องค์ประกอบที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งจากเอื้องคำฝอย

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Msupawa1 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวอย่างผิดปกติข…')

รุ่นปัจจุบันของ 04:14, 1 กันยายน 2557

มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์ ทำให้เซลล์มีจำนวนมากและอัดตัวกันอย่างหนาแน่นเป็นก้อนเนื้องอก ส่งผลให้เกิดการขาดอาหารไปเลี้ยงเซลล์เนื่องจากมีเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย นอกจากนี้แล้วเซลล์มะเร็งยังสามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ จากการสำรวจข้อมูลประชากรไทยพบว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550-2554 มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศและคาดว่าอัตราการตายจากมะเร็งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต

ปัจจุบัน การรักษามะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้ฮอร์โมน การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และการใช้ยารักษาหรือที่เรียกว่า เคมีบำบัด โดยยาที่ดีควรมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและมีอาการข้างเคียงหรือความเป็นพิษต่ำ การใช้ยารักษามะเร็งส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาหลายตัวร่วมกัน โดยควรเลือกยาที่มีกลไกการทำงานแตกต่างกันเพื่อเสริมฤทธิ์กัน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ยามะเร็งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ยาในกลุ่ม vinca alkaloids ได้แก่ vincristine และ vinblastine จากต้นแพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus) และยาในกลุ่ม alkaloid ester ได้แก่ paclitaxel (Taxol®) จากเปลือกของต้น yew ในสกุล Taxus โดยยาทั้งสองกลุ่มนี้ มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นแบบจำเพาะต่อระยะหนึ่งของวงจรชีวิตของเซลล์ (cell cycle specific) รบกวนการแบ่งตัวของเซลล์ รูปแบบที่ใช้เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือด จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในธรรมชาติน่าจะยังมีสารจากพืชชนิดอื่นๆที่มีศักยภาพพอในการที่จะพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้ต่อไป

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีต มนุษย์ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดยเฉพาะที่ได้จากพืชในการรักษาโรคและบรรเทาความเจ็บป่วยต่างๆมากมาย สารสกัดจากพืชหลายชนิดแสดงสรรพคุณในด้านต่างๆที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้น ได้แก่ สารสกัดที่ได้จากกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) วงศ์ Orchidaceae ที่พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลีย โดยมีจำนวนมากกว่า 1,100 ชนิดทั่วโลก ที่พบในประเทศไทยมีมากกว่า 150 ชนิด การใช้ประโยชน์ของพืชสกุลนี้นอกจากเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังได้มีการนำส่วนต่างๆมาใช้ทางยาอีกด้วย ซึ่งประเทศจีน ถือเป็นประเทศแรกที่มีหลักฐานแสดงถึงการเพาะปลูกกล้วยไม้และบรรยายถึงการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ตำรับสมุนไพรของกล้วยไม้สกุลหวายที่รู้จักกันดีคือ สือ-หู (Shi-Hu) ประกอบด้วย Dendrobium หลายชนิด เช่น D. nobile, D. loddigesii, D. fimbriatum, D.chrysanthum และ D. candidum ซึ่งมีข้อบ่งใช้ตาม Chinese Pharmacopoeia ในการรักษาโรคตับ โรคไต บำรุงกระเพาะอาหาร แก้ปวด ลดไข้ ลดบวม เป็นต้น

เอื้องคำฝอย (Dendrobium brymerianum Rchb. f.) อยู่ในวงศ์ Orchidaceae มีชื่ออื่นคือ เอื้องคำฝอยปาย ในประเทศไทยพบได้ตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะทั่วไป เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเป็นแท่งรียาว ป่องตรงกลางลำ ใบรูปรีแกมขอบขนาน มี 2-6 ใบต่อหนึ่งส่วนของลำต้น กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ดอกสีเหลืองทอง ออกเป็นช่อจากใบ มี 1-3 ดอก ขนาดดอกบานกว้าง 3-5 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปแถบ ขอบกลีบปากเป็นเส้นฝอยและแตกแขนง ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม

เมื่อนำสิ่งสกัดของเอื้องคำฝอยมาทดสอบฤทธิ์ พบว่า สารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาพืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นสารต้านมะเร็งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

เครื่องมือส่วนตัว