ทองคำ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '''บทความนี้จะอธิบายถึงทองคำในมุมมองทางเศรษฐศาสต…')
แตกต่างถัดไป →
การปรับปรุง เมื่อ 07:09, 17 สิงหาคม 2553
บทความนี้จะอธิบายถึงทองคำในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ และมูลค่าในทางเศรษฐกิจ
เนื้อหา |
ทองคำและความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ทุกๆ อารยธรรมทั่วโลกต่างยอมรับว่า ทองคำถือเป็นโลหะที่มีค่าในตัวมันเอง ถึงขนาดที่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 – 16 ชาวตะวันตกมองว่าทองคำเป็นเพียงวัตถุเดียวที่ใช้ในการสะสมความมั่งคั่ง กลุ่มนักคิดพาณิชยนิยม (Mercantilism) จึงสนับสนุนการจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อออกล่าอาณานิคม เพียงเพื่อจะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งระบายสินค้าที่ตนเองผลิตได้มาขึ้นหลักจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (ศตวรรษที่ 16 – 17) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ศตวรรษที่ 18)
เพราะเมื่อได้วัตถุดิบที่ยังคับซื้อมาในราคาถูกจากอาณานิคม และยังบังคับขายสินค้าที่ผลิตได้ให้กับอาณานิคมในราคาแพง การเกินดุลการค้า (กำไรมหาศาล) จึงเกิดขึ้นและเป็นที่มาของทองคำที่ไหลเข้ามาในประเทศเจ้าอาณานิคมเพื่อชำระค่าสินค้า อีกทั้งยังอาจค้นพบเหมืองหรือแหล่งแร่ทองคำในประเทศอาณาณิคมซึ่งก็ยิ่งทำให้สามารถขนทองคำกลับมายังประเทศเจ้าอาณานิคมได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทองคำที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถนำมาใช้จ้างทหารรับจ้างเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรของตนเองได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้นตั้งแต่ยุคกลางของประวัติศาสตร์ยุโรป ทองคำจึงเป็นสิ่งมีค่าที่ใช้ในการสะสมความมั่งคั่ง (Wealth) และความมั่นคงของชาติ โดยระบบความเชื่อนี้ก็ยังคงฝังรากลึกในตัวมนุษย์มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าที่มาของตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลกที่ชื่อ The Wealth of Nations ที่แต่งโดยบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ Adam Smith จะพยายามอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ความมั่งคั่งของชาติไม่ได้อยู่ที่ปริมาณทองคำที่ประเทศนั้นๆ สะสมไว้ หากแต่อยู่ที่ปริมาณสินค้าและบริการที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ สามารถนำมาบริโภคเพื่อสร้างความพึงพอใจและสวัสดิการสังคมต่างหาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังยกให้ทองคำเป็นสุดยอดแห่งเครื่องสะสมความมั่งคั่งอยู่นั่นเอง
แม้แต่ในประเทศไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยก็ยกให้ทองคำเป็นเครื่องสะสมความมั่งคั่งเช่นเดียวกัน สามารถพิจารณาได้จากสุภาษิตคำพังเพยหลายๆ บทที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของทองคำ เช่น ทองคำถูกใช้เป็นเครื่องวัดความมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม ในสุภาษิตที่ว่า “มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่” หรือทองคำถูกแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องสะสมมูลค่า (Store of Value) และเป็นสินทรัพย์ที่ทุกคนหวงแหน และเป็นสื่อกลางการลงทุนที่ทุกคนนิยมเลือกลงทุนในทองคำเป็นอันดับแรก แม้ว่าจะยังมีฐานะไม่ค่อยดีนักก็ตาม ดังที่นิยมกล่าวกันว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” เวลาคนไทยเปรียบเทียบของที่ดีเลิศ ของที่มีมูลค่าสูง มีคุณค่าสูง ทองคำก็จะถูกนำมาใช้เปรียบเปรยเสมอ เช่นในคำกล่าวที่ว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ดังนั้นในสังคมไทยก็เช่นเดียวกับในสังคมอื่นๆ นั่นคือ ทองคำถูกยกให้เป็นของมีค่า มีราคา
ทองคำเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Goods) ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในแทบจะทุกตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Market) ทองคำเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากมีลักษณะ มีคุณสมบัติที่เหมือนกันเกือบทุกประการไม่ว่าจะผลิตจากแหล่งใดในโลก โดยมีการกำหนดมาตรฐานทั้งในแง่ของน้ำหนักที่ทำการซื้อขาย รวมทั้งมีการกำหนดระดับความบริสุทธิ์ที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอีกด้วย ทองคำเป็นโลหะที่มีค่าในตัวมันเอง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และบริการหลายๆ ประเภท รวมทั้งยังถูกใช้เป็นสินทรัพย์ที่เป็นทางเลือกที่ดีประเภทหนึ่งในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงที่ดีอีกด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาระบบตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งยังไม่มีความหลากหลายในตราสารทางการเงินให้เลือกลงทุนมากประเภทนัก ทองคำก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนที่ดีประเภทหนึ่ง ในช่วงที่ค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐเกิดการอ่อนค่า หลายๆ ประเทศเช่น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางก็ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) โดยการขอรับชำระค่าน้ำมันที่ขายออกไปโดยทองคำ
ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้องการลดความเสี่ยงในการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตนในช่วงที่ผ่านมา ที่เคยถือเงินดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วนที่สูงก็เลือกที่จะแปรสภาพเงินดอลลาร์ที่ตนถือเป็นเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่น ยูโร และถือทองคำเป็นทุนสำรองก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วโดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2001 - 2005 นอกจากนี้ประเทศไทยและเกือบทุกประเทศในโลกก็ยังมีการสำรองสะสมทองไว้ในลักษณะของสินทรัพย์สำรองที่แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งและแสดงถึงฐานะของชาติอีกด้วย
การวัดปริมาณและนำหนักทองคำ
แต่ละประเทศก็มีการใช้หน่วยวัดปริมาตรทองคำที่ทำการซื้อขายในหน่วยที่แตกต่างกันไป เช่น บางประเทศกำหนดราคาโดยเทียบกับน้ำหนักทองในหน่วยเป็น “กรัม” บางประเทศ เช่น จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน วัดปริมาตรหรือน้ำหนักของทองคำในหน่วย “ตำลึง” แต่ในประเทศตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรต, อินเดีย และสิงคโปร์ใช้หน่วย “โทลา” ในการชั่งน้ำหนักทอง และที่เรามักจะได้ยินกันเสมอๆ ในการรายงานข่าวในสื่อต่างๆ และถือเป็นมาตรฐานในการวัดน้ำหนักทองคำในการซื้อขายในตลาดโลกคือการกำหนดราคาทองคำเป็นดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักทองคำ 1 ออนซ์ หรือ 1 เอานซ์ ในขณะที่ในประเทศไทย เราจะนิยมวัดน้ำหนักทองคำโดยใช้หน่วยเป็น “บาท”
โดยปกติแล้วน้ำหนักทองคำมาตรฐานที่ใช้กันในการซื้อขายเขาจะกำหนดหน่วยที่เรียกว่า “ทรอย เอานซ์ (Troy Ounce)” ซึ่งเป็นหน่วยวัดเก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยเมืองทรอย สมัยโรมันเรืองอำนาจ โดยทองคำ 1 ทรอยเอานซ์ หรือ 1 ออนซ์จะหนักเท่ากับ 31.1034768 กรัมครับ และทองคำในประเทศไทยหนัก 1 บาทจะหนักเท่ากับ 15.244 กรัม ดังนั้นเมื่อเทียบบัญญัติไตรยางค์เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าทองคำ 1 ออนซ์จะหนักเท่ากับ 2.040375 บาทครับ (=31.1034768 / 15.244) หรือเทียบคร่าวๆ ก็คือ 1 ออนซ์ จะหนักเท่ากับทองคำประมาณ 2 บาท
ความบริสุทธิ์ของทองคำ
ทองคำที่ขายกันในตลาดโลกมีหลายระดับความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทองคำบริสุทธิ์ 99.99 หรือทองคำ Four-9 นั้นจะเป็นทองคำที่มีระดับความบริสุทธิ์สูงที่สุดที่ทำการซื้อขายกัน โดยในเนื้อของทองคำแท่งประเภทนี้ 10,000 ส่วนจะมีทองคำแท้ปนอยู่ 9,999 ส่วน ในขณะที่ทองคำที่ชาวตะวันตกนิยมใส่เป็นเครื่องประดับกันนั้นจะมีปริมาณทองคำในสัดส่วนที่ลดลง ดังที่เรามักจะเห็นว่าฝรั่งชอบใส่ทองสีซีดๆ กัน โดยทองคำเหล่านี้ก็จะมีความบริสุทธิ์ต่างๆ กันออกไปอีกครับ เช่น ทองคำ 22K ก็จะมีความบริสุทธิ์ที่ระดับ 91.66% หรือในเนื้อของทองคำแท่ง 1,000 ส่วนจะมีทองคำแท้ปนอยู่ 916.6 ส่วน
แต่ทองคำที่คนไทยนิยมใส่กันและเป็นมาตรฐานที่ซื้อขายในประเทศไทยจะมีความบริสุทธิ์อยู่ที่ระดับ 96.5% (ในเนื้อของทองคำแท่ง 1,000 ส่วนจะมีทองคำแท้ปนอยู่ 965 ส่วน) ซึ่งก็จะเป็นทองคำที่มีสีทองอร่ามสุกปลั่งแบบที่ชาวไทยและชาวเอเซียส่วนใหญ่นิยมใช้กัน
โดยที่ระดับความบริสุทธิ์มาตรฐานของทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 99.5% (ในเนื้อของทองคำแท่ง 1,000 ส่วนจะมีทองคำแท้ปนอยู่ 995 ส่วน)