การพัฒนาองค์กร
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' == '''การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วย EFQM''' == แนวคิด…')
รุ่นปัจจุบันของ 06:58, 17 มีนาคม 2554
การพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วย EFQM
แนวคิดของความเป็นเลิศกับรางวัล Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) มีลักษณะที่คล้ายๆ กันเพียงแต่ของทางยุโรปของมีการทำเป็นกรอบแนวคิดทางการบริหาร (Conceptual Model) ที่เป็นรูปร่างได้ชัดเจนกว่าทางอเมริกาที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลเท่านั้น โดยของยุโรปนั้นมีหน่วยงานที่ไม่ได้แสวงหากำไรชื่อ The European Foundation for Quality Management (EFQM) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการประกวดรางวัลคุณภาพแห่งยุโรป ทำให้แนวคิดของความเป็นเลิศของทางยุโรปมักจะรู้จักกันดีในชื่อของ EFQM Excellence Model โดยที่ EFQM นั้นถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1988 โดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของยุโรปจำนวน 14 แห่ง โดยมีภารกิจเพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นเลิศที่ยั่งยืน (Sustainable Excellence) ในยุโรป และเพื่อให้องค์กรของยุโรปมีความโดดเด่นในระดับโลก
แนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง EFQM
1. Result Orientation หรือการดำเนินงานโดยมุ่งผลลัพธ์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholders)
2. Customer Focus หรือการมุ่งเน้นที่ลูกค้า องค์กรที่เป็นเลิศจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปสู่ลูกค้าที่พอใจและภักดี
3. Leadership and Constancy of Purpose หรือการมีผู้นำที่ดี รวมถึงจะต้องมีความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้นำที่ดีจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รวมทั้งผู้นำจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์
4. Management by Processes and Facts เป็นการบริหารโดยมุ่งเน้นที่กระบวนการ และมีการตัดสินใจโดยอาศัยตัวเลขและข้อมูล
5. People Development and Involvement เป็นการพัฒนาบุคลากรและทำให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร
6. Continuous Learning, Innovation, and Improvement ได้แก่การที่องค์กรมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กร โดยการเรียนรู้ พัฒนาองค์กร และนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
7. Partnership Development ได้แก่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายและพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่เป็น Suppliers หรือผู้ผลิต
8. Corporate Social Responsibility ซึ่งก็แปลตรงตัวได้ชัดเจนเลยว่าองค์กรที่เป็นเลิศจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์ประกอบภายใต้ EFQM Excellence Model
1. ส่วนที่เป็นผลลัพธ์ (Results) ได้แก่ ผลการดำเนินงาน (Key Performance Results) ผลด้านบุคลากร (People Results) ผลด้านลูกค้า (Customer Results) ผลด้านสังคม (Society Result)
2. ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวนำไปสู่ผลลัพธ์ (Enablers) ได้แก่ ภาวะผู้นำ (Leadership) บุคลากร (People) กลยุทธ์และนโยบาย (Policy & Strategy) พันธมิตรและทรัพยากร (Partnership & Resources) และกระบวนการ (Processes)
3. ส่วนการเรียนรู้และนวัตกรรม (Innovation and Learning) จะเป็นตัวที่กระตุ้นให้เกิดตัว Enablers
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ