ห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Pphruet (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== '''ห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ แบบ NGN (NGN e-Learning Classroom)''' == == '''NGN e-L…')

รุ่นปัจจุบันของ 07:13, 21 มีนาคม 2554

เนื้อหา

ห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ แบบ NGN (NGN e-Learning Classroom)

NGN e-Learning Classroom

ห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้โครงข่ายสื่อสารยุคหน้า (NGN e-Learning Classroom) จัดสร้างขึ้นด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ในโครงการ “ ดำเนินการทดลองศึกษาและประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพีในจังหวัดภูเก็ต” ภายใต้แนวคิดของการประยุกต์เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมยุคหน้าเพื่อพัฒนามิติใหม่ด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนผ่านสื่อมัลติมีเดียโดยจัดกระบวนการเรียนรู้แบบกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเรียนสามารถพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม มีความเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามที่ดี ตลอดจนสามารถระดมความคิด(Brainstorming) ในกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ อันทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ เก่ง ดี และมีคุณธรรม เป็นการหล่อหลอมให้เป็นผู้มีความคิดที่สร้างสรรค์มีเหตุผล มีผล อย่างนักวิทยาศาสตร์ รู้จักใช้กระบวนการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาและสามารถลงมือปฏิบัติงานได้จริงอย่างวิศวกร ฝึกให้มีทักษะในการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดแบบนักบริหารมืออาชีพ ตลอดจนใช้เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในอนาคต


การใช้เทคโนโลยี NGN สำหรับการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้

ต้องมีลักษณะที่เป็นเครือข่ายทางการศึกษาแบบกัลยาณมิตรลักษณะที่มีการประสานงานและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และองค์กรในทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรที่สนับสนุนในเชิงนโยบาย หรือโรงเรียนที่สามารถเป็นแม่ข่ายทางการศึกษาที่มีศักยภาพในการถ่ายโอนและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรปกครองในส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันช่วยในการพัฒนาเครือข่ายให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อันจะนำสู่สังคมอุดมปัญญาต่อไป แนวคิดในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ได้มีการร่วมมือและหารือกันหลายฝ่าย ทั้งคณะทำงานจาก กทช. สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น โรงเรียนและองค์กรต่างๆ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับใช้ในการออกแบบสร้างห้องเรียนที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานและสามารถรองรับการทดลองทดสอบการใช้งานบนโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมแบบไอพีได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรอบแนวคิดในการพัฒนาเครือข่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน


การบูรณาการ NGN e-Learning Classroom

เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการจัดการเรียนรู้นั้น โรงเรียนสามารถที่จะใช้งานห้องเรียนได้หลายรูปแบบและหลากวิธี ทั้งในสภาพที่มีการจัดการเรียนรู้แบบปกติในห้องเรียน หรือเพื่อการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในลักษณะของการเรียนการสอนทางไกลผ่านทางโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ในลักษณะของการ Video Conference ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เนต เป็นต้น โดยที่อุปกรณ์ในห้องเรียนได้ออกแบบให้สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ กันระหว่างผู้สอน, ผู้เรียน, แหล่งเรียนรู้ หรือกับเทคโนโลยีได้ เช่น มีเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ต่อพ่วงเพื่อการแสดงผลออกทางจอภาพแบบ 3 จอ มีกระดาน Interactive Whiteboard เพื่อรองรับการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ มีกล้องไอพี (IP camera) เพื่อการเรียนรู้ในลักษณะการ Video Conference พร้อมทั้งมีอุปกรณ์สนับสนุนการจัดการเรียนรู้อื่นๆ โดยใช้โครงข่ายใยแก้วนำแสงเป็นโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในการทดลองทดสอบในการวิจัย ซึ่งสามารถรองรับการสื่อสารข้อมูลที่มุ่งเน้นการสื่อสารข้อมูลแบบ Multimedia เพื่อการส่งผ่านข้อมูล ภาพ และเสียงอย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพด้วยแบนด์วิธ 100 Mbps นอกนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของห้องเรียนโดยออกแบบทางกายภาพของห้องให้มีบรรยากาศที่สะดวกสบายเพื่อความเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ดังนั้นห้องเรียน NGN e-Learning Classroom ที่ได้ออกแบบสร้างขึ้นในการวิจัยครั้งนี้ จึงเหมาะสำหรับใช้จัดการเรียนรู้ภายในโรงเรียนหรือเพื่อการเชื่อมโยงถ่ายโอนองค์ความรู้ไปสู่ยังองค์กรอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลักษณะของการบูรณาการเพื่อใช้จัดการเรียนรู้


ในอนาคตจะเห็นได้ว่าโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในยุคหน้า(NGN) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนในการจัดการเรียนรู้หรือสนับสนุนระบบการศึกษาของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้รูปแบบของกระบวนการจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต โดยต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอนให้เป็นครูมืออาชีพที่สามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนสั่งสมความรู้ได้อย่างรวดเร็วบนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มีความเหมาะสม คุ้มค่าต่อการลงทุน และทันต่อพลวัตรของเทคโนโลยี การสร้างมิติใหม่ในการประยุกต์บริการบนโครงข่ายเพื่อการศึกษานี้ จะทำให้ผู้แสวงหาความรู้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและมีภูมิคุ้มกัน นอกนั้นหากสามารถขยายผลประยุกต์นำเทคโนโลยีและรูปแบบในการจัดการเรียนรู้เพื่อไปใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนอยู่ในขณะนี้ ก็จะเป็นช่องทางที่สามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนเพื่อทดแทนการขาดแคลนครูผู้สอนในโรงเรียนที่ประสบปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว หรือหากสามารถขยายผลนำไปใช้กับโรงเรียนนอกขอบพื้นที่พัฒนาในพื้นที่ชุมชนชนบทที่ห่างไกล ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ลดปัญหาการขาดแคลนครู อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญในบางสาขาวิชา อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้อีกด้วย นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมไทยได้อย่างแท้จริง


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ ผศ. ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว