"เกมเพื่อการเรียนรู้เรื่องการตรวจดิน" ณ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
54878227 (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '“อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ” “อุทยานแห่งชาติ…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 11:13, 7 มิถุนายน 2561

“อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ” “อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ” ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คาบเกี่ยว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดขอนแก่น นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 50 ของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 201,250 ไร่ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ส่วนพื้นที่แหล่งน้ำอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาภูพานคำ ซึ่งเป็น “แอ่งที่ราบต่ำ ลุ่มน้ำพอง” ซึ่งมีลักษณะเป็นหุบเขาระหว่างภูเก้า ภูพานคำ และภูเวียง เมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณหุบเขานี้จึงกลายเป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ตามสัณฐานวิทยาของส่วนภูเก้าทำให้เกิดลำห้วยลำธารตามธรรมชาติหลายสาย ซึ่งเป็นต้นน้ำ ได้แก่ ลำห้วยบอง และลำห้วยโซม ที่มีน้ำไหลตลอดปี นอกจากนี้การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ภูเก้าเนื่องจากภายในแอ่งภูเก้ามีประชากรอาศัยอยู่ 3 หมู่บ้านด้วยกัน ได้แก่ หมู่บ้านดงบาก หมู่บ้านชัยมงคล และหมู่บ้านวังมน ส่วนพื้นที่ภูพานคำไม่มีประชากรอยู่อาศัยจึงไม่มีปัญหาด้านการบุกรุกพื้นที่ป่า ดังนั้นจึงจะกล่าวถึงพื้นที่ภูเก้าเป็นหลัก โดยจำนวนประชากรของทั้ง 3 หมู่บ้านในการศึกษา ปี พ.ศ. 2559 มีประชากรทั้งหมด 552 ครัวเรือน และเมื่อทำการศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65) มีระดับการศึกษาชั้นประถมศึกษา และยังขาดความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ดินและเข้าใจว่าดินในพื้นที่ป่ามีความสมบูรณ์กว่าในพื้นที่เกษตร ดังนั้น เมื่อเกษตรกรซึ่งมีพืชหลัก ได้แก่ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้ธาตุอาหารจำนวนมากในดิน อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักและไม่เคยมีการตรวจสอบธาตุอาหารในดินก่อนการเพาะปลูก ทำให้เกิดปัญหาดินขาดธาตุอาหาร และผลผลิตลดปริมาณลงในปีถัดมาโดยเกษตรกรจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยมากขึ้นในการเพาะปลูกรอบถัดไปเพื่อให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม เกษตรกรในพื้นที่บางส่วนจึงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าและถูกจับกุมทำให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ดังนั้น การให้ความรู้ด้านการตรวจดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร เช่น แบบจำลองเชิงบูรณาการด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบเกมและสถานการณ์จำลองเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางการจัดการที่ดินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นในพื้นที่นี้ โดยเมื่อศึกษาสมบัติของดินด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภูเก้าพบว่าเนื้อดินของทั้งแปลงเกษตรกรรมและป่าธรรมชาติเป็นดินร่วนปนทราย (sandy loam) และสมบัติทางเคมี ได้แก่ ร้อยละของอินทรียวัตถุ ร้อยละของไนโตรเจน ปริมาณแมกนีเซียม และความสามารถในการนำประจุบวก มีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมและป่าธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามพบว่าทั้งในแปลงเกษตรกรรมและป่าธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ในเกณฑ์ระดับปานกลางเช่นเดียวกัน และจัดอยู่ในชุดดินจัดตั้งจัตุรัสและโพนงาม และเมื่อนำผลดินที่ได้มาสร้างแบบจำลองเชิงบูรณาการ “เกมปลูกพืช” และใช้ร่วมกับผู้นำชุมชนและเกษตรกร ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวทำให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่จำกัดและล้อมรอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ จากนั้นได้สร้างแบบจำลอง “เกมตรวจดิน” ตามข้อเสนอแนะของเกษตรกร โดยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องธาตุอาหารพืชและความสำคัญของการตรวจดิน ผลการใช้งานพบว่าเกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมในการพัฒนาพื้นที่เกษตรของตนเอง โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งตรวจก่อนปลูกพืชจำนวน 31 ตัวอย่าง และเกษตรกรที่ได้รับความรู้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งตัวอย่างดินเพิ่มอีก 33 ตัวอย่าง (รวม 64 ตัวอย่าง) หลังจากนั้นได้จัดการประชุมร่วมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ได้แนวทางการจัดการพื้นที่ 4 แนวทาง คือ 1) มีการนำดินไปตรวจก่อนการเพาะปลูกเพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม, 2) ผู้นำชุมชนประสานงานกับภาครัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาที่ดินและกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ความรู้เกษตรกรในระยะยาวเกี่ยวกับการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่ที่จำกัด, 3) ปลูกพืชชนิดอื่นสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพืชชนิดเดิม และ 4) ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ติดตามประเมินผลการเรียนรู้และเครือข่ายที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่นี้ นอกเหนือจากการพัฒนาความยั่งยืนในพื้นที่นี้ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ 1) เสาหินหามต่าง ซึ่งเป็นลานหินที่มีก้อนหินรูปทรงแปลกๆ ตั้งซ้อนกันอยู่ เป็นประติมากรรมธรรมชาติ หามต่างหรือหามตั้ง เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติเช่นเดียวกับเสาเฉลียงที่ผาแต้ม คือ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ สายลม และแสงแดด มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งขึ้น ส่วนบนเป็นแผ่นหินวางอยู่โดยไม่ติดกัน มองดูคล้ายดอกเห็ด 2) น้ำตกตาดโตน ตาดหินแตก ตาดฟ้า เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากน้ำซับไหลลงมารวมกันไหลผ่านหินต่างระดับซึ่งอยู่โซนภูเขา ห่างจากด่านตรวจตาดโตนของอุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ ประมาณ 300 เมตร ส่วนน้ำตกตาดหินแตก เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 7 เมตร เกิดจากลำห้วยบองไหลผ่านหิน ต่างระดับ ซึ่งอยู่โซนภูเก้า มีน้ำมากช่วงหน้าฝน และน้ำตกตาดฟ้า อยู่บริเวณเทือกเขาภูเก้า เป็นน้ำตกที่สวยงามมีน้ำมากเฉพาะฤดูฝน เป็นน้ำตกขนาดเล็กไหลตามลำธารเล็กๆ ท่ามกลางป่าเบญจพรรณ มีน้ำช่วงหน้าฝน 3) แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ อยู่บนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร ระยะก้าว 120 เซนติเมตรและ 110 เซนติเมตร ปรากฏให้เห็นเป็นรอยทางเดิน 3 แนวฝังอยู่ในผิวหน้าชั้นหินทราย แนวทางเดินมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 7 รอย ตะวันออกเฉียงเหนือ 5 รอย

ข้อมูลฝ่ายสารสนเทศ ส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ : 02-561-0777 ต่อ 1723 อีเมลล์ : npdatabase@dnp.mail.go.th

เครื่องมือส่วนตัว