สื่อใหม่กับการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในวิกฤตการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2554

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Rpirongr (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''สื่อใหม่กับการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือ…')

รุ่นปัจจุบันของ 11:19, 29 มกราคม 2558

สื่อใหม่กับการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554

มหาอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นอุทกภัยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย และถูกจัดให้เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ท่ามกลางมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น สื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสาร/อัพเดทสถานการณ์ได้ไม่แพ้สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ และกลายเป็นช่องทางที่สำคัญของพลเมืองในการรวมตัวกันเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังกรณีของ กลุ่มไทยฟลัด (www.thaiflood.com) ซึ่งบูรณาการช่องทางสื่อใหม่อย่างน้อย 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เข้าด้วยกันเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อันเป็นที่มาของการศึกษาเรื่อง “สื่อใหม่กับการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554” ซึ่งมีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างเนื้อหา วิธีการใช้สื่อใหม่ และกระบวนการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นของกลุ่มไทยฟลัดในวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 และบทบาทของสื่อใหม่ในการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง เพื่อหาคำตอบเบื้องต้นในเรื่องของการใช้สื่อใหม่เพื่อการรับมือภัยพิบัติในกรณีอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนการปรับใช้สื่อใหม่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในกรณีอื่นๆ


ผลโดยสังเขป สื่อใหม่ทั้งสามช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีความโดดเด่นในการสร้างเนื้อหาและวิธีการใช้งานเพื่อการสื่อสารรับมือภัยพิบัติที่แตกต่างกัน การเชื่อมโยงให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อใหม่ทั้งสามช่องทาง ช่วยให้เกิดการการทำงานที่เสริมกัน และมีผลในการแพร่กระจายข่าวสารสู่สาธารณชน โดยบทบาทที่สำคัญของสื่อใหม่ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554 คือ เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล เป็นพื้นที่กลางในการร่วมสร้างข้อมูลโดยมวลชน เป็นช่องทางในการประสานความช่วยเหลือระหว่างภาคประชาชน และเป็นช่องทางระดมทรัพยากรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย


เครือข่ายการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ของกลุ่มไทยฟลัดในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นการสื่อสารแบบเครือข่ายแบบทุกทิศทาง โดยมีลักษณะการไหลเวียนที่เป็นแนวระนาบ ยกเว้นการสื่อสารผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ซึ่งถูกกำหนดให้มีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล เพื่อประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและความปลอดภัยของผู้ลงไปให้ความช่วยเหลือ


สื่อใหม่มีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในลักษณะการเข้าไปมีบทบาทมากที่สุด รองลงมาเป็นการแจ้งข่าวสาร และอันดับสามคือการถามข่าวคราวและให้การสนับสนุนด้านอารมณ์ และจากการประเมินในภาพรวม กรณีศึกษากลุ่มไทยฟลัดสะท้อนลักษณะการมีส่วนร่วนร่วมในฐานะพลเมืองในลักษณะของการเสริมพลังภาคประชาชน โดยสื่อใหม่มีบทบาทเป็นทั้งเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือและการเสริมพลังในการทำงานซึ่งกันและกันทั้งภายในกลุ่มไทยฟลัดเอง และระหว่างกลุ่มไทยฟลัดกับสาธารณชน


เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า สื่อใหม่มีศักยภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในประเด็นปัญหาร่วมของสังคม ดังเช่นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554 ซึ่งหน่วยงาน/องค์กรภาคสังคม ตลอดจนภาครัฐ ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการปรับใช้สื่อใหม่เพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการใช้สื่อใหม่เพื่อการรับมือภัยพิบัตอันอาจเกิดขึ้นในอนาคต

เครื่องมือส่วนตัว