ความผิดพลาดในการบริหาร

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '1. การมัวแต่หลงอยู่กับความสำเร็จในอดีต (Softened by Success) กา…')

รุ่นปัจจุบันของ 03:48, 21 มีนาคม 2554

1. การมัวแต่หลงอยู่กับความสำเร็จในอดีต (Softened by Success) การวิจัยหลายๆ ชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารจะไม่สามารถตัดสินใจได้เต็มตามความสามารถเมื่ออยู่ภายใต้ความสำเร็จมาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านและผู้บริหารต้องระลึกอยู่เสมอนะครับอย่าให้ตนเองและองค์กรของท่านตกลงไปในกับดักแห่งความหายนะอันนี้


2. การมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (See no evil) การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถหรือไม่พยายามที่จะมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอก ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กร จนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้บรรจุเรื่องนี้เป็นวิชาหนึ่งของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ถึงกระนั้นก็ตามผู้บริหารขององค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็ยังหนีไม่พ้นต่อความผิดพลาดนี้ เช่นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับ Polaroid นั้นสาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้บริหารไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว


3. กลัวเจ้านายมากกว่าการแข่งขัน (Fearing the boss than the competition) ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารระดับสูงมักจะไม่ได้รับข้อมูลที่จะต้องใช้ในการตัดสินใจ เนื่องจากผู้บริหารระดับรองไม่กล้าที่จะนำเสนอข้อมูลที่แท้จริงให้กับผู้บริหารรับทราบ (โดยเฉพาะข่าวร้าย) ทำให้ผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาไม่กล้าที่จะเสนอข่าวที่ไม่ดีแต่เป็นจริงให้กับผู้บริหารระดับสูงทราบ ส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บริหารระดับสูง ในสถานการณ์เหล่านี้ผู้บริหารระดับล่างและพนักงานมักจะเกรงกลัวต่อเจ้านายมากกว่าภาวะการแข่งขันและตัวคู่แข่งขันที่กำลังเผชิญอยู่ ท่านผู้บริหารอาจจะต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้หัดกลัวการแข่งขันมากกว่าเจ้านาย หรือ ตัวผู้บังคับบัญชาเองอาจจะต้องสร้างหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้วรายงานให้ตนทราบตลอดเวลา


4. มีความเสี่ยงที่มากเกินไป (Overdosing on risk) ปัจจุบันแนวคิดในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงกำลังเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในขณะที่มีการบริหารความเสี่ยงแล้วองค์กรบางแห่งก็ยอมรับต่อความเสี่ยงในระดับที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่องค์กรมีความเสี่ยงสองประการเกิดขึ้นพร้อมกันได้ แก่ความเสี่ยงในการดำเนินงานทั่วๆ ไป (Execution Risk) และความเสี่ยงในด้านของสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงประการที่สองคงไม่ต้องอธิบายกันมาก ในขณะที่ความเสี่ยงประการแรกมักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารประมาทและมีความคิดว่าปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น คงจะไม่เกิดขึ้นกับองค์กร โดยองค์กรทุกแห่งมักจะคิดว่าตนเองได้ฉีดวัคซีนป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว ดังนั้นความเสี่ยงที่มีอยู่คงจะไม่เกิดขึ้นกับองค์กร


5. ซื้อกิจการแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ (Acquisition Lust) เนื่องจากในปัจจุบันแนวโน้มการควบรวมกิจการมีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและราคาขององค์กรหลายๆ แห่งก็ถูกและน่าสนใจที่จะซื้อ ทำให้ผู้บริหารหลายๆ ท่านให้ความสนใจต่อการแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้องค์กรของตนเติบโตอยู่ตลอดเวลา จนลืมที่จะทำให้บริษัทต่างๆ ที่ซื้อเข้ามานั้นสามารถที่จะหล่อหลอมเข้ากับองค์กรเดิมได้อย่างสนิทแนบแน่น แทนที่จะทำให้การซื้อกิจการนั้นเกิดภาวะที่เราคุ้นกันดีว่า Synergy แต่กลับกลายเป็น Negative Synergy แทน นั้นคือต่างคนต่างอยู่ดีกว่าที่จะมาอยู่รวมกัน


6. การให้ความสนใจต่อนักวิเคราะห์และนักลงทุนมากกว่าพนักงาน (Listening to Wall Street more than employees) ปัญหานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันผู้บริหารขององค์กรจดทะเบียนหลายแห่งในไทยก็ได้เริ่มให้ความสนใจต่อนักวิเคราะห์และนักลงทุนมากขึ้น ในอเมริกานั้นผู้บริหารขององค์กรที่ล้มเหลวหลายแห่งให้ความสำคัญกับเหล่านักวิเคราะห์และนักลงทุนมากกว่าความคิดเห็นจากบุคลากรภายในองค์กร โดยมักจะลืมคิดไปว่าราคาหุ้นเป็นผลพลอยได้ของผลประกอบการที่ดีไม่ใช่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลประกอบการที่ดี


7. กลยุทธ์ที่ไม่นิ่ง (Strategy du jour) คำว่าไม่นิ่งในที่นี้หมายถึงการที่กลยุทธ์ขององค์กรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ผู้บริหารจะพยายามหาเครื่องมือทางการจัดการเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ทำให้เกิดกระแสใหม่ๆ ภายในองค์กร อยู่ตลอดเวลา และแทนที่องค์กรจะมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน กลับมุ่งเน้นแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ


8. วัฒนธรรมองค์กรที่น่ากลัว (Dangerous corporate culture) เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรถือเป็นแนวประพฤติและปฏิบัติของบุคลากรในทุกระดับภายในองค์กร ดังนั้นถ้าองค์กรใดที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมาะสมแล้วย่อมก่อให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารได้ เช่น ในองค์กรที่ล้มเหลวบางแห่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นให้พนักงานกล้าเสี่ยง แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือในบางองค์กรที่เน้นการทำกำไรสูงสุด แต่ขาดการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสและชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่น่ากลัวของพนักงานในองค์กรเหล่านั้น


9. ลูกโซ่ของความล้มเหลว (The new-economy death spiral) Alan Greenspan ความล้มเหลวขององค์กรอาจจะเกิดขึ้นในลักษณะของลูกโซ่ที่อาจจะเกิดขึ้นจากคำถามง่ายๆ ของนักวิเคราะห์หรือผู้ถือหุ้นตั้งขึ้นมา จากนั้นทำให้สาธารณชนเริ่มเกิดความสงสัยต่อความโปร่งใสในการบริหาร ทำให้ลูกค้าเริ่มชะลอการสั่งซื้อสินค้า ทำให้หน่วยงานในการจัดอันดับลดอันดับขององค์กรลง ทำให้พนักงานที่สำคัญเริ่มลาออก และลูกค้าเริ่มหนีหาย ผู้บริหารที่ดีสามารถที่จะหยุดลูกโซ่แห่งหายนะนี้ได้ถ้ามีวิธีการในการจัดการที่เหมาะสม แต่ให้ดีที่สุดก็คงต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นจะดีกว่า


10. บอร์ดที่ไม่มีประสิทธิภาพ (Dysfunctional Board) คณะกรรมการของบริษัทถือเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญในการติดตามและควบคุมการทำงานของผู้บริหารบริษัท แต่ในหลายๆ องค์กร (ไม่เว้นในประเทศไทย) ที่กรรมการบริษัทกลับไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเนื่องคณะกรรมการเหล่านี้ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากตัวผู้บริหารของบริษัทเอง หรือได้รับแต่ข้อมูลที่ผู้บริหารตั้งใจที่จะให้เท่านั้น ทำให้คณะกรรมการบริษัทรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเท่าที่ผู้บริหารอยากจะให้รู้เท่านั้น ดังนั้นแทนที่คณะกรรมการบริหารจะทำหน้าที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นในการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของผู้บริหาร คณะกรรมการเหล่านั้นอาจจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่รู้ว่าบริษัทมีปัญหาก็ได้


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว