อิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่ม
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''อิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่…')
รุ่นปัจจุบันของ 09:17, 7 พฤษภาคม 2558
อิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่ม* วิธัญญา วัณโณ, วรรณี แกมเกตุ และสุวิมล ว่องวาณิช
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งสนใจศึกษาทุนจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychological capital หรือ PsyCap) ที่มีหน่วยวิเคราะห์ระดับกลุ่ม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ของกลุ่มหลายประการ เช่น ผลการปฏิบัติงานของกลุ่ม (Walumbwa, Luthans, Avey, & Oke, 2011) คุณภาพการให้บริการตามการรับรู้ของลูกค้า (Mathe, 2011) พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม (Walumbwa et al., 2011) ความไว้ใจที่มีต่อฝ่ายบริหารระดับกลุ่ม (Clapp-smith, Vogelgesang, & Avey, 2009) และการให้พลังอำนาจทางจิตวิทยาระดับกลุ่ม (Mathe, 2011) โดยการศึกษาเหล่านี้เป็นการศึกษาในบริบทของการทำงานกลุ่มในองค์การ ผู้วิจัยยังไม่พบการศึกษาอิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในบริบททางการศึกษา การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในสถานการณ์ของการทำงานกลุ่มในรายวิชา นอกจากนี้ การวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มในงานวิจัยต่างๆ ยังใช้วิธีรวมค่าข้อมูล (aggregation method) ซึ่งเป็นการรวมค่าข้อมูลระดับบุคคลเพื่อประเมินตัวแปรระดับกลุ่ม (Kirkman, Tesluk, & Rosen, 2001) อย่างแตกต่างกัน กล่าวคือ งานวิจัยบางเรื่องวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มด้วยวิธีรวมค่าข้อมูลจากข้อคำถามที่ใช้ตนเองเป็นจุดอ้างอิงตามแนวทางของ “โมเดลความสอดคล้องโดยตรง (direct consensus method)” (Chan, 1998) แต่งานวิจัยบางเรื่องวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มด้วยวิธีรวมค่าข้อมูลจากข้อคำถามที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิงตามแนวทางของ “โมเดลความสอดคล้องแบบเปลี่ยนจุดอ้างอิง (referent-shift consensus model)” (Chan, 1998) การวิจัยครั้งนี้จึงศึกษาด้วยว่าเมื่อรวมค่าข้อมูลทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับบุคคลเพื่อวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มด้วยวิธีการต่างกันแล้ว อิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่มจะแตกต่างกันอย่างไร กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 303 กลุ่ม (1,349 คน) จากมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานกลุ่มด้วยกันในรายวิชา ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้มาตรวัด 2 ชุด คือ 1) มาตรวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ มาตรวัดทุนจิตวิทยาเชิงบวกที่ใช้ตัวเองเป็นจุดอ้างอิงของข้อคำถาม และที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิงของข้อคำถาม และ 2) มาตรวัดประสิทธิผลของกลุ่ม ผลการตรวจสอบเงื่อนไขการรวมค่าข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการรวมค่าข้อมูลให้เป็นตัวแปรระดับกลุ่มของทุกตัวแปรสามารถกระทำได้อย่างเหมาะสม โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้นประเภท ICC(1) ของตัวแปรทุนจิตวิทยาเชิงบวกที่ใช้ตัวเองเป็นจุดอ้างอิง และที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิง และประสิทธิผลของกลุ่มมีค่าเท่ากับ .227, .290 และ .401 ตามลำดับ ส่วนค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้นประเภท ICC(2) ของตัวแปรทุนจิตวิทยาเชิงบวกที่ใช้ตัวเองเป็นจุดอ้างอิง และที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิง และประสิทธิผลของกลุ่มมีค่าเท่ากับ .566, .645 และ .749 ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยของค่าสหสัมพันธ์ภายในกลุ่ม (rwg) ของตัวแปรทั้ง 3 ตัวแปรนี้มีค่าเท่ากับ .913, .921 และ .917 ตามลำดับ
ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างเชิงเส้น พบว่า โมเดลอิทธิพลของทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มที่มีต่อประสิทธิผลของกลุ่ม ทั้งโมเดลที่ใช้ตัวเองและที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิงของข้อคำถามทุนจิตวิทยาเชิงบวกมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ( =3.359, df=6, p=.763, CFI=1.000, RMSEA=.000 และ =1.360, df=4, p=.851, CFI=1.000, RMSEA=.000 ตามลำดับ) และพบว่าทุนจิตวิทยาเชิงบวกระดับกลุ่มมีอิทธิพลทางบวกต่อประสิทธิผลของกลุ่ม ทั้งในกรณีที่ใช้ตัวเองและที่ใช้กลุ่มเป็นจุดอ้างอิงของข้อคำถามทุนจิตวิทยาเชิงบวก (β=.824 และ β=.980, ตามลำดับ, p<.001 ทั้งสองกรณี)
- บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง “ทุนจิตวิทยาเชิงบวกในการทำงานกลุ่มของนิสิตนักศึกษา: การวิจัยและพัฒนาโมเดล การวัดและโปรแกรมเสริมสร้าง” หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิธีวิทยาการวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายการอ้างอิง Chan, D. (1998). Functional relations among constructs in the same content domain at different levels of analysis: A typology of composition models. Journal of applied psychology, 83(2), 234-246. Clapp-Smith, R., Vogelgesang, G. R., & Avey, J. B. (2009). Authentic leadership and positive psychological capital: The mediating role of trust at the group level of analysis. Journal of Leadership & Organizational Studies, 15(3), 227-240. Kirkman, B. L., Tesluk, P. E., & Rosen, B. (2001). Assessing the incremental validity of team consensus ratings over aggregation of individual‐level data in predicting team effectiveness. Personnel Psychology, 54(3), 645-667. Mathe, K. (2011). An individual, unit, and organizational-level examination of perceived external prestige, psychological capital, and psychological empowerment in quick service restaurants (Unpublished doctoral dissertation). Oklahoma State University, Oklahoma. Walumbwa, F. O., Luthans, F., Avey, J. B., & Oke, A. (2011). Authentically leading groups: The mediating role of collective psychological capital and trust. Journal of Organizational Behavior, 32(1), 4-24. West, B. J., Patera, J. L., & Carsten, M. K. (2009). Team level positivity: Investigating positive psychological capacities and team level outcomes. Journal of Organizational Behavior, 30(2), 249-267.