929) สามารถยึดเกาะและแผ่ขยายพื้นที่ในการยึดเกาะได้ดีบนพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทยที่ถูกปรับปรุงด้วยออกซิเจนพลาสมาซึ่งมีความแข็งเกร็งสูงกว่าพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทยก่อนการปรับปรุง ขณะที่เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกของมนุษย์สามารถยึดเกาะและแผ่ขยายบนพื้นผิวไฟโบรอินไหมไทยได้ดีเหมือนกันทั้งก่อนและหลังการปรับปรุงด้วยพลาสมา