การวาดภาพอนาคต
จาก ChulaPedia
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''Scenario Planning การวาดภาพอนาคต''' == ปัจจุบันมีหนังสือที่เ…')
รุ่นปัจจุบันของ 03:47, 21 มีนาคม 2554
เนื้อหา |
Scenario Planning การวาดภาพอนาคต
ปัจจุบันมีหนังสือที่เขียนขึ้นมาใหม่ๆ เกี่ยวกับ Scenario Planning มากขึ้นกว่าในอดีต แถมมีหนังสือของต่างประเทศเล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า Scenario Planning เป็นหนึ่งในสามแนวคิดทางการจัดการในอนาคตคู่กับ Beyond Budgeting กับ Management Cockpit
ความหมายของ Scenario Planning
Scenario Planning คือ การเล่าถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและส่งผลต่อองค์กร Scenario Planning จะมีการใช้กันมากในกระบวนการวางแผนทางกลยุทธ์สำหรับองค์กรธุรกิจ เนื่องจากในกระบวนการวางแผนที่ดีนั้นไม่ได้เป็นการวางแผนสำหรับปัจจุบัน แต่เป็นการวางแผนสำหรับอนาคต ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่วางแผนจะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความเป็นไปได้ในอนาคต
ประโยชน์ของ Scenario
1. Scenarios ทำให้บริษัทสามารถที่จะเข้าใจสภาพปัจจุบันได้ดีขึ้น จากการวาดภาพเกี่ยวกับอนาคต ทำให้วิสัยทัศน์ของบริษัทกว้างขึ้น และทำให้สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น
2. การวาดภาพไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของบริษัท อีกทั้งทำให้ผู้บริหารเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง
3. Scenarios ทำให้องค์กรมีเครื่องมือในการประเมินกลยุทธ์และแผนงานในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถพัฒนาและประเมินทางเลือกทางกลยุทธ์ใหม่ๆ
4. การที่ผู้บริหารได้เข้าร่วมในกระบวนการพัฒนา Scenarios ทำให้ทุกคนได้เพิ่มความสามารถในการบริหารภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน อีกทั้งทำให้ทุกคนได้ให้ความสนใจกับปัจจัยภายนอกองค์กรมากขึ้น ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้และรับทราบต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของสภาวะแวดล้อมภายนอก และทำให้ทุกคนสามารถคิดนอกกรอบได้ดีขึ้น
แนวทางมาจากการทำ Scenario
1. อะไรคือปัจจัยที่มีความสำคัญต่อองค์กรในอนาคต
2. ถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีและมองในทางที่เป็นไปได้ อะไรคือสิ่งที่ท่านมองเห็นเกี่ยวกับองค์กรในอนาคต
3. ถ้าการดำเนินงานเป็นไปด้วยความผิดพลาด อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ท่านจะคำนึงถึง
4. เมื่อมองเข้ามาภายในองค์กรแล้ว อะไรคือสิ่งที่คิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
5. เมื่อมองย้อนกลับไป อะไรคือเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้องค์กรเป็นอยู่เช่นในปัจจุบัน
6. ถ้ามองไปในอนาคต อะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำโดยเร็วที่สุด
7. ถ้าอุปสรรคต่างๆ ถูกขจัดออกไปหมด และสามารถกำหนดในสิ่งที่ทำ อะไรคือสิ่งที่อยากจะมีหรือทำเพิ่มขึ้น
กระบวนการในการพัฒนา Scenario
1. หาสิ่งที่จะพิจารณา (Where to look?) โดยถามว่าอะไรคือปัจจัยที่สำคัญทางกลยุทธ์ขององค์กร รวมทั้งประเด็นที่ผู้บริหารคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร
2. เริ่มต้นจากการหาปัจจัยชี้นำ (Drivers) ที่นำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร โดยการวิเคราะห์ SWOT
3. ภายหลังจากการวิเคราะห์ SWOT ให้นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ SWOT มาเพื่อกำหนด Scenario Agenda หรือประเด็นของ Scenario ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญทางด้านภาวะแวดล้อมที่องค์กรจะต้องพิจารณาถึง ซึ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเด็นหลักๆ กว้างๆ ไม่เกิน 4 ประเด็น โดยประเด็นเหล่านี้ต้องเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และบริษัทมีความกังวลถึง และประเด็นแต่ละประเด็นควรจะมีความเป็นอิสระจากกัน นั้นคือไม่ควรจะเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์กัน
4. หลังจากการกำหนด Scenario Agenda ที่สำคัญได้แล้ว ก็ให้จัดเรียงตามลำดับความสำคัญของประเด็นในแต่ละด้าน หลังจากนั้นก็ให้กำหนดระยะเวลาสำหรับ Scenario Agenda แต่ละประการ โดยมองไปในอนาคตว่า Scenario Agenda ในแต่ละประการจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์และการตัดสินใจในปัจจุบันอย่างไร
5. จำนวนของ Scenario ที่เหมาะสมนั้นไม่ควรจะต่ำกว่าสอง และไม่ควรที่จะเกินสี่ โดยเมื่อกำหนด Scenario Agenda เสร็จสิ้นแล้วก็นำ Scenario Agenda แต่ละประเด็นมาเปรียบเทียบกันเพื่อกำหนดขึ้นมาเป็น Scenario หรือความเป็นไปได้ในอนาคตตาม Scenario Agenda ที่กำหนดขึ้น
ประโยชน์ของการทำ Scenario Planning
1. เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงภาวะของปัจจัยภายนอกว่าจะส่งผลกระทบต่อองค์กรได้อย่างไร
2. ใช้ในการทดสอบและประเมินผลของกลยุทธ์ในปัจจุบันขององค์กร
3. ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศของการทำความเข้าใจร่วมกันทั่วทั้งองค์กร
อ้างอิง
ที่มาข้อมูล
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ