Benchmarking
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''Benchmarking''' == Benchmarking เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรได้…')
รุ่นปัจจุบันของ 03:43, 21 มีนาคม 2554
เนื้อหา |
Benchmarking
Benchmarking เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาเครื่องมือทางด้านการจัดการชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้วและเป็นที่นิยมกันพอสมควรในปัจจุบัน
ความหมายของ Benchmark
1. Benchmark หมายถึงรอยสลักหรือหมุดรังวัดที่ทำไว้บน ก้อนหิน กำแพง หรือ ตึก เพื่อใช้แสดงเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงตำแหน่งของแต่ละบุคคล หรือ แสดงถึงระดับความสูงในการสำรวจด้านภูมิประเทศ ดังนั้น Benchmark จึงแสดงถึงจุดที่สามารถสังเกตได้เพื่อใช้ในการวัด หรือ ใช้เป็นมาตรฐานเพื่อที่ผู้อื่นสามารถที่จะวัดหรือเปรียบเทียบได้
2. การทำ Benchmarking เป็นการที่องค์กรถ่อมตัวและยอมรับว่ามีผู้อื่นที่โดดเด่นหรือเก่งกว่าเราในด้านใดด้านหนึ่ง และพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เก่งหรือโดดเด่นกว่าผู้อื่น
3. การทำ Benchmarking ภาษาไทยเรียกกันว่า การเรียนรู้จากผู้อื่น
ความได้เปรียบของการทำ Benchmarking
1. ทำให้องค์กรได้มีการติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและคู่แข่งขันอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะมุ่งเน้นการบริหารภายในเพียงอย่างเดียว เนื่องจากถ้าผู้บริหารและพนักงานมีแนวคิดของการทำ Benchmarking อยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารและพนักงานก็จะต้องมีการตรวจสอบและติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีความโดดเด่นและคู่แข่งขันอยู่ตลอด
2. ทำให้ผู้บริหารและพนักงานภายในองค์กรได้มีทัศนคติและความพร้อมที่จะยอมรับและเรียนรู้ในสิ่งที่ดีกว่าจากภายนอกองค์กร ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จหรือสิ่งที่องค์กรเคยทำมาในอดีต ถ้าเป็นภาษาทางวิชาการก็คือทำให้องค์กรไม่เป็นโรค NIH (Not-Invented-Here Syndrome) โดยโรค NIH นั้นหมายถึงการที่คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นดีที่สุดแล้ว ในขณะที่อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นหรือคิดค้นขึ้นจากภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่ดีพอ
3. ทำให้การตัดสินใจของผู้บริหารได้อาศัยข้อมูลที่แท้จริงในการตัดสินใจไม่ใช่การตัดสินใจโดยอาศัยความรู้สึก ทั้งนี้เนื่องจากการทำ Benchmarking ต้องมีการวัดผลการดำเนินงานในสิ่งที่จะ Benchmark และจากการที่จะต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น ทำให้ผู้บริหารได้นำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจริงๆ
ปัจจัยที่สำคัญของการนำหลัก Benchmarking มาใช้ภายในองค์กร
1. ปัจจัยทางด้านกลยุทธ์ คือ กลยุทธ์จะต้องมีความชัดเจนและในขณะเดียวกันกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรก็จะต้องสอดคล้องและสนับสนุนต่อแนวคิดของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์ที่ดีจะช่วยบอกให้ผู้บริหารทราบว่าจุดหรือกระบวนการใดบ้างที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาโดยอาศัยการทำ Benchmark รวมทั้งการทำ Benchmarking เพื่อวัตถุประสงค์อะไรนั้นย่อมควรจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร และในขณะเดียวกันข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการทำ Benchmarking จะย้อนกลับมาเป็นข้อมูลที่ช่วยทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ได้ดีและชัดเจนขึ้น
2. วัฒนธรรมองค์กร โดยจะต้องมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่มุ่งเน้นต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้ที่ดีที่สุด
3. ความพร้อมของระบบสนับสนุนในการทำ Benchmarking ระบบสนับสนุนในที่นี้หมายถึงทั้งในด้านของการสนับสนุนการทำงานเป็นทีม การให้คำแนะนำจากผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ การอบรมและพัฒนา หรือเครือข่ายและข้อมูลที่จะทำ Benchmarking
4. ความแม่นยำของหลักการ องค์กรที่จะนำ Benchmarking มาใช้คงจะต้องเลือกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำ Benchmarking ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะองค์กรที่เพิ่งเริ่มหรือคิดจะทำเป็นครั้งแรก คงจะต้องยึดตามหลักเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย แล้วหลังจากนั้นค่อยพัฒนาแนวทางและวิธีการของตนเองให้สอดคล้องต่อองค์กรแต่ละแห่ง
ประเด็นที่สำคัญต่อการทำ Benchmarking
1. การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนต่อการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง
2. องค์กรจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการทำ Benchmarking ที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจร่วมกัน
3. ขนาดของโครงการคงจะต้องมีระดับที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ทรัพยากรทั้งด้านการเงินและเวลาที่มีอยู่
4. คณะทำงานจะต้องมีภาพของสิ่งที่จะ Benchmark ที่ชัดเจนทั้งในด้านของกระบวนการและผลการดำเนินงาน ก่อนที่จะเข้าไปติดต่อองค์กรที่จะทำ Benchmark ด้วย เนื่องจากภาพและความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนอาจจะส่งผล ต่อการเลือกองค์กรที่ผิด
5. คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องมีทักษะและความรู้ที่เพียงพอ
ข้อควรระวังในการนำ Benchmarking มาใช้ในองค์กร
1. อย่าทำ Benchmarking เพราะคนอื่นเขาทำ แล้วเลยอยากทำด้วย โดยตนเองไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะทำไปทำไม
2. อย่าไปมุ่งเน้นในเรื่องของการวัดหรือการเปรียบเทียบเป็นหลักเพียงอย่างเดียว จะต้องให้ความสำคัญที่กระบวนการและวิธีการในการพัฒนากระบวนการให้ดีขึ้นด้วย
3. อย่าคาดหวังว่าการทำ Benchmarking เป็นสิ่งที่ง่ายและทำได้รวดเร็ว เพราะ Benchmarking ก็คล้ายๆ กับเครื่องมือทางการจัดการหลายๆ ตัวที่หลักการและแนวคิดดูง่ายและชัดเจนดี แต่พอทำจริงแล้วจะพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด
4. อย่าไปคาดหวังว่าจะเจอองค์กรที่จะทำ Benchmarking ได้โดยง่าย ทั้งนี้ในไทยนั้นการที่จะให้องค์กรอื่นเปิดเผยข้อมูลหรือศึกษาเปรียบเทียบด้วยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ความยากลำบากอีกประการหนึ่งคือการหาองค์กรที่มีกระบวนการที่เหมือนหรือคล้ายกันที่พอจะให้ศึกษาเปรียบเทียบได้ การยอมให้องค์กรอื่นเปิดเผยข้อมูลนั้นเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นองค์กรที่อยู่ในคนละอุตสาหกรรมกันก็ตาม
5. อย่าหวังเป็นผู้รับข้อมูลเพียงอย่างเดียว การทำ Benchmarking กับองค์กรอื่นนั้นเราไม่ได้เป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ด้วย นั้นคือถ้ามีองค์กรใดตกปากรับคำที่จะ Benchmark กับเราแล้ว เขาย่อมอยากจะเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากเราด้วย
6. การใช้เวลานานเกินไป เนื่องจากยิ่งใช้เวลานาน จะยิ่งยากที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเกิดความกระตือรือร้นและการสนับสนุนได้ในระยะยาว
ความสัมพันธ์ระหว่าง Benchmarking กับเครื่องมือทางการจัดการอื่นๆ
1. เครื่องมือหลายๆ ประการไม่ว่าจะเป็น Balanced Scorecard, Customer Relationships Management, Six Sigma, Activity-Based Management จะช่วยในการระบุถึงกระบวนการที่มีความสำคัญขององค์กร ซึ่งองค์กรจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่สิ่งที่องค์กรต้องการ โดยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเหล่านั้นสามารถที่จะทำได้โดยการนำหลักของ Benchmarking เข้ามาช่วย หรืออาจกล่าวได้ว่า Benchmarking ถือเป็นส่วนเสริมที่สำคัญประการหนึ่งในการนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้
2. เมื่อองค์กรตัดสินใจที่จะนำเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ มาใช้ภายในองค์กร ผู้บริหารสามารถที่จะเลือกใช้วิธีการในการ Benchmarking เพื่อเป็นแนวทางในการนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ นั้นคือแทนที่องค์กรจะเริ่มจากศูนย์หรือการไม่รู้อะไรเลย องค์กรสามารถเริ่มจากการศึกษาและเรียนรู้จากองค์กรอื่นถึงวิธีการและแนวทางในการนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ เรียกได้ว่าเป็นการนำ Benchmarking มาช่วยในการนำเครื่องมืออื่นๆ มาประยุกต์ใช้ อีกทั้งยังสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้เปรียบเทียบถึงพัฒนาการหรือความก้าวหน้าของการนำเครื่องมือนั้นๆ มาใช้เมื่อเทียบกับองค์กรชั้นแนวหน้าแห่งอื่นได้อีกด้วย
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ