เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ศตวรรษที่21
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย 'การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องก…')
รุ่นปัจจุบันของ 09:19, 1 เมษายน 2563
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 2) สร้างและศึกษาคุณภาพรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 4) นำเสนอรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 1) ศึกษาความต้องการรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพฯ จากผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 434 คน 2) สร้างและศึกษาคุณภาพรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิตรวจเครื่องมือวิจัยและประเมินรูปแบบ จำนวน 7 คน 3) ศึกษาผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพฯ กลุ่มตัวอย่างทดลองใช้รูปแบบการใช้เทคโนโลยี คือ ผู้สูงอายุชมรมหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร และผู้สูงอายุศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงวัย ตำบลบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 20 คน และ 4) รับรองรูปแบบเทคโนโลยีฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิรับรองรูปแบบจำนวน 7 คน ผลการศึกษา พบว่า 1) ผู้สูงอายุต้องการให้มีศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนเป็นลำดับแรก (PNImodified=0.69) และในด้านเทคโนโลยี ผู้สูงอายุต้องการใช้โปรแกรมในสมาร์ตโฟนหาความรู้สุขภาพเป็นลำดับแรก (PNImodified=0.97) 2) รูปแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการรู้สุขภาพในศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ กลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ การจัดการ การจัดพื้นที่ สาระและเนื้อหา สื่อเทคโนโลยีส่งเสริมการเรียน และเครื่องมือประเมิน และมีการเรียน 3 ระยะ คือ เตรียมความพร้อมและวางแผนการเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้และการประเมิน 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการใช้เทคโนโลยีฯ พบว่า คะแนนเฉลี่ยการรู้สุขภาพของผู้สูงอายุหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผลประเมินความสำเร็จของการจัดกิจกรรมเรียนรู้ตามรูปแบบเท่ากับร้อยละ 70 โดยพิจารณาจากเกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ คะแนนพัฒนาการการรู้สุขภาพเพิ่มขึ้น คะแนนพฤติกรรมการเรียนในระดับดี คะแนนสมุดบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับดี และค่าเฉลี่ยระดับความพึงพอใจจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับมาก 4) ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนเห็นว่ารูปแบบมีความเหมาะสมในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.70