Teaching Organization

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''จากองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่ Teaching Organization''' == แนวคิดใ…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:07, 17 มีนาคม 2554

เนื้อหา

จากองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่ Teaching Organization

แนวคิดในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) ได้เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วในต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันนักวิชาการและผู้บริหารได้พยายามพัฒนาแนวคิดขององค์กรแห่งการเรียนรู้ให้ก้าวไปอีกขั้น เช่นในเรื่องของ Teaching Organization (TO)

แนวคิดในเรื่องของ Teaching Organization (TO) นั้นมาจากหนังสือเรื่อง The Cycle of Leadership ของ Noel Tichy ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Michigan และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลศูนย์ฝึกอบรม Crottonville อันมีชื่อของ GE


ความหมายของ Teaching Organization

Teaching Organization คือ องค์กรที่ทุกคนในองค์กรเป็นทั้งผู้สอน และผู้เรียน และกระบวนการในการสอนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดเวลาในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร


แนวคิดของ Teaching Organization

1. มุ่งเน้นให้ผู้นำและทุกคนภายในองค์กรได้มีทั้งการเรียนรู้และการสอนอยู่ตลอดเวลา โดยกระบวนการเรียนรู้และการสอนที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้นจะเป็นวงจรที่จะทำให้ทุกคนภายในองค์กรได้พัฒนาขึ้นและสุดท้ายจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร

2. การเรียนและการสอนนั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งสองทางคือแต่ละคนจะต้องพร้อมที่จะเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีโอกาสที่จะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อาจารย์ผู้สอนจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการสอนอย่างเดียว แต่อาจารย์เองก็ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากลูกศิษย์ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมาปรับประยุกต์เข้ากับความรู้เดิมที่ตนมีอยู่เพื่อนำไปสอนกับลูกศิษย์รุ่นต่อไป ตัวผู้เรียนเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเรียนอย่างเดียว แต่จะเป็นผู้สอนด้วยในบางโอกาส ในห้องเรียนไหนที่มีบรรยากาศในลักษณะนี้มากเท่าใดจะพบว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนเมื่อออกจากห้องไปจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากทีเดียว

3. การเรียนรู้และการสอนจะเกิดขึ้นทั้งสองทาง เป็นลักษณะของวงจรแห่งการเรียนรู้และการสั่งสอน ที่เมื่อแต่ละผู้นำทำหน้าที่ผู้สอนแล้วได้เกิดโอกาสในการเรียนรู้จากผู้เรียน ทั้งสองฝ่ายก็จะปรับเปลี่ยนบทบาทกัน สิ่งที่ผู้นำได้เรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำให้ผู้นำมีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถนำความรู้นำไปสั่งสอนและถ่ายทอดให้กับผู้อื่นต่อไปได้ ซึ่งวงจรนี้จะทำให้ทั้งองค์กรเกิดการพัฒนาความรู้และสามารถเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขัน


ความเหมือนระหว่าง Learning Organization และ Teaching Organization

ทั้งสองแนวคิดสนับสนุนให้ทุกคนในองค์กรพัฒนาและหาความรู้ ทักษะและข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ


ปัจจัยที่สำคัญของ Teaching Organization

1. การสร้างทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของผู้บริหารระดับสูง ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่ Teaching Organization ได้แก่ความมุ่งมั่นของผู้บริหารสูงสุด การเข้ามามีส่วนในการอบรมหรือสัมมนาของพนักงานในองค์กรอยู่ตลอดเวลา โดยผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสอน และการพัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ขององค์กร

2. เมื่อองค์กรมีจิตใจและความพร้อมที่จะสอนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ จะต้องมีโครงสร้างและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมที่สนับสนุนให้เกิดทั้งการเรียนรู้และการสอนภายในองค์กร ทั้งในด้านของกิจกรรมการดำเนินงานในแต่ละวันที่กระตุ้นให้เกิดการสอน กระบวนการที่กระตุ้นให้การสอน โครงสร้างองค์กรที่เกื้อหนุน รวมทั้งระบบการประเมินผลและการจูงใจให้คนเกิดการสอนเกิดขึ้นตลอดเวลา

3. ผู้ที่จะเป็นผู้สอนที่จะดีมักจะเป็นผู้เรียนที่ดีด้วย เนื่องจากใครก็ตามที่ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและสื่อสารความรู้ให้กับผู้อื่น มักจะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาความรู้ของตนเองด้วย

4. ผู้บริหารมักจะขาดเวลาทั้งในการเรียนรู้ การคิด และการสอน ทำให้ผู้บริหารขาดเวลาคุณภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อพัฒนากรอบความคิดของตน เพื่อที่จะสามารถนำไปสื่อสารและถ่ายทอดให้กับผู้อื่น

5. บรรยากาศที่เป็นกันเองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้ในทุกระดับทั่วทั้งองค์กร ผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้โดยผู้บริหารจะต้องพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่นึกว่าตัวเองเป็นเจ้านายแล้วจะสั่งตามที่ตัวเองต้องการได้ตลอด


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว