ปัญหาควันบุหรี่

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''ปัญหาควันบุหรี่''' == == '''การคุ้มครองประชาชนจากกา…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 03:53, 17 มีนาคม 2554

เนื้อหา

ปัญหาควันบุหรี่

การคุ้มครองประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่

อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์กรอนามัยโลก ข้อ 8 ได้มีการกำหนด เรื่อง การคุ้มครองประชาชนจากการได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ไว้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้านสุขภาพ โดยมีการวางแนวทางการดำเนินงานไว้ ดังนี้

1. สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกได้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ เกี่ยวกับการคุ้มครองประชาชนจากอันตรายของควันบุหรี่มือสอง

2. กำหนดสาระหลักที่จำเป็นในการออกกฎหมายคุ้มครองสุขภาพจากควันบุหรี่มือสอง


คำนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

คำจำกัดความหรือนิยามของคำสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ตามหลักในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ

ควันบุหรี่มือสอง (Second-hand tobacco smoke หรือใช้อักษรย่อว่า SHS) หมายถึง “ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ปลายบุหรี่หรือยาสูบชนิดอื่นๆ ซึ่งมักเกิดร่วมกับควันที่ถูกพ่นออกมาจากผู้สูบ” อากาศที่ปราศจากควันบุหรี่ (Smoke free air) หมายถึง “อากาศที่ปราศจากควันบุหรี่อย่างสิ้นเชิง 100% รวมถึงการปราศจากอากาศที่ปนเปื้อนด้วยควันบุหรี่ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ไม่ได้กลิ่น หรือไม่รู้สึก หรือวัดค่าไม่ได้”

สถานที่สาธารณะ (Public places) การออกกฎหมายควรนิยามคำนี้ให้ครอบคลุม กว้างขวางที่สุดที่จะทำได้ โดยควรจะครอบคลุมสถานที่ทุกแห่ง ที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ หรือสถานที่ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของหรือใครจะมีสิทธิใช้ก็ตาม

ภายในอาคาร (Indoor or enclosed) หมายถึง พื้นที่ใดๆ ที่มีหลังคาปกคลุม หรือมีผนังอย่างน้อย 1 ด้าน โดยไม่คำนึงถึงวัสดุที่ใช้มุงหลังคา หรือวัสดุสร้างผนัง และไม่ว่าอาคารนั้นจะเป็นอาคารถาวรหรือชั่วคราว

สถานประกอบการ (Workplace) หมายถึง สถานที่ใดๆ ที่บุคคลใช้ทำงาน หรือถูกว่าจ้างให้ทำงาน ควรรวมถึงสถานที่ทุกแห่งที่มีคนทำงาน ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้าง หรือไม่ก็ตาม คำนิยามควรรวมถึงสถานที่อื่นๆ ที่คนงานใช้ระหว่างทำงานด้วย เช่น ระเบียง ลิฟต์ บันได สถานที่รับประทานอาหาร ร้านอาหาร ห้องน้ำ ยานพาหนะที่ใช้ในการทำงาน หรือภายนอกอาคาร (เช่น ชายคา)

ยานพาหนะสาธารณะ (Public transport) หมายถึง ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการรับส่งบุคคลในภาคขนส่งทั่วไป รวมถึงรถรับจ้างส่วนบุคคลหรือแท็กซี่ด้วย


การบังคับใช้กฎหมาย

กฎหมายคุ้มครองสุขภาพจากควันบุหรี่มือสองควรกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ หรือผู้ทำหน้าที่ดูแลสถานที่ และระบุหน้าที่และการ ปฏิบัติอย่างชัดเจน ดังนี้

1. จัดให้มีเครื่องหมาย “ห้ามสูบบุหรี่” บริเวณทางเข้า หรือสถานที่อื่นๆ อย่างชัดเจน เครื่องหมายดังกล่าวควรกำหนดโดยหน่วยงานสาธารณสุข หรือองค์การอื่นของรัฐ และอาจระบุหมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางสำหรับประชาชนที่จะร้องเรียน หากมีกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

2. ต้องขจัดอุปกรณ์ที่ใช้เขี่ย/ดับบุหรี่ ออกจากบริเวณพื้นที่ ที่กฎหมายกำหนดออกให้หมด

3. หน้าที่ในการห้ามปรามผู้ที่จะสูบบุหรี่ในสถานที่ที่ตนรับผิดชอบ เช่น การขอความร่วมมือไม่สูบบุหรี่ การขอให้ไปสูบนอกสถานที่หรือสถานที่สูบที่จัดไว้ ตลอดจนการแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายหากยังมีการฝ่าฝืน


โครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย

- กฎหมายควรระบุหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการบังคับใช้ และควรมีระบบติดตามควบคุมกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและการลงโทษ

- การติดตาม ควบคุม สอดส่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ควรใช้กลไก หรือวิธีการที่มีอยู่แล้วในการตรวจสถานประกอบการ โดยอาจมีการสุ่มตรวจโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้าและตรวจสอบกรณีมีข้อร้องเรียน

- การตรวจตราการบังคับใช้กฎหมาย อาจไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ควรใช้เจ้าหน้าที่ตามโครงสร้างที่มีอยู่ อนึ่ง จากประสบการณ์ในหลายประเทศ พบว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่มักจะได้รับการปฏิบัติไปในตัว (Self-enforcing) เช่น หากมีป้ายห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร ก็จะไม่มีใครสูบบุหรี่ไปเอง นั่นคือ การควบคุมดูแลบังคับใช้โดยประชาชน

- การลงโทษผู้กระทำผิดอาจมีความจำเป็นน้อย หากมีการวางแผนในการออกกฎหมายเป็นอย่างดีและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้ประกอบการและเจ้าของสถานที่สาธารณะอย่างทั่วถึง

- ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการให้ความรู้กับภาคธุรกิจ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ การประสานงานในการตรวจสอบ รวมถึงค่าล่วงเวลาสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานนอกเวลา


การขับเคลื่อนสังคมและการให้สังคมมีส่วนร่วม

การทำให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามกำกับและรายงานการฝ่าฝืนกฎหมายจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดทรัพยากรที่จะต้องใช้ในการกำกับติดตาม ดังนั้น กฎหมายปลอดบุหรี่ควรระบุด้วยว่า สาธารณชนสามารถร้องเรียนได้ ในขณะเดียวกันควรตั้งผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือองค์กรเอกชนให้ทำหน้าที่ควบคุมกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ควรจัดให้มีเบอร์โทรศัพท์ที่ (โดยผู้โทรไม่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์) หรือมีระบบอื่นๆ ที่สนับสนุนให้ประชาชนร้องเรียนกรณีมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย


การติดตามกำกับและประเมินผล

การติดตามกำกับและประเมินผลมาตรการต่างๆ มีความสำคัญเนื่องจากข้อมูลที่ได้สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงความสำเร็จที่เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นแบบอย่างต่อประเทศอื่น รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนภาคการเมืองและประชาชนในการออกกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการดำเนินการคุ้มครองประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่ ได้เสนอแนะตัวชี้วัดที่สำคัญ โดยแบ่งออกเป็น ตัวชี้วัดด้านกระบวนการและด้านผลลัพธ์

ตัวชี้วัดด้านกระบวนการ

- ความรู้ ทัศนคติและการสนับสนุนต่อนโยบายปลอดบุหรี่ของกลุ่มประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น พนักงานที่ทำงานในสถานบันเทิง

- การบังคับใช้กฎหมาย

ตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์

- การลดการได้รับควันบุหรี่มือสองของผู้ทำงานในสถานประกอบการและสถานที่สาธารณะ

- การลดปริมาณควันบุหรี่ในอากาศในสถานประกอบการและสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะในภัตตาคาร

- การลดปริมาณการเจ็บป่วยและการตายอันเนื่องจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง

- การลดการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน

- การลดอัตราการสูบบุหรี่และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่

- ผลกระทบทางเศรษฐกิจ


อ้างอิง

ที่มาข้อมูล

1. World Health Organization. WHO Framework Convention on Tobacco Control: Guidelines for implementation Article 5.3; Article 8; Article 11; Article 13. WHO Document Production Services, Geneva, Switzerland; 2009.

2. องค์การอนามัยโลก. การคุ้มครองสุขภาพจากควันบุหรี่มือสอง: ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย. แปลโดย. อมรรัตน์ โพธิพรรค. กรุงเทพมหานคร. ศูนย์วิจัย และจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, 2551.


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว