การใช้มือถือแจ้งเตือนภัยสึนามิ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'มือถือเป็นสื่อที่มีการใช้งานกว้างขวาง แต่ยังถู…')
รุ่นปัจจุบันของ 07:31, 25 ธันวาคม 2557
มือถือเป็นสื่อที่มีการใช้งานกว้างขวาง แต่ยังถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้งานน้อยในบริบทการเตือนภัยของสังคมไทย จากงานวิจัย “การพัฒนาการสื่อสารแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่” พบว่า จ.พังงา กระบี่ ภูเก็ตและระนอง ในพื้นที่ที่เคยประสบภัยสึนามิและยังคงเสี่ยงภัยอยู่นั้น กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ใช้งานมือถือมากขึ้นในช่วงเสี่ยงภัย (จากเหตุการณ์ประกาศเตือนภัยสึนามิ เมื่อปี 55) เนื่องมาจากความต้องการตรวจสอบข่าว และติดต่อญาติมิตร จนเกิดความคับคั่งของโครงข่าย แต่อีกสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ มีกลุ่มตัวอย่างบางรายได้รับการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้นในช่วงอพยพ แต่บางรายได้ในวันถัดมา หรือบางรายกลับไม่ได้รับ แสดงให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้าและความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับข้อมูลเตือนภัย ในขณะที่การสำรวจพบว่า ผู้เสี่ยงภัยมีความพร้อมรับข้อมูลผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพาชนิดนี้ ทั้งการครอบครองที่กลุ่มตัวอย่างทุกคนต้องมีอย่างน้อย 1 เครื่อง ส่วนมากยังเปิดเครื่องไว้ตลอด และคาดหวังว่าหน่วยงานรับผิดชอบเตือนภัยจะมีการแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือมายังประชาชน แต่นั่นก็จะเปลี่ยนภาพของการเตือนภัยสึนามิในแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง จากเดิมรัฐเน้นการสื่อสารเตือนภัยแบบสั่งการ สื่อสารทางเดียวไปสู่ประชาชน ผ่านสื่อมวลชน ไซเรน หรือหอเตือนภัยเป็นหลัก แต่การใช้งานมือถือนั้น จะทำให้ผู้เสี่ยงภัยไม่เป็นผู้คอยตั้งรับข้อมูลอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ให้ข้อมูลคนแรก (first informer)จากในพื้นที่แก่ภาครัฐและสื่อมวลชน สำหรับหนทางการใช้มือถือนั้น สามารถออกแบบแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยได้ แม้ที่ผ่านมาจะได้จัดทำออกมาแล้ว แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์การใช้งาน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นั้นใช้งานสมาร์ทโฟนดังนั้นจึงมีศักยภาพในการเข้าถึง ใช้งานได้ แต่สมาร์ทโฟนก็ยังไม่ใช่มือถือที่ทุกคนมีใช้ ดังนั้นหนทางสื่อสารแจ้งเตือนภัยลำดับแรกที่ต้องพิจารณาคือ ข้อความสั้น ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชัน เว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องจัดทำไว้โดยหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสารสองทางให้กับประชาชนเข้าถึงได้ และยังใช้สื่อสารโต้ตอบข่าวลือในช่วงเสี่ยงภัยได้อีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐและภาคธุรกิจ อย่าง Mobile Network Operators เพื่อมีระบบโทรคมนาคมที่ดีเยี่ยม และที่สำคัญคือประชาชนต้องมีความเข้าใจต่อภัยพิบัติ รวมถึงมีวินัยในการใช้งานมือถือเท่าที่จำเป็น เพื่อแบ่งปันการใช้งานเครือข่ายแก่ผู้อื่น การพัฒนาให้มือถือเป็นสื่อแจ้งเตือนภัยนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้และช่วยให้ประชาชนเอาชีวิตรอดได้ทันเวลา