เครื่องมือพัฒนาองค์กรสุขภาวะ
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''จุฬาวิทยานุกรม (ChulaPedia) บทความ : เครื่องมือพัฒนาองค์…')
รุ่นปัจจุบันของ 08:27, 15 มกราคม 2558
จุฬาวิทยานุกรม (ChulaPedia) บทความ : เครื่องมือพัฒนาองค์กรสุขภาวะ งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก "ทุน 90 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการแข่งขันกันในทางธุรกิจ จึงเป็นสาเหตุให้องค์กรธุรกิจเอกชนต้องปรับตัวโดยต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความพร้อมในการทำงาน การแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรในการจัดการทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กรธุรกิจเอกชนซึ่งจะช่วยให้องค์กรเกิดการพัฒนาทักษะ คุณภาพชีวิตการทำงาน การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเพื่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมายสูงสุดขององค์กร การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมนำไปสู่สุขภาวะการทำงานและสร้างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เครื่องมือสำหรับพัฒนาองค์กรสุขภาวะประกอบด้วย ตัวชี้วัดองค์กรสุขภาวะ รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้องค์กรเกิดการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ภายในองค์กรให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์บรรลุถึงพันธกิจที่วางไว้ ตัวชี้วัดองค์กรสุขภาวะในมิติของการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้แก่ สุขภาวะการเรียนรู้ มี 5 องค์ประกอบย่อยคือ การมีทรัพยากรการเรียนรู้อย่างพอเพียง การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก สาระการเรียนรู้สอดคล้องกับการพัฒนางาน การมีเครือข่ายการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้ในงานได้ทันที และการเรียนรู้สุขภาวะ มี 4 องค์ประกอบย่อยคือ การเรียนรู้ด้านสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ด้านสุขภาพ การเรียนรู้ด้านความรู้สึกและอารมณ์ และการเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตัวชี้วัดนี้มีพลังในการวัดทั้งระดับสุขภาวะการเรียนรู้และระดับการเรียนรู้สุขภาวะ เป้าหมายสำคัญคือการประเมินและติดตามระดับสุขภาวะองค์กร รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วยการเรียนรู้ 8 ขั้นตอนคือ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเสี่ยงและภัยคุกคาม การสร้างความท้าทายเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหา การพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การแก้ไขจุดอ่อนพัฒนาจุดแข็ง การสร้างปัจจัยแห่งความสำเร็จ การกระทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมและการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เป้าหมายสำคัญคือเพื่อพัฒนาบุคลากร พัฒนาขีดความสามารถองค์กรและเสริมสร้างสุขภาวะองค์กร ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการเป็นองค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ พัฒนาขีดความสามารถการเรียนรู้ของบุคลากร ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ จัดสรรทรัพยากรสนับสนุนสุขภาวะการเรียนรู้ และขยายเครือข่ายการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายสำคัญคือสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวเป็นองค์กรสุขภาวะ องค์กรธุรกิจเอกชนจึงควรนำเครื่องมือการเรียนรู้ตลอดชีวิตดังกล่าวไปประยุกต์โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมเพื่อใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการก้าวเป็นองค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน