ยุทธศาสตร์

จาก ChulaPedia

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
Dpasu (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ' การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นศาสตร์ที่มีมานานมากแล…')
แตกต่างถัดไป →

การปรับปรุง เมื่อ 04:06, 23 กรกฎาคม 2553

การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นศาสตร์ที่มีมานานมากแล้วตั้งแต่เริ่มมีการค้าขายหรือการทำศึกสงคราม คำว่ากลยุทธ์หรือ Strategy มีที่มาจากคำว่า ‘Strategia’ ในภาษากรีก ซึ่งหมายความว่า Generalship ในช่วงคริสศตวรรษที่ 19 คำว่ากลยุทธ์มักจะถูกนำมาใช้ในการจัดการด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารเพื่อใช้สนับสนุนในด้านการบริหารนโยบายของประเทศ ในช่วงต่อมาจึงได้มีการนำกลยุทธ์มาประยุกต์ใช้มากขึ้นกับด้านทหารและการทำศึกสงคราม

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลุยทธ์ได้เริ่มเข้ามาสู่แวดวงการศึกษาจริงๆเมื่อปี พ.ศ. 2455 ที่โรงเรียนธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Graduate School of Business Administration) โดยในระยะเริ่มแรกนั้น วิชานี้เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจในปีสุดท้าย โดยใช้ชื่อว่านโยบายธุรกิจ (Business Policy) ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 วิชานี้ก็ได้กลายเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA บุรุษผู้ที่เปรียบเสมือนเป็นครูและผู้พัฒนาวิชานี้เป็นท่านแรกได้แก่ Arch W. Shaw ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น “Lecturer on Business Policy” เป็นท่านแรกของฮาวาร์ด วัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสอนวิชานโยบายธุรกิจที่ฮาวาร์ดนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ โดยที่ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เมื่อได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้วสามารถนำไปสู่การจัดทำเป็นนโยบายทางธุรกิจที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้ในอนาคต ซึ่งก็ได้นำไปสู่การตั้งชื่อวิชานี้ว่านโยบายธุรกิจ

ในปี พ.ศ. 2502 Ford Foundation and Carnegie Corporation1 ได้เผยแพร่เอกสารออกมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกสารที่วิพากษ์วิจารณ์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านบริหารธุรกิจอยู่ในขณะนั้นว่าควรจะจัดให้มีวิชาที่เป็นที่รวมของเนื้อหาหรือทักษะจากวิชาต่างๆ ที่ได้ศึกษามาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (Capstone Integrating Course) ตามรายงานของ Ford-Carnegie นั้นได้นำเสนอไว้ว่า “วิชานโยบายธุรกิจนี้จะเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้หล่อหลอมและรวบรวมสิ่งต่างๆที่ได้เรียนมาจากสาขาวิชาต่างๆและใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นในการวิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจที่สลับซับซ้อน ซึ่งวิชานโยบายธุรกิจนี้สามารถให้สิ่งที่นักศึกษาไม่สามารถหาได้จากวิชาอื่นในหลักสูตร”2 สำหรับในระดับปริญญโทนั้นจากรายงานของ Ford-Carnegie ได้กล่าวไว้ว่า “ความจำเป็นของวิชาในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดจนไม่ต้องอธิบายซ้ำ ซึ่งเป้าหมายของวิชานี้มีหลายประการได้แก่ การรวบรวมสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้และได้กระทำในสาขาต่างๆ เพื่อแสดงถึงความสำคัญของสาขาวิชาต่างๆ ต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ทางธุรกิจจริงๆ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเพื่อพัฒนาทักษะทั้งทางด้านการเขียนและการพูดโดยการทำและนำเสนอรายงาน” 3

รายงานของ Ford-Carnegie ชิ้นนี้ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการจัดรายวิชาของมหาวิทยาลัยต่างๆ จนกระทั่งในปีต่อมา American Assembly of Collegiate Schools of Business (AACSB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมดูแลด้านการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในอเมริกาได้แนะนำให้นักศึกษาด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรีต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับ “กระบวนการในการบริหารภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนหรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายด้านการบริหารในทุกระดับชั้น”4 หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านบริหารธุรกิจจึงได้เริ่มเปิดสอนวิชานโยบายธุรกิจอย่างมากมาย

ในช่วงระยะเวลานั้นเองที่ได้มีหนังสือทางด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ออกมาสามเล่ม ซึ่งได้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการพัฒนาของสาขาวิชานี้ หนังสือทั้งสามเล่มนี้ได้แก่

1. Strategy and Structure เขียนโดย Alfred Chandler ในปี พ.ศ. 2505 หรือ ค.ศ. 1962 2. Corporate Strategy เขียนโดย Igor Ansoff ในปี พ.ศ. 2508 หรือ ค.ศ. 1965 3. Business Policy: Text and Cases ซึ่งร่วมเขียนโดยนักวิชาการหลายท่าน แต่ในส่วนที่มี ความสำคัญที่สุดนั้นเขียนโดย Kenneth Andrews ในปี พ.ศ. 2508 หรือ ค.ศ. 1965

แนวคิดที่สำคัญจากหนังสือทั้งสามเล่มสามารถสรุปได้ว่า “การจัดการเชิงกลยุทธ์คือการกำหนด ภารกิจ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากนั้นจึงจะได้วางแผนจัดทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินงานตามภารกิจและบรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ นอกจากนี้เนื่องจากการที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงอาจจะก่อให้เกิดโอกาสหรือข้อจำกัดแก่องค์กร (Opportunities and Threats) ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องพิจารณาสภาพภายในขององค์กรเพื่อหาจุดแข็งหรือจุดอ่อน (Strengths and Weaknesses) เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงจากข้อจำกัดและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่”

(จากหนังสือการจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายธุรกิจ โดย รศ.ดร.พักตร์ผจง วัฒนสินธุ์ และ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร)

เครื่องมือส่วนตัว